วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 64:ผู้บาดเจ็บเกิดภาวะโรคอ้วน อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้หรือไม่?

(ตอนที่หนึ่ง)
เรื่องนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ รถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้ประสบอุบัติเหตุชนกับรถคู่กรณี จนส่งผลทำให้ผู้โดยสารสุภาพสตรีในรถคันที่เอาประกันภัย ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงทางสมอง และส่วนอื่นของร่างกาย  แม้จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเสมือนอาการของผู้ได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้โดยสารรายนี้ ในส่วนการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ยังไม่ดีขึ้น ภายหลังกลับตรวจพบภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)
แรกเริ่มเมื่อแพทย์ตรวจพบระดับคอเรสทอเรลสูง (High Cholestrol) ก็ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ผลที่ได้รับยังไม่น่าพอใจ แพทย์จึงใช้ยาเข้าช่วย แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง น้ำหนักของผู้บาดเจ็บคงยังขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง
แพทย์ให้ความเห็นว่า อาการภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ภาวะโรคอ้วน” ของคนไข้รายนี้ เป็นผลเชื่อมโยงมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาการบาดเจ็บทางสมองทำให้เธอประสบปัญหาในการควบคุมตนเอง ไม่สามารถยืน หรือก้าวเดินอย่างปกติได้ จำต้องอาศัยรถเข็น ทำให้เวลาออกกำลังกาย เธอจะรู้สึกเจ็บปวดมาก จนหวั่นเกรงว่า จะส่งผลให้อาการบาดเจ็บทรุดหนักลงไปอีก แม้จะมีครูฝึกส่วนตัวมาช่วย เช่นเดียวกับปัญหาในการควบคุมจำกัดอาหาร แม้จะใช้นักโภชนาการมาช่วยดูแลแล้วก็ตาม
ต่อมา ผู้ได้รับความคุ้มครองรายนี้ จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนรับผิด สำหรับภาวะโรคอ้วนนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากความบาดเจ็บทางร่างกายจากอุบัติเหตุรถยนต์ดังกล่าวแล้ว
สัปดาห์หน้ามารับฟังผลการพิจารณาคดีนี้กันครับ

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 63: ภายหลังจากผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้น และส่งมอบงานไปเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่เจ้าของโรงงานกำลังใช้งานเครื่องจักรนั้นอยู่ ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาสร้างความเสียหาย จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) อยู่หรือไม่? 


(ตอนที่สาม)
เมื่อเทียบเคียงคดีนี้กับหลักกฎหมายไทยแล้ว จะเห็นได้ว่า ประกอบด้วยสามสัญญาที่เกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ
1) สัญญาว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง หรือภาษากฎหมายเรียกว่า “สัญญาจ้างทำของ” ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า
มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้ว ทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อน โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย
ดังนั้น ตราบใดที่งานที่ว่าจ้างให้ทำการก่อสร้างนั้นยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้รับจ้าง หรือผู้รับเหมายังคงต้องมีภาระความรับผิดชอบอยู่ต่อไป จนกว่าจะได้ส่งมอบงานนั้นให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว หรือจนครบกำหนดตามสัญญานั้น แล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นก่อนกัน ทั้งการรับมอบงานนั้น ภายใต้สัญญาว่าจ้างฉบับนี้ก็ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า จะต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย คำโต้แย้งด้วยวาจาของผู้รับเหมา จึงไม่สามารถนำมาหักล้างหลักฐานที่เป็นหนังสือได้ดังกล่าว
2) สัญญาซื้อขายเครื่องจักรที่ติดตั้งในโรงงานใหม่ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า  
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน ให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้น ให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขาย
มาตรา 459 ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ทรัพย์สินยังไม่โอนไป จนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น

การที่ผู้ว่าจ้างไปซื้อเครื่องจักรใหม่ โดยให้ผู้ขายติดตั้งให้นั้น ถ้าในราคาที่ตกลงกันนั้น มิได้แยกเป็นราคาเครื่องจักรกับค่าแรงติดตั้งออกจากกันอย่างชัดเจนแล้ว แนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาจะตีความเป็นสัญญาซื้อขาย (เทียบเคียงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3049/2540 สัญญาซื้อขายลิฟท์ เครื่องปรับอากาศ และบันไดเลื่อนพิพาท เป็นสัญญาจ้างทำของเฉพาะค่าแรงติดตั้งพร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์ หาใช่สัญญาจ้างทำของทั้งฉบับ)

3) สัญญาประกันภัย ซึ่งครอบคลุมเฉพาะงานตามสัญญาจ้างทำของ โดยมีวัตถุที่เอาประกันภัย คือ งานก่อสร้างตามสัญญานั้นเอง พร้อมทั้งความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก อันเกิดจากอุบัติภัยต่าง ๆ ซึ่งมิได้อยู่ในข้อยกเว้น เนื่องมาจากการทำงานนั้นเอง โดยได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเอาประกันภัย และภายในอาณาบริเวณสถานที่ก่อสร้างดังระบุไว้

เนื่องจากประเด็นข้อต่อสู้ในคดีนี้มีอยู่เพียงว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาการก่อสร้าง หรือระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period) หรือระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับเหมา (Defects Liability Period) กันแน่? จึงมิได้ให้รายละเอียดของความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า สัญญาประกันภัยฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองอะไร อย่างไรบ้าง?

หากจะวินิจฉัยตามความเห็นส่วนตัว เห็นว่า สต็อกม้วนกระดาษกับเครื่องจักรใหม่ที่ติดตั้งนั้น มิใช่วัตถุที่เอาประกันภัย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกแต่ประการใด ส่วนการนำทรัพย์สินเหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยฉบับนี้ถึงขนาดทำให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้สิ้นผลความคุ้มครองทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของความเสี่ยงภัยหรือไม่นั้น เป็นประเด็นพึงระวัง และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนล่วงหน้าบ้างก็ดีนะครับ

ฉะนั้น คดีนี้จึงเป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน โดยเฉพาะถ้าสัญญาจ้างทำของมิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแม้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงการขอเข้าใช้พื้นที่ล่วงหน้า หรือการรับส่งมอบงาน และอาจส่งผลต่อไปยังสัญญาประกันภัยด้วยที่อาจจัดทำไปโดยมิได้พิจารณาถึงข้อกำหนดกับเงื่อนไขภายใต้สัญญาจ้างทำของประกอบด้วย

เรื่องต่อไป – ผู้บาดเจ็บเกิดภาวะโรคอ้วน อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้หรือไม่?
 

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 63:ภายหลังจากผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้น และส่งมอบงานไปเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่เจ้าของโรงงานกำลังใช้งานเครื่องจักรนั้นอยู่ ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาสร้างความเสียหาย จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) อยู่หรือไม่?

(ตอนที่สอง)

คดีนี้ ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ จากคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความเห็นว่า สัญญาว่าจ้างรับเหมางานกับบัญชีแสดงปริมาณวัสดุ และปริมาณแรงงานประกอบกับราคาที่ใช้ในการก่อสร้าง (Bill of Quantities) กำหนดเงื่อนไขที่สำคัญให้ผู้รับเหมาทำประกันภัยคุ้มครองความเสียหายต่อตัวงานทั้งหมด ตลอดจนวัสดุกับสินค้าต่าง ๆ จนกว่าผู้ว่าจ้างจะได้มีการออกใบรับรองว่างานแล้วเสร็จในระดับที่ใช้การได้ (Certificate of Practical Completion) และจนกว่าจะได้มีหนังสือแจ้งให้ยกเลิกการจัดทำประกันภัยดังกล่าวได้
เมื่อใดก็ตาม ก่อนที่จะได้มีการออกใบรับรองว่างานแล้วเสร็จในระดับที่ใช้การได้นั้น และด้วยความเห็นชอบของผู้รับเหมา ผู้ว่าจ้างจะเข้าไปครอบครอง (take possession) ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือหลายส่วนของพื้นที่ทำงานนั้นก็ได้ โดยที่สถาปนิกของผู้ว่าจ้างจะต้องออกใบรับรองแสดงมูลค่างานในส่วนนั้นโดยประมาณการภายในเจ็ดวัน และให้ถือว่า พื้นที่ส่วนนั้นจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้างแต่ผู้เดียว  
ประเด็นที่จำต้องพิจารณาต่อไปว่า ก่อนเกิดเหตุไฟไหม้ ผู้ว่าจ้างได้เข้าไปครอบครองพื้นที่ส่วนนั้นแล้วหรือยัง?
ก) ถ้าใช่ ก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้างเอง
ข) ถ้าไม่ใช่ ผู้รับเหมาจำต้องรับผิดชอบไปตามข้อกำหนดของสัญญานั้น
ฝ่ายผู้รับเหมากล่าวว่า จำต้องพิจารณาตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ผู้ว่าจ้างได้เข้าไปติดตั้งเครื่องจักร ทั้งเริ่มประกอบการผลิตไปบ้างแล้วในบางพื้นที่ และบางพื้นที่ก็ได้นำเอาสต็อกม้วนกระดาษไปเก็บไว้จำนวนมาก
ฝั่งผู้ว่าจ้างโต้แย้งว่า จำต้องพิจารณาตามข้อกำหนดของสัญญาที่ระบุว่า จะต้องมีใบรับรองยืนยันประกอบด้วย
ครั้นไล่พิจารณาไปทีละจุดของส่วนงาน จะเห็นว่า ณ วันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1970 ซึ่งเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น
(1) สถานที่จอดรถได้สร้างเสร็จเกือบสมบูรณ์พร้อมใช้งานตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1969 เหลือเพียงเก็บงานบางส่วนอีกเพียงเล็กน้อย ซึ่งสถาปนิกของผู้ว่าจ้างได้มาตรวจรับมอบงาน และได้ออกใบรับรองแสดงมูลค่างานในส่วนนั้นโดยประมาณการลงวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1969 เพื่อยืนยันการรับมอบงานแล้ว โดยมีเงื่อนไขที่ผู้รับเหมาจะต้องเข้ามาเก็บงานที่เหลือ และแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นเพียงจุดเดียวเท่านั้นที่ได้ทำการรับมอบงานอย่างเป็นทางการ
(2) อาคารโรงงานผลิตแห่งที่สอง สภาพที่มองเห็นได้ โรงงานนั้นดูเสมือนเสร็จแล้ว เนื่องจากได้ติดตั้งเครื่องจักรเรียบร้อย และดำเนินการผลิตไปบ้างแล้วด้วย แม้จะคงมีงานบางอย่างที่ผู้รับเหมาจะต้องเข้ามาทำต่อ เป็นต้นว่า ประตูป้องกันไฟ (fire door)
สถาปนิกของผู้ว่าจ้างทำหนังสือถึงผู้รับเหมาแจ้งการเข้ามาตรวจรับงานเฉพาะส่วนพื้นของโรงงานเท่านั้น ดังนั้น ยังไม่อาจถือได้ว่า ได้มีการตรวจรับมอบงานในส่วนของโรงงานนี้ทั้งหมดแล้ว ทั้งยังมิได้มีการออกใบรับรองใด ๆ เป็นหลักฐานประกอบเลย
(3) โกดังเก็บสินค้า พื้น หลังคากับผนังทำเสร็จแล้ว ขาดแต่ประตู งานระบบไฟฟ้า งานทาสี งานเคลือบบางส่วนเท่านั้น ผู้ว่าจ้างได้นำสต็อกม้วนกระดาษจำนวนมากมาจัดเก็บไว้ภายในแล้ว และสถาปนิกได้ทำหนังสือแจ้งการตรวจรับงานพื้นบางส่วนเท่านั้น ในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1970  
(4) ส่วนขยายอาคารหลังเดิม งานคืบหน้าไปมาก และได้มีการนำสต็อกม้วนกระดาษจำนวนหนึ่งเข้ามาจัดเก็บไว้บางจุดแล้วเช่นกัน สถาปนิกยังมิได้เข้ามาดำเนินการใด ๆ เลย
ดังนั้น จากหลักฐานข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรของคู่สัญญาจ้างเหมาฉบับนี้ เป็นที่เห็นอย่างชัดเจนได้ว่า นอกเหนือจากสถานที่จอดรถแล้ว ผู้ว่าจ้างยังมิได้รับงานอย่างเป็นทางการเลย หากส่วนงานใดที่ผู้รับเหมาเห็นว่า ผู้ว่าจ้างได้เข้าครอบครองบางส่วนไปแล้ว ควรที่จะเร่งรัดให้ผู้ว่าจ้าง หรือตัวแทนของผู้ว่าจ้าง ในที่นี้ คือ สถาปนิกเข้าไปตรวจรับมอบงาน และออกใบรับรองไว้เป็นหลักฐานตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่เป็นที่สงสัย หรือเข้าใจไปเอง 
เมื่อมิได้เป็นเช่นนั้น จึงวินิจฉัยว่า ผู้รับเหมา (รวมทั้งบริษัทประกันภัยโครงการนี้) จำต้องรับผิดชอบ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่ได้กำหนดไว้ดังกล่าว (อ้างอิงจากคดี English Industrial Estates Corporation v. George Wimpey & Co. Ltd (1972) 7 BLR 122 (117))
คดีนี้ให้แนวทางแก่คู่สัญญาจ้างเหมางานว่า ควรยึดถือปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด และครบถ้วน หากเวลาทำสัญญากัน ยังมีสิ่งใดที่มิได้กำหนดไว้ จำต้องระบุลงไปให้ชัดเจนเสียดีกว่า
ข้อตกลงการรับมอบงานของต่างประเทศ จะสามารถจำแนกออกได้ ดังนี้
1) Early Use ขอแปลว่า “การขอเข้าใช้งานก่อนล่วงหน้า” ของผู้ว่าจ้าง แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้รับเหมาเสียก่อน โดยยังไม่ถือว่า เป็นการรับมอบงานอย่างเป็นทางการ เพราะพื้นที่ส่วนอื่นคงยังทำงานกันอยู่ และควรตกลงกันด้วยว่า หากมีอะไรเกิดขึ้น ณ พื้นที่บริเวณนั้น ผู้ใดจะรับผิดชอบ? ทั้งควรแจ้งต่อบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองระหว่างก่อสร้าง/ติดตั้งด้วยว่า จะยินยอมให้ความคุ้มครองต่อไปไหม? อย่างไร?
2) Partial Possession เป็นการขอเข้าครอบครองพื้นที่งานบางส่วนก่อนของผู้ว่าจ้าง เพื่อจะได้ใช้งานได้ตามจุดประสงค์ของสัญญา ทั้งนี้ ด้วยความยินยอมของผู้รับเหมา โดยจะต้องมีใบรับรองว่างานแล้วเสร็จในระดับที่ใช้การได้ (Certificate of Practical Completion) ไว้เป็นหลักฐานด้วย และจะเริ่มนับระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period) หรือระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับเหมา (Defects Liability Period) เฉพาะพื้นที่ส่วนนั้น
3) Sectional Completion เป็นการขอเข้าครอบครองส่วนงานที่แบ่งเป็นส่วน ๆ ของผู้ว่าจ้าง คล้ายกับข้อ 2) ข้อแตกต่างสำคัญ คือ กรณีนี้จะมีวางแผนกันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นด้วยการจัดแบ่งแยกส่วนงานออกเป็นส่วน ๆ อย่างชัดเจน เมื่อส่วนงานใดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้รับเหมาจะอนุญาตให้ผู้ว่าจ้างเข้าไปครอบครองได้ และจะได้ใช้งานตามจุดประสงค์ของสัญญาได้ โดยจะต้องมีใบรับรองว่างานแล้วเสร็จในระดับที่ใช้การได้ (Certificate of Practical Completion) ไว้เป็นหลักฐานด้วยเช่นกัน และจะเริ่มนับระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period) หรือระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับเหมา (Defects Liability Period) เฉพาะพื้นที่ส่วนงานนั้น
4) Practical Completion ดังชื่อที่เรียกว่า งานแล้วเสร็จในระดับที่ใช้การได้แล้ว หรือบางครั้งเรียกว่า Substantial Completion อาจเป็นเพียงบางส่วนงานเช่นในข้อ 2) กับ 3) หรือส่วนงานทั้งหมดก็ได้ เพื่อจะได้ใช้งานตามจุดประสงค์ของสัญญาได้ โดยจะต้องมีใบรับรองว่างานแล้วเสร็จในระดับที่ใช้การได้ (Certificate of Practical Completion) ไว้เป็นหลักฐานด้วยเช่นกัน และจะเริ่มนับระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period) หรือระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับเหมา (Defects Liability Period) เฉพาะพื้นที่ส่วนงานนั้น หรือพื้นที่ทั้งหมด แล้วแต่กรณี
5) Final Completion เป็นขั้นตอนสุดท้ายเมื่อครบระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period) หรือระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับเหมา (Defects Liability Period) แล้ว และเป็นอันสิ้นสุดภาระผูกพันของผู้รับเหมาอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน
(อ้างอิง และเรียบเรียงจากบทความ Partial possession/sectional completion/early use by the employer by Brodies LLP, 2017 และ JBCC: practical completion, works completion and final completion: a brief overview by Niel Coerste, 2011)

ตอนที่สาม จะขอมองเทียบเคียงกับหลักกฎหมายบ้านเราในมุมมองของนักประกันภัยคนหนึ่งครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 63: ภายหลังจากผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้น และส่งมอบงานไปเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่เจ้าของโรงงานกำลังใช้งานเครื่องจักรนั้นอยู่ ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาสร้างความเสียหาย จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) อยู่หรือไม่? 



(ตอนที่หนึ่ง)
กรมธรรม์การปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ทั้งผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาในฐานะคู่สัญญาว่าจ้างนั้น และเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมกัน ได้จัดแบ่งระยะเวลาความคุ้มครองออกเป็นสามระยะเวลาด้วยกัน กล่าวคือ
1) ระยะเวลาเอาประกันภัย ซึ่งจะระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยว่า จะเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันเดือนปีใด และจะไปสิ้นสุด ณ วันเดือนปีใด โดยทั่วไปจะอ้างอิงให้สอดคล้องกับสัญญาจ้างเหมางานระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมานั่นเอง
2) ระยะเวลาการก่อสร้าง/การติดตั้งตามสัญญา โดยจะมีผลเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ขนวัตถุที่เอาประกันภัยลง ณ สถานที่ก่อสร้าง/ติดตั้งเป็นต้นไป จวบจนถึงวันที่ผู้ว่าจ้างเข้าไปใช้งาน หรือเข้าไปครอบครองพื้นที่ก่อสร้าง/ติดตั้งนั้นแล้ว หรือวันที่ผู้รับเหมานั้นได้ส่งมอบงานที่เสร็จสมบูรณ์ก่อนกำหนด หรือวันที่ครบกำหนดระยะเวลาเอาประกันภัยในข้อ 1) แล้วแต่วันใดจะถึงก่อนกัน
3) ระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period) หรือระยะเวลารับประกันผลงานของผู้รับเหมา (Defects Liability Period) จะเริ่มนับต่อเนื่องจากระยะเวลาในข้อ 2) เป็นต้นไป จวบจนครบกำหนดระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ ปกติจะกำหนดเป็นจำนวนเดือน เช่น 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน เป็นต้น
โดยระยะเวลาช่วงที่ 1) กับ 2) ข้างต้นนั้น จะได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ดังกำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ทั้งในส่วนของวัตถุที่เอาประกันภัย (ตัวงานก่อสร้าง/ติดตั้งตามสัญญา) และส่วนของความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ขณะที่ระยะเวลาช่วงที่ 3) จะลดความคุ้มครองเหลือเพียงต่อวัตถุที่เอาประกันภัย อันเกิดเนื่องมาจากการทำงานที่บกพร่องของผู้รับเหมานั้นเท่านั้น
คดีเรื่องนี้ เกิดขึ้นแก่โรงงานผลิตกล่องลูกฟูกแห่งหนึ่งในต่างประเทศ ซึ่งได้ว่าจ้างผู้รับเหมาเจ้าหนึ่งให้ทำการก่อสร้าง ดังนี้
(1) อาคารโรงงานผลิตแห่งที่สองขึ้น ณ บริเวณข้างเคียงกับโรงงานเดิม โดยผู้ว่าจ้างจะซื้อเครื่องจักรใหม่มาติดตั้งเอง
(2) โกดังเก็บสินค้า
(3) สถานที่จอดรถ
(4) ขยายอาคารโรงเดิมออกไปอีก
โดยได้ตกลงทำสัญญาว่าจ้างกัน ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1969 ซึ่งเงื่อนไขข้อหนึ่งของสัญญานี้ กำหนดให้ผู้รับเหมาจัดทำประกันภัยคุ้มครองงานตามสัญญานี้เอาไว้ด้วยตลอดระยะเวลาทำงาน
ประมาณเดือนมกราคม ค.ศ. 1970 แม้นผู้รับเหมารายนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างไปได้คืบหน้าค่อนข้างมากแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ได้ปรากฏว่า
(1) ในตัวโรงงานผลิตแห่งใหม่ ตัวผู้ว่าจ้างก็ได้ซื้อเครื่องจักรใหม่มา พร้อมกับให้ผู้ขายเครื่องจักรนั้นติดตั้งจนเสร็จสมบูรณ์ และเริ่มดำเนินการผลิตกล่องลูกฟูกไปบ้างแล้ว   
(2) อาคารโกดัง ผู้ว่าจ้างได้นำสต็อกม้วนกระดาษจำนวนมากเข้าไปเก็บไว้แล้ว
ต่อมา ในวันที่ 18 มกราคมนั้นเอง ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นมาสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่บริเวณส่วนที่ก่อสร้างนั้นอย่างมาก
ประเด็นข้อพิพาทจึงเกิดขึ้นมาทันทีว่า ใครจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้?
ก) ผู้ว่าจ้างกล่าวว่า ฝ่ายผู้รับเหมารายนี้กับบริษัทประกันภัยของผู้รับเหมารายนี้จะต้องรับผิดชอบ เนื่องจากขณะเกิดเหตุงานก่อสร้างตามสัญญายังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์
ข) ฝ่ายผู้รับเหมารายนี้กับบริษัทประกันภัยของผู้รับเหมารายนี้ก็โต้แย้งว่า ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดชอบเอง โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนที่ผู้ว่าจ้างเข้าไปครอบครอง หรือใช้งานแล้ว เพราะถือเสมือนหนึ่งผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานพื้นที่ส่วนนั้นโดยปริยายแล้ว ทั้งยังส่งผลทำให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ก็ได้สิ้นสุดลงไปด้วยตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น
คุณมีความเห็นในเรื่องนี้เช่นไรบ้างครับ? ลองวิเคราะห์ไปพลาง ๆ ก่อนรอรับฟังผลทางคดีนี้กันสัปดาห์หน้าครับ