วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 91:เหตุเกิดในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง


(ตอนที่สอง)

คดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นตัดสิน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ลงข่าวว่า ผู้เสียหายที่โชคร้ายได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาเทียบเป็นเงินไทยแล้วร่วมเก้าล้านบาท ดูแล่วน่าจะเหมาะสมกับภาวะทุพพลภาพถาวรบางส่วนที่ได้รับ

ครั้นฝ่ายจำเลยเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตยื่นอุทธรณ์

เราลองมาดูประเด็นที่ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตได้รับรู้ถึงพฤติกรรมอันน่าจะเป็นอันตรายของผู้ก่อเหตุทั้งสองคน ซึ่งจะนำไปสู่การละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าของตนหรือไม่? โดยที่ฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า พนักงานของตนไม่ได้รับรู้ เมื่อมิได้รับรู้ จึงไม่มีหน้าที่จะไปยับยั้ง ปกป้องการกระทำดังกล่าวได้อย่างไร?

ศาลอุทธรณ์ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ได้จำแนกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

1) ผู้ก่อเหตุทั้งสองรายส่งเสียงเอะอะโวยวาย เป็นที่รับรู้ได้ทั่วไป ซึ่งพนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตก็น่าจะได้ยินเช่นกัน ทั้งน่าจะรับรู้ถึงพฤติกรรมที่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อลูกค้าได้ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ แต่การเพียงส่งเสียงดังดังกล่าว แม้จะรับรู้ได้ ก็ยังไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าจะนำไปสู่การก่อภัยคุกคามใด ๆ ได้บ้าง

2) ส่วนการเข็นรถเข็นไปมาด้วยพฤติกรรมอันอาจจะก่ออันตรายขึ้นมาได้นั้น ซึ่งฝ่ายโจทก์อ้างว่า เกิดขึ้นสองครั้งด้วยกันก่อนหน้านั้น ครั้งแรกเจอเมื่อตอนที่ตนก้าวเข้ามาในซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้เห็นผู้ก่อเหตุดันรถเข็นให้แล่นไปเอง แต่ไปไม่ไกล แล้วหยุดเอง ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตก็น่าจะรับรู้ได้เช่นกัน

3) ในเหตุการณ์เข็นรถครั้งที่สองด้วยความเร็วไปตามช่องทางย่อยต่าง ๆ ซึ่งสามารถดันให้พุ่งไปเกือบตลอดช่องทางนั้น โจทก์ไม่มีพยานมาแสดงให้เห็นว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตได้รับรู้ หรือควรได้รับรู้ถึงพฤติกรรมเช่นนั้นเลย

สิ่งที่สำคัญ คือ พยานหลักฐานของโจทก์ยังแสดงให้เห็นอีกว่า พอพ้นจากช่องทางย่อย ซึ่งค่อนข้างลับตาผู้คนแล้ว ผู้ก่อเหตุจะเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการทำตัวสงบเรียบร้อยลงดังเช่นลูกค้าทั่วไป

จุดที่เกิดเหตุเป็นช่องทางย่อยอยู่เกือบสุดปลายทาง ขณะที่โจทก์กำลังก้มตัวลงหยิบของ และมิได้มองว่า รถเข็นกำลังแล่นพุ่งตรงมาหา

ดังนั้น การที่โจทก์อ้างว่า การส่งเสียงดังกับการเล่นรถเข็นในเหตุการณ์ครั้งแรกสุดนั้นนำไปสู่การควรที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าของตนได้แล้ว ศาลอุทธรณ์ยังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะจากพยานหลักฐานของโจทก์เองก็ยังมิได้แสดงให้เห็นความคุกคามใด ๆ รถเข็นยังมิได้ถูกแรงดันให้แล่นไปไกลนัก

ขณะที่การเล่นรถเข็นครั้งที่สอง มีการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น หากใครพบเห็นคงต้องลงความเห็นได้ว่า อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้ และศาลอุทธรณ์เชื่อว่า ถ้าพนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้พบเห็น ก็น่าจะต้องใช้ความพยายามยับยั้งมิให้เกิดภัยอันตรายนั้นได้ จึงน่าเชื่อว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตคงไม่รับรู้ จนเป็นที่มาของอุบัติเหตุในครั้งนี้ท้ายที่สุด

ทั้งโจทก์เองก็มิได้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้ศาลอุทธรณ์เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตได้รับรู้ หรือควรจะได้รับรู้ถึงการเล่นรถเข็นครั้งที่สองนี้อันจะนำไปสู่การละเว้นหน้าที่ของตนในการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าแต่ประการใด

ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยการตัดสินให้ฝ่ายจำเลยพ้นผิด

(อ้างอิงจากคดี Coles Supermarkets Australia Pty Limited v Tormey [2009] NSWCA 135)

ลูกค้าผู้โชคร้ายรายนี้จำต้องรับกรรมตามลำพังจากการกระทำของผู้กระทำผิดที่แท้จริงซึ่งได้หลบหนีหายตัวไปตั้งแต่ต้น 

เรื่องต่อไป เหตุเกิดข้างสนามกอล์ฟ ระหว่างเจ้าของบ้านข้างเคียงกับสนามกอล์ฟ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com

พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
 

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 91:เหตุเกิดในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง


(ตอนที่หนึ่ง)

ลูกค้าที่ไปชอปปิ้งในซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วถูกวัยรุ่นเข็นรถเข็นเล่นด้วยความคึกคะนองมาชนจนได้รับบาดเจ็บ

คุณคิดว่า เป็นความผิดของใครดีครับ? ใครควรจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่ลูกค้าผู้บาดเจ็บรายนั้น?

วัยรุ่นที่เข็นรถเข็นคันนั้น? หรือเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต?

ถ้าคุณบอกว่า วัยรุ่นที่กระทำนั่นละผิดแน่ ๆ ก็ถูกต้องครับ แต่ตัวแสบนั้นหนีหายไปแล้วทันทีที่เกิดเรื่อง

อ้าว งั้นจะไปเรียกร้องให้เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตมารับผิดด้วยได้ไหม?  

แน่นอนเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตคงโบ้ยมาให้บริษัทประกันภัยซึ่งคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกของตนมารับผิดแทนอีกต่อนึง

ท้ายที่สุด คุณคิดว่า ลูกค้าผู้บาดเจ็บรายนั้นจะโชคดี หรือโชคร้ายกันแน่?

มาลุ้นกันครับ เพราะเรื่องนี้เกิดเป็นคดีขึ้นมาแล้ว ในต่างประเทศ

ต้นปี ค.ศ. 2005 ลูกค้าสตรีรายหนึ่งเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ระหว่างที่ก้มตัวลงหยิบสินค้าชิ้นหนึ่ง ก็ถูกรถเข็นคันหนึ่งแล่นเข้ามาชนที่ด้านหลัง พอเหลียวตัวไปมองทันเห็นวัยรุ่นสองคนรีบวิ่งหนีหายตัวไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อลูกค้าผู้โชคร้ายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่า มีอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง จำต้องผ่าตัด หลังจากผ่าตัด อาการก็ยังไม่ดีมากนัก เธอต้องตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพถาวรบางส่วน ไม่สามารถกลับมาเดินได้ตามปกติอีกต่อไป

เธอได้มาเรียกร้องให้เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้นรับผิดชอบ แต่ได้รับการปฏิเสธว่า มิใช่ความผิดของตน วัยรุ่นสองคนที่หนีไปต่างหากเป็นผู้กระทำความผิด

เธอจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องทั้งเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตกับบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายแก่เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตร่วมกันรับผิด

ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า โจทก์ผู้เสียหายพบเห็นพฤติกรรมความคึกคะนองของวัยรุ่นทั้งสองคนระหว่างที่ตนเองกำลังเดินเลือกซื้อของอยู่ถึงสามหนในช่วงเวลาประมาณ 15 – 20 นาทีก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ 

วัยรุ่นทั้งสองคนนั้น คนหนึ่งจะนั่งอยู่บนรถเข็น แล้วให้เพื่อนอีกคนเข็นแล่นไปมา บางครั้งจะเข็นลักษณะยกล้อ ทั้งยังส่งเสียงเอะอะโวยวายรบกวนด้วย ดังนั้น ลูกค้ารายอื่นก็พบเห็นพฤติกรรมนี้เช่นกัน แต่สังเกตดูกลับมิได้มีพนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตเข้ามาขัดขวาง หรือห้ามปรามการกระทำเช่นนั้นเลย จนกระทั่งได้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ขึ้นมาในท้ายที่สุด 

แม้ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมิได้เป็นผู้กระทำความผิดโดยตรง แต่ก็มีหน้าที่ที่ควรปฏิบัติในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าของตน ซึ่งสามารถเล็งเห็นได้ว่า อาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือความเสียหายขึ้นมาได้ และด้วยการละเลยหน้าที่ดังกล่าวของตนได้ส่งผลทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยให้ฝ่ายเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตกับบริษัทประกันภัยร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

คุณเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนี้ไหมครับ? 

แน่นอนครับที่ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ผลทางคดีจะเป็นเช่นไร? รอสัปดาห์หน้านะครับ


วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 90:คดีศึกษาระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)” และ “การขับขี่ (Operation)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์


(ตอนที่สาม)


บทสรุปในเรื่องนี้


ในความเป็นจริงทางปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดได้


ก) ผู้เอาประกันภัยอาจเป็นทั้งผู้ใช้รถยนต์กับผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัย (ผู้มีสิทธิใช้กับผู้มีสิทธิขับขี่เป็นบุคคลคนเดียวกัน)


ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่เอาประกันภัย หรือผู้มีสิทธิครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัย ได้แก่ ผู้เช่าซื้อรถยนต์


ข) ผู้เอาประกันภัยอาจยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นทั้งผู้ใช้รถยนต์กับผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดทั้งสิ้น (ผู้มีสิทธิใช้กับผู้มีสิทธิขับขี่เป็นบุคคลคนเดียวกัน)


ยกตัวอย่างเช่น พ่อซื้อรถยนต์คันที่เอาประกันภัยมาให้ลูกใช้และขับขี่ ลูกจะขับไปเรียน ไปทำงาน ไปเที่ยว ไปกินดื่มจนเมาสุราก็แล้วแต่


ค) ผู้เอาประกันภัยอาจยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นทั้งผู้ใช้รถยนต์กับผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัย แต่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดกำหนดไว้ (ผู้มีสิทธิใช้กับผู้มีสิทธิขับขี่เป็นบุคคลคนเดียวกัน)


ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้เช่ารถยนต์ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยอนุญาตให้ผู้เช่ารถยนต์คันนั้นใช้และขับขี่เพียงผู้เดียวเท่านั้น โดยสัญญาเช่ารถยนต์ระบุห้ามมิให้นำไปให้บุคคลอื่นขับขี่แทน


ฆ) ผู้เอาประกันภัยอาจยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้ใช้รถยนต์ แต่ห้ามมิให้ขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยเอง ต้องให้บุคคลอื่นอีกรายซึ่งผู้เอาประกันภัยเห็นชอบเป็นผู้ขับขี่รถยนต์คันนั้นแทน (ผู้มีสิทธิใช้กับผู้มีสิทธิขับขี่เป็นบุคคลคนละคน)


ยกตัวอย่างเช่น ปู่เป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยอนุญาตให้หลานของตนเองนำรถยนต์คันนั้นไปใช้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องให้เพื่อนที่ระบุชื่อของหลานเป็นผู้ขับขี่แทนเท่านั้น (ดังคดี Farm Bureau Mut. Ins. Co. v. Broadie, 558 S.W.2d 751 (Mo. App. 1977))


ง) บุคคลอื่นซึ่งปราศจากความยินยอมของผู้เอาประกันภัยนำรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปใช้และขับขี่เอง (ผู้ไม่มีสิทธิใช้กับผู้ไม่มีสิทธิขับขี่เป็นบุคคลคนเดียวกัน)


ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างแอบนำรถยนต์คันที่เอาประกันภัยของนายจ้างไปใช้และขับขี่โดยปราศจากความยินยอมของนายจ้างผู้เอาประกันภัย 


จ) บุคคลอื่นซึ่งปราศจากความยินยอมของผู้เอาประกันภัยนำรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปใช้ แต่ให้บุคคลอื่นอีกรายขับขี่โดยปราศจากความยินยอมของผู้เอาประกันภัยด้วยเช่นกัน (ผู้ไม่มีสิทธิใช้กับผู้ไม่มีสิทธิขับขี่เป็นบุคคลคนละคน)


ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างแอบนำรถยนต์คันที่เอาประกันภัยของนายจ้างไปใช้ แต่ให้เพื่อนของตนเป็นผู้ขับขี่โดยปราศจากความยินยอมของนายจ้างผู้เอาประกันภัยทั้งสองคน


หากเรามาดูต่อเทียบเคียงกับหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจฉบับมาตรฐานบ้านเรา ซึ่งนอกจากจะระบุให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถยนต์นั้น รวมถึงความรับผิดตามกฎหมายของบุคคลอื่นซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยดังที่ระบุในข้อ 1. กับข้อ 4. แล้ว


ในข้อ 7. การยกเว้นทั่วไป ซึ่งระบุไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก


7.1 ………………………………….

 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้ถือว่าเมาสุรา


ทั้งในข้อ 8. ข้อสัญญาพิเศษที่ระบุในย่อหน้าสองและย่อหน้าสามว่า


ส่วนเงื่อนไข 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เพื่อปฏิเสธความ  รับผิดทั้งตาม 1.1 (ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของบุคคลภายนอก) และ 1.2 (ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก) ในหมวดนี้



ในกรณีที่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ต่อผู้เอาประกันภัย แต่บริษัทได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ในความรับผิดที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัทภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือเรียกร้องจากบริษัท



ในการตีความถ้อยคำย่อหน้าสองข้างต้น อาจเกิดประเด็นขึ้นมาได้ว่า บริษัทประกันภัยไม่สามารถนำข้อยกเว้นเรื่องเมาสุราดังกล่าวไปอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ในกรณีใดดังต่อไปนี้ได้บ้าง?



) กรณีผู้เอาประกันภัยเมาสุราขณะเป็นผู้มีสิทธิใช้รถกับผู้มีสิทธิขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยเอง (ผู้ใช้มีสิทธิ ผู้ขับขี่มีสิทธิ)



) กรณีผู้ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยโดยมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดทั้งสิ้น เมาสุราขณะเป็นผู้มีสิทธิใช้รถกับผู้มีสิทธิขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัย (ผู้ใช้มีสิทธิ ผู้ขับขี่มีสิทธิ)



ค) กรณีผู้ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยโดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้นำไปให้บุคคลอื่นขับขี่แทน ได้ฝ่าฝืนให้บุคคลอื่นผู้ไม่มีสิทธิขับขี่ในขณะที่บุคคลนั้นเมาสุรา (ผู้ใช้มีสิทธิ ผู้ขับขี่ไม่มีสิทธิ)



ฆ) กรณีผู้ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยโดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้ขับขี่เอง ต้องให้เฉพาะบุคคลอื่นดังที่กำหนดไว้เป็นผู้มีสิทธิขับขี่แทน กลับฝ่าฝืนเป็นผู้ขับขี่เสียเองโดยไม่มีสิทธิขณะที่ตนเองกำลังเมาสุรา (ผู้ใช้มีสิทธิ ผู้ขับขี่ไม่มีสิทธิ)



ง) กรณีบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิใช้กับผู้ไม่มีสิทธิขับขี่นำรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปใช้และขับขี่เองขณะเมาสุรา (ผู้ใช้ไม่มีสิทธิ ผู้ขับขี่ไม่มีสิทธิ)



จ) บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิใช้กับผู้ไม่มีสิทธิขับขี่นำรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปใช้ แต่ให้บุคคลอื่นอีกรายผู้ไม่มีสิทธิขับขี่ในขณะที่บุคคลนั้นเมาสุรา (ผู้ใช้ไม่มีสิทธิ ผู้ขับขี่ไม่มีสิทธิ)



คุณจะเลือกข้อไหนเป็นคำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามข้างบนบ้างครับ?



ส่วนตัวผมขอตีความว่า ข้อ ก) ข) ค) กับ ฆ) น่าจะไม่สามารถใช้อ้างกับบุคคลภายนอกที่เสียหายได้ แต่สำหรับข้อ ค) กับ ฆ) อาจยังมีข้อโต้แย้งได้อยู่บ้าง ถ้าการฝ่าฝืนดังกล่าวมีบทลงโทษอย่างเข้มงวดชัดเจน ถึงขนาดเพิกถอนสิทธิการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยคันนั้นเลย ก็น่าจะหยิบยกปฎิเสธบุคคลภายนอกได้ เพราะถือเป็นการขับขี่โดยไม่มีสิทธิใช้รถด้วย ดังกรณีสัญญาเช่ารถที่ห้ามมิให้ผู้เช่านำรถยนต์คันที่เช่าไปให้บุคคลอื่นขับขี่ ซึ่งกำหนดโทษฝ่าฝืนถึงขนาดเป็นอันเลิกสัญญาเช่า หรือลูกจ้างนำรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปขับขี่ขณะเมาสุรา ฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้างซึ่งกำหนดบทลงโทษอย่างชัดแจ้งให้เพิกถอนการใช้รถไปเลย และนายจ้างได้เข้มงวดเอาจริงกับกรณีนี้ โดยไม่มีการผ่อนปรนใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ให้เช่า หรือนายจ้างมิได้เคร่งครัดเอาจริง และปล่อยละเลยกับข้อกำหนดหรือระเบียบเรื่องนี้แล้ว เชื่อว่า ทั้งผู้ให้เช่า และนายจ้างคงไม่อาจใช้ปฏิเสธความรับผิดของตนเองได้



ส่วนข้อ ง) กับ จ) เนื่องจากถึงขนาดเป็นผู้ไม่มีสิทธิใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยเลย ถ้าจะให้บริษัทประกันภัยไปรับผิดชอบแทน ก็ออกจะดูไม่เป็นธรรมนัก



ข้อสรุปเรื่องนี้ คือ การใช้รถนั้นใหญ่กว่าการขับขี่รถ เพราะการขับขี่รถเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้รถนั่นเอง



อย่างไรก็ดี โปรดลองเทียบเคียงกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นข้อมูลเสริมด้วยครับ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2559

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (ปัจจุบัน แก้ไขลดเหลือเพียงเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เท่านั้น) ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้



ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2548
จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานสวนป่าไม่มีหน้าที่ขับรถหรืออำนาจสั่งใช้รถได้โดยลำพัง ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานสวนป่าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา การที่ ป. ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งมิใช่คนงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาขอความช่วยเหลือจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีอาการท้องร่วงให้นำตัวส่งโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นรถที่ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 ไปส่ง ป. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา แล้วไปเกิดเหตุชนกับรถบรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยความเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง และกระทำไปโดยพลการ นอกเหนือขอบเขตกิจการงานของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย จึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2542
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยได้รับความยินยอมจาก ส. เจ้าหน้าที่วิทยาลัยการปกครอง ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะมีระเบียบว่าด้วยการใช้รถยนต์เป็นประการใดก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาใช้ยันโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดแล้ว จึงรับช่วงสิทธิ มาเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดได้


บทความเรื่องต่อไป ยังตัดสินใจไม่ถูกจะเลือกเรื่องใดมาเขียนดี กรุณาอดใจลองอ่านดูสัปดาห์หน้าก็แล้วกันครับ


วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 90:คดีศึกษาระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)” และ “การขับขี่ (Operation)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์


(ตอนที่สอง)

จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ในประเทศสหรัฐอเมริกามีข้อพิพาทหลายคดีเกิดขึ้นระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)” กับคำว่า “การขับขี่ (Operation)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

เราลองมาดูตัวอย่างคดีล่าสุดนี้กันนะครับ

ลูกจ้างของธุรกิจแห่งหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เมืองเทนเนสซี นายจ้างอนุญาตให้ใช้รถของบริษัทได้เฉพาะเวลาทำงานเท่านั้น ต่อมา ลูกจ้างรายนี้ถูกมอบหมายให้ขับรถยนต์ของบริษัทไปปฏิบัติยังต่างเมือง โดยปกติ เวลาไปทำงานต่างเมือง นายจ้างจะมิได้มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการใช้รถมากนัก นอกจากระเบียบห้ามทานหรือมีเหล้าระหว่างอยู่ที่ทำงาน หรือระหว่างปฏิบัติงานนอกสถานที่ และระหว่างใช้อุปกรณ์เครื่องมือและรถยนต์ของบริษัทด้วย ลูกจ้างทุกรายที่ไปทำงานนอกสถานที่สามารถใช้รถไปไหนมาก็ได้นอกเวลาทำงาน บริษัทก็มิได้กวดขันอะไรช่วงเวลาที่ผ่านมา

เช้าตรู่ในวันที่เกิดเหตุ ลูกจ้างรายนี้ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน ณ โรงแรมที่พัก และได้ทานเหล้าจนเมา เพื่อนต้องหิ้วปีกกลับไปนอนที่ห้องพัก โดยได้มีโอกาสงีบหลับไปไม่กี่ชั่วโมง ก็จำต้องตื่นขึ้นมาขับรถออกไปข้างนอก และได้ขับไปชนท้ายรถยนต์คันอื่นที่จอดติดไฟแดงอยู่จนคู่กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส ผลการตรวจวัดปริมาณของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ลูกจ้างรายนี้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสองเท่าจากปริมาณที่กฎหมายกำหนด จึงถูกแจ้งข้อหาเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ

ผู้บาดเจ็บได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้ทั้งบริษัทนายจ้างกับบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองรถยนต์คันดังกล่าวรับผิดชอบ เนื่องจากลูกจ้างรายนี้ถูกไล่ออกและไม่มีเงินพอที่จะชดใช้ค่าเสียหาย

ผลการพิจารณาของศาลชั้นต้น เห็นพ้องกับฝ่ายนายจ้างกับบริษัทประกันภัยที่โต้แย้งว่า ลูกจ้างที่ก่อเหตุได้ขับรถขณะมึนเมา อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้าง จึงไม่ถือเป็นผู้ที่ขับขี่รถอันได้รับความเห็นชอบจากผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว และตัดสินให้ฝ่ายผู้เสียหายแพ้คดี

ถึงชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีความเห็นยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาได้วิเคราะห์ถ้อยคำที่เขียนอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ซึ่งถอดความออกมาได้ใจความว่า “คุ้มครองถึงบุคคลอื่นใดขณะกำลังใช้ (using) รถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้เอาประกันภัย” โดยที่มิได้มีการกำหนดคำนิยามของ “ใช้รถ (use)” เอาไว้ด้วย ศาลจำต้องตีความตามความหมายทั่วไปของคำว่า “ใช้รถ (use)” นั้น ซึ่งหมายความถึง “การใช้ประโยชน์จากรถให้เป็นไปตามตามจุดประสงค์หรือตามความตั้งใจของผู้ใช้จนจบกระบวนการ” ส่วนคำว่า “ขับขี่ (operation)” หมายความถึง “การนำพาหรือการควบคุมยานพาหนะให้เคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งตามจุดมุ่งหมาย



แม้ลูกจ้างรายนี้ยอมรับว่าได้ฝ่าฝืนระเบียบของบริษัทก็ตาม แต่ศาลฎีกาตีความว่า ข้อห้ามดังกล่าวเป็นกรณีห้ามขับขี่ (operation) มิได้ห้ามใช้ (use) แต่ประการใด ทั้งไม่มีถ้อยคำในระเบียบดังกล่าวเขียนไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผลการฝ่าฝืนจะทำให้สิทธิการใช้รถต้องถูกเพิกถอนไป จึงกลับคำตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยรับผิดแก่ผู้เสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย

(อ้างอิงจากคดี Ricky Griffitts v. Old Republic Insurance Company, BNSF Railway Company, and James M. Campbell, No. SC96740, 550 S.W.3d 474 (2018))

อย่างไรก็ดี บางคดี ศาลอาจตีความแคบว่า การฝ่าฝืนระเบียบข้อห้ามของบริษัทถือเป็นการเพิกถอนสิทธิการใช้รถได้เหมือนกัน (State Farm v. Logan, 444 F.Supp.2d 622 (D.S.C. 2006))

นี่เป็นตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นกับถ้อยคำที่เขียนไม่ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้านเขา

แต่เท่าที่ค้นคว้าดู มีหลายประเทศเหมือนกันนอกเหนือจากของบ้านเราที่เขียนโดยใช้ทั้งสองคำต่างกัน แม้คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของเรามิได้อธิบายถึงเหตุผลการใช้คำต่างกันดังกล่าว ก็น่าเชื่อว่า เพื่อประสงค์จำกัดความคุ้มครองให้ลดน้อยลง เพราะคำว่า “ขับขี่” นั้นให้ความหมายแคบกว่าคำว่า “ใช้” มากนัก