วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 77: การหยุดชะงักของธุรกิจ หรือการได้รับผลกระทบต่อธุรกิจในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ครอบคลุมขนาดไหน? ระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า



คดีนี้ ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เช่าอาคารแห่งหนึ่งเพื่อประกอบธุรกิจขายเสื้อผ้า ได้ทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองทรัพย์สินต่าง ๆ สิ่งของ เครื่องใช้ และสต็อกสินค้าของตนเอง พร้อมกับทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก อันสืบเนื่องจากความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ด้วย

ส่วนตัวอาคารนั้นซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ให้เช่า ได้จัดทำประกันภัยไว้ต่างหากโดยตัวผู้ให้เช่าเอง

ต่อมา ตัวอาคารได้เกิดทรุดตัว (subsidence) ลงอย่างต่อเนื่อง ผู้เช่าจึงได้แจ้งต่อผู้ให้เช่ามาทำการซ่อมแซม เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินของผู้ให้เช่าได้ขยายความคุ้มครองถึงภัยการทรุดตัว หรือการยุบตัวนี้ไว้ด้วย ผู้ให้เช่าจึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตน เพื่อจะได้ทำการซ่อมแซมอาคารให้กลับคืนสู่สภาพปกติตามที่ผู้เช่าร้องขอ

ปัญหา คือ ระหว่างการซ่อมแซมตัวอาคารหลังนี้ ผู้เช่าจำต้องหยุดประกอบกิจการของตนชั่วคราวไปโดยปริยาย ผู้เช่าซึ่งได้รับความสูญเสียทางการเงินนี้จึงไปเรียกร้องค่าชดเชยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกับบริษัทประกันภัยของตน

คุณคิดว่า ผู้เช่ารายนี้จะสามารถเคลมได้ไหมครับ?

ประเด็นอยู่ที่ว่า เงื่อนไขบังคับก่อนของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะให้ความคุ้มครองต่อเมื่อได้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินเสียก่อน 

สำหรับคดีนี้ แม้ได้เกิดความเสียหายต่อตัวอาคารนั้นขึ้นมาจริง และได้รับความคุ้มครอง แต่นั่นคือ ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยของผู้ให้เช่า ส่วนของผู้เช่า ไม่ปรากฏเลยว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เช่าเสียหาย ดังนั้น การจำต้องหยุดกิจการชั่วคราวของผู้เช่าอันทำให้เกิดความสูญเสียทางการเงินนั้น จึงมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะต้องเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เช่าเสียก่อน 

หลังจากที่บริษัทประกันภัยของผู้เช่าได้ปฏิเสธ และผู้เช่ารายนี้ได้นำคดีขึ้นสู่ศาล ศาลก็วินิจฉัยว่า คำปฏิเสธของบริษัทประกันภัยนั้นถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวแล้ว
(อ้างอิงจากคดี Loyaltrend v Brit [2010] EWHC 425 (Comm))

สรุป ความคุ้มครองของใคร ของมันนะครับ
 
แล้วถ้าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีหลายรายการ บางรายการเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย ยังงี้ หากเกิดธุรกิจหยุดชะงักทั้งหมดในภาพรวม จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้หรือเปล่า? คือ เรื่องราวที่จะคุยต่อคราวหน้าครับ  

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 76: ความสับสนระหว่างภัยการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious Act) หรือภัยการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) กับภัยลักทรัพย์ (Theft)


ดังที่เกริ่นในบทความเรื่อง ภาษาประกันภัย คำใน คำนอก เรื่องที่ 2: การกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) และการกระทำด้วยเจตนาร้าย (Malicious Act) หมายความถึงอะไร? ที่เขียนลงใน Facebook เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า ทั้งสองภัยมีความหมายคล้ายคลึงกันมาก ทำให้ปัจจุบัน บ้านเราคงเหลืออยู่เพียงภัยการกระทำด้วยเจตนาร้ายเท่านั้น ถึงแม้ต่างประเทศยังมีการพูดถึงทั้งสองภัยกันอยู่

ประเด็นปัญหาในการตีความ คือ เมื่อเทียบเคียงกับภัยลักทรัพย์แล้ว ทั้งภัยการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) ภัยการกระทำด้วยเจตนาร้าย (Malicious Act) และภัยลักทรัพย์ (Theft) ล้วนสื่อความหมายเป็นการกระทำด้วยเจตนาร้ายทั้งสิ้น แต่อาจมีเจตนาที่แท้จริงต่างกันไป เวลาเกิดข้อพิพาททางประกันภัย จะจำแนกตีความกันอย่างไร?

เรามาลองพิจารณาตัวอย่างคดีต่างประเทศนี้เป็นแนวทางกันนะครับ
อาคารพาณิชย์ของผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ทำประกันภัยคุ้มครองแบบสรรพภัย โดยรวมถึงภัยการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) แต่ยกเว้นภัยลักทรัพย์ (Theft) เอาไว้ ระหว่างรอว่าจ้างผู้รับเหมาเข้าไปตกแต่งปรับปรุงภายในใหม่ ปรากฏมีคนร้ายสองคนได้แอบเข้าไปรื้อทำลายทรัพย์สินต่าง ๆ เสียหายเป็นจำนวนมาก พร้อมกับลักขโมยสายไฟกับข้าวของมีค่าต่าง ๆ หลบหนีไปด้วย

ครั้นผู้เอาประกันภัยได้ตรวจสอบความเสียหายทั้งหมดแล้ว จึงได้มาแจ้งเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบเฉพาะความเสียหายต่อตัวอาคารที่ถูกทำลายเสียหาย แต่มิได้เรียกร้องเรื่องความเสียหายต่อสิ่งของต่าง ๆ ที่คนร้ายลักขโมยไป ด้วยเข้าใจว่า ตกอยู่ในข้อยกเว้นภัยลักทรัพย์ดังที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ดี บริษัทประกันภัยได้ปฏิเสธความคุ้มครองโดยสิ้นเชิง โดยอ้างว่า ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการลักทรัพย์อันตกอยู่ในข้อยกเว้น ฉะนั้น ความเสียหายที่เกิดต่อตัวอาคารที่เอาประกันภัยจึงเป็นผลมาจากการลักทรัพย์ (resulting from theft) นั่นเอง

เมื่อเป็นคดีข้อพิพาทขึ้นมาสู่ศาล ศาลได้ทำการพินิจพิจารณาโดยอาศัยหลักการตีความดังนี้ ถ้าข้อความใดในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ชัดเจน ให้ยกผลประโยชน์แห่งสงสัยนั้นแก่ฝ่ายผู้ที่มิได้ร่างถ้อยคำนั้น ในที่นี้ คือ ผู้เอาประกันภัย และการตีความส่วนที่เป็นข้อยกเว้นนั้น จำต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร โดยได้มีการแยกแยะเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

1) ภัยการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) ได้ระบุคำจำกัดความไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยว่า “หมายความถึง การกระทำโดยจงใจ หรือโดยเจตนาร้ายที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความวินาศแก่ทรัพย์สินที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้” ขณะที่ภัยลักทรัพย์ (Theft) มิได้กำหนดคำจำกัดความเอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายทั่วไป หมายถึง การนำเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือที่บุคคลครอบครองอยู่ไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

ทั้งสองความผิดจำต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทำผิดเป็นเกณฑ์ด้วย อย่างไรก็ตาม เจตนาที่แท้จริงนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงช่วงเวลาเริ่มต้นเท่านั้น คือ เจตนาเข้าไปเพื่อลักขโมย เพราะครั้นเข้าไปข้างในแล้ว คนร้ายอาจจะมีเจตนาอื่นเสริมเพิ่มเติมเข้ามาอีกก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น ในอาคารนั้น มีอยู่สิบห้อง คนร้ายเจตนาเข้าไปเพื่อขโมยเพชรที่เก็บไว้ในนั้น แต่ไม่มีข้อมูลว่าอยู่ในห้องใด เก้าห้องแรกที่เข้าไปไม่พบ เลยทุบทำลาย หรือพ่นสีเป็นเครื่องหมายไว้ และมาค้นพบเพชรในห้องที่สิบ กรณีตัวอย่างเช่นนี้ ควรจะพิจารณาอย่างไร? ซึ่งฝ่ายจำเลยที่เป็นบริษัทประกันภัยเห็นพ้องกับศาลว่า จำต้องพิจารณาแยกรายการความเสียหายแตกต่างกัน โดยที่ศาลเห็นต่างว่า เก้าห้องแรกถือเป็นการกระทำป่าเถื่อนตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

2) ข้อยกเว้นภัยลักทรัพย์ (Theft) จะตีความให้ครอบคลุมถึงขนาดไหน? ควรตีความหมายถึงเพียงการลักทรัพย์เท่านั้น หรือจะหมายความรวมถึงผลต่อเนื่องจากลักทรัพย์ด้วย แล้วทำไมในกรมธรรม์ประกันภัยจึงมิได้ถูกร่างให้ชัดเจนเช่นนั้น เพราะผู้ร่างควรจะต้องตระหนักจุดประสงค์ของตัวเองได้เป็นอย่างดี สมมุติว่า ถ้าคนร้ายต้องการขโมยสายไฟที่ติดตั้งอยู่บนผนัง แล้วไปทำให้ผนังเสียหายไปด้วย ศาลตีความว่า ผนังไม่คุ้มครองตามไปด้วยได้ เพราะถือว่า เป็นผลต่อเนื่องจากภัยลักทรัพย์

3) การพยายามลักทรัพย์ (Attempted Theft) ซึ่งมิได้เขียนระบุยกเว้นไว้อย่างชัดแจ้งสามารถตีความให้เป็นการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) ที่เป็นภัยที่คุ้มครองได้หรือไม่?
สมมุติการทุบทำลายสิ่งของต่าง ๆ เพื่อค้นหาของมีค่า แต่ไม่เจอ อย่างนี้จะถือเป็นการกระทำป่าเถื่อนได้หรือเปล่า? เพราะการลักทรัพย์ไม่สำเร็จผลดังที่มีเจตนาไว้ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า เนื่องด้วยข้อยกเว้นระบุแค่ไม่คุ้มครองการลักทรัพย์ (Theft) เท่านั้น โดยมิได้เอ่ยถึงการพยายามลักทรัพย์ (Attempted Theft) เลย จึงตีความข้อยกเว้นนี้อย่างเคร่งครัดว่า ผู้ร่างไม่ประสงค์จะให้ยกเว้นถึงการพยายามลักทรัพย์ (Attempted Theft) ด้วย ความเสียหายจากสาเหตุดังกล่าวจึงเข้าข่ายภัยการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) ดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

ศาลตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อตัวอาคารที่ได้เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

(อ้างอิงจากคดี Mercedes Zee Corp., LLC v. Seneca Ins. Co., 2015 WL 9311343 (D. Conn. Dec. 22, 2015))

คุณมีความคิดเห็นในคดีนี้อย่างไรบ้างครับ? และจะทดลองนำเหตุการณ์นี้ไปเทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับมาตรฐานของบ้านเราก็ได้นะครับ ซึ่งได้ระบุข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้

.  สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง
1. ความเสียหาย อันเกิดจาก  
    1.6 การลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นการลักทรัพย์จากตัวอาคารโดยการเข้าไปหรือออกจากตัวอาคารนั้นด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรงและทำให้เกิดร่องรอยความเสียหายที่เห็นได้อย่างชัดเจนต่อตัวอาคาร” 

เรื่องราวต่อไป: การหยุดชะงักของธุรกิจ หรือการได้รับผลกระทบต่อธุรกิจในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักครอบคลุมถึงขนาดไหน?
 

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 75: ทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายไว้หนึ่งปี สามเดือนยกเลิก หากต่อมาพบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงนั้น จะได้รับความคุ้มครองเต็มตามวงเงินหนึ่งปี หรือตามส่วนสามเดือน?



โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองในระยะเวลาเอาประกันภัยหนึ่งปี และเช่นเดียวกับสัญญาอื่นทั่วไปจะอนุญาตให้คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยก่อนครบระยะเวลาเอาประกันภัยก็ได้ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดระบุเอาไว้เป็นอย่างอื่น

คดีนี้เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาว่า ผู้เอาประกันภัยเป็นโรงงานผลิตได้ทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยมีระยะเวลาเอาประกันภัยหนึ่งปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1967 ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1968 ด้วยวงเงินความคุ้มครอง 10 ล้านเหรียญต่อเหตุการณ์แต่ละครั้งและทุกครั้ง (each and every occurrence) และวงเงินโดยรวม 10 ล้านเหรียญตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย (in aggregate limit for the annual policy period)  

ครั้นผ่านความคุ้มครองไปได้เพียงสามเดือน ผู้เอาประกันภัยได้บอกเลิกสัญญาประกันภัย เพื่อโยกย้ายไปทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเจ้าใหม่ บริษัทประกันภัยเดิมก็ยินยอม และได้คืนเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาเอาประกันภัยที่ยังมิได้คุ้มครองตามส่วน คือ 75% ของเบี้ยประกันภัยที่ได้ชำระเต็มปี 100% หรือคืนเบี้ยประกันภัยมาให้สามในสี่ส่วนนั่นเอง

เรื่องราวน่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ถ้ามิได้มีบุคคลภายนอกผู้เสียหายมาแจ้งเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้รับผิดชอบตามกฎหมาย สำหรับความบาดเจ็บที่ตนเองได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสิบปีนับแต่ปี ค.ศ. 1967 คือ ผ่านไปแล้วสิบปี จู่ ๆ ก็มีบุคคลภายนอกผู้เสียหายมาเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เอาประกันภัยรายนี้

เมื่อตรวจสอบเรื่องราว ได้ความว่า เป็นความผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยจริง ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายขึ้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 โดยยังอยู่ในระยะเวลาที่บริษัทประกันภัยรายแรกให้ความคุ้มครองอยู่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองที่บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวจำต้องรับผิดด้วยเช่นกัน โดยมิได้ปฎิเสธความรับผิดชอบของตนแต่ประการใด 

ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้อยู่ที่ว่า ความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยดังกล่าว คือ เท่าไหร่? เนื่องจากบุคคลภายนอกผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายมาเต็มวงเงิน 10 ล้านเหรียญ 

บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวโต้แย้งว่า ตนเองมีช่วงระยะเวลาความคุ้มครองจริงเพียงสามเดือน หรือ 25% เท่านั้น (หากเทียบระยะเวลาเอาประกันภัยหนึ่งปีเป็น 100%) ทั้งตนก็ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยจริงเพียงตามส่วน 25% ด้วย

เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น ศาลได้ตัดสินให้บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวรับผิดเต็มวงเงิน 10 ล้านเหรียญ

บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยได้บอกเลิกสัญญาประกันภัย บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวก็ได้ออกใบสลักหลัง (Endorsement) แก้ไขระยะเวลาเอาประกันภัยจากหนึ่งปีเป็นเหลือเพียงสามเดือน และคืนเบี้ยประกันภัยที่ตนได้รับชำระมาแล้วเต็มปีให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปตามส่วน 75% และยังได้ระบุตอนท้ายใบสลักหลังฉบับนั้นด้วยอีกว่า “ส่วนเงื่อนไขและข้อความอื่น ๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้คงใช้บังคับตามเดิม (All other terms and conditions remain unchanged.)” ทั้งมิได้ปรากฏข้อความในใบสลักหลังฉบับนั้นตอนใดที่ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่า วงเงินความคุ้มครองนั้นจะต้องลดลงไปตามส่วนด้วย 

ฉะนั้น การที่กำหนดว่า เงื่อนไขและข้อความอื่น ๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้คงมีผลใช้บังคับตามเดิม คือ หมายความว่า ในส่วนวงเงินความคุ้มครองนั้นเท่าเดิม คือ 10 ล้านเหรียญต่อเหตุการณ์แต่ละครั้งและทุกครั้ง และโดยรวมตลอดระยะเวลาเอาประกันภัยโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง อนึ่ง เนื่องจากในคำฟ้องมิได้ระบุถึงความรับผิดของบริษัทประกันภัยรายอื่น ๆ ด้วย จึงมิใช่หน้าที่ของศาลที่จะต้องทำการวินิจฉัย และพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น

(อ้างอิงและเทียบเคียงจากคดี OneBeacon Ins. Co. v. GeorgiaPacific Corp., 474 F.3d 6 (1st Cir. 2007))

ทางปฏิบัติจะไม่เห็นข้อโต้แย้งประเด็นนี้เกิดขึ้นบ่อยนัก จึงนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นข้อมูลครับ

เรื่องราวต่อไป: ความสับสนระหว่างภัยการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious Act) หรือการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) กับภัยลักทรัพย์ (Theft)  

ขณะนี้ ผมได้เขียนบทความสาระความรู้ประกันภัยทั่วไปเพิ่มเติม ภายใต้หัวข้อ พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย) : เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook โดยได้เริ่มต้นบทความเรื่อง ภาษาประกันภัย คำใน คำนอก เรื่องที่ 1: ความหมายของสิ่งตกแต่ง และสิ่งติดตั้งตรึงตรา (Fittings/Furnishings & Fixtures)  ไปแล้วเมื่อต้นเดือนนี้ และกลางสัปดาห์นี้จะพูดถึงความหมายของการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious Act) กับการการกระทำป่าเถื่อน (Vandalsim) นั้นว่า มีความหมายอย่างไร? โดยที่ในส่วนของบล้อกจะเป็นการหยิบยกตัวอย่างคำพิพากษามาให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น โปรดติดตามครับ

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 74: หลังคาอาคารพังถล่มลงมาสองจุดโดยทิ้งช่วงห่างกันไม่กี่วัน ถือเป็นเหตุการณ์ (Occurrence) ครั้งเดียว หรือสองครั้ง?


ผู้เอาประกันภัยเป็นโรงงานขนาดใหญ่โดยมีลักษณะโครงสร้างเสมือนหนึ่งอาคารสองหลังเชื่อมต่อกันให้เป็นอาคารใหญ่หลังเดียว หลังคาก็เช่นเดียวกันสร้างให้เชื่อมต่อกันให้เป็นหลังคาเดียวกัน โดยมีเสากลางค้ำยันไว้เพื่อรองรับน้ำหนักความสมดุลของหลังคาขนาดใหญ่นั้น

เมื่อเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง น้ำได้ท่วมขังหลังคาเนื่องจากระบายไม่ทัน ส่งผลทำให้หลังคาส่วนหนึ่งพังถล่มลงมา เพราะรับน้ำหนักของน้ำที่สะสมมากเกินขนาดไม่ไหว อีกสามวันต่อมา หลังคาส่วนที่สองพังถล่มลงมาเช่นกัน ผู้เอาประกันภัยจึงได้แจ้งบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่ตัวโรงงานนี้ไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัย ซึ่งกำหนดเงื่อนไขความเสียหายส่วนแรก (Deductible) ไว้ที่ 50,000 บาท ต่อเหตุการณ์ (Occurrence) แต่ละครั้งและทุกครั้ง โดยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อซ่อมแซมหลังคาที่เสียหายทั้งสองจุดเป็นเงินรวม 660,000 บาท

บริษัทประกันภัยตกลงชดใช้ให้ แต่ขอหักค่าความเสียหายส่วนแรกไว้ทั้งสิ้น 100,000 บาท เพราะถือว่า เกิดจากเหตุการณ์รวมสองครั้งด้วยกัน ทำให้เหลือเงินที่จะต้องชดใช้เพียง 560,000 บาท

ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า สาเหตุเกิดจากเหตุฝนตกหนักครั้งเดียว ทั้งน้ำที่สะสมเป็นมวลน้ำเดียวกัน มิได้มีน้ำอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย และหลังคาเองก็เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันแล้ว ทั้งหมดถือเป็นเหตุการณ์จากสาเหตุเดียวกันต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน กรณีนี้ บริษัทประกันภัยสามารถหักค่าความเสียหายส่วนแรกได้เพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้น คือ 50,000 บาท และจะต้องชดใช้เงินมาให้ทั้งหมด 610,000 บาท นอกจากนี้ ค่าซ่อมแซมนี้มิได้ประเมินแยกจุดความเสียหาย แต่ประเมินจากความเสียหายของหลังคาสองจุดในคราวเดียวกัน ถ้าบริษัทประกันภัยเห็นว่า เป็นสองเหตุการณ์ แล้วทำไมไม่ร้องขอให้แยกราคากัน จะนำเอาราคารวมทั้งหมดมาหักค่าความเสียหายส่วนแรกสองครั้งไม่ได้

คุณถือข้างไหนครับ ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้?

ลองมาฟังคำวินิจฉัยของศาลกันนะครับ

ศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดี

ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผล ดังนี้

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้ให้คำนิยามของเหตุการณ์ (Occurrence) เอาไว้เป็นพิเศษ จำต้องตีความตามความเข้าใจของคนทั่วไปว่า หมายความถึง สิ่งที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ หรือคาดหมาย (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนดความหมายสั้น ๆ เพียงว่า “เรื่องที่เกิดขึ้น”) 

เจตนารมณ์ของการประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง เพื่อชดใช้ให้ผู้เอาประกันภัยได้กลับคืนสู่สภาวะทางการเงินดังเดิมเสมือนหนึ่งไม่เกิดเหตุใดขึ้นมา สมมุติว่า เหตุการณ์หลังคาถล่ม ณ จุดแรกได้ซ่อมแซมแล้ว หากอีกหลายวันถัดมา หลังคาเกิดถล่มขึ้นมา ณ จุดอื่น บริษัทประกันภัยจำต้องชดใช้ให้ด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นเหตุการณ์ครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นอิสระจากเหตุการณ์แรก ส่วนประเด็นมิได้มีการแยกประเมินค่าซ่อมแซมนั้น มิถือเป็นสาระสำคัญ เพราะผู้ซ่อมแซมสามารถตีราคาเหมารวมในคราวเดียวกันก็ได้

สรุป ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้เพียง 560,000 บาทเท่านั้น

(เทียบเคียงมาจากคดี Newmont Mines Ltd. v. Hanover Ins. Co., 784 F.2d 127, 130 (2d Cir. 1986))   

เรื่องต่อไป: ทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายไว้หนึ่งปี สามเดือนยกเลิก หากต่อมาพบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงนั้น จะได้รับความคุ้มครองตามวงเงินเต็มหนึ่งปี หรือตามส่วนสามเดือน?