วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 69: ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญามีความหมายเช่นใด?

(ตอนที่สอง)

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า
ไม่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายใดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ แต่สำหรับความเสียหายที่ตามมา (Ensuing Loss) ซึ่งมิได้ถูกยกเว้นเอาไว้ จะได้รับความคุ้มครอง
........
ความผิดพลาด ความไม่เหมาะสม หรือความบกพร่องจาก
......
การออกแบบ งานฝีมือ (Workmanship) ...
ประกอบกับข้อมูล และพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ศาลเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัย
ผู้เอาประกันภัยยื่นอุทธรณ์ โดยยกประเด็นต่อสู้ว่า คำว่า “งานฝีมือ (Workmanship)” ดังระบุไว้นั้นกำกวม ไม่แน่ใจว่า หมายถึงอะไรกันแน่? เช่นนี้ ศาลควรจะยกประโยชน์ในความสงสัยนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย
ศาลอุทธรณ์พิจารณาจากพจนานุกรมของ Webster ซึ่งให้ความหมายของ “งานฝีมือ (Workmanship)” แยกออกเป็น
1) สิ่งที่เป็นผล ถูกทำขึ้นมา หรือถูกสร้างขึ้นมา
2) การใช้ศิลป หรือความเชี่ยวชาญของคนทำงาน
ศาลตีความว่า ความหมายแรกให้ความหมายถึงตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) ขณะที่อีกความหมายนั้นหมายความถึงกระบวนการทำงาน (Process)
สำหรับความหมายถึงผลิตผล (Product) นั้นจะต้องเกิดผลิตผลให้ตรวจสอบเสียก่อน การที่ผู้รับเหมามิได้จัดหาสิ่งปกคลุมชั่วคราวมาปกปิดป้องกันไว้ ไม่น่าถือเป็นงานฝีมือที่บกพร่อง (Defective Workmanship) ขึ้นมาได้ เพราะผู้รับเหมายังทำงานไม่เสร็จสมบูรณ์เลย จึงยังมิได้มีผลิตผลออกมาให้เห็นได้ว่า มีความผิดพลาด หรือความบกพร่องเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง?
ถ้าบริษัทประกันภัยประสงค์จะให้หมายความถึงกระบวนการทำงาน (Process) ด้วย ควรจะเขียนลงไปให้ชัดเจนเลยว่า ไม่คุ้มครองรวมถึงวิธีการทำงาน (Method of Construction)
เพราะในส่วนของความเสียหายที่ตามมา (Ensuing Loss) นั้นจะสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า ถ้าหมายถึงผลิตผล ซึ่งในที่นี้ คือ หลังคาที่ติดตั้งไปแล้วเกิดความผิดพลาด หรือความบกพร่องจนทำให้น้ำฝนไหลลงไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นได้ แต่ถ้าตีความเป็นกระบวนการแล้ว นึกลำบากว่า ความเสียหายที่ตามมานั้นจะคืออะไรได้บ้าง?
จริงอยู่ที่บริษัทประกันภัยกล่าวอ้างว่า ความเป็นมืออาชีพที่ดีของผู้รับเหมาจะต้องประกอบด้วยฝีมือที่ดี และกระบวนการที่ดีพร้อมกันไปด้วย แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การสามารถตีความได้หลายนัยนั้น ก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนแก่ผู้เอาประกันภัยดังเหตุผลข้างต้น จึงตัดสินยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยด้วยการวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมาซึ่งไม่อยู่ในความหมายของข้อยกเว้นเรื่องงานฝีมือที่บกพร่อง (Defective Workmanship)
อ้างอิงเทียบเคียงจากคดี Allstate Insurance Co. v. Smith, 929 F.2d 447 (9th Cir. 1991)
คุณเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยในคดีนี้ไหมครับ? ถ้ายังลองมาดูคดีนี้กันต่อ
ผู้รับเหมามิได้จัดเตรียมการป้องกันน้ำท่วมที่ดีพอภายในสถานที่ก่อสร้างในช่วงฤดูฝน ต่อมาเกิดฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วมทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่อยู่ภายใน (วัสดุก่อสร้างและงานที่ทำไปบ้างแล้ว) ได้รับความเสียหาย เมื่อผู้รับเหมาผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา แต่บริษัทประกันภัยปฏิเสธโดยอ้างว่า อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องงานฝีมือที่บกพร่อง (Defective Workmanship) ซึ่งให้ความหมายรวมถึงทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) กับกระบวนการทำงาน (Process) ด้วย
ศาลได้พิจารณาเห็นว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวมีความหมายจำกัดอยู่เพียงความผิดพลาด หรือความบกพร่องของทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงกระบวนการทำงานด้วยแต่ประการใด ดังนั้น การจัดเตรียมการป้องกันน้ำท่วมไม่ดีพอ จึงเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อที่ไม่เกี่ยวกับความผิดพลาด หรือความบกพร่องของทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) เลย (อ้างอิงจากคดี M.A. Mortenson Co v Indemnity Ins. Co. of North America 1999 WL)
เหตุการณ์ดังในคดีที่สองนี้ พบเห็นได้ในบ้านเรา แต่ที่เคยได้ฟังว่า มีการจัดเตรียมเครื่องปั้มน้ำระบบไฟฟ้าเอาไว้ แต่พอฝนตกหนัก กระแสไฟฟ้าดับ ทำอะไรต่อไม่ได้เลย ยังมิเคยได้ยินว่า มีการหยิบยกข้อยกเว้นนี้มาปฏิเสธความรับผิด หรืออาจจะผมมิได้มีข้อมูลที่อัพเดทพอ?
คราวต่อไป เราจะลองมาพิจารณาคดีอื่นที่ศาลเห็นว่า ควรมีความหมายทั้งสองนัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น