เรื่องนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้น
ณ ประเทศแอฟริกาใต้
เช้าตรู่วันหนึ่งของวันที่
11 กันยายน ค.ศ. 2002 โรงงานผลิตภัณฑ์เมล็ดข้าวโพดที่เอาประกันภัยได้ตรวจพบความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าที่ป้อนเข้าสู่โรงงาน
และยังเกิดขึ้นตามมาอีกเป็นระยะ เมื่อเรียกผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบ ก็สันนิษฐานว่า
สายเคเบิ้ลฝังอยู่ในพื้นทรายใต้คานน่าจะเป็นต้นตอของปัญหา จำต้องรื้อย้ายคานออกไปเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจ
และจะได้ทำการแก้ไขได้
จากนั้นจึงพบว่า สายเคเบิ้ลบางส่วนจากทั้งหมด
650 เส้นเกิดความร้อนขึ้นมาเนื่องจากถูกจัดวางใกล้กันเกินไป จนทำให้กระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านไม่สามารถปลดปล่อยรังสีความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงขนาดส่งผลให้ฉนวนหุ้มสายละลาย และสายทองแดงข้างในสัมผัสกัน ถ้าไม่รีบแก้ไข
อาจส่งผลร้ายต่อเนื่องถึงสายทั้งหมดได้ท้ายที่สุด
ผู้เอาประกันภัยตัดสินใจหยุดประกอบการชั่วคราวเพื่อทำการแก้ไขในวันที่
19 กันยายน ค.ศ. 2002
และสามารถกลับมาดำเนินกิจการดังเดิมได้อีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2002
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร
(Machinery
Insurance) และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอันสืบเนื่องจากเครื่องจักร (Business Interruption Insurance in consequence of
Machinery Insurance)
ประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
คือ
(1) สายเคเบิ้ล หรือสายไฟฟ้าถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่เอาประกันภัยไว้หรือไม่?
(2) ความเสียหายทางกายภาพนั้นแม้จะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย
(unexpected)
แต่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน (sudden) หรือไม่?
(3) ตกอยู่ในข้อยกเว้นเรื่องการเสื่อมสภาพจากการใช้งานตามปกติ
(wearing
out from normal usage) หรือไม่?
ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์แต่ละประเด็น
ดังนี้
(1) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรฉบับนี้กำหนดคำนิยาม
ซึ่งสามารถถอดความออกมาได้ว่า
“เครื่องจักร
หมายความถึง เครื่องจักรกับเครื่องจักรกล และ/หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย
รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการใช้งานของเครื่องจักรดังกล่าว
ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่ในการจัดการ หรือการใช้งาน และฐานรองรับเครื่องจักรนั้นด้วย”
ศาลเห็นว่า
สายเคเบิ้ลนั้นตกอยู่ในคำนิยามนี้แล้ว
(2) เงื่อนไขความคุ้มครองได้กำหนดจะคุ้มครองความเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
และโดยมิได้คาดหมายแก่เครื่องจักรที่ได้เอาประกันภัยไว้จากสาเหตุใด ๆ ซึ่งมิได้ถูกระบุยกเว้นเอาไว้เป็นอย่างอื่น
เมื่อตรวจสอบความหมายของคำว่า
“ฉับพลัน” กับ “มิได้คาดหมาย” จากพจนานุกรมจะเห็นได้ว่า ฉับพลันก็หมายถึงสิ่งที่มิได้คาดหมาย
หรือมิได้มุ่งหวังด้วยเช่นกัน ดังนั้น การตีความทั้งสองคำนี้จำต้องตีความรวมกันไปว่า
หมายความถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันใด ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการละลายของฉนวนที่หุ้มสายเคเบิ้ลที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย
จนกระทั่งทำให้ตัวนำทองแดงที่อยู่ภายในสัมผัสกันได้ และนำไปสู่ความเสียหายท้ายที่สุด
การที่ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า
แม้ฉนวนของสายเคเบิ้ลนั้นค่อย ๆ ละลายตัว
แต่การสัมผัสกันของตัวนำทองแดงเป็นการเกิดขึ้นโดยฉับพลันนั้น และสุดท้ายทำให้เกิดความผิดปกติโดยมิได้คาดหมายขึ้นในวันที่
11 กันยายน ค.ศ. 2002 นั้น ศาลไม่เห็นพ้องด้วย เพราะถ้าสายเคเบิ้ลนั้นมิได้ละลายเสียก่อน
ตัวนำทองแดงคงมิอาจสัมผัสกันได้ ฉะนั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมิเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองดังที่กำหนดไว้ดังกล่าว
(3) ประเด็นข้อยกเว้นนี้
ศาลไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาอีก
จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยมิจำต้องรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ
(อ้างอิงจากคดี African
Products (Pty) Limited v AIG South Africa Limited
2009 [3] SA 473 [SCA])
เทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรฉบับมาตรฐานของบ้านเรา
ซึ่งกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครองไว้เช่นเดียวกัน ดังนี้
“ข้อ 1.2 การคุ้มครอง บริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญเสีย
หรือความเสียหายอันเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ต่อเครื่องจักรที่ตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งได้ระบุไว้ในตาราง”
ผมเขียนบทความอีกชุดหนึ่งภายใต้หัวข้อ พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ซึ่งจะเน้นเขียนสาระน่ารู้ต่าง ๆ
ของการประกันวินาศภัยเสริมเพิ่มเติมใน Facebook ใน Meet
Insurance จาก Facebook ส่วนตัวของผม และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ขอฝากด้วยนะครับ
ล่าสุดเป็นเรื่อง ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า (Electrical Injury
& Installation) เรื่องที่คุยกันไม่รู้จบ (ที่จะต้องคุยกันยาวนิดนึง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น