วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 69: ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญามีความหมายเช่นใด?

(ตอนที่สาม)

คราวที่แล้ว เราได้พูดถึงคดีที่ศาลต่างประเทศตีความคำว่า “ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship)” นั้น ค่อนข้างกำกวม ทำให้สับสนว่า จะหมายความถึงข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เพียงตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) หรือ
(2) กระบวนการทำงาน (Process) หรือ
(3) ทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) กับกระบวนการทำงาน (Process)  
โดยได้ตัดสินยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัยด้วยการตีความให้หมายความถึงเพียงข้อ (1) เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ศาลต่างประเทศบางแห่งก็มิได้เดินตามแนวทางคำพิพากษาดังกล่าว ดังตัวอย่างคดีต่อไปนี้
คดีที่หนึ่ง
ภายหลังจากผู้รับเหมาช่วงงานมุงหลังคาอาคารสร้างใหม่ที่ทำจากวัสดุพิเศษเทอร์โมพลาสติกพอลิโอเลฟิน (Thermoplastic Polyolefin) จำพวกสารผสมระหว่างพลาสติกกับยางเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้รับเหมาช่วงในงานส่วนอื่น ๆ ก็เข้าไปทำงานส่วนของตนภายใต้หลังคานั้น ถึงแม้ผู้รับเหมาหลักตัวอาคารจะได้เตือนล่วงหน้าแล้วว่า ให้ผู้รับเหมาช่วงเหล่านั้นระมัดระวังอย่าไปทำให้หลังคาเสียหาย แต่มิได้รับความใส่ใจ ผลคือ หลังคานั้นได้รับความเสียหายอย่างมากจากการทำงานของผู้รับเหมาช่วงเหล่านั้น ถึงขนาดจำต้องเปลี่ยนหลังคาใหม่กันเลย
ผู้รับเหมาหลักตัวอาคารในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) จึงไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หลังคาดังกล่าว
แต่บริษัทประกันภัยอ้างข้อยกเว้นที่ระบุว่า ไม่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายซึ่งมีสาเหตุ หรือเป็นผลมาจากกรณีดังต่อไปนี้ “.... ความผิดพลาด ความไม่เหมาะสม หรือความบกพร่องจากงานฝีมือ (Workmanship) ...แต่จะชดใช้ความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นที่เป็นผลมาจากความบกพร่องจากงานฝีมือดังกล่าวนั้น หากว่าความสูญเสียหรือความเสียหายดังว่านั้นมิได้ถูกยกเว้นไว้เป็นอย่างอื่นในกรมธรรรม์ประกันภัยฉบับนี้” 

กล่าวคือจะไม่คุ้มครองความบกพร่องจากงานฝีมือที่เป็นต้นเหตุ แต่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นที่ได้รับความเสียหายติดตามมาเนื่องจากการนั้น จะได้รับความคุ้มครองตราบเท่าที่มีสาเหตุจากภัยที่คุ้มครอง
ผู้รับเหมาหลักผู้เอาประกันภัยได้ตั้งประเด็นต่อสู้ในคดีฟ้องร้องว่า
(1) ข้อยกเว้นเรื่องความบกพร่องจากงานฝีมือควรตีความให้หมายถึงเพียงความบกพร่องต่อคุณภาพของโครงการที่ทำการก่อสร้าง (ตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product))เท่านั้น
(2) ความเสียหายติดตามมา (Ensuing Loss) นั้นค่อนข้างกำกวมไม่ชัดเจน อาจหมายความถึงตัวงานหลังคาที่ทำเสร็จแล้วก็ได้
ศาลในคดีนี้พิจารณาแล้วเห็นว่า งานฝีมือ (Workmanship) ที่ดี หรือไม่ดีนั้น ควรประกอบด้วยทั้งตัวงานที่ทำกับกระบวนการทำงานด้วย ถ้ากระบวนการทำงานไม่ดี ผลสำเร็จของงานที่ออกมาน่าจะออกมาไม่ดีด้วยเช่นกัน แม้กรณีนี้ งานหลังคาจะออกมาอย่างดี แต่กลับมาเสียหายจากความสะเพร่าของผู้รับเหมาช่วงงานส่วนอื่น เมื่อมองภาพรวมไปที่ความสำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ของตัวงานที่ว่าจ้างทั้งโครงการ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกส่วนของการทำงานจะต้องออกมาอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์เหมือนกันหมด ดังนั้น ผู้รับเหมาทุกรายที่เกี่ยวข้องจึงมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด
ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ศาลจึงวินิจฉัยว่า ความเสียหายต่อหลังคามิใช่เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นอันจะได้รับความคุ้มครองจากความเสียหายติดตามมานั้นแต่ประการใด และศาลไม่เห็นว่า ข้อความดังกล่าวจะก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนอย่างไร? บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
อ้างอิงจากคดี BSI Constructors, Inc. v. Hartford Fire Ins. Co., 705 F.3d 330, 333 (8th Cir. 2013) ซึ่งศาลตีความว่า ทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) กับกระบวนการทำงาน (Process) ล้วนถือเป็นงานฝีมือทั้งหมด
คดีที่สอง
เจ้าของโครงการได้ว่าจ้างผู้รับเหมาสร้างอาคารสูงหลังหนึ่ง ก่อนส่งมอบ ผู้รับเหมาได้ให้ผู้รับเหมาช่วงทำความสะอาดกระจกตัวอาคารทั้งหลัง ด้วยความสะเพร่าของผู้รับเหมาช่วงรายนั้นที่ใช้อุปกรณ์เครื่องมือกับวิธีการทำงานที่ไม่เหมาะสมได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อกระจกตัวอาคาร ถึงขนาดจำต้องเปลี่ยนกระจกอาคารใหม่เกือบทั้งหมด ผู้รับเหมาอาคารในฐานะผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนทดแทนกระจกอาคารที่เสียหาย
บริษัทประกันภัยปฏิเสธโดยอ้างว่า กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมาฉบับนี้ได้กำหนดข้อยกเว้นในเรื่องนี้ว่า
ไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการทำให้ความผิดพลาด (Cost of Making Good) จากงานฝีมือ (Faulty Workmanship) วัสดุก่อสร้าง หรือการออกแบบกลับมาดีดังเดิม เว้นแต่เป็นความเสียหายทางกายภาพ (Physical Damage) ที่มิได้ถูกยกเว้นไว้เป็นอย่างอื่นในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ อันเป็นผลมาจากกรณีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาว่า ข้อยกเว้นนี้มีความไม่ชัดเจน จึงยกประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ด้วยการตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิด
ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตัดสินให้บริษัทประกันภัยพ้นผิด เพราะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการทำให้ความผิดพลาดกลับมาดีดังเดิมกับความเสียหายทางกายภาพนั้นไม่มีความแตกต่างกัน
ศาลฎีกาเห็นต่างจากศาลอุทธรณ์ว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับความเสียหายทางกายภาพมีความหมายไม่เหมือนกัน เมื่อพิเคราะห์จากงานของผู้รับเหมาช่วงรายนี้ ซึ่งถูกว่าจ้างให้มาบริการทำความสะอาดเท่านั้น เมื่อได้ทำงานฝีมือบริการผิดพลาดจนถึงขนาดทำให้กระจกอาคารเดิมเกิดความเสียหายทางกายภาพจำต้องเปลี่ยนทดแทนกระจกอาคารใหม่ หน้าที่ในการจัดหาและติดตั้งกระจกใหม่เป็นภาระของผู้รับเหมาอาคาร  
ดังนั้น การตีความข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาดควรตีความให้เหมาะสมแก่แต่ละกรณี ไม่จำเป็นต้องยึดถือตามความหมายของพจนานุกรมเสมอไป ซึ่งกรณีนี้เป็นงานฝีมือที่ผิดพลาดของผู้รับเหมาช่วงรายเดียวเท่านั้น แม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของงานก่อสร้างทั้งโครงการก็ตาม
เมื่อข้อยกเว้นระบุไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการทำให้ความผิดพลาดกลับมาดีดังเดิม จึงมีความหมายถึงของผู้รับเหมาช่วงรายนั้น ส่วนกระจกอาคารที่เสียหายถือเป็นความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น จึงไม่ตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าว และวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดชดใช้เฉพาะค่าเสียหายของตัวกระจกอาคารนั้นแก่ผู้เอาประกันภัย
อ้างอิงจากคดี Ledcor Construction Ltd. v. Northbridge Indemnity Insurance Co., 2016 SCC 37
เอวังเรื่องนี้ก็มีด้วยประการละฉะนี้ ถึงกระนั้น น่าเชื่อว่า ข้อพิพาทเรื่องงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่องคงยังมีขึ้นต่อไป เพราะคงขึ้นอยู่กับข้อความจริงในแต่ละคดี รวมทั้งถ้อยคำที่เขียนไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ และประเด็นข้อต่อสู้ ประกอบดุลยพินิจของศาลท่านเป็นสำคัญ
เรื่องต่อไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้างนะครับ
เรื่องที่ 70: โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ถือเป็นโรคภัย หรืออุบัติเหตุกันแน่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น