วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 48: กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance) จะสิ้นสุดความคุ้มครอง เมื่อได้ถูกครอบครอง (taken over) หรือได้ถูกใช้งาน (taken into use) โดยผู้ว่าจ้างแล้ว หมายถึงอย่างไร?


(ตอนที่หนึ่ง)

กรมธรรม์ประกันภัยการปฎิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า “กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง (Construction All Risks Insurance Policy (CAR))” และ/หรือ “กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาติดตั้ง (Erection All Risks Insurance Policy (EAR))” ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัยในช่วงการก่อสร้าง/การติดตั้ง สำหรับงานตามที่ได้ตกลงกันไว้ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ซึ่งในที่นี้ คือ ผู้รับเหมานั่นเอง

โดยเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะกำหนดระยะเวลาเอาประกันภัย สำหรับงานก่อสร้างเอาไว้เป็นสองระยะเวลา กล่าวคือ
1) ระยะเวลาการก่อสร้าง (Construction Period)
ความรับผิดของผู้รับประกันภัยจะเริ่มต้นหลังจากการขนทรัพย์สินดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยลง ณ สถานที่ตามสัญญาว่าจ้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้มีการระบุเอาไว้เป็นวันอื่นใดในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และจะสิ้นสุด ณ วันที่ได้กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

ความรับผิดของผู้รับประกันภัยจะสิ้นสุดลงเช่นกัน เมื่อส่วนใดๆ ของงานว่าจ้างที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้ถูกครอบครอง (taken over) หรือถูกใช้งาน (taken into use) (แล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นก่อนกัน) โดยผู้ว่าจ้าง ก่อนวันที่สิ้นสุดดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

2) ระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period)
หากได้มีการกำหนดระยะเวลาบำรุงรักษาไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของผู้รับประกันภัยในระหว่างระยะเวลานี้จะจำกัดอยู่เพียงต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดที่เกิดขึ้นมาจากผู้รับจ้างที่เอาประกันภัย ในการปฎิบัติงานนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันภายใต้ข้อกำหนดของการบำรุงรักษาตามสัญญาจ้างเหมานั้นเอง

ทั้งสองระยะเวลานี้จะนับต่อเนื่องกันไป เมื่องานก่อสร้างสิ้นสุดลง และผู้รับเหมาได้ส่งมอบงานตามสัญญาจ้างแล้ว ถือว่า ภาระหน้าที่ในการทำงานก่อสร้างของผู้รับเหมานั้นก็จะจบลงไป คงเหลือแต่การรับประกันผลงานของตนเองเท่านั้น คือ  ระยะเวลาการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นระยะเวลาการรับประกันผลงานของผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งอาจจะเพิ่งมาตรวจพบความบกพร่องภายหลังส่งมอบงานไปแล้ว โดยจะนับต่อเนื่องกันไปตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกัน เช่น 6 เดือน 12 เดือน หรือ 24 เดือน เป็นต้น

เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้กำหนดอย่างชัดแจ้งให้มีการส่งมอบงานก่อสร้างที่เสร็จสิ้นแล้วอย่างเป็นการ โดยต้องมีหนังสือรับส่งมอบงานเป็นหลักฐานเอาไว้ ดังนั้น การที่ผู้ว่าจ้างเข้าไปครอบครอง (taken over) หรือเข้าไปใช้งาน (taken into use) ก่อน สำหรับพื้นที่บางส่วนที่ได้สร้างแล้ว แม้ส่วนอื่นที่เหลือ ผู้รับเหมายังคงทำงานก่อสร้างต่อไปตามปกติอยู่ก็ตาม ก็ให้ถือเสมือนหนึ่งเป็นการที่ผู้ว่าจ้างรับมอบงานก่อสร้างในพื้นที่ส่วนที่ตนเข้าไปครอบครอง หรือใช้งานก่อนนั้น เป็นการรับมอบงานโดยปริยาย ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย และความรับผิดของผู้รับเหมาตามสัญญาว่าจ้างเฉพาะในพื้นที่ส่วนนั้น ก็จะสิ้นสุดลงไปโดยอัตโนมัติด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้
ก)   การนับระยะเวลาบำรุงรักษาควรจะต้องนับต่อเนื่องไปใช่หรือไม่? เฉพาะพื้นที่ส่วนดังกล่าว คือ แยกกันนับเป็นส่วน ๆ ไป หรือ
ข)   ระยะเวลาบำรุงรักษาควรจะนับต่อเนื่องต่อเมื่องานก่อสร้างทั้งหมดได้สร้างเสร็จ และส่งมอบอย่างเป็นการแล้วเท่านั้นหรือเปล่า? คือ นับรวมกันไปคราวเดียวกันทั้งหมด

เว้นแต่จะได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษที่เรียกว่า “Endorsement 116 – Cover for insured contract works taken over or put into service” ซึ่งระบุ “ขยายความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายต่อส่วนของงานก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น ซึ่งได้ถูกครอบครอง หรือถูกใช้งานไปแล้ว หากว่า ความสูญเสีย หรือความเสียหายดังกล่าวจะได้เกิดขึ้นมาจากการก่อสร้างดังที่ได้เอาประกันภัยไว้ในหมวดที่ 1 และได้เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยด้วย” การรับระยะเวลาบำรุงรักษาจะนับรวมกันไปคราวเดียวตามข้อ ข) ข้างต้น

ถ้ามิปรากฏมีการขยายเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวเอาไว้ จะนับตามข้อ ก) หรือข้อ ข)

คุณพิจารณาแล้วเข้าใจอย่างไรบ้างครับ? ซึ่งการที่จะหาคำตอบได้ คงจำต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงความหมายของคำว่า “การที่ผู้ว่าจ้างเข้าไปครอบครอง (taken over) หรือเข้าไปใช้งาน (taken into use) ก่อน” นั้น หมายความถึงเช่นใดกันแน่?


สัปดาห์หน้า เราจะมาคุยกันถึงคดีที่เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาในประเด็นเหล่านี้ เพื่อหาคำตอบกันนะครับ 

วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 47: ผู้ซื้อรถที่ถูกขโมยมา สามารถเอาประกันภัยได้หรือไม่?


มีผู้เอาประกันภัยรถยนต์รายหนึ่ง รถยนต์ถูกคนร้ายขโมยไป จึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ประเภทหนึ่ง

บริษัทประกันภัยรายนั้นกลับปฏิเสธความรับผิด เนื่องจากการสืบสวนข้อมูลได้ความว่า รถยนต์คันที่เอาประกันภัยนั้น ทะเบียนเป็นของปลอม และเป็นรถที่ถูกขโมยมาก่อนหน้านั้น โดยคนร้ายได้ไปจัดทำทะเบียนปลอมมาสวมแทน จากนั้น ได้นำมาประกาศขาย ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ไปซื้อมาเป็นของตน และได้จดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของตนกับหน่วยงานราชการอย่างถูกต้อง จึงนำรถคันนั้นมาทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว

เนื่องด้วยข้อมูลที่สืบค้นมาชัดเจนว่า คนขายรถยนต์คันนี้มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง ผู้เอาประกันภัยรายนี้ที่ไปซื้อต่อมา จึงไม่มีสิทธิในรถคันนี้ ทำให้ไม่มีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยรถคันนี้ได้ สัญญาประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 บริษัทประกันภัยไม่จำต้องผูกพันที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ด้วยเหตุผลดังกล่าว

เรื่องนี้ จึงเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาสู่ศาลว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้มีส่วนได้เสียในรถคันนี้หรือไม่? และบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเปล่า?

ผู้เอาประกันภัยรายนี้โต้แย้งว่า ตนซื้อรถคันนี้โดยสุจริตใจ ไม่ทราบว่า เป็นรถที่ถูกขโมยมา ทั้งเวลาที่ไปโอนทะเบียน เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการให้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งประการใด จนกระทั่งมาเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาในที่สุด

เรื่องนี้สู้กันถึงศาลฎีกา มาพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลฎีกาท่านดูนะครับ  

แม้ผู้ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรายนี้จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาท ไม่อาจโอนขายให้โจทก์ได้ก็ตาม แต่ข้อความจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับโอนรถยนต์คันพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน มีการโอนทะเบียนรถยนต์โดยเปิดเผย โจทก์ได้ยึดถือรถยนต์คันพิพาทไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน มีการแจ้งย้ายทะเบียนรถยนต์ไปยังจังหวัด ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ และครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันพิพาทตลอดมา โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองรถยนต์คันพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

โจทก์จึงมีสิทธิใช้สอยและได้รับประโยชน์จากรถยนต์คันพิพาท มีสิทธิให้ปลดเปลื้องจากการถูกรบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากบุคคลใด ตามมาตรา 1374 มีสิทธิโอนสิทธิครอบครองให้บุคคลอื่นก็ได้ ตามมาตรา 1378 และอาจได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จึงเป็นที่เห็นได้ว่า หากมีวินาศภัยเกิดขึ้นแก่รถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย คือ ต้องขาดประโยชน์ในการใช้สอยรถยนต์คันพิพาทไปจากที่เคยได้รับเป็นปกติ ทั้งผู้มีสิทธิเอาประกันภัยนั้นมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัยเท่านั้น ผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใด ๆ ซึ่งถ้ามีวินาศภัยเกิดขึ้น จะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหาย และความเสียหายที่ผู้นั้นจะได้รับสามารถประมาณเป็นเงินได้แล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิเอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้แก่จำเลย โดยมิต้องคำนึงถึงว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ เมื่อรถยนต์คันพิพาทที่เอาประกันภัยได้สูญหายไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2542)

ข้อสรุป
โดยหลักการแล้ว ถ้าบุคคลใดกระทำการโดยสุจริต จะได้รับการปกป้องจากกฎหมาย ถ้าผู้เอาประกันภัยสุจริตใจ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมา บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างกัน เมื่อเทียบเคียงกับบทความเรื่องที่ 44: สินค้าผิดกฎหมายทำประกันภัยได้หรือไม่? และบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ได้หรือเปล่า? ผลสรุปที่ได้ไม่แตกต่างกัน นี่เรียกว่า คนดี พระท่านคุ้มครองตามภาษาชาวบ้านครับ


วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 46: ผู้โดยสารในรถ (Auto Passenger) หมายถึงใคร?

(ตอนที่สาม)

ตอนที่แล้ว ได้ทิ้งท้ายในคดีศึกษาที่สี่ไว้ว่า รถยนต์คันที่เอาประกันภัยขับไปพบเห็นรถยนต์คันหน้าประสบอุบัติเหตุชนเสาไฟฟ้าข้างทาง คนขับของรถยนต์คันที่เกิดเหตุพาตัวออกจากรถมาได้อย่างทุลักทุเล แต่ไม่มีแรงพอที่จะเข้าไปช่วยดึงตัวผู้โดยสารที่ติดอยู่ในรถอีกคนหนึ่งออกมาได้ รถคันที่เอาประกันภัยซึ่งประสบเหตุเช่นนั้น ด้วยเจตนาดี และกังวัลว่า รถยนต์คันนั้นอาจจะเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ขึ้นมาได้ จึงจอดรถลงไปช่วยเหลือ โดยผู้โดยสารของรถคันที่เอาประกันภัยรีบออกจากรถไปดึงตัวผู้โดยสารโชคร้ายรายนั้นออกมาได้อย่างปลอดภัย จนมีรถพยาบาลพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลในท้ายที่สุด

ต่อมา ผู้โดยสารที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือนั้นก็ได้รับหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายจากทนายของผู้บาดเจ็บรายนั้น ซึ่งกล่าวโทษฐานที่ให้ช่วยเหลือไม่ถูกต้องตามวิธีการทางการแพทย์ จนส่งผลทำให้กระดูกข้อต่อเคลื่อนถึงขนาดผู้บาดเจ็บรายนั้นกลายเป็นอัมพาต

ประเด็นข้อพิพาท

เนื่องด้วยรถยนต์ทั้งสองคันต่างมีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้ความคุ้มครองอยู่ทั้งสองฝ่าย กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใด หรือทั้งสองฉบับ ควรรับผิดชอบสำหรับในกรณีนี้?

เงื่อนไขความคุ้มครองระบุว่า ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ ใช้ (use) คำนี้มีความหมายถึงเพียงใด? ปกติจะตีความว่า หมายถึง “การใช้ การบำรุงรักษา การขนขึ้น และการขนลง (use, maintenance, loading & unloading)

กรณีนี้เมื่อขึ้นสู่ศาล ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยที่คุ้มครองรถยนต์คันที่เกิดเหตุว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับของรถยนต์คันที่เกิดเหตุไม่คุ้มครองการกระทำของผู้ที่ไปช่วยเหลือ เพราะมิใช่เป็นทั้งผู้เอาประกันภัย หรือผู้โดยสารของรถยนต์คันนั้นเอง ทั้งการไปดึงตัวคนเจ็บออกมา ก็มิได้อยู่ในความหมายของการใช้รถคันนั้นอีกด้วย และคนทั่วไปก็มิได้ใช้รถตามปกติในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนที่ประสบเหตุแต่ประการใด ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของรถคันที่ลงไปช่วยเหลือยอมรับผิด แต่เรียกร้องให้กรมธรรม์ประกันภัยอีกฉบับมาร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย

ประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญในชั้นอุทธรณ์จึงอยู่ที่ว่า “การขนลง (unloading)” นั้น หมายความถึงเฉพาะการขนของ หรือขนคนของรถยนต์คันนั้นเพียงเท่านั้นหรือไม่? คนที่เข้ามาทำการดังกล่าวจะจำกัดเฉพาะตัวผู้เอาประกันภัยกับผู้โดยสารที่ใช้รถคันนั้นหรืออย่างไร? คนอื่นที่เข้าไปช่วยเหลือจะมิอาจได้รับความคุ้มครองหรืออย่างไร?

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำว่า ใช้ (use)” นั้น เมื่อมิได้มีคำนิยามเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จึงต้องตีความอย่างกว้างตามความเข้าใจของคนทั่วไป เช่นเดียวกับการขนลง (unloading)” ซึ่งอาจอนุญาตให้บุคคลอื่นเข้ามาช่วยได้ ดังเช่น การใช้รถ บุคคลอื่นสามารถใช้รถได้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย ดังนั้น การที่บุคคลอื่นนำตัวคนเจ็บออกจากรถของตน ก็ทำได้เช่นกัน ประกอบกับพยานในเหตุการณ์ ก็ให้การว่า คนขับรถคันที่เกิดเหตุก็อยู่ในที่เกิดเหตุ เห็นภาพการเข้าไปช่วยเหลือคนเจ็บโดยตลอด มิได้ทำการขัดขวาง หรือไม่ยินยอมแต่ประการใด แถมยังขอบคุณความมีน้ำใจของผู้ช่วยเหลืออีกด้วย จริงอยู่ คนทั่วไปอาจมิได้ใช้รถตามปกติในการให้ความช่วยเหลือผู้คน แต่คงไม่สามารถนิ่งดูดายที่จะไม่ช่วยเหลือได้ เมื่อประสบเหตุเช่นนั้น

จึงตัดสินให้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้งสองคันนั้นเข้ามาร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้บาดเจ็บดังกล่าว

อ้างอิงคดี Encompass Insurance Co. v. Coast National Insurance Co., 764 F.3d 981 (9th Cir. 2014)

ข้อสรุปบทความเรื่องนี้

จากคดีศึกษาดังกล่าว คำว่า “ผู้โดยสาร” อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ใน กำลังขึ้น หรือกำลังจากรถในขณะที่เกิดเหตุก็ได้ เช่นเดียวกับ “ใช้รถ” เพราะจะต้องพิจารณาประกอบข้อความจริงที่เกิดขึ้น ข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัย และสุดท้ายอยู่ที่ดุลพินิจของศาลท่านด้วย

ถึงแม้คดีศึกษาที่อ้างถึงจะเป็นของต่างประเทศ แต่เห็นว่า น่าสนใจเสริมเป็นความรู้ได้ และยังให้มุมมองที่ชวนคิดตรึกตรองได้หลากหลายอีกด้วย หากเรื่องเช่นนี้มาเกิดขึ้นในบ้านเรา

ผู้เขียนพยายามอย่างยิ่งจะหาเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังต่อไป ขอบคุณทุกท่านที่คอยติดตามนะครับ


วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 46: ผู้โดยสารในรถ (Auto Passenger) หมายถึงใคร?



(ตอนที่สอง)

เมื่อคำว่า “ผู้โดยสาร” ไม่มีคำนิยามเอาไว้โดยเฉพาะในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จึงจำต้องอาศัยการตีความทั่วไปว่า หมายความถึง ผู้ที่อาศัยไปกับรถยนต์ โดยจะอยู่ภายในรถยนต์คันนั้นแล้ว หรือขณะกำลังขึ้น หรือขณะกำลังลงจากรถยนต์คันนั้นก็ได้ 

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ต่างประเทศมักใช้คำว่า “ครอบครอง (occupy) แทน

ดูแล้ว เสมือนไม่ต้องตีความอะไรให้เสียเวลาอีก แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่ง่ายอย่างที่เข้าใจก็ได้นะครับ 

งั้นเรามาลองพิจารณาจากคดีศึกษาของต่างประเทศกันนะครับ

คดีแรก
ผู้บาดเจ็บนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่เอาประกันภัยไป ระหว่างทางเกิดไปเฉี่ยวชนกับรถกระบะคันหนึ่ง ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์พยายามหักรถหลบ ทำให้คนซ้อนท้ายเสียหลักหล่นกลิ้งไปอยู่ที่พื้นถนน จากนั้น รถจักรยานยนต์คันนั้นก็หลบไม่พ้น ไปชนกับรถกระบะในท้ายที่สุด ด้วยแรงชนปะทะกัน ส่งผลให้ตัวรถจักรยานยนต์คันนั้นหมุนเหวี่ยงไปกระแทกคนซ้อนท้ายที่นอนอยู่บนพื้นถนน จนได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม

ข้อพิพาท
เกิดข้อพิพาทว่า คนซ้อนท้ายที่นอนอยู่บนพื้นถนน แล้วถูกรถจักรยานยนต์หมุนเหวี่ยงมากระแทกนั้น ยังคงมีสถานะเป็นผู้โดยสารอยู่หรือไม่? เวลาที่เกิดเหตุรถสองคันชนกันดังกล่าว

คำวินิจฉัย
การที่คนซ้อนท้ายหลุดแยกจากตัวรถจักรยานยนต์มาชั่วคราว ไม่ทำให้สามารถเปลี่ยนสถานะจากคนซ้อนท้ายมาเป็นคนที่อยู่นอกรถได้โดยเด็ดขาด ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่ตกจากรถจักรยานยนต์ จนถูกรถจักรยานต์คันที่ตนโดยสารมาได้หมุนเหวี่ยงมากระแทกใส่ตนอีกครั้งนั้น ล้วนถือเป็นเหตุการณ์เดียวกันต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนทั้งสิ้น

(อ้างอิงคดี Boyson v. Kwasowsky, 2015 N.Y. Slip Op. 03964 (App. Div. 4th Dep’t May 8, 2015))

คดีที่สอง
นาย A ขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์คันหน้าที่เกิดอุบัติเหตุ จนทำให้คนขับรถยนต์คันนั้นช่วยเหลือตัวเองให้ออกจากรถไม่ได้ นาย A จึงจอดรถของตน เพื่อลงไปช่วยเหลือตามมนุษยธรรม ระหว่างเดินไปเพื่อทำการช่วยเหลือคนเจ็บ ได้มีรถคันที่สามที่วิ่งตามมาด้วยความเร็ว มองไม่เห็นอุบัติเหตุข้างหน้า ได้วิ่งเข้ามาชนรถยนต์ทั้งสองคัน ทำให้รถทั้งสองคันนั้นเหวี่ยงมากระแทกจนร่างนาย A ตกอยู่ในสภาพได้รับบาดเจ็บถูกเบียดอัดอยู่ระหว่างรถทั้งสองคันนั้นเอง 

ข้อพิพาท
คำถาม คือ นาย A ยังถือเป็นผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารได้หรือไม่? เพราะร่างของนาย A สัมผัสรถยนต์ของตนเองอยู่ ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ

คำวินิจฉัย
ศาลตีความโดยอาศัยความหมายทั่วไปของการอยู่บนรถ ในรถ กำลังขึ้น หรือกำลังลง เมื่อนาย A ได้เปิดประตูก้าวออกจากรถ พร้อมปิดประตูรถของตน และได้ก้าวเดินไปแล้ว จึงเกิดเหตุขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วว่า นาย A มิได้ตกอยู่ในสภาพของผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารแล้วแต่กรณี อีกต่อไปแล้ว การที่ยังมีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับตัวรถยนต์อยู่ ไม่ส่งผลทำให้ยังคงมีสภาพของผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารได้ตามความหมายทั่วไปดังกล่าว

(อ้างอิงคดี U.S. Fid.& Guar. Co. v. Goudeau, No. 06-0987 (Tex. 2008))

คดีที่สาม
รถยนต์คันที่เอาประกันภัยเกิดยางแบน ผู้เอาประกันภัยจึงจอดรถข้างทาง เพื่อทำการเปลี่ยนยาง ขณะที่กำลังก้มตัวลงไปดึงเอายางอะไหล่ที่เก็บอยู่ช่องเก็บของท้ายรถออกมาอยู่นั้น ได้ปรากฏมีรถยนต์คู่กรณีวิ่งมาชนอัดร่างผู้เอาประกันภัยเข้ากับตัวรถจนได้รับบาดเจ็บ

ข้อพิพาท
ผู้เอาประกันภัยจะยังได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารหรือไม่? ในเมื่อเวลาเกิดเหตุ ผู้เอาประกันภัยยืนอยู่นอกตัวรถ แม้ส่วนบนของร่างกายจะอยู่ในระหว่างการโน้มตัวลงไปในช่องเก็บของท้ายรถก็ตาม

คำวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นตีความว่า ไม่อยู่ในสถานะเป็นผู้อยู่ในรถยนต์คันนั้น แต่ศาลอุทธรณ์มีความเห็นต่างว่า บางส่วนของตัวผู้เอาประกันภัยอยู่ในรถแล้ว ในขณะที่เกิดเหตุนั้นขึ้นมา

(อ้างอิงคดี Madden v. Farm Bureau Mutual Auto. Ins. Co., 82 Ohio App. 111, 79 N.E.2d 586 (Ct. App. 1948))

คดีที่สี่
ผู้โดยสารของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยลงจากรถ เพื่อไปช่วยผู้โดยสารของรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งเกิดอุบัติเหตุขับไปชนเสาไฟฟ้า ด้วยเกรงว่า รถยนต์คันนั้นจะเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ขึ้นมา และตัวผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บนั้นเสมือนหนึ่งช่วยเหลือตัวเองให้ออกจากรถไม่ได้

ภายหลังจากได้ช่วยเหลือคนเจ็บออกมา และได้มีรถพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลเรียบร้อยไปแล้ว 

ข้อพิพาท
ต่อมา ปรากฏว่า ผู้บาดเจ็บนั้นซึ่งได้รับบาดเจ็บถึงขนาดเป็นอัมพาตได้มาฟ้องเรียกค่าชดเชยจากผู้โดยสารของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยผู้ซึ่งลงไปช่วยเหลือ โดยกล่าวหาว่า เพราะเคลื่อนตัวคนเจ็บไม่ถูกวิธี จึงส่งผลทำให้เกิดเป็นอัมพาตขึ้นมา 

คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้โดยสารที่ถูกฟ้องรายนี้ได้ไหมครับ?

ขอยกยอดไปต่อตอนที่สามก็แล้วกัน พร้อมกับข้อสรุปสุดท้ายของบทความเรื่องนี้