วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558




ผู้เอาประกันภัยมิใช่ผู้เอาประกันภัย

ถ้าตั้งคำถามว่า “ผู้เอาประกันภัย” คือใคร เราจะได้คำตอบ ดังนี้
-          ผู้เอาประกันภัย คือ ผู้ซื้อประกันภัย
-          ผู้เอาประกันภัย คือ คนที่เป็นคู่สัญญากับผู้รับประกันภัย
-          ผู้เอาประกันภัย คือ คนที่ชำระเบี้ยประกันภัย[1]
-          ผู้เอาประกันภัย คือ คนที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย[2]
-          ผู้เอาประกันภัย คือ ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย[3]
-          ผู้เอาประกันภัย คือ ผู้ที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย[4]
-          ผู้เอาประกันภัย คือ บุคคล หรือนิติบุคคล ตามที่ปรากฏชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในหน้าตารางกรมธรรม์ ซึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกัน 
         ภัยให้แก่บริษัทประกันภัย

แล้วถ้ามีคำถามต่อไปว่า
-          ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย จะมาเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเวลาเมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเสียหายได้หรือไม่

คำตอบ คือ คงไม่ได้ เพราะสัญญาประกันภัยนั้น ไม่มีผลผูกพัน

-          และถ้าคนที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่มิใช่เป็นผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยยังต้องรับผิดชอบให้ได้หรือไม่  

เชื่อว่า ร้อยทั้งร้อย น่าจะตอบว่า ไม่ เพราะมิได้มีความสัมพันธ์อะไรกับบริษัทประกันภัยตามสัญาประกันภัยเลย

งั้นเรามาดูเรื่องนี้กัน

นาย ก. เอารถของภรรยามาขับโดยประมาทแซงซ้ายรถคู่กรณีด้วยความเร็ว แต่ปรากฏไปเจอรถจักรยานยนต์วิ่งอยู่ในช่องทางซ้าย จึงหักหลบเบียดเข้ามาในเลนขวาที่รถคู่กรณีวิ่งอยู่ รถคู่กรณีจึงเบนหนี ส่งผลทำให้ทั้งรถนาย ก. กับรถคู่กรณีหมุนคว้างจนได้รับความเสียหายทั้งสองคัน คู่กรณีจึงฟ้องนาย ก. เป็นจำเลยที่ 1 ภรรยาของนาย ก. ในฐานะเจ้าของรถคันที่ก่อเหตุ เป็นจำเลยที่ 2 เนื่องจากรถคันนี้มีประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอยู่โดยระบุชื่อ นาย เอ เป็นผู้เอาประกันภัย และตกเป็นจำเลยที่ 3 ด้วยเช่นเดียวกับบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองรถคันก่อเหตุนี้ เป็นจำเลยที่ 4 ให้ร่วมกัน หรือแทนกันรับผิดต่อโจทก์ 

จากการนำสืบ รถคันที่ก่อเหตุเป็นรถคันที่ได้เอาประกันภัยไว้จริงตามหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยจำเลยที่ 4 โดยมีภรรยานาย ก. จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามทะเบียนรถยนต์ และยินยอมให้นาย ก. สามีซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 นำรถคันนั้นไปใช้จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ขึ้นมา ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยนั้น  นาย ก. จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่รู้จักเป็นใคร เพียงแต่จำได้ว่า เพื่อนคนหนึ่งรู้จักในชื่อเล่นว่า ซี มาขอยืมรถคันนี้ไปขับ และเป็นช่วงเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันนี้กำลังจะหมดอายุพอดี จึงฝากให้นาย ซี ไปช่วยทำประกันภัยให้ด้วย ส่วนนาย ซี จะเป็นคนเดียวกับนาย เอ ที่ถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยหรือเปล่า ตนเองไม่แน่ใจ เพราะไม่ทราบชื่อจริงของนาย ซี 

คดีนี้ ศาลมีความเห็นว่า เนื่องด้วยจำเลยที่ 4 บริษัทประกันภัยไม่นำสืบว่า ทำไมถึงยอมรับประกันภัยรถยนต์คันนี้ในชื่อของนาย เอ ทั้งที่น่าจะทราบได้ว่ามิใช่เป็นเจ้าของ หรือผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าว ตามพฤติการณ์ที่รับฟังมา จึงเชื่อว่า นาย เอ ถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2  ภรรยานาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้น และในฐานะเป็นตัวการโดยไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งสามารถกลับมาแสดงตนเพื่อถือเอาสิทธิตามสัญญาประกันภัยได้[5] โดยมีนาย ก. จำเลยที่ 1 รับมอบหมายให้ช่วยจัดการดูแลแทนอีกช่วงหนึ่ง ดังนั้น  จำเลยที่ 4 บริษัทประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน (คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 2888/2553)

เรื่องนี้ให้อุทาหรณ์ว่า ขั้นตอนการพิจารณารับประกันภัยเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งในฝ่ายของผู้จะเอาประกันภัยกับฝ่ายผู้จะรับประกันภัย ควรใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบ เพราะบางกรณี ทะเบียนรถยนต์ หรือกระทั่งทะเบียนบ้านก็มิใช่สิ่งที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการมีกรรมสิทธิ์ หรือส่วนได้เสียในทรัพย์สินนั้นเสมอไป ผลของการทำประกันภัยโดยไม่มีส่วนได้เสียนั้น สัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพัน คือ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมา บริษัทประกันภัยอาจปฎิเสธไม่ผูกพันด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ก็ได้ แม้จากตัวอย่างคำพิพากษานี้ จะเปิดช่องให้ผู้เอาประกันภัยสามารถหยิบยกหลักกฎหมายตัวการตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาโต้แย้งได้ก็ตาม ทางที่ดี ควรทำให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น จะดีที่สุด

ประเด็นปัญหาที่เทียบเคียงกับเรื่องนี้ได้ ซึ่งมักหยิบยกขึ้นมาถกกันอยู่บ่อยครั้ง และเป็นเรื่องที่ถือปฎิบัติกันอยู่ทั่วไป เป็นต้นว่า
1)       ลูกเป็นตัวแทนประกันภัย นำบ้านของพ่อแม่ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่มาทำประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัย โดยระบุชื่อตนเองเป็นผู้เอาประกันภัย และชำระเบี้ยประกันภัยเองได้หรือไม่
2)       สามีนำบ้านที่เป็นสินสมรส มาทำประกันภัยเต็มมูลค่าทั้งหลัง โดยใส่ชื่อสามีเป็นผู้เอาประกันภัยคนเดียว เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้บ้านเสียหายทั้งหลัง บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ใครบ้าง อย่างไร
3)       ลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับพ่อแม่ พ่อและ/หรือแม่ จะมีสิทธิเอาประกันภัยทรัพย์สินของลูกคนนั้นด้วยได้หรือไม่
4)       ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายจะมีส่วนได้เสียเอาประกันชีวิตสามีได้หรือไม่
5)       นายจ้างจะสามารถเอาประกันชีวิตลูกจ้างได้หรือไม่
                             ฯลฯ 

ฝากช่วยกันคิดเป็นการบ้านด้วย คราวต่อไป เราค่อยคุยกันต่อในประเด็นเหล่านี้
  


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 วรรคสาม
[2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 วรรคสอง
[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 วรรคสี่กับวรรคห้า
[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863
[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น