วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 55: เมื่อ Google Maps หรือเครื่อง GPS (Global Positioning system) ทำพิษ



ในอดีต การเดินทางไปไหนมาไหน ดูเป็นเรื่องที่ลำบากยากแสน โดยเฉพาะเส้นทางที่เราไม่คุ้นเคย จำต้องอาศัยธรรมชาติกับการสังเกตมาเป็นเครื่องช่วย เป็นต้นว่า ดวงดาว ทิศทางการขึ้นลงของพระอาทิตย์ หรือกระทั่งทิศทางลม

ปัจจุบันนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยี่ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับเราในชีวิตประจำวัน เรื่องการเดินทางก็เช่นกัน เวลาเราจะไปไหน เราอาศัย Google Maps ค้นหา หรือให้นำทางไปยังสถานที่ตั้งนั้น ๆ ได้เลย ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือกระทั่งเครื่อง GPS (Global Positioning System) ซึ่งเป็นเครื่องที่ประกอบด้วยระบบนำทาง โดยอาศัยการระบุพิกัดตำแหน่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกจากสัญญาณดาวเทียมกันแล้ว สะดวกสบายมาก

คุณที่ได้ลองใช้แผนที่ หรือเครื่องมือนำทางเช่นนี้ เคยประสบปัญหาถูกนำไปผิดทางไหมครับ? ถ้าแค่นำไปผิดทางเฉย ๆ เราอาจจะบ่น หรือหัวเสียไปบ้าง เพราะผิดนัด เสียเวลา หรือบางทีอาจเสียสตางค์ (ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วนฯ) แต่หากถึงขนาดทำให้คุณได้รับบาดเจ็บ หรือทรัพย์สินเสียหายแล้ว คุณจะถือว่าฟาดเคราะห์ไป หรือจะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ผลิตแผนที่ หรือผู้ผลิตเครื่องมือจำพวกนี้กันดี

ที่ต่างประเทศเคยปรากฏเป็นเรื่องราวฟ้องร้องกันมาแล้วครับ เรื่องก็มีอยู่ว่า มีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง พักอาศัยอยู่นอกเมือง เช้ามืดจำต้องไปทำธุระยังสถานที่แห่งหนึ่ง ได้อาศัยโทรศัพท์มือถือของตนค้นหาทิศทางที่จะเดินไป Google Maps ก็จัดแจงค้นหาทิศทางให้ว่า ต้องเดินทางไปตามเส้นทางนี้เป็นระยะทางประมาณครึ่งไมล์ (หรือประมาณเกือบหนึ่งกิโลเมตร) 

ครั้นเดินไปตามทางเรื่อย ๆ ปรากฏว่า เส้นทางที่ให้มานั้นได้นำไปสู่ถนนไฮเวย์ แม้ช่วงเวลานั้น ยังเช้าอยู่มาก ท้องฟ้าก็ยังไม่ใคร่สว่างมากนัก ยังมีรถวิ่งไปมาอย่างขวักไขว่ด้วยความเร็วสูง และสุดท้ายเธอก็ถูกรถคันหนึ่งเฉี่ยวชนเข้า ขณะข้ามถนนไปยังอีกฟากหนึ่ง โชคดีไม่ตาย แต่ก็เสียค่ารักษาพยาบาลไปจำนวนมาก

เธอจึงนำคดีขึ้นฟ้องทั้งคนขับรถคันนั้นกับ Google โดยเฉพาะกับ Google โทษฐานสะเพร่า ประมาทเลินเล่อ ให้บริการข้อมูลที่บกพร่อง และมิได้มีคำเตือนว่า ถนนไฮเวย์นั้นมีอันตรายไม่เหมาะแก่การเดินเท้า จนทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้นมา
       
คนขับรถควรต้องรับผิดแน่นอนอยู่แล้ว แต่สำหรับ Google คุณคิดว่า ควรต้องรับผิดด้วยไหมครับ? สมมุติจะต้องรับผิด การประกันภัยความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance) จะสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?

คดีนี้เป็นที่ฮือฮามากเมื่อปี ค.ศ. 2009 ถ้าศาลตัดสินให้ Google จำต้องรับผิดแล้วล่ะก้อ น่าจะมีคดีทำนองนี้ติดตามมาอีกเพียบ แต่ที่ข่าวคราวคดีนี้ค่อนข้างเงียบ หลายท่านคงจะเดาผลทางคดีออกได้ว่า ศาลท่านยกฟ้องครับ ด้วยเหตุผลว่า ผู้เสียหายในคดีนี้มิได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงนิติสัมพันธ์ และหน้าที่โดยตรงของ Google ที่มีต่อผู้เสียหายในคดีนี้ แม้ผู้เสียหายจะอ้างว่า เคยมีคดีที่ศาลตัดสินให้ผู้ให้บริการต้องรับผิดแก่ผู้บริโภคก็ตาม แต่ศาลเห็นว่า ในคดีนี้ หน้าที่เช่นนั้นแทบมิได้มีอยู่เลย หากผู้จัดพิมพ์ (Publisher) หรือผู้ให้บริการข่าวสารข้อมูลอื่นได้จัดพิมพ์ เผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณชนโดยสุจริต
Google ไม่จำต้องคาดหวังว่า ผู้ใช้บริการ Google Maps อาจข้ามถนน โดยไม่ระมัดระวัง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้ จึงมิใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของ Google ทั้ง Google เองก็มิได้มีหน้าที่ที่จะต้องป้องกัน หรือให้คำเตือนถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้ใช้บริการไม่ระมัดระวัง 

ฝ่ายโจทก์ต่อสู้ว่า การใช้บริการนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล มิใช่สาธารณชน เพราะตนเองค้นหาข้อมูลเฉพาะตัวเท่านั้น แต่ก็ถูกโต้แย้งกลับมาว่า การให้บริการนี้มิได้จำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ ใครก็สามารถใช้บริการข้อมูลนี้ได้ทางอินเตอร์เน็ต โดยกำหนดจุดเริ่มต้นกับจุดสิ้นสุด ล้วนจะได้ข้อมูลออกมาอย่างเดียวกันทั้งสิ้น

ตามข้อความจริงในโปรแกรมเอง ก็ปรากฏคำเตือนเรื่องข้อมูลเอาไว้อยู่แล้ว แต่อาจเป็นไปได้ที่มือถือบางยี่ห้อ บางรุ่นอาจมิได้แสดงคำเตือนนี้ขึ้นมา

เรื่องนี้ นักกฎหมายบางท่านให้ความเห็นว่า ถ้าผู้เสียหายเปลี่ยนไปฟ้องผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่มิได้แสดงคำเตือน หรือผู้ผลิตเครื่อง GPS ผลทางคดีน่าจะมีโอกาสดีขึ้นได้

บางท่านอาจรู้สึกว่า ฝรั่งนี่ก็แปลก เรื่องแค่นี้ยังต้องฟ้องเป็นคดีด้วยหรือ บาดเจ็บก็ไม่น่ามาก

งั้นคราวหน้ามาลองดูคดีลักษณะนี้ที่ส่งผลทำให้เครื่องบินตกทั้งลำดูบ้างนะครับ

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 54: ก็เห็นอยู่ว่าเป็นรถ ทำไมถึงยังบอกว่า มิใช่รถอีก?



(ตอนที่สอง)

ศาลได้วิเคราะห์คดีนี้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่นำเสนอของคู่ความทั้งสองฝ่าย ดังนี้

รถยนต์เก่า ยี่ห้อ Pontiac Fiero 1984 ทั้งสองคันเคยถูกใช้งานเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนวิ่งบนท้องถนนมาก่อน และผู้เอาประกันภัยรายนี้ก็วางแผนที่จะนำรถคันที่เป็นโครงประกอบ (Kit Car) ไปใช้เป็นรถยนต์ เมื่อดัดแปลงสำเร็จแล้ว

ขณะที่เกิดเหตุไฟไหม้ รถคันที่เป็นอะไหล่เสริม ("อะหลั่ย" คำนี้เขียนผิดครับ ต้องกราบขออภัยอย่างมากครับ) (Parts Car) อยู่ในสภาพ ดังนี้


(1) ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง
(2) มิได้ต่อทะเบียนรถ
(3) ไม่มีประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอยู่
(4) ปราศจากระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และระบบไฟอยู่เลย
(5) อยู่ระหว่างการนำเอาถังน้ำมันกับแผงหม้อน้ำออกไป
(6) หากดัดแปลงเสร็จ รถคันนี้จะถูกนำไปขายเป็นเศษเหล็กต่อไป

ได้มีการใช้ชุดตัดแก๊ส (Cutting Torch) กับรถคันนี้ เวลาที่เกิดเหตุ

ส่วนรถคันที่เป็นโครงประกอบ (Kit Car) อยู่ในสภาพ ดังนี้
(1) เครื่องยนต์เดิมถูกนำออกไปแล้ว แต่ยังมิได้นำเครื่องยนต์ใหม่มาติดตั้งแทน
(2) อยู่ในระหว่างการสับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนอยู่
(3) มิได้ต่อทะเบียนรถ
(4) ไม่มีประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอยู่

ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับนี้ระบุว่า ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ซึ่งได้แก่ “ยานพาหนะทางบกที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (any motorized land vehicle)” อันเป็นข้ออ้างที่มาปฏิเสธของฝ่ายบริษัทประกันภัย

โดยฝ่ายบริษัทประกันภัยยังกล่าวเสริมอีกว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยเองมีเจตนาว่า ถ้าดัดแปลงเสร็จ ก็จะนำไปใช้เป็นรถยนต์ต่อไป เช่นนี้ สิ่งที่ควรจะเป็น คือ ผู้เอาประกันภัยควรจะไปทำประกันภัยรถยนต์มากกว่า เพราะภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจสามารถให้ความคุ้มครองต่อตัวรถยนต์ระหว่างการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมด้วย สาเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ล้วนอยู่ในกระบวนการเหล่านี้ อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้รถ (use of operation of an automobile) ตลอดเวลาดังกล่าว คุณลักษณะของรถยนต์มิได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปแต่ประการใด  

แต่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยต่อสู้ว่า สิ่งที่ผู้เอาประกันภัยกำลังทำอยู่นั้น มิใช่เป็นกระบวนปกติทั่วไปในการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมดังกล่าวเลย เพราะเป็นการดัดแปลงสภาพรถขนานใหญ่ อันมีความเสี่ยงภัยเพิ่มสูงขึ้น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จึงไม่น่าจะสามารถให้ความคุ้มครองครอบคลุมไปถึงได้

ขณะเกิดเหตุ ผู้เอาประกันภัยกำลังทำงานอยู่กับตัวรถคันที่เป็นอะไหล่เสริม (Parts Car) ซึ่งมิได้เจตนาที่จะนำไปใช้เป็นรถยนต์อีกเลย เพียงรื้อออกมาเป็นเศษซากเท่านั้น ส่วนรถคันที่เป็นโครงประกอบ (Kit Car) นั้น แม้จะตั้งใจนำไปใช้เป็นรถยนต์อีกในท้ายที่สุด แต่ช่วงระยะเวลานั้น ก็ยังอยู่อีกห่างไกล สภาพขณะที่เกิดของรถคันนี้ จึงเพียงเป็นแค่ชิ้นส่วนของสะสม (collection of parts) ของรถยนต์เท่านั้น 

ศาลเห็นพ้องกับฝ่ายผู้เอาประกันภัย และตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินดังกล่าว

(เทียบเคียงจากคดี Meadowview Heights Ltd. v. Revivo [2004] O.J. No. 4742 Ontario Superior Court of Justice)  


กรณีนี้ ถ้าเกิดขึ้นที่เมืองไทย ผมคิดว่า ผลทางคดีไม่น่าจะแตกต่างกัน ยิ่งกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับมาตรฐานของบ้านเรา ระบุข้อยกเว้นเรื่องนี้เอาไว้ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้
8. ยานพาหนะทางบกที่จดทะเบียนสำหรับใช้บนถนน (รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องตกแต่งทุกชนิด) (vehicles licensed for road use (including accessories thereon))

ถ้อยคำน่าจะชัดเจน เพราะรถยนต์ลักษณะนี้ไม่น่าจะนำไปจดทะเบียนได้ และความเสี่ยงภัยดังที่เกิดขึ้น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจของเรา ก็ไม่น่าจะครอบคลุมไปถึงเช่นกัน

เรื่องสิ่งที่เรามองเห็น สิ่งที่เราคิดอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น ยังมีอีกหลายกรณีนะครับ อย่างข้อถกเถียงระหว่างหน่วยงานรัฐซึ่งเห็นว่า เป็นเรือ (vessel) แต่เจ้าของสิ่งปลูกสร้างนั้นโต้แย้งว่า นั่นคือ บ้าน (home) ของเขา เพียงแต่มิได้ตั้งอยู่บนบก แต่ไปลอยอยู่ในน้ำเท่านั้น จนเกิดเป็นคดีข้อพิพาทใหญ่โตที่ต่างประเทศ ถ้าสนใจ ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังภายหลังครับ

เรื่องต่อไปเป็นการประกันภัยความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Products Liability Insurance)



คุณเคยใช้ Google Map หรือเครื่อง GPS (Global Positioning System) นำทางคุณไปยังสถานที่ต่าง ๆ บ้างไหมครับ? ถ้านำทางถูก ก็แล้วไป แต่ถ้านำไปผิดทาง จนทำให้คุณเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน คุณฟ้องผู้ผลิตเครื่องนำทาง หรือผู้จัดทำแผนที่เหล่านี้ได้ไหมครับ?

เราจะคุยกันต่อสัปดาห์หน้านะครับ

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 54: ก็เห็นอยู่ว่าเป็นรถ ทำไมถึงยังบอกว่า มิใช่รถอีก?



(ตอนที่หนึ่ง)

คนเรามักเชื่อในสิ่งที่เรามองเห็น แต่บางครั้ง สายตาเราก็อาจจะหลอกเราได้ 

เรามักเชื่อในสิ่งที่เรานึก เราคิด แต่บางที สิ่งที่เรานึก เราคิดก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่เราเข้าใจเช่นนั้นก็ได้

สมมุติ ถ้าเรานึกถึงรถยนต์ แล้วเราคิด รถยนต์จะต้องเป็นอย่างไรบ้างครับ?
รถยนต์จะต้องมีเครื่องยนต์ รถยนต์จะต้องมีสี่ล้อ
รถยนต์จะต้องมีตัวถังรถ รถยนต์จะต้องขับเคลื่อนได้ หรือจะต้องแล่นได้ด้วยตัวเอง
รถยนต์ก็คือรถยนต์ ทำไมจะต้องนึกคิดให้มันมากมาย

หากเราลองคิดในมุมกลับกันบ้าง
รถยนต์ที่ไม่มีเครื่องยนต์ จะยังคงใช่รถยนต์ได้อยู่หรือเปล่า?
รถยนต์ที่มีล้อไม่ครบทั้งสี่ล้อ หรือไม่มีล้ออยู่เลย ยังพอมีสภาพเป็นรถยนต์ได้หรือไม่?
รถยนต์ที่ไม่มีตัวถังรถ แต่ยังมีเครื่องยนต์ มีล้อ ก็น่าจะยังเรียกรถยนต์ได้อยู่ไหม?
รถยนต์ที่ขับเคลื่อนไม่ได้ หรือแล่นไปเองไม่ได้ ทั้งที่มีเครื่องยนต์กับล้ออยู่ครบถ้วน แต่ลอยอยู่บนแท่นยก หรือไม้หนุน จะคงเรียกรถยนต์ได้ไหม?

ข้อพิพาทเรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อรถยนต์กลายสภาพเป็นมิใช่รถยนต์นั่นเอง

มีชายคนหนึ่งรักชอบรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจ ได้ไปซื้อรถยนต์เก่า ยี่ห้อ Pontiac Fiero 1984 มาหนึ่งคัน เพื่อใช้เป็นโครงประกอบ (Kit Car) ในการดัดแปลงจำลองสภาพให้เป็นรถ Lamborghini Countach อันเป็นรถยนต์ในฝันของตน ครั้นเมื่อดัดประกอบเสร็จแล้ว วางแผนอาจเอาไว้ใช้เอง หรืออาจจะขายต่อออกไป หากได้ราคาดี  

หลายเดือนถัดมา ก็ได้ซื้อรถยนต์เก่ายี่ห้อและรุ่นเดียวกันอีกคันมา เพื่อใช้เป็นอะหลั่ยเสริม (Parts Car) เพราะหลายชิ้นส่วนมีสภาพที่ดีกว่าคันแรก สถานที่ทำงาน คือ อู่ซ่อมรถของตนนั่นเอง  

ต่อมา ชายคนนี้ก็ได้จัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัย สำหรับทรัพย์สินทุกชนิดที่เป็นของผู้เอาประกันภัย และอยู่ภายในอู่ซ่อมรถนั้นเอง

อีกประมาณสี่ถึงห้าเดือนหลังจากนั้น ระหว่างที่ผู้เอาประกันภัยกำลังทำการดัดแปลง โดยหลังจากที่ได้ยกรถทั้งสองคันขึ้น และถอดสับเปลี่ยนถังน้ำมันจากรถคันที่สองไปแทนถังน้ำมันของรถคันแรกแล้ว ขณะจะถอดสลับสับเปลี่ยนหม้อน้ำรถยนต์ทั้งสองคันเป็นลำดับต่อไป ด้วยการใช้ชุดตัดแก๊ส (Cutting Torch) สันนิษฐานว่า อาจเป็นสะเก็ดไฟ หรือโลหะที่หลอมละลายได้หยดลงไปถูกคราบน้ำมันที่อยู่บนพื้น อันเนื่องมาจากการถอดสับเปลี่ยนถังน้ำมันนั่นเอง จนเกิดไฟลุกไหม้ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ตัวอาคารอู่ซ่อม ตลอดจนรถยนต์ทั้งสองคันนั้น และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ภายใน

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

บริษัทประกันภัยตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ประกอบกับเงื่อนไขข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้แล้ว ก็แจ้งว่า ยินดีรับผิดต่อความเสียหายของตัวอาคารกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น ๆ ยกเว้นรถยนต์ทั้งสองคันนั้น เพราะอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยทรัพย์สินที่ไม่คุ้มครอง ซึ่งได้แก่ “ยานพาหนะทางบกที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (any motorized land vehicle)” 

ผู้เอาประกันภัยพยายามชี้แจงว่า ขณะที่เกิดเหตุ รถยนต์ทั้งสองคันนั้น มิใช่รถยนต์ดังที่กำหนดในข้อยกเว้นนั้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

เมื่อทั้งสองฝ่ายมิอาจตกลงกันได้ในประเด็นนี้ ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ทำการชี้ขาดต่อไป

คุณเชียร์ฝ่ายไหนครับ? เอาไว้สัปดาห์หน้า เรามาฟังผลสรุปเรื่องนี้กันนะครับ

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 53: ภัยระเบิด (Explosion) ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หมายถึงอะไรกันแน่?



(ตอนที่สอง)


เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้นำคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น โดยอ้างว่า ในกรมธรรม์ประกันภัยของตนมิได้กำหนดคำนิยามภัยระเบิดเอาไว้ ฉะนั้น การระเบิดจึงควรหมายความถึงการระเบิดทุกชนิด ซึ่งมีลักษณะเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง มีเสียงดัง และมีสาเหตุมาจากการก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีอย่างรวดเร็ว หรือการระเบิดของแก๊ส หรือไอจากแรงดัน โดยที่การระเบิดของศพก็มีลักษณะเช่นว่านั้นด้วย เนื่องจากคำให้การของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วจะเข้าสู่กระบวนการเน่าสลายตัว (Decomposition) ซึ่งแบคทีเรียในร่างกายจะทำปฏิกิริยาเคมีกับเนื้อเยื่อ แล้วก่อให้เกิดก๊าซขึ้นมาทั่วร่าง และจะสร้างแรงดันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนประทุออกมาดังเช่นกรณีนี้ในท้ายที่สุด 


ถ้าบริษัทประกันภัยไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองภัยระเบิดทุกกรณี ทำไมไม่เขียนระบุลงไปให้ชัดเจน เพื่อที่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ แต่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นก็ยังไม่เห็นพ้องกับผู้เอาประกันภัยรายนี้แต่อย่างใด


ผู้เอาประกันภัยยังไม่ละความพยายาม ได้นำคดีสู่ศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จริงอยู่ที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ แต่โดยหลักการแล้ว การตีความถ้อยคำจำต้องอาศัยความเข้าใจของวิญญูชน คนทั่วไปส่วนใหญ่ด้วย อนึ่ง เมื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้กล่าวอ้าง ก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นคล้อยตามว่า คนทั่วไปเห็นว่า ภัยระเบิดที่บริษัทประกันภัยจะให้ความคุ้มครองได้รวมถึงการระเบิดของศพด้วยเช่นนั้นหรือเปล่า แต่ในคดีนี้ ศาลยังไม่เชื่อ คนทั่วไปจะเห็นเช่นนั้นได้ จึงตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น


ผู้เอาประกันภัยยื่นขอฎีกา แต่ศาลฎีกาไม่รับพิจารณา (อ้างอิงจากคดี Rodrigo v. State Farm Florida (No. 4D12-3410, April 23, 2014))


คดีเรื่องนี้จึงจบลงที่ผู้เอาประกันภัยไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้ 

น่าสนใจนะครับว่า การระเบิดนั้นมีจากหลายสาเหตุ กระทั่งฝุ่นยังระเบิดได้ (Dust Explosion) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรม และบริษัทประกันภัยคงไม่เกี่ยงงอนที่จะให้ความคุ้มครอง แต่ฝุ่นระเบิดนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ในที่ใดก็ได้ ดังอุทาหรณ์จากเหตุการณ์ไฟลุกไหม้และระเบิดในงานปาร์ตี้ผงสี หรือ Color Play Asia ณ สวนน้ำ Formosa Fun Coast ในเมือง New Taipei ประเทศไต้หวัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ซึ่งมีรายงานข่าวว่า สาเหตุของการระเบิดน่าจะมาจากการระเบิดของฝุ่น โดยผงสีที่ใช้ในงานปาร์ตี้นั้นมีส่วนผสมเป็นผงแป้งข้าวโพดผสมกับสีผสมอาหารที่โดนพ่นออกมาจากเครื่องพ่น จนเกิดลุกติดไฟและระเบิดขึ้น จนทําให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 500 คน และผู้เสียชีวิต 1 คน (อ้างอิงจากบทความ ““การระเบิดของฝุ่น” ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด” ในวารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ) 


(หมายเหตุ: ผู้เขียนเองพยายามศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงการระเบิดของศพ จึงขออ้างอิงบทความ “ระยะเวลาการตายและการเปลี่ยนแปลงหลังการตาย” ของพลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ มาเขียนประกอบเพิ่มเติมในย่อหน้าแรก ให้พอเห็นภาพโดยสังเขปได้บ้างนะครับ)  


ส่วนทำไมผู้เอาประกันภัยรายนี้เลือกที่จะอาศัยภัยระเบิดในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น ก็เพราะหากจะอ้างภัยเนื่องจากน้ำ (Water Damage) กรณีคงจะจบเร็วกว่านี้ เนื่องจากแม้คำว่า “น้ำ (Water)” จะเป็น “ของเหลว (Liquid) ชนิดหนึ่งก็ตาม แต่ก็มีคุณสมบัติต่างกันจากของเหลวชนิดอื่น ๆ ของเหลวที่ปะทุออกมาจากร่างกายคนคงมิใช่น้ำตามความหมายนี้อย่างแน่นอนครับ ทั้งกรมธรรม์ประกันภัยเองก็มิได้เขียนระบุให้ความคุ้มครองถึงภัยเนื่องจากของเหลวแต่ประการใด


ฉะนั้น เรื่องสิ่งที่เราคิด หรือมองเห็นได้นั้น อาจมิใช่เป็นอย่างที่เราคิด หรือเห็นเช่นนั้นได้เสมอไป ดังเช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปคราวหน้า

ก็เห็นอยู่ว่าเป็นรถ ทำไมถึงยังบอกว่า มิใช่รถอีก