วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 43: แล้วที่เขียนว่า ต่อความเสียหาย (Loss) หรือต่อค่าสินไหมทดแทน (Claim) แต่ละครั้ง และทุกครั้งล่ะ สำคัญไหม?



แรกทีจะไปพูดถึงเรื่องอื่นบ้าง แต่พอดีมีประเด็นต่อเนื่องจากเรื่องที่ผ่านมาอีกนิดนึง จึงขอนำมากล่าวถึงเสียเลย

หลายท่านเมื่ออ่านข้อกำหนดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน บ่อยครั้งจะพบข้อความดังตัวอย่างต่อไปนี้ว่า

ความคุ้มครอง : ภัยน้ำท่วม ในวงเงินไม่เกิน 50,000,000.00 บาท 
                      ต่อครั้ง และตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย

หรือ

กรมธรรม์ฉบับนี้ขยายความคุ้มครองถึงภัยลมพายุ, ภัยแผ่นดินไหว, ภัยน้ำท่วม, ภัยจากลูกเห็บในวงเงินทุกภัยรวมกันไม่เกิน 10,000,000.00 บาท ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง และตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย

คำว่า “ต่อครั้ง” กับ “ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง” จะมีความหมายเหมือนกันหรือเปล่า? 

คงตอบได้ว่า เหมือนกันครับ และดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องที่ผ่านมา ถ้ามิได้มีการกำหนดคำนิยามอย่างชัดแจ้งระหว่างคำว่า “อุบัติเหตุ” กับ “เหตุการณ์” ก็ใช้สลับทดแทนกันได้

แต่ถ้าไปเจอคำว่า “ต่อความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง (each and every loss)” กับ “ต่อค่าสินไหมทดแทนแต่ละครั้ง และทุกครั้ง (each and every claim)” แล้วล่ะก้อ ซึ่งมักนิยมเขียนถึงความเสียหายส่วนแรก (Deductible) หรือความรับผิดส่วนแรก (Excess) ซึ่งล้วนเป็นกรณีที่เป็นจำนวนเงินส่วนแรกผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง ส่วนที่เกินจากวงเงินดังกล่าว บริษัทประกันภัยถึงจะรับผิดชอบให้

ดังตัวอย่าง
1) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ความเสียหายส่วนแรก : 10% ของความเสียหาย ขั้นต่ำ 
                                100,000.00 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูง
                                กว่ากันของความสูญเสีย หรือความเสีย   
                               หายจากภัยน้ำท่วม ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
                               และตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย

2) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ
ความเสียหายส่วนแรก : 6,000 บาทแรก ของความเสียหายต่อรถ 
                                 ยนต์ ที่เกิดจากการชน การคว่ำ

โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยจะประกอบด้วยสองคำหลัก คือ คำว่า “ความสูญเสีย (Loss)” หมายความถึง ความสูญเสียโดยสิ้นเชิง หรือเสมือนหนึ่งสิ้นเชิง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ไม่คุ้มค่าซ่อม บริษัทประกันภัยยินดีจ่ายเต็มวงเงินคุ้มครองมากกว่า หรือหมายรวมถึงการสูญหายไป อีกคำหนึ่งคือ “ความเสียหาย (Damage)” นั้น หมายความถึง ความเสียหายบางส่วนที่สามารถซ่อมแซม หรือเปลี่ยนทดแทนบางส่วนได้

บางครั้ง คำว่า “ความสูญเสีย (Loss)” อาจหมายความรวมถึงทั้งความสูญเสีย  หรือความเสียหาย โดยเป็นคำเรียกรวมกันไปเลย
เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังในคำนิยามเฉพาะของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

คำว่า ความเสียหาย (Damage)”  หมายความถึง ความสูญเสีย   

                                               หรือความเสียหายทางกายภาพ 

                                               ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนที่เกิด

                                             ขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

                                             ไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัย 

                                             ฉบับนี้

                                             (any physical loss or damage 
                                             either partial or total to 
                                             property insured under this 
                                             Policy.)
คำว่า "ความเสียหายส่วนแรก"       หมายความถึง จำนวนเงินซึ่ง
                                             ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ
                                             เองตามที่ระบุไว้ในตาราง
                                             กรมธรรม์ประกันภัยต่อความเสีย
                                             หายแต่ละครั้ง และทุกครั้งที่ได้
                                             รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 
                                             (each and every claim 
                                              payable) ตามกรมธรรม์ประกัน
                                             ภัยนี้

ดังนั้น เมื่อมาพิจารณาตัวอย่างที่หนึ่งประกอบกับคำนิยามข้างต้น สมมุติภัยน้ำท่วมกำหนดวงเงินความคุ้มครองสูงสุดไว้ที่ 10,000,000.00 บาท ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง และตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย ต่อมาเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นสร้างความเสียหายทั้งสิ้น 15,000,000 บาท

บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ คือ 10,000,000.00 บาทเท่านั้น แต่เนื่องด้วยมีความเสียหายส่วนแรกกำหนดไว้ที่ 10% ของความเสียหาย ขั้นต่ำ 100,000.00 บาท นั่นคือ บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้จริงเพียง 9,000,000 บาท (10,000,000 – 1,000,000) ในกรณีนี้ โอกาสที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มวงเงินจึงไม่มี เนื่องด้วยบริษัทประกันภัยต้องการให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมรับผิดอย่างเต็มที่ด้วยนั่นเอง ทั้งในคำนิยามได้ระบุให้ไปหักความเสียหายส่วนแรกจากค่าสินไหมทดแทน (claim) ซึ่งบริษัทประกันภัยจะทำจ่าย

สำหรับตัวอย่างที่สอง กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ กำหนดคำนิยามที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้
ความเสียหายส่วนแรก หมายถึง ส่วนแรกของความรับผิด หรือ
                                             ความเสียหาย อันมีการคุ้มครอง
                                             ตามข้อสัญญา หรือเอกสารแนบ
                                             ท้ายแห่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้ที่
                                             ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ
                                             เอง

สมมุติ ผู้เอาประกันภัยซื้อรถยนต์ใหม่มาหนึ่งคัน ราคาหนึ่งล้านบาท ครั้นนำไปทำประกันภัย บริษัทประกันภัยยอมรับคุ้มครองให้ในวงเงินแปดแสนบาทเท่านั้น หากเกิดอุบัติเหตุ รถพลิกคว่ำได้รับความเสียหายเสมือนสิ้นเชิง บริษัทประกันภัยตกลงจะชดใช้เต็มวงเงินคุ้มครอง แต่ประเด็นมีปัญหาอยู่ที่จะนำเอาความเสียหายส่วนแรกไปหักตรงตัวเลขใด

ทางเลือกที่หนึ่ง 800,000 บาท หักด้วย 6,000 บาท = 794,000 บาท

ทางเลือกที่สอง 1,000,000 บาท หักด้วย 6,000 บาท = 994,000 บาท

เมื่อพิจารณาจากคำนิยามแล้ว ต้องใช้ทางเลือกที่สองคำนวณ เพราะคำว่า “ความเสียหาย” มิได้มีความหมายเฉพาะ จึงตีความว่า เป็นความเสียหาย (Loss) ที่เกิดขึ้นจริงกับผู้เอาประกันภัยรายนี้ ซึ่งคือ 1,000,000 บาท แต่วงเงินคุ้มครองสูงสุดไม่เกินทุนประกันภัย 800,000 บาท ฉะนั้น บริษัทจะต้องพิจารณาชดใช้ให้เต็มทุนประกันภัยดังกล่าว

ในกรณีนี้ ผู้เอาประกันภัยจะมีโอกาสได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มทุนประกันภัย

คำว่า “ต่อความเสียหาย (Loss)” หรือ “ต่อค่าสินไหมทดแทน (Claim) แต่ละครั้ง และทุกครั้ง” นั้น หากเขียนเต็ม ก็คือ “ต่อเหตุการณ์ความเสียหาย (Loss Event)” หรือ “ต่อค่าสินไหมทดแทน (Claim Event) แต่ละครั้ง และทุกครั้ง
ซึ่ง “Event” หรือ “Occurrence” ก็ให้ความหมายอย่างเดียวกัน

ประเด็นปัญหาถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยยังมีอีกมากมาย จะทยอยนำมาเขียนในคราวต่อไปนะครับ

วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?



(ตอนที่สี่)      

กรณีที่ฝากเป็นการบ้านเอาไว้ที่ผู้ขับรถดัมพ์ถอยรถไปทับคน โดยขณะนั้น ไม่รู้ว่าทับคน คิดว่าเพียงเหยียบอะไรบางอย่าง จึงขับเดินหน้าไปอีกที เป็นการทับคนซ้ำครั้งที่สอง แล้วหยุดรถลงมาดูว่า ตนเองขับรถทับอะไร?

ถ้าเรามาวิเคราะห์โดยอาศัยทฤษฏีเหตุ (Cause Theory) ซึ่งมองที่พฤติกรรมของผู้กระทำเป็นเกณฑ์นั้น ดูเสมือนหนึ่งการขับรถถอยหลังไปทับคนครั้งแรก กับการเดินหน้าไปทับคนซ้ำครั้งที่สอง ล้วนอยู่ในการบังคับควบคุมของคนขับทั้งสองครั้ง ตีความออกมาได้เป็นสองเหตุการณ์ 

หากอาศัยทฤษฏีผล (Effect Theory) ซึ่งมองที่ผู้เสียหายเป็นหลัก ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกัน เพราะการขับรถทับผู้เสียหายสองครั้ง ก็ถือเป็นสองเหตุการณ์ด้วย

หรือคุณคิดไว้ต่างจากนี้?

โชคดีที่ผู้เสียหายที่ถูกรถทับรายนี้เพียงได้รับบาดเจ็บเท่านั้น จึงมาเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยที่คุ้มครองรถดัมพ์คันนั้นให้รับผิดชอบ โดยมีวงเงินคุ้มครองสูงสุด 500,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง และในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้กำหนดนิยามคำว่า “อุบัติเหตุ” หมายความถึง “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน มิได้คาดหวัง และมิได้เจตนา หรือเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือซ้ำ ๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว จนทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โดยมีสาเหตุมาจากการเป็นเจ้าของ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถคันที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัย” 

(ดังที่เคยกล่าวไว้แล้ว ถ้ามิได้มีคำนิยามเฉพาะของคำว่า “เหตุการณ์” แยกต่างหาก ให้ถือว่า คำว่า “อุบัติเหตุ” กับ “เหตุการณ์” สามารถใช้ทดแทนกันได้)

ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับผู้เสียหายว่า เป็นอุบัติเหตุ/เหตุการณ์สองครั้ง จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย สำหรับอุบัติเหตุ/เหตุการณ์ทั้งสองครั้งรวมเป็นเงินสูงสุด 1,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐ

บริษัทประกันภัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์เป็นเหตุการณ์เดียวกันต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน จากการถอยรถทับครั้งแรก ส่วนการเดินหน้าทับครั้งที่สองนั้น ก็มิได้อยู่ในการบังคับควบคุมของผู้ขับขี่ได้อย่างแท้จริงเลย จึงพิพากษากลับให้บริษัทประกันภัยชดใช้เพียงสูงสุดไม่เกิน 500,000 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น

อ้างอิงคดี Progressive Ins. Co. v. Derby 2001 WL 672177 (Ohio App. 6 Dist.)

คุณเห็นด้วยไหมครับ?

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าทฤษฏีเหตุ หรือทฤษฏีผลก็ยังไม่อาจตอบสนองกรณีที่มีการกระทำความผิดแก่เหยื่อผู้เสียหายหลายรายเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนาน ๆ อย่างเช่นกรณีล่วงละเมิดทางเพศ หรือเรื่องมลภาวะ เป็นต้น จึงได้มีการคิดค้นทฤษฏีเพิ่มเติมโดยผสมผสานทั้งสองทฤษฏีเข้ามาประกอบกับการพิจารณาถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวม ซึ่งเรียกว่า “ทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate Events Theory)

ตัวอย่างคดีสำหรับทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย คือ

รถดัมพ์คันหนึ่งวิ่งไปตามถนนหลวง แล้วจู่ ๆ กระบะดัมพ์ก็ยกตัวไปเกี่ยวกับสะพานทางข้าม จนกระบะดัมพ์หลุดแยกจากตัวรถหล่นไปอยู่บนพื้นถนน จากนั้นไม่นาน มีรถตู้คันหนึ่งวิ่งไปชนกระบะดัมพ์นั้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย อึดใจต่อมา ก็มีรถอีกคันแล่นไปชนกระบะดัมพ์ซ้ำอีกที คนในรถคันนั้น ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน รวมแล้วเกิดการชนทั้งหมดสามครั้ง อย่างนี้ จะถือเป็นกี่อุบัติเหตุ/เหตุการณ์กันแน่?

ถ้ามองว่า เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนมีต้นเหตุมาจากการที่กระบะของรถดัมพ์ไปเกี่ยวสะพานข้ามทั้งสิ้น การชนอีกสองครั้งที่ติดตามมา ก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น น่าจะถือเป็นอุบัติเหตุ/เหตุการณ์เดียวได้ ใช่หรือไม่?

ศาลในคดีนี้วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์กระบะดัมพ์ไปเกี่ยวกับสะพานจนหล่นไปตกบนพื้นถนนนั้น มิได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดการชนอีกสองครั้งตามมา ทั้งรถตู้ที่วิ่งไปชนกระบะดัมพ์ก่อน ก็มิได้เสียหลักเหวี่ยงตัวไปชนรถคันที่สามแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีการชนของรถทั้งสามคัน จึงไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยไม่ขาดตอนแต่ประการใด แม้ช่วงเวลาการชนทั้งสามครั้งจะเกิดต่างกันชั่วไม่กี่วินาทีก็ตาม ถึงแม้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะกำหนดนิยามคำว่า “อุบัติเหตุ” ให้ความบาดเจ็บทางร่างกายกับความเสียหายทางทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลมาจากภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือซ้ำซ้อนจากสภาวะการณ์เดียวกัน ให้ถือรวมเป็นหนึ่งอุบัติเหตุก็ตาม   

(อ้างอิงคดี Itzkowitz v. Nat’l Liab. & Fire Ins. Co., 2015 WL 5332109 (2d Cir. Sept. 15, 2015), as amended (Sept. 22, 2015)

ลองเทียบเคียงกับคดีต่อไปนี้ของไทยดูก็แล้วกันนะครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1281/2546
จำเลยใช้เหล็กทุบทำลายกระจกรถยนต์ 9 คัน ทั้งยังได้ลักทรัพย์ และพยายามลักทรัพย์ในรถยนต์ทั้ง 9 คันด้วย แม้จำเลยอาจจะเมาสุราขาดสติเพียงครั้งเดียว และได้กระทำความผิดในคราวเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำต่อรถยนต์ถึง 9 คัน ซึ่งเป็นของผู้เสียหายคนละคนกัน โดยจำเลยกระทำความผิดทีละคัน และคนละเวลากัน แม้จะเป็นเวลาที่ต่อเนื่องใกล้ชิดกัน แต่การกระทำความผิดในรถยนต์แต่ละคัน ก็เป็นความผิดสำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ได้กระทำต่อรถยนต์ทุกคันมิใช่กรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2534

ขณะที่จำเลยยิงผู้ตายทั้งสอง ผู้ตายทั้งสองอยู่ด้วยกันในห้องนอน จำเลยยิงนาย ล. ก่อน แล้วจึงยิงนาง น. จำเลยยอมรับว่า จำเลยยิงนาย ล. 2 นัด แล้วจึงยิงนางน. 1 นัด แสดงว่าในการยิงปืนแต่ละนัด ความประสงค์และจุดมุ่งหมายของจำเลยได้แยกออกจากกันว่า กระสุนนัดใดจำเลยยิงผู้ตายคนใด เจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสองในขณะจำเลยลงมือกระทำความผิด จึงแยกออกจากกันได้ ความต้องการให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย แม้จะเกิดขึ้นในใจของจำเลยพร้อม ๆ กัน และต่อเนื่องกับการลงมือกระทำความผิด ก็มิใช่เจตนาในขณะที่จำเลยลงมือกระทำความผิด การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2546

การที่จำเลยที่ 1 ลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ของธนาคาร ก. ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่า ไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายในครั้งเดียวได้หมด เพราะมีข้อจำกัดของธนาคารเกี่ยวกับจำนวนเงินในการเบิกถอน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำบัตรดังกล่าวไปเบิกถอนเงินในวันเวลาและสถานที่ต่าง ๆ กันหลายจังหวัด ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ต้องการใช้บัตรนั้นเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายเป็นคราว ๆ ไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้บัตร เอ.ที.เอ็ม. เบิกถอนเงิน 60 ครั้ง เป็นความผิด 60 กระทง เมื่อรวมกับความผิดฐานลักบัตรดังกล่าวอีก 1 กระทง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดรวม 61 กระทง

คำพิพากษาฎีกาที่ 5684/2546
จำเลยที่ 1 ลักบัตรเครดิตของโจทก์ร่วมไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติถึง 2 ครั้ง เป็นเงิน 20,000 บาท นั้น เพราะจำเลยที่ 1 ไม่อาจถอนเงินได้ในครั้งเดียว เพราะขัดต่อระเบียบของธนาคาร เห็นได้ว่า หากจำเลยที่ 1 สามารถถอนเงินได้เพียงครั้งเดียวในจำนวนสูงสุด จำเลยที่ 1 คงไม่ถอนเงินอีกเป็นครั้งที่ 2 เป็นข้อยืนยันว่า การถอนเงินของจำเลยที่ 1 เกิดจากเจตนาอันเดียวกันที่จะถอนเงินให้ได้มากที่สุดในครั้งนั้น จึงถอนเงินต่อเนื่องกันไป การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียว มิใช่ต่างกรรม

กรรมเป็นเรื่องของเจตนาจริง ๆ

แม้แนวคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยจะเป็นคดีอาญาที่เน้นเรื่องเจตนาเป็นสำคัญ แต่ผมเห็นว่า สามารถเทียบเคียงกับเรื่องจำนวนของอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่เราพูดถึงกันได้ หลักการไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก ถ้าเราจับหลักการได้ ก็น่าจะช่วยในการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และไม่จำกัดว่า จะต้องเป็นเรื่องของการประกันภัยรถยนต์เท่านั้น 

ฉะนั้น บางท่านที่เคยสอบถามเรื่องข่าวรถชนวินาศสันตะโรในกรุงเทพฯ เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา จะลองนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้ ก็เชิญตามอัธยาศัยนะครับ

ต่อไป เราคงสลับไปคุยเรื่องอื่นบ้าง

วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?



(ตอนที่สาม)

อนึ่ง กรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดคำนิยามของ “อุบัติเหตุ (Accident)” หรือ “เหตุการณ์ (Occurrence)” เอาไว้เป็นพิเศษ ศาลต่างประเทศจะพิจารณาให้ทั้งสองคำนี้ใช้แทนกันได้ จึงน่าสนใจว่า ในประเทศไทย กรมธรรม์ประกันภัยส่วนใหญ่มิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้เลย แต่กลับพบเห็นทั้งสองคำนี้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยทั้งในส่วนของวงเงินความคุ้มครอง และความเสียหายส่วนแรกอยู่บ่อยครั้ง เวลาเมื่อเกิดข้อพิพาทจะตีความกันอย่างไร? จะอาศัยอ้างอิงความหมายจากพจนานุกรมศัพท์ประกันภัยเพียงพอหรือไม่?

สำหรับทฤษฎีที่สอง คือ ทฤษฏีผล (Effect Theory) นั้น จะมองที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเกณฑ์ โดยจำแนกจำนวนผู้บาดเจ็บ/ผู้เสียชีวิต หรือทรัพย์สินที่เสียหาย  แต่ละราย หรือแต่ละชิ้นเป็นหนึ่งอุบัติเหตุ

เมื่อพิจารณาจากพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)” หมายความถึง “ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันภัยจะจำกัดจำนวนความรับผิดสูงสุดไว้สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เช่น ในกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนทำให้ผู้โดยสารในรถยนต์ 2 คน ได้รับบาดเจ็บ ก็ถือว่าอุบัติเหตุที่ผู้โดยสาร 2 คน ได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นเหตุการณ์เดียวกัน

ถ้ามองจากทฤษฎีเหตุ ถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ แต่ถ้าอาศัยทฤษฏีผล กลับถือเป็นสองอุบัติเหตุ โดยถือความบาดเจ็บของผู้โดยสารในรถยนต์แต่ละรายเป็นหนึ่งอุบัติเหตุแยกจากกัน ซึ่งทำให้ทฤษฏีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ

เมื่อสังเกตุ ทฤษฏีเหตุจะเน้นไปที่การกระทำของผู้เอาประกันภัย หรือผู้กระทำความผิดเป็นเกณฑ์ว่า อยู่ในความควบคุมของเขาได้หรือไม่?

ลองดูตัวอย่างนี้นะครับ
ผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์โดยประมาทไปชนท้ายรถคู่กรณีคันแรก แล้วพยายามเบี่ยงรถเพื่อหลบหนี ทำให้เกิดไปชนกับรถยนต์คู่กรณีคันที่สองจนไปไม่รอด คุณคิดว่า เหตุการณ์เช่นนี้ จะตีความเป็นหนึ่งเหตุการณ์ หรือสองเหตุการณ์ดีครับ

ถ้าอาศัยทฤษฏีเหตุข้างต้น จำต้องพิจารณาการชนครั้งที่สองจะถือเป็นเหตุต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนหรือเปล่า? ถ้าใช่ ก็เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็เป็นสองเหตุการณ์ 

ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่า การชนครั้งที่สอง ผู้เอาประกันภัยยังสามารถควบคุมรถยนต์ของตนได้หรือไม่? การพยายามขับรถหนี ตอบคำถามนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นเหตุการณ์ที่สอง ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันไม่กี่วินาที และระยะทางไม่กี่ฟุต (อ้างอิงคดี Ennis v. Reed, Del. Super., 467 C.A. 1977 (April 4, 1978))

งั้นผมมีการบ้านฝากให้ทำหนึ่งข้อ 
แล้วถ้าผู้ขับรถดัมพ์ถอยรถไปทับคน โดยขณะนั้น ไม่รู้ว่าทับคน คิดว่าเพียงเหยียบอะไรบางอย่าง จึงขับเดินหน้าไปอีกที เป็นการทับคนซ้ำครั้งที่สอง แล้วหยุดรถลงมาดูว่า ตนเองขับรถทับอะไร? กรณีนี้ คุณคิดว่า เป็นหนึ่งเหตุการณ์ หรือสองเหตุการณ์กันแน่ครับ

แล้วเรากลับมาคุยกันอีกทีหลังเทศกาลสงกรานต์ ขอให้มีความสุขสดชื่น และปลอดภัยในช่วงเทศกาลนะครับ