วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 77: การหยุดชะงักของธุรกิจ หรือการได้รับผลกระทบต่อธุรกิจในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ครอบคลุมขนาดไหน? ระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า


(ตอนที่สอง)

ต้องขออภัยด้วยครับ ที่ยังไม่ขอเริ่มเรื่องที่ 78 ดังที่เกริ่นเอาไว้ เพราะเรื่องที่ 77 ยังขาดประเด็นสำคัญที่ควรแก่การกล่าวถึงเพิ่มเติมอีก

สืบเนื่องจากเรื่องที่ 77 ซึ่งผู้เช่าทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักคุ้มครองความเสียหายทางการเงินของตน อันสืบเนื่องมาจากทรัพย์สินของตนเองนั้น ครั้นเกิดความเสียหายจำกัดขอบเขตเพียงแค่ทรัพย์สินของผู้ให้เช่าเท่านั้น ส่งผลทำให้ผู้เช่าที่ทรัพย์สินของตนมิได้เสียหาย แต่ธุรกิจต้องหยุดชะงัก จึงมิอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของตนได้นั้น เป็นปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการเลือกใช้ถ้อยคำข้อกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะต้องเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก่อน (Materail Damage Proviso) ที่จำกัดดังในคดีดังกล่าวที่เกิดขึ้น

ครั้นได้มีโอกาสอ่านเงื่อนไขดังกล่าวในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน) ฉบับมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ก็รู้สึกสบายใจว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังคดีดังกล่าว เชื่อว่า น่าจะได้รับความคุ้มครอง เพราะข้อต่อสู้ในคดีดังกล่าวของประเทศอังกฤษ ได้มีการหยิบยกเปรียบเทียบอ้างอิงไว้เช่นกันว่า ถ้าเงื่อนไขที่เป็นปัญหานั้นได้มีการนำข้อกำหนดที่ถูกปรับปรุงแก้ไขใหม่แล้วมาใช้แทน ผู้เอาประกันภัยนั้นจะสามารถชนะคดี และได้รับความคุ้มครองทันที โดยข้อกำหนดใหม่นั้นได้เขียนเอาไว้ ซึ่งสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ ดังนี้

ผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ หากปรากฏว่า อาคารสิ่งปลูกสร้างใด หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่เอาประกันภัย เพื่อประกอบธุรกิจดังที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้นั้น ได้รับความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย จนส่งผลสืบเนื่องทำให้ธุรกิจที่ผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้ ณ สถานที่ดังกล่าวนั้น จำต้องหยุดชะงัก หรือได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการนั้น

แต่คดีดังกล่าวกลับมิได้ใช้ข้อกำหนดเงื่อนไขใหม่ดังกล่าว จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นมา

สำหรับเงื่อนไขดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ของประเทศไทย ใช้ถ้อยคำ ดังนี้

บริษัทตกลงจะให้ความคุ้มครองสำหรับความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด ๆ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และมิได้มีการระบุยกเว้นไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ณ เวลาใดในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยที่ปรากฏในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และเป็นผลทำให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่เอาประกันภัยหยุดชะงักลง หรือได้รับผลกระทบ บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายการที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย

กรุณาตรวจสอบข้อกำหนดเงื่อนไขนี้ที่ท่านมีอยู่ด้วยนะครับว่า ใช้ถ้อยคำแบบแคบ หรือแบบกว้างอย่างปัจจุบัน เพราะกว่ากรมธรรม์ประกันภัยฉบับภาษาไทยนี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับได้ ก็เป็นต้นปีหน้าโน่นล่ะครับ

ขอให้โชคดีครับ สัปดาห์หน้าเราจะกลับมาคุยกันในเรื่องที่ 78 เสียทีครับ 

1 ความคิดเห็น:

  1. กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) จะให้ความคุ้มครองการสูญเสียกำไรชั้นต้น (Loss of Gross Profit) จากการลดลงของยอดขาย (Reduction in Turnover) จนกว่าจะกลับสู่สภาวะเดิมก่อนเกิดเหตุ (same financial position) หรือภายในระยะเวลาการชดใช้ (Indemnity Period) ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น 12 หรือ 18 เดือนหลังไม่สามารถดำเนินธุรกิจเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งเป็นผลการสืบเนื่องจากการที่ทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน (Fire or Industrial All Risks-IAR และอื่นๆ) และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ทรัพย์สินจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ ดังที่เงื่อนไขของ Material Damage Proviso ระบุไว้ "Before a claim can be allowed, a material damage claim must be admitted" แม้ว่าบริษัทผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน เนื่องจากค่าเสียหายที่เรียกร้องโดยผู้เอาประกันภัยหรือที่ประเมินโดยบริษัทผู้รับประกันภัยก็ตาม ขอเพียงแค่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ (ในอดีตเคยมีความเข้าใจว่า จะต้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยเท่านั้น) เหตุผลหนึ่งต้องระบุให้ผู้เอาประกันภัยจะต้องทำประกันภัยสำหรับทรัพย์สินของตนเอง และไม่สามารถทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก แต่เพียงอย่างเดียวได้ เหตุผลหนึ่งก็เนื่องจาก หากผู้เอาประกันภัยไม่ได้จัดทำประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินไว้ หากเกิดความเสียหายขึ้นกับทรัพย์สิน ผู้เอาประกันภัยอาจจะไม่สามารถซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม และไม่สามารถเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจจนกลับสู่สภาพเดิมก่อนเกิดความเสียหายได้ "the absence of such (Material Damage) insurance would prolong the interruption"

    ดังนั้นจึงไม่น่าถูกต้องนักหากผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งเป็นผลจากความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ตนเองมิได้เป็นผู้เอาประกันภัย เพราะหากเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นผู้เอาประกันภัยไม่ดำเนินการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักก็ไม่สามารถเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ และบริษัทประกันภัยก็อาจต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนที่ได้เอาประกันภัยไว้

    หมายเหตุ เมื่อก่อนเคยเห็นกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะระบุอ้างถึงหมายเลขกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน เพื่อให้ชัดเจนว่ากรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก จะให้ความคุ้มครองก็ต่อเมื่อทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ทรัพย์สินที่อ้างถึง ได้รับความเสียหายและอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์

    ตอบลบ