วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 82:ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่?


วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2000 นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียอายุ 36 ปีรายหนึ่งเกิดอาการวูบสิ้นสติไปขณะอยู่ที่สนามบินชางฮี ประเทศสิงค์โปร และได้สิ้นใจลงภายหลังจากถูกนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงในเวลาไม่นาน ผลการชันสูตรพลิกศพและใบมรณบัตรระบุสาเหตุการตายเนื่องจากภาวะลิ่มเลือดทำให้เส้นเลือดถึงขนาดแตกและตกเลือด ลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันจนเกิดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery) และกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction) ท้ายที่สุด

ผู้ตายเคยมีประวัติตรวจพบอาการหลอดเลือดแดงแข็งตัวมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว 

ก่อนออกเดินทางออกนอกประเทศ ผู้ตายก็เคยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉินจากอาการเจ็บหน้าอกในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันมาแล้วถึงสองครั้ง แต่เมื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง ECG ผลออกมาปกติ 

ภรรยาของผู้ตายได้ทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ตาย แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลในเวลาต่อมา

ศาลชั้นต้นได้วิเคราะห์ประเด็นข้อพิพาทว่า การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยเกิดจากความบาดเจ็บ (Injury) อันจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้หรือไม่?

คำนิยามของความบาดเจ็บกำหนดว่า

ความบาดเจ็บ หมายความถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายซึ่งเป็นผลมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัยในระหว่างระยะเวลาประกันภัย และได้ส่งผลตามที่ได้กำหนดไว้ในตารางผลประโยชน์ภายในระยะเวลา 12 เดือนนับแต่วันที่เกิดความบาดเจ็บนั้นเอง ทั้งนี้ไม่รวมถึง
ก) ผลสืบเนื่องจากความบาดเจ็บซึ่งโดยปกติแล้วถือว่าเกิดจากความเจ็บป่วย
ข) ผลต่อเนื่องจากความบาดเจ็บที่เคยเป็นอยู่ก่อนแล้ว เว้นเสียแต่เกิดจากอุบัติเหตุครั้งใหม่ที่แยกต่างจากกัน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำว่า “อุบัติเหตุ” นั้นหมายความถึง สิ่งที่เกิดขึ้นโดยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกร่างกายเท่านั้น อาจเกิดขึ้นภายในก็ได้ ทั้งไม่จำต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งการฉีกขาดที่เส้นเลือดของผู้เอาประกันภัยอันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตนั้นมิใช่อุบัติเหตุที่จะส่งผลทำให้ได้รับความคุ้มครองได้ ถึงแม้เป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวังก็ตาม 

ภรรยาผู้รับประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ตายเคยมีประวัติอาการโรคหลอดเลือดแข็งตัวอย่างรุนแรง (Severe Coronary Atherosclerosis) มาก่อนหน้านั้นแล้ว ฉะนั้น โอกาสการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการฉีกขาดของเส้นเลือดของผู้เอาประกันภัยมีค่อนข้างสูง โดยไม่ปรากฏหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีสิ่งอื่นใดมากระทำต่อตัวผู้เอาประกันภัยเลย นอกจากสภาพภาวะความเจ็บป่วยทางร่างกายของผู้เอาประกันภัยเอง

ทั้งศาลอุทธรณ์ยังได้วิเคราะห์เพิ่มเติมอีกว่า ไม่เข้าข้อยกเว้นข้อ ข) ของคำนิยามความบาดเจ็บซึ่งระบุไม่รวมถึง “ผลต่อเนื่องจากความบาดเจ็บ ที่เคยเป็นอยู่ก่อนแล้ว (pre-existing injuries)” เพราะไม่มีหลักฐานระบุว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจตายของผู้เอาประกันภัยในช่วงที่เสียชีวิตเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันก่อนหน้านั้น อนึ่ง ข้อยกเว้นนี้มิได้เขียนถึง “ผลต่อเนื่องจากความเจ็บป่วยที่เคยเป็นมาก่อน (pre-existing diseases)” แต่ประการใด

แม้การตายของผู้เอาประกันภัยเป็นสิ่งที่มิได้เจตนาหรือคาดหวัง แต่มิได้อยู่ในความหมายของอุบัติเหตุที่บุคคลโดยทั่วไปพึงเข้าใจได้ บริษัทประกันภัยจึงไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

(อ้างอิงจากคดี Pass v Gerling Australia Insurance Company Pty Ltd [2011] WASCA 93)

ข้อสังเกต

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่พิพาทนี้มิได้กำหนดคำนิยาม “อุบัติเหตุ” เอาไว้ ศาลจึงตีความตามความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นเกณฑ์

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลกับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเดินทางของบ้านเรามีคำนิยามกำหนดไว้ว่า 

อุบัติเหตุ” หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกายและทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง” 

เชื่อว่า ศาลบ้านเราก็คงไม่น่าวินิจฉัยแตกต่างไปจากนี้ แม้ถ้อยคำเสมือนหนึ่งให้มองผลลัพธ์ที่เป็นอุบัติเหตุ (Accidental Death/Result) เป็นเกณฑ์ เหมือนอย่างที่ภรรยาของผู้ตายในคดีดังกล่าวได้ตั้งประเด็นข้อต่อสู้เอาไว้

เรื่องต่อไป ผู้เอาประกันภัยเกิดอาการเนื้อนอกในสมองกำเริบจนหมดสติขณะขับรถ และประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตคารถ เป็นอุบัติเหตุที่จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 81: ข้อยกเว้นว่าด้วย "การชำรุดเสียหาย หรือการขัดข้องของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้า (Mechanical or Electrical Breakdown or Derangement)" ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายถึงอะไร?


วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2003 ได้เกิดเหตุไฟฟ้าดับทั่วเมืองหนึ่งในประเทศแคนาดาเป็นเวลานานร่วม 27 ชั่วโมง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่โรงงานผลิตแตงกวาดองซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลผลิตสูงสุด เนื่องจากปราศจากกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่เครื่องจักร และระบบห้องเย็น ส่งผลทำให้สต็อกวัตถุดิบ และสต็อกสินค้าได้รับความเสียหายทั้งหมด ถึงแม้ต่อมาจะได้มีกระแสไฟฟ้ากลับมาป้อนให้แล้ว แต่กว่าจะมีแรงดันเท่าเดิม ก็จำต้องรอต่ออีกหลายวันกว่าจะเข้าสู่สภาพปกติ ทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์บางตัวเกิดความชำรุดเสียหายต่อเนื่องซ้ำเติมไปอีก ช่วงเวลาที่เกิดความเสียหายนานสี่ถึงห้าวัน โรงงานนี้ต้องหยุดประกอบการชั่วคราวอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ 

โชคดีที่โรงงานแห่งนี้ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินแบบสรรพภัย ซึ่งคุ้มครองอุบัติภัยต่าง ๆ ที่มิได้อยู่ในข้อยกเว้น และประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักไว้ จึงได้ทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้

โชคร้ายที่บริษัทประกันภัยนั้นกลับปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่า เหตุแห่งความเสียหายนี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยสาเหตุที่ไม่คุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยสองข้อที่ระบุว่า 

ไม่คุ้มครองความเสียหายอันมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจาก
(ก) การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ (Changes in Temperature) และ
(ข) การชำรุดเสียหาย หรือการขัดข้องของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้า (Mechanical or Electrical Breakdown or Derangement)

เมื่อผู้เอาประกันภัยนำคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น ศาลพิจารณาว่า เหตุแห่งความเสียหายนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นทั้งสองข้อดังที่จำเลยบริษัทประกันภัยกล่าวอ้าง

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อยกเว้นทั้งสองข้อ ดังนี้

(ก) การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
เนื่องจากภายใต้ข้อยกเว้นนี้ ยังมีย่อหน้าถัดมาเป็นถ้อยคำยกเว้นซ้อนยกเว้นที่มีใจความว่า ข้อยกเว้นนี้จะไม่มีผลใช้บังคับ หากว่าความเสียหายนั้นมีสาเหตุโดยตรงมาจากภัยที่คุ้มครอง และมิได้ระบุยกเว้นไว้เป็นอย่างอื่นใดในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สาเหตุโดยตรงของความเสียหายนี้ คือ ไฟฟ้าดับ (Blackout) ซึ่งถือเป็นภัยที่ได้รับความคุ้มครอง และมิได้ถูกยกเว้นเอาไว้เป็นอย่างอื่นในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เลย

(ข) การชำรุดเสียหาย หรือการขัดข้องของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้า
ศาลอุทธรณ์ตีความว่า เหตุแห่งความเสียหายนี้มิได้เข้าข้อยกเว้นนี้ เพราะคำว่า การชำรุดเสียหาย (Breakdown)หมายความถึง กรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากความบกพร่องภายในของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้าจากชิ้นส่วนของเครื่องจักร หรืออุปกรณ์นั้นเองเท่านั้น มิได้หมายความถึงจากปัจจัยภายนอกดังเช่นกรณีจากไฟฟ้าดับนี้ 

จำเลยฎีกาต่อสู้เฉพาะประเด็นข้อยกเว้นข้อ (ข) เท่านั้น โดยยกความหมายจากพจนานุกรมว่า การชำรุดเสียหาย (Breakdown)หมายความถึง การหยุดทำงานทันทีทันใด หรือการเกิดไม่ทำงานโดยฉับพลัน เมื่อห้องเย็นเกิดหยุดทำงานโดยฉับพลันระหว่างช่วงไฟฟ้าดับ ถือได้เกิดการชำรุดเสียหาย หรือการขัดข้องของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้าขึ้นมาแล้ว ความเสียหายต่อสต็อกวัตถุดิบ สต็อกสินค้า และเครื่องจักรกับอุปกรณ์จึงเป็นผลมาจากสาเหตุที่ยกเว้นนี้ 

ศาลฎีกาไม่เห็นพ้อง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างประกอบการใช้คำของพจนานุกรมที่จำเลยอ้างอิงได้เขียนว่า รถเสียใช้การไม่ได้ หรือผู้ขับขี่เกิดรถเสียขณะกำลังขับขี่ จะเห็นได้ว่า ทั้งสองตัวอย่างนั้นแสดงให้เห็นถึงการหยุดทำงานที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในของรถเอง

2) ความหมายจากพจนานุกรมดูไม่สอดคล้องกับความเข้าใจของคนทั่วไปนัก โดยศาลขอยกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพ ถ้าทีวีหยุดไม่ทำงานระหว่างไฟฟ้าดับ แล้วสามารถกลับมาทำงานดังเดิมได้เมื่อไฟฟ้าติดแล้ว จะบอกได้ไหม? ทีวีนั้นได้เกิดชำรุดเสียหายขึ้นมาแล้ว ถ้าคำตอบ คือ ใช่ ศาลฎีกามองว่า ไม่สมเหตุผลในการใช้คำนี้ โดยทั่วไป การชำรุดเสียหายหมายความถึงการเกิดความเสียหายต่อชิ้นส่วนของอุปกรณ์เครื่องจักรนั้นจนไม่อาจใช้งานได้ต่อไปโดยสิ้นเชิง อุปกรณ์เครื่องจักรนั้นคงไม่ถึงขนาด “ชำรุดเสียหาย (break)” เพียงเพราะขาดกระแสไฟฟ้า แต่แค่หยุดทำงานเนื่องจากไม่มีแหล่งพลังงานมาป้อนเท่านั้นเอง

3) แนวคำพิพากษาของศาลในหลายคดีก่อนหน้าได้วางแนวไว้แล้วว่า การชำรุดเสียหายหมายความถึง การเกิดปัญหาจากภายใน หรือจากความบกพร่องภายในอุปกรณ์เครื่องจักรนั้นเอง

4) เช่นเดียวกับคำว่า “การขัดข้อง (Derangement)พจนานุกรมให้ความหมายถึง การรบกวนต่อสภาวะปกติ การดำเนินการตามปกติ หรือการทำงานตามปกติ ซึ่งแนวทางคำพิพากษาที่ผ่านมา ต่างตีความในลักษณะเดียวกันกับการชำรุดเสียหาย 
  
ศาลฎีกาจึงตัดสินว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัยรายนี้มิได้มีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากการชำรุดเสียหาย หรือการขัดข้องของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้าดังที่ยกเว้นเอาไว้ แต่มีสาเหตุมาจากไฟฟ้าดับ ซึ่งเป็นอุบัติภัยที่มิได้ถูกระบุยกเว้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ให้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัย

(อ้างอิงจากคดี Caneast Foods Ltd. v. Lombard General Insurance Co. of Canada, [2007] O.J. No. 2556 aff‟d [2008] O.J. No.)

เทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับมาตรฐานบ้านเราตรงหมวดที่ 2 ข้อยกเว้นก็มีข้อความเช่นเดียวกันตรงที่ระบุว่า

ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง
1. ความเสียหาย อันเกิดจาก
   ............................
   1.5 การกัดกร่อนหรือการผุกร่อน การเกิดสนิม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น .......

   อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายตามข้อ 1.4 และ 1.5 หากเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าว อันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ 
    ............................

1.10 การชำรุดเสียหาย หรือการขัดข้องของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้าของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์
    ............................

   อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่ติดตามมาจากข้อ 1.6 ถึง 1.11 ถ้าหากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้  หรือความเสียหายตามข้อ 1.6 ถึง 1.11 นั้นเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย หรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าวอันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้

ส่วนตัวเชื่อว่า ศาลไทยคงตีความไม่ผิดแผกจากนี้ และถ้าท่านไปอ่านประกอบกับบทความที่เขียนไว้ภายใต้หัวข้อ พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory เรื่อง ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า (Electrical Injury & Installation) เรื่องที่คุยกันไม่รู้จบ คงจะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้นบ้าง

 


วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 80: คำว่า "โดยมิได้มุ่งหวัง และโดยฉับพลัน (Unforeseen & Sudden)" ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร


เรื่องนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้น ณ ประเทศแอฟริกาใต้ 

เช้าตรู่วันหนึ่งของวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2002 โรงงานผลิตภัณฑ์เมล็ดข้าวโพดที่เอาประกันภัยได้ตรวจพบความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าที่ป้อนเข้าสู่โรงงาน และยังเกิดขึ้นตามมาอีกเป็นระยะ เมื่อเรียกผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบ ก็สันนิษฐานว่า สายเคเบิ้ลฝังอยู่ในพื้นทรายใต้คานน่าจะเป็นต้นตอของปัญหา จำต้องรื้อย้ายคานออกไปเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจ และจะได้ทำการแก้ไขได้

จากนั้นจึงพบว่า สายเคเบิ้ลบางส่วนจากทั้งหมด 650 เส้นเกิดความร้อนขึ้นมาเนื่องจากถูกจัดวางใกล้กันเกินไป จนทำให้กระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านไม่สามารถปลดปล่อยรังสีความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงขนาดส่งผลให้ฉนวนหุ้มสายละลาย และสายทองแดงข้างในสัมผัสกัน ถ้าไม่รีบแก้ไข อาจส่งผลร้ายต่อเนื่องถึงสายทั้งหมดได้ท้ายที่สุด   
ผู้เอาประกันภัยตัดสินใจหยุดประกอบการชั่วคราวเพื่อทำการแก้ไขในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2002 และสามารถกลับมาดำเนินกิจการดังเดิมได้อีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2002
 
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร (Machinery Insurance) และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอันสืบเนื่องจากเครื่องจักร (Business Interruption Insurance in consequence of Machinery Insurance)

ประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น คือ 

(1) สายเคเบิ้ล หรือสายไฟฟ้าถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่เอาประกันภัยไว้หรือไม่?
(2) ความเสียหายทางกายภาพนั้นแม้จะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย (unexpected) แต่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน (sudden) หรือไม่?
(3) ตกอยู่ในข้อยกเว้นเรื่องการเสื่อมสภาพจากการใช้งานตามปกติ (wearing out from normal usage) หรือไม่? 

ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์แต่ละประเด็น ดังนี้

(1) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรฉบับนี้กำหนดคำนิยาม ซึ่งสามารถถอดความออกมาได้ว่า 

     เครื่องจักร หมายความถึง เครื่องจักรกับเครื่องจักรกล และ/หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการใช้งานของเครื่องจักรดังกล่าว ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่ในการจัดการ หรือการใช้งาน และฐานรองรับเครื่องจักรนั้นด้วย

ศาลเห็นว่า สายเคเบิ้ลนั้นตกอยู่ในคำนิยามนี้แล้ว

(2) เงื่อนไขความคุ้มครองได้กำหนดจะคุ้มครองความเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และโดยมิได้คาดหมายแก่เครื่องจักรที่ได้เอาประกันภัยไว้จากสาเหตุใด ๆ ซึ่งมิได้ถูกระบุยกเว้นเอาไว้เป็นอย่างอื่น

เมื่อตรวจสอบความหมายของคำว่า “ฉับพลัน” กับ “มิได้คาดหมาย” จากพจนานุกรมจะเห็นได้ว่า ฉับพลันก็หมายถึงสิ่งที่มิได้คาดหมาย หรือมิได้มุ่งหวังด้วยเช่นกัน ดังนั้น การตีความทั้งสองคำนี้จำต้องตีความรวมกันไปว่า หมายความถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันใด ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการละลายของฉนวนที่หุ้มสายเคเบิ้ลที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งทำให้ตัวนำทองแดงที่อยู่ภายในสัมผัสกันได้ และนำไปสู่ความเสียหายท้ายที่สุด 

การที่ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า แม้ฉนวนของสายเคเบิ้ลนั้นค่อย ๆ ละลายตัว แต่การสัมผัสกันของตัวนำทองแดงเป็นการเกิดขึ้นโดยฉับพลันนั้น และสุดท้ายทำให้เกิดความผิดปกติโดยมิได้คาดหมายขึ้นในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2002 นั้น ศาลไม่เห็นพ้องด้วย เพราะถ้าสายเคเบิ้ลนั้นมิได้ละลายเสียก่อน ตัวนำทองแดงคงมิอาจสัมผัสกันได้ ฉะนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมิเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองดังที่กำหนดไว้ดังกล่าว

(3) ประเด็นข้อยกเว้นนี้ ศาลไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาอีก

จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยมิจำต้องรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ

(อ้างอิงจากคดี African Products (Pty) Limited v AIG South Africa Limited 2009 [3] SA 473 [SCA])

เทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรฉบับมาตรฐานของบ้านเรา ซึ่งกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครองไว้เช่นเดียวกัน ดังนี้

ข้อ 1.2 การคุ้มครอง บริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญเสีย หรือความเสียหายอันเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ต่อเครื่องจักรที่ตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งได้ระบุไว้ในตาราง 
   
ผมเขียนบทความอีกชุดหนึ่งภายใต้หัวข้อ พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ซึ่งจะเน้นเขียนสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของการประกันวินาศภัยเสริมเพิ่มเติมใน Facebook ใน Meet Insurance จาก Facebook ส่วนตัวของผม และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory ขอฝากด้วยนะครับ ล่าสุดเป็นเรื่อง ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า (Electrical Injury & Installation) เรื่องที่คุยกันไม่รู้จบ (ที่จะต้องคุยกันยาวนิดนึง)

เรื่องต่อไปในบทความนี้ คุณอยากรู้ไหมครับข้อยกเว้นที่ว่าด้วย การชำรุดเสียหาย หรือการขัดข้องของระบบกลไก หรือระบบไฟฟ้า (Mechanical or Electrical Breakdown or Derangement)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายถึงอะไร? คราวหน้าเจอกันนะครับทั้งในสองแหล่งบทความ แต่ละคนเนื้อหา