วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 49: ถ้าเจ้าของโครงการไปซื้อตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นมา โดยที่ผู้รับเหมายังมิได้เข้าไปทำงานในพื้นที่นั้นเลย กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) จะสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?



(ตอนที่สอง)

 

นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้พยายามไปเจรจาต่อรองกับบริษัทประกันภัย ดังนี้
1) ตึกเก่าหลังนี้ได้ขยายความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขพิเศษทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมของผู้ว่าจ้าง (Principal’s Existing Property) ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด ดังเช่นไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ทั้งยังได้เกิดไฟไหม้ขึ้นในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะต้องจัดทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินปกติขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งเพียงเพื่อให้ความคุ้มครองช่วงสั้น ๆ ระหว่างรอให้เริ่มต้นการก่อสร้างกระนั้นหรือ ดูแล้วค่อนข้างยุ่งยาก และไม่น่าสมเหตุผล

2) ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ตึกเก่าหลังนี้อาจถือเป็นวัสดุที่ผู้ว่าจ้างจัดหามาให้ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในความหมายของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างด้วย และในวันที่เกิดไฟไหม้ ตึกหลังนี้ก็ได้ถือว่า “ขนลง” หรือตั้งอยู่ในสถานที่ก่อสร้างอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้เริ่มต้นการก่อสร้างตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยนี้แล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ ในหมวดที่ 3 ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึงความรับผิดที่เกิดขึ้นจากความสูญเสีย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เป็นของ หรืออยู่ในความดูแล ครอบครอง หรือควบคุมของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้าง หรือธุรกิจอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับงานตามสัญญา หรือของลูกจ้าง หรือคนงานของบุคคลคนหนึ่งคนใดที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็เป็นกรณีความรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่กรณีนี้ เป็นเหตุแห่งความเสียหายที่คุ้มครองอยู่ภายใต้หมวดที่ 1 งานโครงสร้าง และงานวิศวกรรมโยธา ซึ่งเป็นกรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยต่างหาก 

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้อยู่ดี ไม่ว่าจะมองในมุมของข้อ 1) หรือข้อ 2) ข้างต้น

ฝั่งบริษัทประกันภัยก็โต้แย้ง ดังนี้
1) ถึงแม้ตึกเก่าหลังนี้ได้ขยายความคุ้มครองเอาไว้แล้วก็ตาม แต่ถ้อยคำในเงื่อนไขพิเศษนี้ ได้ระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า “อันมีสาเหตุมาจาก หรือเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง หรือการติดตั้งดังระบุเอาประกันภัยไว้ในหมวดความคุ้มครองที่ 1 ความเสียหายต่อตัวงานก่อสร้าง” แต่นี่ผู้รับเหมายังมิได้เข้าไปเริ่มดำเนินการใด ๆ เลย เมื่อความคุ้มครองหลัก คือ งานก่อสร้างของผู้รับเหมายังไม่เริ่มต้น ความคุ้มครองส่วนขยายจึงยังมิอาจมีผลใช้บังคับก่อนได้ 

ด้วยเหตุนี้ การทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้วกับทรัพย์สินที่จะก่อสร้างจึงแยกจากกันอย่างชัดเจน โดยข้อกำหนดคุ้มครองทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้ว จะยกเว้นระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม จึงจำต้องไปขยายความคุ้มครองไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาดังกล่าว เพื่อเสริมปิดข้อยกเว้นของการประกันภัยทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้วนั้นเอง ฉะนั้น ดังในกรณีนี้ เจ้าของอาคารหลังนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจัดทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้วดังกล่าว แม้จะเพียงด้วยระยะเวลาเอาประกันภัยไม่กี่วันก็ตาม เมื่อมิได้ทำไว้ จึงไม่มีความคุ้มครองที่จะได้รับแต่ประการใด 

2) ส่วนถ้ามองตึกเก่านี้ถือเป็นวัสดุที่ผู้ว่าจ้างจัดหามาใช้ในการก่อสร้างนั้น แล้วทำไมจะต้องมีการขยายความคุ้มครองเงื่อนไขพิเศษในข้อ 1) อีก เจตนารมณ์ที่แท้จริงของทั้งสองข้อนี้ จึงมีความแตกต่างกัน ไม่อาจนำมาใช้ทดแทนกันได้ 

บริษัทประกันภัยนี้จึงยืนยันการปฏิเสธของตนด้วยเหตุผลดังกล่าวนั้น

เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้นำคดีขึ้นสู่ศาล ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียใจที่ศาลเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยนี้ที่ว่า งานก่อสร้างยังมิได้เริ่มต้นขึ้นมาเลย แต่ถ้าข้อความจริงปรากฏต่อศาลว่า ระหว่างรอผู้รับเหมาเข้าไปเริ่มทำงาน เจ้าของโครงการได้เข้าไปรื้อถอนเศษวัสดุบางส่วนที่ไม่ต้องการใช้แล้วของตึกเก่าหลังนั้นออกไป ศาลก็อาจมอง เป็นการจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการก่อสร้าง และถือเป็นการเริ่มต้นทำการก่อสร้างตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญานี้แล้ว เช่นนี้ บริษัทประกันภัยจะมิอาจปฏิเสธความรับผิดได้ เทียบเคียงกับคดีในต่างประเทศ Bosecker v. Westfield Ins. Co., 724 N.E.2d 241 (Ind. 2000)

อย่างไรก็ดี จำต้องขอเรียนย้ำในที่นี้ว่า หากเกิดกรณีลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศไทย ศาลไทยอาจมีดุลพินิจที่แตกต่างออกไปก็ได้ ขอให้พิจารณาเพียงเป็นแนวทางเสริมความรู้ไว้เท่านั้นนะครับ โปรดอย่ายึดถือว่า ต้องเป็นเช่นเดียวกับคดีในต่างประเทศ

ฉะนั้น นายหน้าประกันวินาศภัยจึงพึงใช้ความระมัดระวังให้มาก การชี้ช่องถึงข้อดี ข้อเสียของกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภทในการจัดทำ เพื่อให้สามารถครอบคลุมความเสี่ยงภัยของลูกค้าของตนได้นั้น เป็นหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และให้พยายามจัดทำบันทึกคำสั่งของลูกค้า กับข้อตกลงกับบริษัทประกันภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้งด้วย จะสามารถช่วยได้เยอะ เวลาเมื่อเกิดข้อพิพาทกันขึ้นมา

เรื่องต่อไปจะคาบเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญากับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ โดยมีเรื่องราว ดังนี้

ผู้รับเหมารื้อเศษวัสดุก่อสร้างขนขึ้นรถบรรทุกของตนออกไปจากสถานที่ก่อสร้าง ระหว่างทาง เศษวัสดุนั้นเกิดหลุดปลิวออกไปทะลุกระจกรถนักเรียนที่วิ่งผ่านมาพอดี ทำให้เด็กนักเรียนเสียชีวิตหนึ่งราย และบาดเจ็บอีกหลายคน  

คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจฉบับใดฉบับหนึ่งของผู้รับเหมารายนี้ ต้องรับผิดครับ หรือจำต้องรับผิดร่วมกันทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย หรือไม่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดเลยที่จะต้องรับผิด?


วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 49: ถ้าเจ้าของโครงการไปซื้อตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นมา โดยที่ผู้รับเหมายังมิได้เข้าไปทำงานในพื้นที่นั้นเลย กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) จะสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?



นักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งได้ลงทุนไปซื้อตึกเก่า เพื่อมาปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย จึงได้ไปหารือนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่งว่า ควรจะทำประกันภัยอะไรคุ้มครองดี นายหน้าประกันวินาศภัยแนะนำให้ทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง(Construction All Risks Insurance Policy (CAR))พร้อมแนะนำให้ขยายเงื่อนไขพิเศษคุ้มครองทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมของผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็คือ ตัวตึกเก่าที่ซื้อมานั่นเอง ภายใต้ Endorsement 119 Existing property or property belonging to or held in care, custody or control by the insured ซึ่งถอดความโดยสรุปออกมาได้ว่า “ระบุขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่มีอยู่เดิม หรือทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครอง ความดูแล หรือความควบคุมของผู้เอาประกันภัย อันมีสาเหตุมาจาก หรือเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง หรือการติดตั้งดังระบุเอาประกันภัยไว้ในหมวดความคุ้มครองที่ 1 ความเสียหายต่อตัวงานก่อสร้าง” ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้ฉบับเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะอีกไม่กี่สัปดาห์ ก็จะเริ่มทำการปรับปรุงตึกนี้แล้ว


ทั้งเจ้าของโครงการนี้กับผู้รับเหมาที่ถูกว่าจ้างให้มาดำเนินการจึงได้ร่วมกันเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมในกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญานั้นกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งโดยผ่านนายหน้าประกันวินาศภัยดังกล่าว และได้ระบุระยะเวลาเอาประกันภัยให้เริ่มตั้งแต่วันเซ็นสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา จนจบโครงการหนึ่งปี คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กรกฏาคม พ.ศ. 2560 จนถึงวันที่ 20 กรกฏาคม พ.ศ. 2561 บวกด้วยระยะเวลาบำรุงรักษาอีกหนึ่งปี

ครั้นในวันที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ. 2560 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ตึกแห่งนั้นเสียหายบางส่วน โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ และผู้รับเหมายังไม่ทันได้เข้าไปครอบครองตึกนั้นเลย เจ้าของโครงการในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมจึงได้ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแห่งนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธจากบริษัทประกันภัย โดยอ้างว่า ตามเงื่อนไขระยะเวลาการก่อสร้าง (Construction Period) ของกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดว่า  
ความรับผิดของผู้รับประกันภัยจะเริ่มต้นหลังจากการขนทรัพย์สินดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยลง ณ สถานที่ตามสัญญาว่าจ้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้มีการระบุเอาไว้เป็นวันอื่นใดในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และจะสิ้นสุด ณ วันที่ได้กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
 
เนื่องจากวันที่เกิดเหตุไฟไหม้ ผู้รับเหมายังมิได้ขนทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ในที่นี้คือ วัสดุต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในก่อสร้าง เช่น อิฐ ไม้ เหล็ก ปูน เป็นต้น เข้ามาในตึกดังกล่าวเลย เพราะระยะเวลาความคุ้มครองกำหนดให้เริ่มนับแต่วันแรกที่ขนทรัพย์สินนั้นลงเป็นต้นไป โดยไม่คำนึงว่า ในกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุให้เป็นวันอื่นใดก่อนหน้านั้น และการขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมของผู้ว่าจ้างก็จะต้องเริ่มคุ้มครองไปพร้อมกันไปด้วยเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าของโครงการรายนี้จึงคุยกับนายหน้าประกันวินาศภัยของตนว่า ถ้าเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยไม่ได้ ตัวนายหน้าประกันวินาศภัยก็จำต้องรับผิดชอบแทน เพราะมิได้ชี้แจงรายละเอียดข้อกำหนด และเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยให้รับทราบตั้งแต่ต้น

สมมุติท่านเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้ ท่านจะแนะนำ และหาทางออกให้ลูกค้าของท่านอย่างไรครับ? 

ส่วนท่านที่เป็นบริษัทประกันภัยเห็นพ้องกับคำปฏิเสธดังกล่าวของบริษัทประกันภัยแห่งนั้นหรือไม่ อย่างไร?

ฝากช่วยกันคิดด้วยนะครับ หากจะรีบเฉลยไปเลย ก็อาจไม่ชวนให้น่าติดตามสักเท่าไหร่?
 

วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 48: กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) จะสิ้นสุดความคุ้มครอง เมื่อได้ถูกครอบครอง (taken over) หรือได้ถูกใช้งาน (taken into use) โดยผู้ว่าจ้างแล้ว หมายถึงอย่างไร?


(ตอนที่สาม)

เรามาคุยกันต่อในบทสรุปของเรื่องนี้นะครับ

ศาลได้พิจารณาในประเด็นข้อโต้แย้ง ดังนี้
1) ได้มีการเข้าครอบครอง หรือใช้งานในช่วงงานก่อสร้างที่เกิดเหตุแล้วหรือยัง?

    ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า ความรับผิดของผู้รับประกันภัยจะสิ้นสุดลงเช่นกัน เมื่อส่วนใดๆ ของงานว่าจ้างที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้ถูกครอบครอง (taken over) หรือถูกใช้งาน (taken into use) (แล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นก่อนกัน) โดยผู้ว่าจ้าง ก่อนวันที่สิ้นสุดดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

   สำหรับคำว่า “ได้ถูกครอบครอง (taken over)” ศาลเห็นว่า ในวันที่เกิดเหตุน้ำท่วม 19 ธันวาคม ค.ศ. 2006 นั้น รัฐบาลในฐานะผู้ว่าจ้างยังมิได้เข้าครอบครองงานก่อสร้างดังกล่าวบางส่วน หรือทั้งหมดแต่ประการใด เนื่องจากมิได้มีการออกหนังสือรับมอบงานบางส่วนในช่วงงานที่เกิดเหตุ หรือในโครงการทั้งหมดให้แก่ผู้รับเหมาเลย ซึ่งผู้ว่าจ้างได้ออกหนังสือรับมอบงานทั้งโครงการ ก็เป็นวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 2007 แล้ว

   ในส่วนของคำว่า “ได้ถูกใช้งาน (taken into use)” ตามเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้างกำหนดให้การจราจรสามารถสัญจรไปมาได้ตลอดเวลา ในระหว่างการก่อสร้างดังกล่าว แม้จำต้องปิดกั้นบางพื้นที่ไปบ้างชั่วเวลาหนึ่ง หลังจากทำงานเสร็จแล้ว ก็ต้องเปิดการจราจรต่อไปดังเดิม ซึ่งบริษัทประกันภัยก็ได้รับทราบเงื่อนไขนี้ตั้งแต่แรก และเวลาไปตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการอีกด้วย

   แม้จะอาศัยการตีความคำว่า “ได้ถูกใช้งาน (taken into use)” ให้ตรงตัวตามอักษร ดังที่บริษัทประกันภัยกล่าวอ้าง ก็ดูแล้วไม่น่าสมเหตุผล และสอดคล้องกับเจตนารมณ์อันแท้จริงของคู่สัญญานี้ เพราะในระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า คือ ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2002 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2005 บวกด้วยระยะเวลาบำรุงรักษา ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2005 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ต่อมาได้   ถูกแก้ไขโดยใบสลักหลังเป็นระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2002 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2007 และระยะเวลาบำรุงรักษาเป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2007 ถึงวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2009

   นั่นหมายความว่า ระยะเวลาบำรุงรักษาจะเริ่มนับตั้งแต่ระยะเวลาดังที่กำหนดข้างต้นรวมกันทั้งหมด หรือนับตั้งแต่ช่วงพื้นที่ที่มีการใช้งานแล้ว แยกส่วนงานกันไปกันแน่ ถ้าเป็นอย่างหลังจริง ส่วนงานที่ถูกใช้งานก็จะปราศจากความคุ้มครองสมบูรณ์ตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้จะมีการขยายเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติม Endorsement 116 – Cover for insured contract works taken over or put into serviceเอาไว้ก็ตาม ความคุ้มครองก็จะถูกจำกัดเพียงสาเหตุที่เนื่องมาจากการก่อสร้างเท่านั้น

   เชื่อว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลในฐานะผู้ว่าจ้างคงไม่อาจรับเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ตั้งแต่ต้น  

   นอกจากนี้ หากความคุ้มครองสิ้นสุดลง เมื่อมีการถูกใช้งานจริง ทำไมบริษัทประกันภัยยังคงขยายระยะเวลาเอาประกันภัย และระยะเวลาบำรุงรักษาให้โดยไม่มีข้อโต้แย้งถึงสามครั้ง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ขยายระยะเวลาดังกล่าวให้ทุกครั้งด้วยจำนวนเงินเอาประกันภัยเต็มทั้งหมดของโครงการ โดยศาลเห็นพ้องกับความเห็นของผู้ประเมินวินาศภัย ซึ่งเป็นพยานของบริษัทประกันภัยเอง ที่ว่า อันที่จริง เวลาได้รับคำร้องขอให้ขยายระยะเวลาความคุ้มครองจากผู้เอา   ประกันภัย บริษัทประกันภัยเองก็มีโอกาสที่จะทบทวนจำนวนเงินเอาประกันภัยใหม่ทั้งหมด ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้อยู่แล้ว แต่กลับมิได้ทำเช่นนั้นเลย

    การตีความคดีนี้จึงต้องใช้นัยที่เป็นผล ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย
   
2) ความสูญเสีย หรือความเสียหายดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการก่อสร้างหรือไม่? และมิได้มีสาเหตุเนื่องจากความบกพร่องของวัสดุ ฝีมือแรงงาน หรือการออกแบบผิดพลาด อันจะอยู่ในข้อยกเว้นด้วย

   สำหรับประเด็นข้อนี้ ชัดเจนแล้วว่า สาเหตุความเสียหายนี้เป็นเรื่องน้ำท่วมจากภัยธรรมชาติ จึงไม่จำต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีก

(อ้างอิงคดี Perembun Consortium & Anor. v AXA Affin General Insurance. Bhd. [2011] 6 MLJ 719)

คุณอ่านเรื่องนี้แล้ว มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ? 

และฝากช่วยคิดอีกเรื่องหนึ่งที่จะคุยกันในคราวหน้านะครับว่า

ถ้าเจ้าของโครงการไปซื้อตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นมา โดยที่ผู้รับเหมายังมิได้เข้าไปทำงานในพื้นที่นั้นเลย กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา) (Contract Works Insurance) จะสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?