วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 113: จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?


(ตอนที่หนึ่ง)

ผมค้นพบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055/2561 เกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเป็นคดีแรกของประเทศไทย เพราะตัวเองได้พยายามค้นหา และรอมานานหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยค้นเจอ หากผมเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ต้องขออภัยและขอคำชี้แนะด้วยครับ แรกที่เจอเป็นเพียงฉบับย่อสั้น อ่านแล้วยังไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้มาก จนได้ฉบับย่อยาวในที่สุด ซึ่งมีข้อมูลเพียงพอที่จะให้แสดงความเห็นเสริมเพิ่มเติมในมุมมองของคนที่เคยทำประกันภัยมาก่อน และไม่อยากรออ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวฉบับเต็ม ด้วยเกรงจะนานไป 

แต่ขอออกตัวก่อนนะครับ ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของศาลท่าน ผมเองมิได้เจตนาอวดตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยประเภทนี้แต่ประการใด เพียงสนใจใฝ่รู้ พยายามค้นคว้าศึกษาอยู่ตลอด ขออนุญาตทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบในแง่การเรียนรู้การประกันภัยประเภทนี้ว่า ควรจะพิจารณาเช่นใดต่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างคู่สัญญาประกันภัย และให้ผู้เอาประกันภัยสามารถได้รับประโยชน์ความคุ้มครองนี้อย่างแท้จริงดั่งที่หลายท่านได้เห็นประโยชน์มาบ้างแล้วช่วงเหตุการณ์สึนามิ และมหาอุทกภัย



จากประสบการณ์ของตนเอง ช่วงระยะเวลาที่อยู่บริษัทประกันภัย เคยรับประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอยู่บ้าง แม้ยังไม่อาจทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจนนัก และด้วยความรู้สึกว่า ทำไมการประกันภัยประเภทนี้ถึงเข้าใจยากจัง แต่ตั้งใจด้วยความมุ่งมั่นว่า จะต้องพยายามหาหนทางสร้างความเข้าใจให้ดีกว่านี้ให้ได้ ได้มีโอกาสอ่านผ่านตาตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ห้องสมุดเก่าของสมาคมประกันวินาศภัยไทย สั่งซื้อมาเองก็มี ค้นบทความทางอินเตอร์เน็ตก็เยอะ ทุกวันนี้ยังทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ จำได้คราวหนึ่งไปอบรมที่ประเทศอินเดีย ได้ไปห้องสมุดค้นหาตำราที่ไม่มีในประเทศไทยเพิ่มเติม แต่เขาไม่ให้ยืม ไม่ให้ถ่ายสำเนา เลยคัดลอกบางส่วนด้วยลายมือก็ทำมาแล้ว ถึงกระนั้นอาจมีความเข้าใจดีขึ้นกว่าเดิมอยู่บ้าง แต่ก็ยังรู้สึกเข้าไม่ถึงแก่นแท้มากนัก ด้วยความโชคดีสมัยทำงานอยู่บริษัทประกันภัยร่วมทุนกับต่างชาติแห่งหนึ่งได้ไปอ่านอีเมลของบริษัทประกันภัยในเครือที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเขาเขียนสอบถามหลักการประกันภัยประเภทนี้ไปที่สำนักงานภูมิภาค ณ ประเทศสิงค์โปร พออ่านแล้วเรียกว่า เกิดดวงตาบรรลุธรรมขึ้นมาทันที สามารถเข้าใจถึงแก่นแท้ได้อย่างชัดเจน และได้ทดลองนำไปอธิบายให้หลายคนรับฟัง ไม่ว่าเป็นคนประกันภัย คนกลางประกันภัย หรือลูกค้าที่สนใจ ก็สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย ต้องกล่าวขอบพระคุณ Mr. Brian Berry มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ประเทศไทยเอง มีกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับมาตรฐานภาษาไทย สำหรับของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ในปี พ.ศ. 2549 และของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 นี้เอง

ฉะนั้น เข้าใจได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับที่เป็นข้อพิพาทกันนี้ ยังเป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษอยู่ เพราะมีการอ้างถึงคำแปลด้วย ไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับว่า มีข้อความเหมือนกับฉบับมาตรฐานภาษาไทยซึ่งผมจะขอนำมาใช้เปรียบเทียบนี้ไหม? แต่เชื่อว่า น่าจะใกล้เคียงกันมาก มาลองวิเคราะห์ประเด็นดูกันนะครับ

ข้อมูลเบื้องต้นของผู้เอาประกันภัย

โจทก์ประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่บริษัท ส. จำกัด ได้ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยจำเลยรวม 3 สัญญา ได้แก่

1) กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม)
    ทุนประกันภัยรวมทั้งสิ้น                             218,000,000 บาท
2) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร
    ทุนประกันภัยรวมทั้งสิ้น                             162,000,000 บาท
3) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก
    ทุนประกันภัยรวมทั้งสิ้น                              30,000,000 บาท

ทั้งสามสัญญามีระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สิ้นสุดวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เหตุแห่งความเสียหาย

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2552 โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าของโจทก์เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต อุปกรณ์บางส่วนระเบิดใช้การไม่ได้ บริษัทผู้สำรวจภัยอิสระเข้าไปตรวจสอบพบว่า เหตุระเบิดเกิดที่ตู้สวิตซ์เกียร์หมายเลข 52 - 2 ซึ่งเป็นระบบควบคุมป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและผิดปกติ

ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิด ดังนี้
1) ภายใต้กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน   
                                                            157,456.50 บาท
2) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร  
                                                            165,540.00 บาท

พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยโจทก์และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา

ข้อพิพาทของสองกรมธรรม์ประกันภัยเป็นอันสิ้นสุด จึงไม่จำต้องวิเคราะห์อะไรเพิ่มเติมอีกนะครับ ทั้งข้อมูลก็ได้มาน้อยมาก

ประเด็นข้อพิพาทของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

สามารถแบ่งแยกออกได้เป็นสามประเด็น ดังนี้

(1) วิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทน

(2) ความคุ้มครองในส่วนของค่าปรับการผิดสัญญา

(3) วิธีการบังคับใช้ความเสียหายส่วนแรก 7 วัน

ผมขอยกไปคุยกันต่อสัปดาห์หน้านะครับ

ขอถือโอกาสวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2563 อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือ โปรดอำนวยพรให้ทุกท่านมีแต่ความสุข ความเจริญ และสุขภาพแข็งแรงตลอดทั้งปีด้วยนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
  

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที...: เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย ( Increased Costs of Repair Due to Laws or By – Laws ) ว่าอย่างไร ...
เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย (Increased Costs of Repair Due to Laws or By Laws) ว่าอย่างไร?


(ตอนที่สี่)

เราได้เห็นตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศทั้งสองกรณีไปแล้วนะครับ ซึ่งคดีศึกษาแรกนั้นมิได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายเอาไว้ จึงได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายแท้จริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ถึงแม้จะได้ขยายเงื่อนไขพิเศษนี้ไว้ มุมมองของศาลต่างประเทศในคดีนั้น จำกัดความคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นอยู่เพียงเฉพาะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายบางส่วนจากภัยที่คุ้มครองเท่านั้น โดยไม่รวมถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งไม่เสียหายแต่อย่างใด เนื่องจากศาลดังกล่าวเห็นว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้แก้ไขปรับปรุงส่วนที่มิได้เสียหายด้วยนั้น เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันกับส่วนที่เสียหายนั้นเลย เว้นแต่ถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนั้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวเขียนให้ครอบคลุมถึงด้วย เหมือนดั่งเช่นในคดีศึกษาที่สองนั้น และศาลคดีที่สองยังมีมุมมองแตกต่างในลักษณะที่ว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้แก้ไขปรับปรุงส่วนที่มิได้เสียหายด้วยนั้นมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากภัยที่คุ้มครองด้วย ถึงแม้ถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนั้นมิได้เขียนให้ครอบคลุมถึง และก็มิได้เขียนยกเว้นไม่รวมถึงส่วนที่มิได้เสียหายนั้นอย่างชัดเจน บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นทั้งหมดด้วย

ทีนี้ เราทดลองนำมาพิจารณาปรับใช้เงื่อนไขทั่วไปที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขพิเศษนั้นของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินบ้านเรากันบ้าง ได้แก่

ก) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป
เงื่อนไขทั่วไปในการรับประกันภัย
5.2  การชดใช้โดยการเลือกทำการสร้างให้ใหม่หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน
       บริษัทอาจจะเลือกทำการสร้างให้ใหม่ หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่สูญเสียหรือเสียหายทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งแทนการจ่ายเงินชดใช้การสูญเสียหรือการเสียหายที่เกิดขึ้น หรืออาจจะร่วมกับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกระทำการดังกล่าวก็ได้
       แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องจัดสร้างให้ใหม่ให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิมหรือให้ครบถ้วนทุกประการ เพียงแต่ว่าจัดไปตามแต่สภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุดและไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย
       ………………………
       ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถที่จะจัดทำการสร้างให้ใหม่หรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนี้ เพราะเหตุว่ามีเทศบัญญัติหรือกฎข้อบังคับใด ๆ บัญญัติไว้ในเรื่องแนวของถนนหรือการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งอื่น ๆ บริษัทจะรับผิดชดใช้เงินเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการสร้างให้ใหม่ หรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ๆ ให้คืนสภาพเดิม หากทำได้ตามกฎหมาย

ข) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
6.   เงื่อนไขทั่วไป
6.7 การชดใช้โดยจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน
บริษัทอาจจะเลือกทำการสร้างให้ใหม่ หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่เสียหายทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งแทนการจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น หรืออาจจะร่วมกับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ กระทำดังกล่าวก็ได้
แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องจัดสร้างให้ใหม่ให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิม หรือให้ครบถ้วนทุกประการ เพียงแต่ว่าจัดไปตามแต่สภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุด และไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย
       ………………………
ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถที่จะจัดทำการสร้างใหม่ หรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนี้ เพราะว่ามีเทศบัญญัติหรือกฎข้อบังคับใด ๆ บัญญัติไว้ในเรื่องแนวของถนนหรือการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งอื่น ๆ บริษัทจะรับผิดชดใช้เงินเพียงพอเท่าที่จำเป็นเพื่อการสร้างใหม่ หรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ๆ ให้คืนสภาพเดิม หากทำได้ตามกฎหมาย โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา

ค) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

หมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป

12. การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
      12.1 บริษัทอาจจะเลือกทำการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน หรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายแทนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น
             ถ้าบริษัทเลือกที่จะซ่อมแซมหรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน …………… แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้อง่อมแซม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิมทุกประการ เพียงแต่ว่าจัดไปตามสภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุด และไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทจะจ่ายไม่เกินค่าซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นในขณะที่เกิดความเสียหายหรือไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย
             ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถซ่อมแซม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนเพราะเทศบัญญัติ หรือกฎข้อบังคับใด ๆ บัญญัติไว้ในเรื่องแนวของถนนหรือการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งอื่น ๆ บริษัทจะรับผิดชดใช้ไม่เกินจำนวนเงินเพื่อการซ่อมแซมหรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินนั้น ๆ ให้คืนสภาพเดิม หากทำได้ตามกฎหมาย
      12.2 ………………………

คำถามที่ 1

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินบ้านเราข้างต้นทั้งสามฉบับ ผู้เอาประกันภัยจำต้องขยายเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นเสียก่อนหรือเปล่า? ถึงจะได้รับความคุ้มครองดังกล่าว

แนวคำตอบข้อที่ 1

เมื่ออ่านข้อความตรงที่ขีดเส้นใต้ทั้งสามฉบับแล้ว ไม่จำต้องขยายเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นไว้เลย ตามเงื่อนไขทั่วไปก็คุ้มครองให้อยู่แล้ว ถ้าภาษาไทยยังไม่ใคร่ชัดเจนนัก ลองนำคำแปลภาษาอังกฤษของทั้งสามฉบับมาเทียบเคียง ซึ่งเขียนเหมือนกันว่า “because of any municipal or other regulations in force, affecting the alignment of streets, or the construction of buildings, or otherwise, the Company shall, in every such case, only be liable to pay such sum as would be requisite to reinstate or repair such property if the same could lawfully be reinstated to its former condition 

คุณเห็นด้วยกับผมไหมครับ?

คำถามที่ 2

ถ้าเป็นเช่นนั้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ในข้อใดถูกต้องที่สุด?
2.1 ความเสียหายที่แท้จริงโดยไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้น หรือ
2.2 ความเสียหายที่แท้จริงโดยรวมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นเข้าไปด้วย
แต่ทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้

แนวคำตอบข้อที่ 2

เมื่ออ่านตรงย่อหน้าที่สองของเงื่อนไขทั่วไป ซึ่งยกมาเรียงเป็นลำดับกันว่า “บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย” “ไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย” และ “ไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทจะจ่ายไม่เกินค่าซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นในขณะที่เกิดความเสียหายหรือไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย

ผมเห็นว่า ข้อ 2.2 เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

คำถามที่ 3

หากจำต้องชดใช้ให้เช่นนั้นจริงแล้ว ในส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นต้องหักค่าเสื่อมราคาด้วยไหม? กรณีที่เลือกกำหนดจำนวนเงินที่เอาประกันภัยตามวิธีมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value) อันจะทำให้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวิธีมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ซึ่งเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ หักด้วยค่าเสื่อมราคา ณ เวลา และสถานที่ที่เกิดความเสียหายด้วย เนื่องจากเห็นมีแต่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา ขณะที่อีกสองกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เขียนเอาไว้เช่นนั้นเลย

แนวคำตอบข้อที่ 3

เมื่อพิจารณาถึงในส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นเป็นมูลค่าที่มิได้มีอยู่ ณ เวลา และสถานที่ที่เกิดความเสียหายเลย แต่เกิดขึ้นมาภายหลังด้วยข้อบังคับแห่งกฎหมาย จึงไม่จำต้องนำมาหักค่าเสื่อมราคาแต่ประการใด ถึงแม้จะมิได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม (อ้างอิงจากบทความ The Public Authorities Clause by John Carey, CILA Property Special Interest Group, 2015)

คำถามที่ 4

งั้นจะคุ้มครองรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายส่วนที่มิได้เสียหายด้วยไหม?

แนวคำตอบข้อที่ 4

ความเห็นส่วนตัว ไม่รวมนะครับ แม้จะได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายเอาไว้ด้วยก็ตาม ลองตรวจสอบข้อความของเงื่อนไขพิเศษนั้นทั้งสองแบบในตอนที่หนึ่งของบทความเรื่องนี้ จะเห็นว่า แบบ อค./ทส. 1.44 ข้อความอาจไม่ใคร่ชัดเจนนัก ขณะที่ แบบ อค./ทส. 1.73 ชัดเจนกว่า

คำถามที่ 5

ถ้าเงื่อนไขทั่วไปสามารถให้ความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายได้อยู่แล้ว จะไปขยายเงื่อนไขพิเศษนั้นอีกทำไมเล่า? หรือเพื่อทำให้มีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่าจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้?

แนวคำตอบข้อที่ 5

เมื่อเงื่อนไขทั่วไปสามารถให้ความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายได้อยู่แล้ว คงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปขยายเงื่อนไขพิเศษนั้นอีก แต่ถ้าจะคาดหวังเพื่อทำให้มีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่าจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้ล่ะก้อ อาจเป็นไปได้ต่อเมื่อได้มีการกำหนดวงเงินพิเศษสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้นขึ้นมา แล้วนำไปบวกรวมกับจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้ และเสียเบี้ยประกันภัยตามจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยรวมทั้งหมด มิฉะนั้นแล้ว ความคุ้มครองรวมทุกอย่างจะไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้ซึ่งคำนวณมาจากมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้น ในต่างประเทศก็ไม่มีใครนำไปบวกเช่นนั้น เพราะไม่รู้จะกำหนดวงเงินเท่าไหร่ดี? และไม่อยากเสียเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วนถ้ามีคดีเช่นนี้ขึ้นสู่ศาลไทย ศาลท่านจะพิจารณาอย่างใดนั้น ไม่ทราบเหมือนกันครับ

บทความเรื่องนี้จึงขอจบเพียงเท่านี้ครับ

เรื่องต่อไป : จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่...: เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย ( Increased Costs of Repair Due to Laws or By – Laws ) ว่าอย่างไร ...
เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย (Increased Costs of Repair Due to Laws or By Laws) ว่าอย่างไร?


(ตอนที่สาม)

จู่ ๆ ได้เกิดลมพายุพัดโหมกรรโชกกระหน่ำอย่างรุนแรงขึ้นมาใจกลางเมืองในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยความรุนแรงของกระแสลมได้เฉือนเลาะเอาส่วนที่เป็นเปลือกภายนอกอาคารที่ทำจากอิฐ (brick façade) ผนังอาคารที่ก่อด้วยอิฐบล็อก และหน้าต่างที่ติดตั้งอยู่บริเวณชั้นเจ็ดของอาคารสำนักงานสูงแปดชั้น ทางฝั่งทิศเหนือด้านติดกับเส้นทางด่วน ปลิวหลุดลอยหายไปตามลม เศษซากวัสดุบางส่วนหล่นลงไปตกอยู่บริเวณที่จอดรถ บางส่วนก็กระเด็นลอยไปตกบนทางด่วนก็มี สร้างความเสียหายอย่างมากตรงบริเวณชั้นเจ็ดของตัวอาคารดังกล่าว

ภายหลังจากได้รับรายงาน เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกไปตรวจสอบความเสียหายบริเวณชั้นเจ็ดของอาคารดังกล่าว และพบว่า ตัวผนังอาคารเพียงก่อยึดกับพื้นด้วยปูนซีเมนต์เท่านั้น โดยมิได้ใช้เหล็กฉาก (angle iron) มายึดประกอบให้แข็งแรงด้วยเลย ซึ่งเป็นลักษณะเช่นนี้ทั่วทั้งตัวอาคาร หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกกำลังดัน เชื่อได้ว่า คงสามารถทำให้ตัวผนังขยับเขยื้อนเคลื่อนที่จากตำแหน่งได้ไม่ยากนัก
 
เมื่อคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งการพังทลายลงของผนังชั้นเจ็ด รวมทั้งความไม่มั่นคงของผนังที่เหลืออยู่ทั้งหมดของตัวอาคาร เจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้นั้นจึงลงความเห็นว่า ตัวอาคารดังกล่าวไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยเพียงพอ จำต้องปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมายโดยเร็ว ดังนั้น วันถัดมา ได้มีการออกประกาศห้ามใช้อาคารดังกล่าวจนกว่าจะได้มีการปรับปรุงแก้ไขผนังของชั้นสองถึงชั้นแปดรวมถึงชั้นดาดฟ้าด้วย เพิ่มเติมนอกหนือจากชั้นเจ็ดที่ต้องทำการซ่อมแซมอยู่แล้ว เพื่อให้ได้มาตรฐานความมั่นคงแข็งแรงซึ่งกำหนดให้ใช้เหล็กฉากยึดไว้กับตัวโครงสร้างดังที่ได้บัญญัติไว้ในกฎข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานการก่อสร้างซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่เวลานั้น 

ประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกมาอยู่ประมาณครึ่งล้านเหรียญ หรือประมาณร่วมยี่สิบล้านบาท

เจออย่างนี้เข้า เจ้าของอาคารก็กุมขมับล่ะซิครับ แต่เชื่อว่า ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เรามีกรมธรรม์ประกันภัยแบบสรรพภัยคุ้มครองอาคารหลังกล่าวอยู่แล้ว แถมยังได้ขยายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย (Increased Costs of Repair Due to Laws or By Laws) เผื่อเอาไว้อีก บริษัทประกันภัยคงเข้ามาช่วยรับผิดแทนได้แน่ ๆ

พอผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าวได้แจ้งเรื่องราวถึงบริษัทประกันภัยของตน คำตอบที่ได้กลับมา คือ ใช่แน่ ๆ ที่จะคุ้มครองให้ แต่เพียงเฉพาะค่าซ่อมแซมบริเวณชั้นเจ็ดที่เสียหายจากลมพายุเท่านั้นนะ ส่วนที่เหลือนั้นไม่ได้รับความเสียหายครั้งนี้ด้วยเลย แต่เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเท่านั้น จึงไม่อาจคุ้มครองให้ได้

อ้าว แล้วที่ขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมกรณีนี้เอาไว้แล้ว ทำไมถึงยังมาบอกอีกว่า ไม่อาจคุ้มครองให้ได้เช่นนั้นอีก

ครับ ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยตามระเบียบ ในเมื่อคุยกันไม่จบ

ประเด็นพิพาทที่ศาลชั้นต้นต้องพิเคราะห์อยู่ที่ถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนั้น มีความหมายเช่นใด?

ถ้อยคำที่ปรากฏสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ ดังนี้

ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการก่อสร้าง

ก) หากได้เกิดภัยที่คุ้มครองขึ้นที่อาคารที่ได้เอาประกันภัยไว้ บริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในกรณี
     (1) การซ่อมแซมหรือการสร้างใหม่ส่วนที่เสียหายของอาคารที่เอาประกันภัย
          และ/หรือ
     (2) การสร้างใหม่ หรือการปรับปรุงส่วนที่ไม่เสียหายของอาคารที่เอาประกันภัย ไม่ว่าจะได้มีการรื้อทำลายด้วยหรือไม่ก็ตาม

 เมื่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้เทศบัญญัติ หรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ผังเมือง หรือการใช้ที่ดิน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า งานที่จำต้องปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งนั้นเป็นผลโดยตรงจากการพังทลายของผนังชั้นเจ็ดเนื่องจากลมพายุ ฉะนั้น การสั่งให้ซ่อมแซมชั้นอื่น ๆ จะไม่อาจมีขึ้นมาได้เลย หากผนังชั้นเจ็ดไม่ได้รับความเสียหาย ถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษดังอ้างถึงชัดเจนดีอยู่แล้วว่า ให้ความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายสำหรับกรณีพิพาทนี้ด้วย

บริษัทประกันภัยรายนี้ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อโต้แย้งของบริษัทประกันภัยจำเลยที่ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ให้ความคุ้มครองเพียงเฉพาะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซ่อมแซมความเสียหายบางส่วนที่ได้รับความคุ้มครองของตัวอาคารดังกล่าวเท่านั้น ส่วนอื่นของตัวอาคารที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขนั้นก็มิได้เป็นผลโดยตรงมาจากความเสียหายของภัยลมพายุที่คุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เลย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า ความเสียหายเนื่องจากลมพายุตรงชั้นเจ็ดกับคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่ให้ปรับปรุงแก้ไขชั้นอื่น ๆ นั้น เป็นคนละเรื่องกันเลย ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันแต่ประการใด เพราะการมาตรวจพบความไม่มั่นคงปลอดภัยตรงจุดอื่น ๆ เป็นเพียงเหตุบังเอิญเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า เมื่ออาคารเกิดความเสียหายจนต้องทำการซ่อมแซมหรือการสร้างใหม่นั้น เป็นสิ่งปกติที่เจ้าพนักงานตามกฎหมายจะต้องสั่งให้ดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามเทศบัญญัติหรือกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเวลานั้นด้วย ซึ่งตอนที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อนานมาแล้ว มิได้มีกฎหมายเช่นว่านี้ใช้บังคับอยู่เลย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นร่วมกันอีกว่า กรณีผนังที่เสียหายบางส่วนตรงจุดใด คงมิใช่เพียงซ่อมแซมให้ได้มาตรฐานตรงจุดที่เสียหายเท่านั้น แล้วปล่อยให้ผนังเดียวกันตรงจุดอื่นที่ไม่เสียหายคงไว้เช่นเดิม เจตนารมณ์ของเงื่อนไขพิเศษนี้หมายความถึงให้ความคุ้มครองรวมถึงจุดอื่นของผนังนั้น ตราบใดที่เป็นผนังเดียวกัน

สำหรับกรณีที่เป็นผนังมิใช่แผ่นผืนเดียวกันนั้นยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ดังที่เป็นประเด็นโต้แย้งในคดีนี้

ฝ่ายจำเลยได้อ้างอิงคำพิพากษาคดี Weinstein v. Commerce. Ins. Co., ในตอนที่สองของบทความนี้ว่า ศาลคดีนั้นวินิจฉัยว่า การตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมายหลังจากเหตุไฟไหม้นั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองให้ได้ เพราะไม่อาจกล่าวได้เลยว่า ถึงแม้การฝ่าฝืนกฎหมายไม่อาจตรวจพบได้ หากมิได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาเสียก่อน แต่การฝ่าฝืนกฎหมายนั้นก็เป็นคนละกรณีจากเหตุไฟไหม้ เนื่องจากไฟไหม้มิใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว การบังคับใช้กฎหมายนั้นมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วตราบใดที่กฎหมายดังกล่าวคงยังมีผลใช้บังคับอยู่

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยคดีนั้น เพราะถ้าถามความเห็นของผู้เอาประกันภัยทั่วไป เชื่อว่า เขาคงเห็นว่า เจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขปรับปรุงอาคารที่ปราศจากความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตคนขึ้นมาได้ ให้ทำถูกต้องตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดได้อยู่แล้ว ก่อนเกิดเหตุ อาคารดังกล่าวอาจถือว่า ยอมรับได้ เนื่องจากกฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง แต่หลังเกิดเหตุ ถือว่าไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานอีกต่อไปแล้ว

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ว่า การพังทลายของผนังชั้นเจ็ดกับคำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจนในลักษณะสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)

เมื่อภัยที่คุ้มครองเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดเหตุอื่น ๆ ต่อเนื่องติดตามมาโดยไม่ขาดตอน ให้ถือภัยแรกสุดเป็นเกณฑ์การพิจารณาความเสียหายทั้งหมด

อาคารที่เอาประกันภัยหลังดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการที่กฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง แต่ครั้นเกิดความเสียหาย อาคารหลังดังกล่าวก็ได้สูญเสียสถานภาพนั้นไป  

ฉะนั้น เมื่อผนังชั้นเจ็ดได้พังทลายลงได้ส่งผลต่อเนื่องทำให้ผนังตรงชั้นอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายคนขึ้นมาได้ จึงถือได้ว่า ผนังที่พังทลายนั้นเป็นสาเหตุใกล้ชิดที่ทำให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายต้องเข้าไปตรวจสอบปัญหาเดียวกันตรงจุดอื่นของอาคารหลังดังกล่าวด้วย จนพบโครงสร้างที่ไม่ปลอดภัย ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่จำต้องปรับปรุงแก้ไขล้วนเป็นผนังเหมือนกัน เทศบัญญัติที่ใช้บังคับก็เหมือนกัน รวมทั้งวิธีการปรับปรุงแก้ไขก็เหมือนกันอีก

ด้วยเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามเงื่อนไขพิเศษนั้นอันประกอบเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี DEB Assoc. v. Greater New York Mutual Ins. Co., 970 A.2d 1074 (N.J. Super. 2009))

คุณเห็นอย่างไรบ้างครับ?

ต้องต่ออีกตอนหนึ่งเป็นบทสรุปพร้อมกับเทียบเคียงกับเงื่อนไขความคุ้มครองของบ้านเรา ในสัปดาห์หน้าครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/