วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561



เรื่องที่ 70: โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ถือเป็นความเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุกันแน่?

(ตอนที่หนึ่ง)
คนที่ใช้มือทำงานมาก เช่น พนักงานป้อนข้อมูลคอมพิวเตอร์ ช่างเย็บเสื้อผ้า ช่างไม้ คนงานในโรงงานผลิต แพทย์ เป็นต้น หรือคนทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยลักษณะท่าเดิมอยู่บ่อยครั้ง เป็นต้นว่า การใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ อาจประสบภาวะโรคที่เกี่ยวกับมือสุดฮิตขึ้นมาได้ อันประกอบด้วย
1.นิ้วล็อก (Trigger’s finger)
2.มือชาหรือพังผืดทับเส้นประสาทข้อมือ หรือเรียกรวม ๆ ว่าโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือบางครั้งเรียกว่า กลุ่มอาการประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome)
3.เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quevain’s)
4.ก้อนเนื้อ หรือ ถุงน้ำบริเวณข้อมือ (Carpal ganglion)

เมื่อโรคเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกับการประกันภัย ก็เกิดเป็นคดีข้อพิพาทขึ้นมาว่า ถือเป็นความเจ็บป่วย (Sickness) จากโรคภัย หรือเป็นความบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ (Accidental Injury) กันแน่?
เรื่องราวเกิดขึ้นแก่สูตินารีแพทย์ชายท่านหนึ่งซึ่งประกอบวิชาชีพมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ด้วยการใช้มือทำการตรวจรักษาด้วยลักษณะท่าทางเดิมมาโดยตลอด กระทั่งประมาณปี ค.ศ. 1994 หรือ 1995 หลังจากประกอบวิชาชีพนี้มาได้ร่วมยี่สิบห้าปีแล้ว ก็เริ่มรู้สึกถึงอาการเจ็บที่มือซ้ายเป็นระยะ ๆ เวลาที่ทำการตรวจรักษาคนไข้ ทั้งที่มิได้เคยประสบอุบัติเหตุที่มือข้างนั้นมาก่อนเลย แต่ยังมิได้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบแต่ประการใด  
ต่อมาปี ค.ศ. 1997 เมื่ออาการไม่ดีขึ้น จึงไปพบแพทย์เกี่ยวกับการรักษากระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedic Surgeon) โดยตรง ซึ่งตรวจพบภาวะโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) และได้ไปพบศัลยแพทย์ทางประสาท (Neurosurgeon) อีกท่านหนึ่งเพื่อตรวจยืนยันด้วยการตรวจเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณแขน และมือ และรับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง ซึ่งให้ผลยืนยันภาวะออกมาเช่นเดียวกัน โดยแจ้งว่า ได้เกิดอาการสะสมต่อเนื่องกันมานานหลายปีแล้ว จำต้องทำการรักษาอย่างจริงจังเสียที
ภายหลังการรักษาอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านการใช้ยาและการผ่าตัด ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แพทย์ผู้ป่วยรายนี้ได้ตัดสินใจยุติการประกอบวิชาชีพสูตินารีแพทย์ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1998 เพราะไม่สามารถใช้มือซ้ายที่ถนัดทำงานได้อีกต่อไป และอาการเริ่มลุกลามต่อเนื่องไปที่มือขวาแล้ว
แม้จะเกษียณตัวเอง แพทย์ผู้ป่วยรายนี้ยังใช้ชีวิตประจำวันอย่างสนุกสนานตามปกติ ไม่ว่าจะไปเล่นกอล์ฟ ตกปลาทุกสัปดาห์
เนื่องจากตนเองได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งซึ่งให้ความคุ้มครองค่าทดแทนจากการทุพพลภาพ (Disability) ซึ่งได้เกิดขึ้นระยะเวลาเอาประกันภัย โดยมีเงื่อนไขดังนี้
(1) ถ้าการทุพพลภาพเนื่องจากความบาดเจ็บ (Injury) ผู้เอาประกันภัยจะได้รับค่าทดแทนจนตลอดชีวิต สำหรับการทุพพลภาพสิ้นเชิง (Lifetime Benefits for Total Disability) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนอายุ 65 ปี
โดยให้คำจำกัดความ “ความบาดเจ็บ (Injury)” หมายถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายโดยอุบัติเหตุซึ่งได้เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย
(2) ถ้าการทุพพลภาพเนื่องจากความเจ็บป่วย (Sickness) ผู้เอาประกันภัยจะได้รับค่าทดแทนสูงสุด 48 เดือน สำหรับการทุพพลภาพ (Disability) ซึ่งเริ่มต้นระหว่างอายุ 61 กับ 62 ปี
โดยให้คำจำกัดความ “ความเจ็บป่วย (Sickness)” หมายถึง ความเจ็บป่วย หรือโรคภัยที่ปรากฏขึ้นมาภายในระยะเวลาเอาประกันภัย
สรุป คือ กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ให้ความคุ้มครองทั้งทางด้านความบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุ และความเจ็บป่วย เพียงแต่วงเงินค่าทดแทนจะได้รับไม่เท่ากัน อนึ่ง คำว่า “ทุพพลภาพสิ้นเชิง (Total Disability)” ยังให้คำนิยามว่า การทุพพลภาพสิ้นเชิงเนื่องจากความบาดเจ็บ หรือความเจ็บป่วยจะต้องถึงขนาดทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานที่สำคัญในอาชีพของตนได้อีกต่อไป และยังคงได้รับการรักษาดูแลจากแพทย์ตามสมควรแห่งสภาวะอาการที่ก่อให้เกิดทุพพลภาพนั้น
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้เรียกร้องค่าทดแทนต่อบริษัทประกันชีวิตโดยระบุว่า ทุพพลภาพเริ่มตั้งแต่วันที่เลิกประกอบวิชาชีพ คือ วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1998 บริษัทประกันชีวิตนี้ตกลงชดใช้ค่าทดแทนเนื่องจากความเจ็บป่วยในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 48 เดือนเท่านั้น
ผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเรียกร้องให้บริษัทประกันชีวิตชดใช้ค่าทดแทนตลอดชีพเนื่องจากความบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุตามเงื่อนไขความคุ้มครองข้อแรกของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว
ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นมาสามประเด็น คือ
(1) การทุพพลภาพดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากความบาดเจ็บ หรือความเจ็บป่วย?
(2) ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนเนื่องจากความบาดเจ็บหรือไม่?
(3) ความบาดเจ็บนั้นเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเอาประกันภัยหรือไม่?
เราคงต้องอดใจรอบทสรุปแห่งคดีนี้คราวหน้านะครับ ช่วงนี้จะลองเดาผลคดีไปพลาง ๆ ก่อนก็ได้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 69: ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญามีความหมายเช่นใด?

(ตอนที่สาม)

คราวที่แล้ว เราได้พูดถึงคดีที่ศาลต่างประเทศตีความคำว่า “ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship)” นั้น ค่อนข้างกำกวม ทำให้สับสนว่า จะหมายความถึงข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เพียงตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) หรือ
(2) กระบวนการทำงาน (Process) หรือ
(3) ทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) กับกระบวนการทำงาน (Process)  
โดยได้ตัดสินยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัยด้วยการตีความให้หมายความถึงเพียงข้อ (1) เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ศาลต่างประเทศบางแห่งก็มิได้เดินตามแนวทางคำพิพากษาดังกล่าว ดังตัวอย่างคดีต่อไปนี้
คดีที่หนึ่ง
ภายหลังจากผู้รับเหมาช่วงงานมุงหลังคาอาคารสร้างใหม่ที่ทำจากวัสดุพิเศษเทอร์โมพลาสติกพอลิโอเลฟิน (Thermoplastic Polyolefin) จำพวกสารผสมระหว่างพลาสติกกับยางเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้รับเหมาช่วงในงานส่วนอื่น ๆ ก็เข้าไปทำงานส่วนของตนภายใต้หลังคานั้น ถึงแม้ผู้รับเหมาหลักตัวอาคารจะได้เตือนล่วงหน้าแล้วว่า ให้ผู้รับเหมาช่วงเหล่านั้นระมัดระวังอย่าไปทำให้หลังคาเสียหาย แต่มิได้รับความใส่ใจ ผลคือ หลังคานั้นได้รับความเสียหายอย่างมากจากการทำงานของผู้รับเหมาช่วงเหล่านั้น ถึงขนาดจำต้องเปลี่ยนหลังคาใหม่กันเลย
ผู้รับเหมาหลักตัวอาคารในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) จึงไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หลังคาดังกล่าว
แต่บริษัทประกันภัยอ้างข้อยกเว้นที่ระบุว่า ไม่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายซึ่งมีสาเหตุ หรือเป็นผลมาจากกรณีดังต่อไปนี้ “.... ความผิดพลาด ความไม่เหมาะสม หรือความบกพร่องจากงานฝีมือ (Workmanship) ...แต่จะชดใช้ความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นที่เป็นผลมาจากความบกพร่องจากงานฝีมือดังกล่าวนั้น หากว่าความสูญเสียหรือความเสียหายดังว่านั้นมิได้ถูกยกเว้นไว้เป็นอย่างอื่นในกรมธรรรม์ประกันภัยฉบับนี้” 

กล่าวคือจะไม่คุ้มครองความบกพร่องจากงานฝีมือที่เป็นต้นเหตุ แต่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นที่ได้รับความเสียหายติดตามมาเนื่องจากการนั้น จะได้รับความคุ้มครองตราบเท่าที่มีสาเหตุจากภัยที่คุ้มครอง
ผู้รับเหมาหลักผู้เอาประกันภัยได้ตั้งประเด็นต่อสู้ในคดีฟ้องร้องว่า
(1) ข้อยกเว้นเรื่องความบกพร่องจากงานฝีมือควรตีความให้หมายถึงเพียงความบกพร่องต่อคุณภาพของโครงการที่ทำการก่อสร้าง (ตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product))เท่านั้น
(2) ความเสียหายติดตามมา (Ensuing Loss) นั้นค่อนข้างกำกวมไม่ชัดเจน อาจหมายความถึงตัวงานหลังคาที่ทำเสร็จแล้วก็ได้
ศาลในคดีนี้พิจารณาแล้วเห็นว่า งานฝีมือ (Workmanship) ที่ดี หรือไม่ดีนั้น ควรประกอบด้วยทั้งตัวงานที่ทำกับกระบวนการทำงานด้วย ถ้ากระบวนการทำงานไม่ดี ผลสำเร็จของงานที่ออกมาน่าจะออกมาไม่ดีด้วยเช่นกัน แม้กรณีนี้ งานหลังคาจะออกมาอย่างดี แต่กลับมาเสียหายจากความสะเพร่าของผู้รับเหมาช่วงงานส่วนอื่น เมื่อมองภาพรวมไปที่ความสำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ของตัวงานที่ว่าจ้างทั้งโครงการ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกส่วนของการทำงานจะต้องออกมาอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์เหมือนกันหมด ดังนั้น ผู้รับเหมาทุกรายที่เกี่ยวข้องจึงมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด
ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ศาลจึงวินิจฉัยว่า ความเสียหายต่อหลังคามิใช่เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นอันจะได้รับความคุ้มครองจากความเสียหายติดตามมานั้นแต่ประการใด และศาลไม่เห็นว่า ข้อความดังกล่าวจะก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนอย่างไร? บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
อ้างอิงจากคดี BSI Constructors, Inc. v. Hartford Fire Ins. Co., 705 F.3d 330, 333 (8th Cir. 2013) ซึ่งศาลตีความว่า ทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) กับกระบวนการทำงาน (Process) ล้วนถือเป็นงานฝีมือทั้งหมด
คดีที่สอง
เจ้าของโครงการได้ว่าจ้างผู้รับเหมาสร้างอาคารสูงหลังหนึ่ง ก่อนส่งมอบ ผู้รับเหมาได้ให้ผู้รับเหมาช่วงทำความสะอาดกระจกตัวอาคารทั้งหลัง ด้วยความสะเพร่าของผู้รับเหมาช่วงรายนั้นที่ใช้อุปกรณ์เครื่องมือกับวิธีการทำงานที่ไม่เหมาะสมได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อกระจกตัวอาคาร ถึงขนาดจำต้องเปลี่ยนกระจกอาคารใหม่เกือบทั้งหมด ผู้รับเหมาอาคารในฐานะผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนทดแทนกระจกอาคารที่เสียหาย
บริษัทประกันภัยปฏิเสธโดยอ้างว่า กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดสำหรับผู้รับเหมาฉบับนี้ได้กำหนดข้อยกเว้นในเรื่องนี้ว่า
ไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการทำให้ความผิดพลาด (Cost of Making Good) จากงานฝีมือ (Faulty Workmanship) วัสดุก่อสร้าง หรือการออกแบบกลับมาดีดังเดิม เว้นแต่เป็นความเสียหายทางกายภาพ (Physical Damage) ที่มิได้ถูกยกเว้นไว้เป็นอย่างอื่นในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ อันเป็นผลมาจากกรณีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาว่า ข้อยกเว้นนี้มีความไม่ชัดเจน จึงยกประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ด้วยการตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิด
ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตัดสินให้บริษัทประกันภัยพ้นผิด เพราะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการทำให้ความผิดพลาดกลับมาดีดังเดิมกับความเสียหายทางกายภาพนั้นไม่มีความแตกต่างกัน
ศาลฎีกาเห็นต่างจากศาลอุทธรณ์ว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับความเสียหายทางกายภาพมีความหมายไม่เหมือนกัน เมื่อพิเคราะห์จากงานของผู้รับเหมาช่วงรายนี้ ซึ่งถูกว่าจ้างให้มาบริการทำความสะอาดเท่านั้น เมื่อได้ทำงานฝีมือบริการผิดพลาดจนถึงขนาดทำให้กระจกอาคารเดิมเกิดความเสียหายทางกายภาพจำต้องเปลี่ยนทดแทนกระจกอาคารใหม่ หน้าที่ในการจัดหาและติดตั้งกระจกใหม่เป็นภาระของผู้รับเหมาอาคาร  
ดังนั้น การตีความข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาดควรตีความให้เหมาะสมแก่แต่ละกรณี ไม่จำเป็นต้องยึดถือตามความหมายของพจนานุกรมเสมอไป ซึ่งกรณีนี้เป็นงานฝีมือที่ผิดพลาดของผู้รับเหมาช่วงรายเดียวเท่านั้น แม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของงานก่อสร้างทั้งโครงการก็ตาม
เมื่อข้อยกเว้นระบุไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการทำให้ความผิดพลาดกลับมาดีดังเดิม จึงมีความหมายถึงของผู้รับเหมาช่วงรายนั้น ส่วนกระจกอาคารที่เสียหายถือเป็นความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น จึงไม่ตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าว และวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดชดใช้เฉพาะค่าเสียหายของตัวกระจกอาคารนั้นแก่ผู้เอาประกันภัย
อ้างอิงจากคดี Ledcor Construction Ltd. v. Northbridge Indemnity Insurance Co., 2016 SCC 37
เอวังเรื่องนี้ก็มีด้วยประการละฉะนี้ ถึงกระนั้น น่าเชื่อว่า ข้อพิพาทเรื่องงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่องคงยังมีขึ้นต่อไป เพราะคงขึ้นอยู่กับข้อความจริงในแต่ละคดี รวมทั้งถ้อยคำที่เขียนไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ และประเด็นข้อต่อสู้ ประกอบดุลยพินิจของศาลท่านเป็นสำคัญ
เรื่องต่อไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้างนะครับ
เรื่องที่ 70: โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ถือเป็นโรคภัย หรืออุบัติเหตุกันแน่?

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 69: ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญามีความหมายเช่นใด?

(ตอนที่สอง)

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า
ไม่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายใดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ แต่สำหรับความเสียหายที่ตามมา (Ensuing Loss) ซึ่งมิได้ถูกยกเว้นเอาไว้ จะได้รับความคุ้มครอง
........
ความผิดพลาด ความไม่เหมาะสม หรือความบกพร่องจาก
......
การออกแบบ งานฝีมือ (Workmanship) ...
ประกอบกับข้อมูล และพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ศาลเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัย
ผู้เอาประกันภัยยื่นอุทธรณ์ โดยยกประเด็นต่อสู้ว่า คำว่า “งานฝีมือ (Workmanship)” ดังระบุไว้นั้นกำกวม ไม่แน่ใจว่า หมายถึงอะไรกันแน่? เช่นนี้ ศาลควรจะยกประโยชน์ในความสงสัยนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย
ศาลอุทธรณ์พิจารณาจากพจนานุกรมของ Webster ซึ่งให้ความหมายของ “งานฝีมือ (Workmanship)” แยกออกเป็น
1) สิ่งที่เป็นผล ถูกทำขึ้นมา หรือถูกสร้างขึ้นมา
2) การใช้ศิลป หรือความเชี่ยวชาญของคนทำงาน
ศาลตีความว่า ความหมายแรกให้ความหมายถึงตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) ขณะที่อีกความหมายนั้นหมายความถึงกระบวนการทำงาน (Process)
สำหรับความหมายถึงผลิตผล (Product) นั้นจะต้องเกิดผลิตผลให้ตรวจสอบเสียก่อน การที่ผู้รับเหมามิได้จัดหาสิ่งปกคลุมชั่วคราวมาปกปิดป้องกันไว้ ไม่น่าถือเป็นงานฝีมือที่บกพร่อง (Defective Workmanship) ขึ้นมาได้ เพราะผู้รับเหมายังทำงานไม่เสร็จสมบูรณ์เลย จึงยังมิได้มีผลิตผลออกมาให้เห็นได้ว่า มีความผิดพลาด หรือความบกพร่องเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง?
ถ้าบริษัทประกันภัยประสงค์จะให้หมายความถึงกระบวนการทำงาน (Process) ด้วย ควรจะเขียนลงไปให้ชัดเจนเลยว่า ไม่คุ้มครองรวมถึงวิธีการทำงาน (Method of Construction)
เพราะในส่วนของความเสียหายที่ตามมา (Ensuing Loss) นั้นจะสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า ถ้าหมายถึงผลิตผล ซึ่งในที่นี้ คือ หลังคาที่ติดตั้งไปแล้วเกิดความผิดพลาด หรือความบกพร่องจนทำให้น้ำฝนไหลลงไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นได้ แต่ถ้าตีความเป็นกระบวนการแล้ว นึกลำบากว่า ความเสียหายที่ตามมานั้นจะคืออะไรได้บ้าง?
จริงอยู่ที่บริษัทประกันภัยกล่าวอ้างว่า ความเป็นมืออาชีพที่ดีของผู้รับเหมาจะต้องประกอบด้วยฝีมือที่ดี และกระบวนการที่ดีพร้อมกันไปด้วย แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การสามารถตีความได้หลายนัยนั้น ก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนแก่ผู้เอาประกันภัยดังเหตุผลข้างต้น จึงตัดสินยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยด้วยการวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมาซึ่งไม่อยู่ในความหมายของข้อยกเว้นเรื่องงานฝีมือที่บกพร่อง (Defective Workmanship)
อ้างอิงเทียบเคียงจากคดี Allstate Insurance Co. v. Smith, 929 F.2d 447 (9th Cir. 1991)
คุณเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยในคดีนี้ไหมครับ? ถ้ายังลองมาดูคดีนี้กันต่อ
ผู้รับเหมามิได้จัดเตรียมการป้องกันน้ำท่วมที่ดีพอภายในสถานที่ก่อสร้างในช่วงฤดูฝน ต่อมาเกิดฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วมทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่อยู่ภายใน (วัสดุก่อสร้างและงานที่ทำไปบ้างแล้ว) ได้รับความเสียหาย เมื่อผู้รับเหมาผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา แต่บริษัทประกันภัยปฏิเสธโดยอ้างว่า อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องงานฝีมือที่บกพร่อง (Defective Workmanship) ซึ่งให้ความหมายรวมถึงทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) กับกระบวนการทำงาน (Process) ด้วย
ศาลได้พิจารณาเห็นว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวมีความหมายจำกัดอยู่เพียงความผิดพลาด หรือความบกพร่องของทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงกระบวนการทำงานด้วยแต่ประการใด ดังนั้น การจัดเตรียมการป้องกันน้ำท่วมไม่ดีพอ จึงเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อที่ไม่เกี่ยวกับความผิดพลาด หรือความบกพร่องของทั้งตัวงาน (Work) หรือผลิตผล (Product) เลย (อ้างอิงจากคดี M.A. Mortenson Co v Indemnity Ins. Co. of North America 1999 WL)
เหตุการณ์ดังในคดีที่สองนี้ พบเห็นได้ในบ้านเรา แต่ที่เคยได้ฟังว่า มีการจัดเตรียมเครื่องปั้มน้ำระบบไฟฟ้าเอาไว้ แต่พอฝนตกหนัก กระแสไฟฟ้าดับ ทำอะไรต่อไม่ได้เลย ยังมิเคยได้ยินว่า มีการหยิบยกข้อยกเว้นนี้มาปฏิเสธความรับผิด หรืออาจจะผมมิได้มีข้อมูลที่อัพเดทพอ?
คราวต่อไป เราจะลองมาพิจารณาคดีอื่นที่ศาลเห็นว่า ควรมีความหมายทั้งสองนัย

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 69: ข้อยกเว้นงานฝีมือที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง (Faulty or Defective Workmanship) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญามีความหมายเช่นใด?

(ตอนที่หนึ่ง)

กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) จะให้ความคุ้มครองแก่งานตามสัญญาว่าจ้างจากอุบัติเหตุใด ๆ ที่มิได้ระบุยกเว้นเอาไว้
งานตามสัญญาว่าจ้างนั้น หรือภาษากฎหมายจะเรียกว่า “สัญญาจ้างทำของ” อาจจะเป็นงานที่ว่าจ้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารใหม่ ต่อเติม ตกแต่ง หรือปรับปรุงอาคารหลังเดิมก็ได้ โดยผู้ว่าจ้างคาดหวังว่า ผู้รับเหมา หรือผู้รับจ้างจะต้องใช้ฝีมือตามวิชาชีพของตนทำงานให้ได้ผลงานสำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งระหว่างที่ทำงานนั้น หากเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ขึ้นมาแก่งานที่กำลังทำอยู่นั้น และมิใช่กรณีที่ถูกยกเว้นเอาไว้ กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ก็จะให้ความคุ้มครอง แต่มิใช่มีเจตนารมณ์จะรับประกันฝีมือแรงงานที่ทำเสมือนหนึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance Policy) แต่ประการใด  
ด้วยเหตุนี้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาจึงได้ระบุในข้อยกเว้นไม่คุ้มครองถึง
ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนทดแทน หรือการแก้ไขวัสดุ และ/หรืองานฝีมือที่บกพร่อง (defective material and/or workmanship) แต่ข้อยกเว้นนี้จะจำกัดอยู่เพียงชิ้นส่วนหนึ่งชิ้น หรือหลายชิ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่านั้น และจะไม่ยกเว้นไปถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายอันเป็นผลมาจากอุบัติเหตุ อันเนื่องจากวัสดุ และ/หรืองานฝีมือที่บกพร่องดังกล่าว
ปัญหาข้อถกเถียงถึงคำว่า “งานฝีมือ (workmanship)” นั้นมีความหมายเช่นใด? มักจะเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เองก็มิได้กำหนดคำนิยามไว้ด้วย
งั้นเราลองพิจารณาตัวอย่างคดีเรื่องนี้ของต่างประเทศกัน
คดีแรก ผู้รับเหมาถูกว่าจ้างให้ซ่อมแซมหลังคาอาคารสำนักงานของผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับเหมาได้รื้อหลังคาเปิดทิ้งโล่งเอาไว้แล้ว แต่มิได้จัดหาสิ่งใดมาปกคลุมป้องกันชั่วคราวเลย คืนวันต่อมา ได้เกิดฝนตกลงมาสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้าง (Principal’s Existing Property)
ผู้ว่าจ้างเรียกร้องให้ผู้รับเหมารับผิดชอบสำหรับความสะเพร่าของตนเอง ผู้รับเหมาจึงส่งเรื่องต่อให้บริษัทประกันภัยพิจารณาชดใช้ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา แต่ถูกปฏิเสธว่า ตกอยู่ในข้อยกเว้นเรื่องงานฝีมือที่บกพร่อง (defective workmanship)   
คุณเห็นด้วย หรือเห็นต่างกับบริษัทประกันภัยในกรณีนี้ว่าอย่างไรบ้างครับ?