(ตอนที่หนึ่ง)
โดยหลักการของการประกันวินาศภัย ซึ่งมิได้บังคับใช้กับการประกันภัยต่อชีวิต
หรือร่างกาย เมื่อมีบุคคลอื่นมากระทำผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย
ผู้เอาประกันภัยนั้นมีทางเลือกสองทาง คือ ไปเรียกร้องค่าเสียหายเอากับบุคคลอื่นผู้กระทำผิดโดยตรง
หรือไม่ก็ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนแทน ครั้นเมื่อบริษัทประกันภัยนั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยของตนตามภาระผูกพันในสัญญาประกันภัยแล้ว
บริษัทประกันภัยนั้นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะสวมสิทธิของผู้เอาประกันภัยนั้น
ไปเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลอื่นได้ตามจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยนั้นไปคืน
ทั้งนี้ โดยเจตนารมณ์ของหลักการนี้ เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดต้องลอยนวล
ยังคงต้องรับผิดกับการกระทำของตนเองอยู่ดี ไม่ในทางตรงต่อผู้เอาประกันภัยนั้น หรือก็ต่อบริษัทประกันภัยนั้นที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยนั้นไปก่อนในทางอ้อม
นี่เป็นหลักการสากล และมีกฎหมายรองรับให้มีผลบังคับใช้ในแต่ละประเทศ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
โดยกฎหมายไทยได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880
ดังนี้
“ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้
ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด
ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้
ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น”
ประเด็นคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ว่า “บุคคลภายนอก” ตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้
หรือบางครั้งเรียกว่า “บุคคลอื่น” ควรหมายถึงใครบ้าง? ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก้อหมายถึง
ใครก็ได้ที่มิได้ระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในกรมธรรม์ประกันภัย
งั้นเราลองมาพิจารณาคดีนี้กัน ครอบครัวของนายจอห์น จอนดาห์ล เช่าบ้านหลังหนึ่งจากผู้ให้เช่า
ชื่อ นายเอิร์ล ซัตตัน ช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีก่อน นายจอห์นได้ซื้อของขวัญซึ่งเป็นเครื่องเล่นทางวิทยาศาสตร์ให้แก่บุตรชายวัยสิบขวบของตน
เด็กคนนี้ได้เล่นทดลองผสมสารเคมีทดลองทางวิทยาศาตร์ง่าย ๆ
นั้นด้วยความสนใจเป็นพิเศษมาได้ร่วมหนึ่งปีแล้ว โดยมิได้มีเหตุการณ์ที่เลวร้ายอะไรเกิดขึ้นมาเลย
ต้นปีใหม่ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์รายนี้ได้ทำการเล่นทดลองเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เช่นเคย
แต่ครั้งนี้ ได้เกิดเปลวไฟลามไปติดผ้าม่านภายในห้องนอน และลุกลามไปทำความเสียหายแก่โครงสร้างส่วนอื่นภายในห้องนอนนั้นด้วย
โชคดีที่นายจอห์นมาดับไฟได้ทันก่อนที่จะสร้างไปสร้างความเสียหายมากกว่านี้
เมื่อนายเอิร์ล ผู้ให้เช่าทราบเรื่อง
ก็ได้แจ้งให้บริษัทประกันภัยของตนที่ให้ความคุ้มครองแก่บ้านเช่าหลังนี้อยู่ ในชื่อของผู้ให้เช่าเท่านั้น
เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ภายหลังจากที่บริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยของตนแล้ว
ก็ได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายมาเรียกร้องค่าเสียหายคืนจากนายจอห์นกับลูก
ในฐานะผู้ปกครอง และผู้กระทำผิดตามลำดับ
นายจอห์นกับลูกปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่า ตนมิได้เป็น “บุคคลภายนอก”
ตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องการรับช่วงสิทธินี้แต่ประการใด
บริษัทประกันภัยรายนี้จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล
คุณจะเดาว่า ผลทางคดีนี้จะออกมาอย่างไรบ้างครับ? สัปดาห์หน้าคุยกัน
ขออนุญาตซักถามครับ
ตอบลบตามกฎหมายไทยได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น”
หมายความว่า ถ้าประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนแล้วนั้น ประกันภัยสามารถสวมสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเฉพาะที่ทำการจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัย
หากค่าเสียหายที่ประกันภัยจ่ายให้ผู้เอาประกันภัย ยกตัวอย่าง
ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายที่จำนวนเงิน 100 บาท แต่ประกันภัยพิจารณาค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 50 บาท
คำถาม
ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่ประกันภัย ไม่พิจารณาได้หรือไม่ครับ
(เฉพาะในส่วนที่กรมธรรม์คุ้มครองครับ) เช่น พื้นลามิเนตได้รับความเสียหาย 10 บาท ประกันภัยพิจารณา 5 บาท คงเหลือ 5 บาทนั้น ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้องกับบุคคลภายนอกที่สร้างความเสียหายกับผูเอาประกันภัยได้หรือไม่ครับ
และหากว่าสามารถเรียกร้องส่วนต่างได้ แสดงว่า บุคคลภายนอกที่เข้ามาสร้างความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยนั้น ต้องถูกร้องร้องทั้ง 2 ทาง คือทั้งประกันภัย และผู้เอาประกันภัยที่มิได้รับเงินที่ตนเองเรียกร้องครบจำนวน
ขอบคุณครับ สำหรับบทความดีๆ
อันที่จริง เมื่อบุคคลภายนอกทำผิดต่อผู้เอาประกันภัยขึ้นมา ตัวผู้เอาประกันภัยมีทางเลือกสองทาง คือ ไปเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลภายนอกผู้กระทำผิดโดยตรง หรือไม่ก็มาเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยของตน ถ้าเป็นอย่างหลัง แน่นอนครับ บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น หากขาดเหลืออะไร ผู้เอาประกันภัยยังมีสิทธิไปเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดนั้นจากบุคคลภายนอกผู้กระทำผิดอยู่ครับ ส่วนบริษัทประกันภัยเองที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ก็สามารถรับช่วงสิทธินั้นไปเรียกร้องจากบุคคลภายนอกผู้กระทำผิดได้เพียงตามจำนวนเงินที่ตนได้ชดใช้ไปนั้น แต่จะต้องไม่ทำให้เสื่อมสิทธิของผู้เอาประกันภัย
ตอบลบเจตนารมณ์ที่กฎหมายให้สิทธิบริษัทประกันภัยไปไล่เบี้ยกับบุคคลภายนอกผู้กระทำผิดนั้น เพื่อมิต้องการให้ผู้กระทำผิดนั้นลอยนวล แต่อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำผิดคงรับผิดเพียงรวมกันแล้วไม่เกินความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้นครับ
ตามตัวอย่างที่ยกขึ้นมานั้น ผมยังไม่ใคร่เข้าใจนักว่า ด้วยเหตุใดทำไมบริษัทประกันภัยถึงชดใช้ให้เพียง ๕ บาท หากเป็นผลมาจากเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย น่าจะไปเรียกร้องส่วนที่ขาดจากบุคคลภายนอกผู้กระทำผิดได้ แต่ถ้าเป็นผลจากเจรจาต่อรองกันเองแล้ว ผมเห็นว่า จะไปเรียกส่วนที่ขาดนั้นอีกกับบุคคลภายนอกผู้กระทำผิด น่าจะไม่ถูกนะครับ
ขอบคุณเช่นกันครับที่กรุณาให้ความสนใจ และแสดงความคิดเห็นมา
เรียน คุณvivatchai amornkul
ตอบลบตามที่ท่าน ยังไม่ใคร่เข้าใจว่า
ด้วยเหตุใดทำไมบริษัทประกันภัยถึงชดใช้ให้เพียง ๕ บาท หากเป็นผลมาจากเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย น่าจะไปเรียกร้องส่วนที่ขาดจากบุคคลภายนอกผู้กระทำผิดได้ แต่ถ้าเป็นผลจากเจรจาต่อรองกันเองแล้ว ผมเห็นว่า จะไปเรียกส่วนที่ขาดนั้นอีกกับบุคคลภายนอกผู้กระทำผิด น่าจะไม่ถูกนะครับ
ตอบ (ขออนุญาตใช้ตัวย่อ ผู้เอาประกันภัย=ผอป.ครับ)
เนื่องจากในบางครั้งที่ผอป.เรียกร้องค่าซ่อมแซมที่มีราคาสูงกว่า ราคาทั่วไปตามท้องตลาด ประกันภัยจึงมิได้จ่ายค่าเสียหายตามที่ผอป.เรียกร้องครับ แต่ก็สามารถเจรจาต่อรองได้ครับ
แต่ในทางกลับกัน ผมก็เข้าใจผอป. ครับ ว่าผอป. ก็คงจัดไม่ได้จัดหา ช่าง/ผู้รับเหมาหลายราย และก็ไม่รู้ว่าราคากลางของประกันภัยวัดจากอะไร และประกันภัยบางที่ก็ไม่มีนโยบายจัดหาช่างเข้ามาซ่อมแซมตามราคาที่ประเมินให้ผอป. จึงลำบากผอป.อยู่ในระดับนึงครับ
จึงให้เจ้าหน้าที่เซเวย์อธิบายเพื่อทราบเหตุของความต่างของราคาครับ
ขอบคุณครับที่กรุณาให้ความสนใจ และช่วยแสดงความคิดกลับเห็นมาครับ
ปล.อ่านบทความให้ความรู้แล้วรู้สึกคิดตามครับ บางที่ก็เห็นตามบางทีก็แย้งกัน และตัวอย่างของศาลเมืองนอกไม่รู้จะใช้กับบ้านเราได้หรือไม่ แต่กรมธรรม์ประเทศเราก็เขียนตามเมืองนอกนิครับ ^^
เรียน คุณเฟ
ตอบลบตอนนี้ ผมพอเข้าใจแล้วครับว่า เป็นเรื่องการเจรจาหาความเสียหายที่แท้จริง แต่ยังแปลกใจอยู่บ้างว่า ส่วนต่างอีก ๕ บาท ผู้เอาประกันภัยจะยกเหตุผลอะไรไปเรียกร้องจากบุคคลภายนอกผู้กระทำผิด
ความตั้งใจจริงที่เขียนบทความนี้ แรกสุดเพื่อเป็นเสมือนบันทึกความจำ แม้ตัวเองจะมิได้ทำงานประจำอีกแล้ว แต่ยังสนใจใฝ่รู้เรื่องการประกันภัยต่อไปเรื่อย ๆ มิได้คาดหวังว่า จะมีคนสนใจมากหรือน้อย และเมื่อมีคนสนใจอ่านขึ้นมา ก็เป็นแรงใจที่ดียิ่งขึ้น ยิ่งมีการแสดงความคิดเห็นกลับมา ก็ดีใจครับ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกัน ผมเคารพความเห็นต่างครับ เพราะเวลาค้นคว้า อ่านเรื่องราวต่าง ๆ ก็มีทั้งเห็นพ้อง และเห็นแย้งเหมือนกับคุณเฟล่ะครับ แต่พยายามนึกหาเหตุผลเท่าที่มีสติปัญญามาพิจารณาประกอบ หากคนเราเห็นตรงกันหมดทุกเรื่อง หรือเห็นต่างทุกเรื่อง ผมว่า น่าจะเป็นเรื่องแปลกมากกว่าครับ แนวการเขียนของผม จึงมักมิได้เขียนเล่าเรื่องอย่างเดียว จะทิ้งท้ายให้คิดตามไปก่อน แล้วค่อยให้ข้อมูลทีหลัง ชื่อบทความ "ประกันภัยเป็นเรื่อง" ก็เหมือนกัน มีจุดไข่ปลาทั้งหน้าและหลัง ก็เพื่อให้แต่ละท่านที่มีอ่าน ใส่ความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้โดยอิสระครับ
ส่วนที่นำเอาคำพิพากษาศาล และเรื่องราวความรู้ต่าง ๆ ของต่างประเทศเป็นหลักนั้น ด้วยตลอดชีวิตการทำงานในธุรกิจประกันภัย ผมค้นหาคำพิพากษาศาลไทยเรื่องประกันภัยน้อยครับ ไม่สามารถตอบข้อสงสัยในใจตนเองได้ในหลายเรื่อง จึงจำต้องนำมาเขียนลง ทั้งเพื่อจะได้ทำความเข้าใจถึงหลักการกับข้อกำหนดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากต่างประเทศ แต่ผมพยายามจะโยงเทียบเคียงกับกฎหมายไทยเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เป็นแง่คิดครับ คงไม่บังอาจชี้นำนะครับ
เลยเขียนตอบซะยาวไปหน่อย ยินดี และขอบคุณมากครับที่ได้กรุณาอ่าน พร้อมแสดงความคิดเห็นดี ๆ เช่นนี้กลับมา
วิวัฒน์ชัย