(ตอนที่สอง)
ตอนที่แล้วได้ทิ้งคำถามสำหรับสองตัวอย่างไว้เป็นการบ้าน
ตอนนี้เราจะมาวิเคราะห์หาคำตอบกันทีละตัวอย่างนะครับ
ตัวอย่างที่หนึ่ง
โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง
มีร้านขายอยู่สองสาขา ทั้งหมดได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินทั้งหมดเอาไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยสำหรับทรัพย์สินฉบับหนึ่ง
และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอีกฉบับหนึ่ง
ต่อมา
เกิดไฟไหม้ขึ้นที่โรงงานผลิต
ส่งผลทำให้ร้านขายสองสาขาได้รับผลกระทบทางธุรกิจไปด้วย
คุณคิดว่า
ทั้งสองสาขาควรจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักด้วยมั้ย?
ทั้งที่มิได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในสาขาเหล่านั้นเลย
คดีพิพาทนี้
ศาลได้วิเคราห์เจตนารมณ์ประกอบถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้
ซึ่งระบุว่า “หากธุรกิจของผู้เอาประกันภัยได้หยุดชะงักลง หรือได้รับผลกระทบ
อันสืบเนื่องมาจากความสูญเสีย
หรือความเสียหายทางกายภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ณ
สถานที่เอาประกันภัยดังระบุไว้
บริษัทจะชดใช้ความสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงให้แก่ผู้เอาประกันภัย”
ถ้อยคำดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อทำให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังเดิมเสมือนหนึ่งมิได้เกิดความสูญเสียขึ้นมาเลย
โดยมิได้จำกัดอย่างเฉพาะเจาะจงว่า
ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยกับความสูญเสียทางการเงินนั้นจะต้องอยู่ในสถานที่เอาประกันภัยเดียวกันเท่านั้นถึงจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้
คดีนี้ศาลเห็นว่า
ทั้งโรงงานผลิตกับร้านขายสองสาขาต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน
เนื่องจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปออกมาเพื่อส่งให้ทั้งสองสาขาจำหน่ายเป็นหลัก
ถึงแม้สองสาขานั้นอาจจะรับเฟอร์นิเจอร์จากแหล่งอื่นมาขายด้วย
แต่ก็มีสัดส่วนอยู่เพียงสามสิบสี่สิบเปอร์เซนต์เท่านั้น
เมื่อโรงงานผลิตได้รับความเสียหาย
สาขาทั้งสองแห่งต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าสาขาเหล่านั้น
สาขาใด สาขาหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบทางการเงินต่อโรงงานผลิตได้เช่นกัน
ศาลจึงพิพากษาให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจชะงักฉบับนี้ต่อผู้เอาประกันภัยโจทก์
(อ้างอิงจากคดี Wood Goods Galore,
Inc. v. Reinsurance Association of Minnesota 478 N.W. 2d 205, 207
(Minn. Ct. App. 1991))
ตัวอย่างที่สอง
โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งประกอบด้วยอาคารห้องพักสี่หลัง
และอาคารที่เป็นภัตตาคารหนึ่งหลัง
เช่นเดียวกัน
ทั้งหมดได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินกับธุรกิจหยุดชะงักไว้อย่างละฉบับ
อยู่มาวันหนึ่ง
ได้เกิดไฟไหม้ที่ภัตตาคารเพียงจุดเดียว
อาคารที่เป็นห้องพักทั้งสี่หลังจะสามารถเรียกร้องความสูญเสียทางการเงินจากการได้รับผลกระทบทางธุรกิจที่เอาประกันภัยไว้ได้หรือไม่?
คดีนี้
บริษัทประกันภัยได้ปฏิเสธความรับผิดในส่วนของความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก
โดยอ้างว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้รับความสูญเสียทางการเงินอย่างแท้จริง
ถึงแม้ได้เกิดความเสียหายแก่อาคารภัตตาคารที่เอาประกันภัยไว้
และตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานที่เอาประกันภัยด้วย ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาตัดสินมาแล้ว
ผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ต่อสู้ว่า
แนวคำพิพากษาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีลักษณะเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คือ
เกิดความเสียหายที่ภัตตาคาร แต่ส่วนอาคารห้องพักมิได้เสียหายนั้น
มีความแตกต่างจากคดีนี้ เพราะคดีก่อน ตัวภัตตาคารที่เสียหายนั้นเป็นพื้นที่เช่า
ส่วนคดีนี้ ภัตตาคารกับโรงแรมเป็นเจ้าของเดียวกันทั้งหมด ดังนั้น
ความเสียหายที่จุดหนึ่ง จะส่งผลกระทบต่อจุดอื่น ๆ ด้วย
เนื่องจากทุกจุดล้วนต้องอาศัยพึ่งพากันในทางธุรกิจ (Mutual Dependency) ด้วยกันทั้งสิ้น
ศาลคดีนี้วินิจฉัยว่า
ถ้าในส่วนอาคารห้องพักทั้งสี่หลัง เห็นว่า
มีความพึ่งพาอาศัยกันอย่างชัดเจนเสมือนหนึ่งเป็นส่วนเดียวกันทั้งหมด
แต่ในส่วนของภัตตาคารนั้น อาจมิได้มีความสำคัญต่อโรงแรมถึงขนาดนั้น
แม้ปราศจากภัตตาคาร ธุรกิจของโรงแรมสามารถดำเนินต่อไปได้
แม้จะไม่มีการให้บริการอาหารอีกต่อไป ประกอบกับข้อความจริงในคดีนี้
ส่วนของภัตตาคารได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยแยกคนละฉบับกับส่วนของโรงแรม
ดูเสมือนให้แยกธุรกิจทั้งสองส่วนออกจากกัน
กอปรกับคำให้การของผู้เอาประกันภัยเองเสมือนมิได้รีบเร่งให้ทำการซ่อมแซมความเสียหายของส่วนภัตตาคาร
ทำให้น้ำหนักพยานฝ่ายโจทก์ดูอ่อนลงไป ศาลไม่เชื่อว่า
ความสูญเสียทางการเงินในภาพรวมที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีนี้จะเป็นผลโดยตรงอย่างแท้จริงจากความเสียหายของส่วนภัตตาคารเป็นสำคัญ
จึงพิพากษาให้จำเลยบริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้
(อ้างอิงจากคดี Ramada Inn
Ramogreen, Inc. v. Travelers Indemnity Co. of America, 835
F.2d 812 (11th Cir. 1988))
แม้ตัวอย่างคดีทั้งสองเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งอาจมีเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักแตกต่างในรายละเอียดจากของประเทศอังกฤษที่บ้านเราใช้เป็นต้นแบบอยู่บ้าง
แต่หลักการที่สำคัญแทบมิได้ต่างจากกันมากนัก
ถ้าเราพิจารณาจากหลักพึ่งพาอาศัยกัน
(Mutual
Dependency) ที่ศาลประเทศอเมริกาวางแนวทางไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931
ในคดี Studley Box ทำให้ถูกเรียกว่า “ทฤษฏี
Studley Box” ศาลได้วางหลักการว่า
การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมีลักษณะแตกต่างจากการประกันอัคคีภัยที่สามารถกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแต่ละชิ้น
แต่ละส่วนได้อย่างชัดเจน ขณะที่การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมิได้เป็นเช่นนั้น
ทำให้ต้องมองจากภาพรวมของธุรกิจเป็นเกณฑ์
เว้นแต่ผู้รับประกันภัยจะได้กำหนดให้เป็นเช่นนั้นอย่างชัดแจ้ง เช่น
เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการแยกแผนก (Departmental Clause) เป็นต้น
ในส่วนของประเทศอังกฤษก็วางแนวทางคล้ายคลึงนี้ไว้เป็นลักษณะข้อตกลงระหว่างบริษัทประกันภัยด้วยกันที่เรียกว่า
“Blundell
Spence Agreement”
เมื่อมาพิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ของประเทศไทย
ซึ่งกำหนดว่า
“บริษัทตกลงจะให้ความคุ้มครองสำหรับความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด
ๆ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ณ
สถานที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย
และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
และมิได้มีการระบุยกเว้นไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ณ
เวลาใดในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยที่ปรากฏในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
และเป็นผลทำให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยผู้เอาประกันภัย ณ
สถานที่เอาประกันภัยหยุดชะงักลง หรือได้รับผลกระทบ
บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายการที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย”
หากนำมาปรับใช้กับตัวอย่างทั้งสองกรณีข้างต้น
คุณคิดว่า ศาลไทยจะตีความออกมาเช่นใดครับ?
ผมเขียนบทความอีกชุดหนึ่งภายใต้หัวข้อ
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ซึ่งจะเน้นเขียนสาระน่ารู้ต่าง
ๆ ของการประกันวินาศภัยเสริมเพิ่มเติมใน Facebook ใน Meet
Insurance จาก Facebook ส่วนตัวของผม และที่
https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ขอฝากด้วยนะครับ ล่าสุดเป็นเรื่อง ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า
(Electrical
Injury & Installation) เรื่องที่คุยกันไม่รู้จบ
เรื่องต่อไปในบทความนี้
ภัยเนื่องจากน้ำที่ว่าจะต้องเกิดขึ้นโดยฉับพลัน
และโดยอุบัติเหตุนั้น (Sudden & Accidental Water Damage)
จริง ๆ แล้ว หมายความเช่นใดกันแน่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น