วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558



คนกลางมิใช่คนกลาง ตัวแทนไม่ใช่ตัวแทน นายหน้าไม่ใช่นายหน้า

ข่าวประกันภัยหลอกที่ว่า ซื้อประกันภัยรถยนต์ผ่านโบรกเกอร์ตัวแทนแล้ว พอเกิดเหตุ บริษัทประกันภัยปฎิเสธยังไม่ได้รับประกันภัย ซึ่งฮือฮากันในช่วงไม่นานมานี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขาดความเข้าใจ และความสับสนในธุรกิจประกันภัย กอปรกับปัจจุบัน การโฆษณาเชิญชวนให้คนมาซื้อประกันภัย เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อาจสร้างให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ แม้กระทั่งคนที่อยู่ในธุรกิจประกันภัยเอง ทำให้ต้องหวนกลับมาคิดทบทวนกระบวนการซื้อขายประกันภัยกันอีกครั้ง

ช่องทางการซื้อขายประกันภัย
ธุรกิจประกันภัยจัดช่องทางการซื้อขายออกเป็นสองช่องทางใหญ่ ๆ คือ ช่องทางแรก ซื้อตรงกับบริษัทประกันภัย และช่องทางที่สอง ซื้อผ่านคนกลาง ซึ่งช่องทางแรก ปัญหามักจะน้อย ขณะที่ช่องทางที่สองจะเกิดเป็นปัญหาบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นช่องทางหลักในการซื้อขายประกันภัยกันเลย ที่เป็นข่าวขึ้นมา ก็มาจากช่องทางนี้

แนวความคิดคนกลางประกันภัย
เรามาดูกันก่อนว่า คนกลาง คือใคร ในที่นี้ คนกลางประกันภัย คือ คนที่ชักนำให้ทั้งผู้จะซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ผู้จะขายมาตกลงซื้อขายประกันภัยกัน เมื่อตกลงกันได้แล้ว สัญญาประกันภัยก็เกิดขึ้นมา มีผลผูกพันกับคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งเมื่อนั้น ผู้จะซื้อประกันภัยจะกลายมาเป็น “ผู้เอาประกันภัย” ที่มีหน้าที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัย ส่วนบริษัทประกันภัยผู้จะขาย กลายเป็นที่เรียกตามภาษากฎหมายว่า “ผู้รับประกันภัย” หรือใช้คำทั่วไปว่า “บริษัทประกันภัย” ก็จะตอบแทนผู้เอาประกันภัย ด้วยการให้ความคุ้มครองตามที่ได้ตกลงกัน ส่วนคนกลางที่ชักนำมานั้น จะได้ค่าตอบแทนเป็นค่าบำเหน็จจากบริษัทประกันภัย ฉะนั้น โดยหลักการแล้ว คนกลางประกันภัยมิใช่เป็นพนักงานขายของบริษัทประกันภัยแต่ประการใด แต่อย่างที่เกริ่นตอนต้น ด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ออกไปเสมือนหนึ่งก่อให้เกิดการรับรู้ในลักษณะนั้น
คนกลางประกันภัยนั้นจะประกอบด้วย คนที่เรียกว่า “ตัวแทนประกันภัย” กับอีกคนที่เรียกว่า “นายหน้าประกันภัย” ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับหลักกฎหมายสองฉบับ คือ หลักกฎหมายทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทนกับนายหน้า และหลักกฎหมายเฉพาะธุรกิจประกันภัยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนของการประกันวินาศภัย

บทบาทหน้าที่คนกลางตามหลักกฏหมายทั่วไป
ตามหลักกฎหมายทั่วไปเสียก่อน คำว่า “ตัวแทน” หมายความถึง ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อื่นให้กระทำการแทน อาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้[1] ซึ่งตัวแทนโดยปริยายนั้น จะมีคำเรียกว่า “ตัวแทนเชิด”[2] ส่วนผู้ที่มอบหมายให้ตัวแทนทั้งสองลักษณะกระทำการแทนนั้น จะเรียกว่า “ตัวการ” โดยหลักการแล้ว ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทน นอกจากจะได้มีการกำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่น[3] ตัวการต้องรับผิดชอบในการกระทำในขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายของตัวแทน เว้นแต่ตัวแทนได้กระทำการเกินเลยไปจากนั้น ตัวแทนจึงต้องรับผิดตามลำพัง[4]

ส่วนคำว่า “นายหน้า” หมายความถึง ผู้ที่ชี้ช่องหรือชักนำให้คนอื่นมาตกลงทำสัญญาระหว่างกัน หรือเป็นธุระจัดการให้คนอื่นมาตกลงทำสัญญากัน โดยหวังค่าตอบแทนเมื่อเกิดสัญญานั้นขึ้น[5] แต่นายหน้าไม่มีสิทธิรับเงิน หรือรับชำระหนี้แทนคู่สัญญานั้น[6]

บทบาทหน้าที่คนกลางตามหลักกฏหมายเฉพาะของธุรกิจประกันภัย
ขณะที่หลักกฎหมายเฉพาะของธุรกิจประกันภัย คือ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนของการประกันวินาศภัย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้มีการควบคุมตัวแทนประกันภัยกับนายหน้าประกันภัยว่า จะต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “คปภ.”  และกำหนดคำนิยามเฉพาะกับกำหนดบทบาทหน้าที่ระหว่างตัวแทนประกันภัยกับนายหน้าประกันภัยไว้แตกต่างกัน ดังนี้

ก)     ตัวแทนประกันภัย หมายความถึง ผู้ที่ชักชวนคนอื่นให้มาซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่ตนสังกัดอยู่เท่านั้น[7] ดังนั้น ในใบอนุญาตของตัวแทนประกันภัยจะระบุบริษัทประกันภัยที่สังกัดอย่างชัดเจน[8] โดยสามารถจัดระดับของตัวแทนประกันภัยเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
(๑)    ตัวแทนประกันภัยที่ชักชวนอย่างเดียว
(๒)    ตัวแทนประกันภัยที่ชักชวนและให้ไปรับชำระเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทประกันภัยได้
(๓)    ตัวแทนประกันภัยที่รับมอบอำนาจให้รับประกันภัยในนามบริษัทประกันภัยได้
(๔)    ตัวแทนประกันภัยที่รับมอบอำนาจให้รับประกันภัยและรับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทประกันภัยได้

เมื่อตกลงซื้อขายประกันภัยเรียบร้อยแล้ว บริษัทประกันภัยจะให้สิทธิแก่ตัวแทนประกันภัยไปรับชำระเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทได้[9] มิใช่ให้ไปเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยล่วงหน้ามาก่อนที่จะตกลงซื้อขายประกันภัยกันเหมือนอย่างที่มีการตีความ ซึ่งได้ก่อให้เกิดช่องใหว่ในทางปฎิบัติอย่างมากมาย เมื่อเทียบเคียงกับการซื้อขายประกันภัยโดยตรง หรือผ่านช่องทางขายทางโทรศัพท์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเฉพาะของธุรกิจประกันภัยดังกล่าว เปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถมอบอำนาจเป็นหนังสือในการตกลงรับประกันภัยให้แก่ตัวแทนประกันภัยกระทำการแทนได้[10] หากเป็นเช่นนี้ ตัวแทนประกันภัยจะเปรียบเสมือนพนักงานขายที่ตกลงรับประกันภัยและรับชำระเบี้ยประกันภัยได้อย่างสมบูรณ์ในนามของบริษัทประกันภัยนั้น แต่ไม่ว่าตัวแทนประกันภัยจะมีบทบาทมากน้อยขนาดไหน บริษัทประกันภัยก็จำต้องร่วมรับผิดกับการกระทำในขอบเขตอำนาจของตัวแทนประกันภัยนั้นด้วย[11] โดยเป็นการวางบทบาทของตัวแทนประกันภัยให้เป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัย มิใช่เป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยแต่ประการใด

ข)       นายหน้าประกันภัย หมายถึง ผู้ที่ชี้ช่องว่าควรเลือกซื้อประกันภัยอย่างไร กับใคร หรือจัดการไปตกลงทำประกันภัยในนามของผู้จะซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่ได้คัดเลือกไว้[12] ใบอนุญาตของนายหน้าประกันภัยจึงไม่มีการกำหนดบริษัทประกันภัยที่สังกัด เพราะเป็นการวางบทบาทให้เสมือนเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยในการจัดหาประกันภัย และ/หรือเข้าไปตกลงทำสัญญาประกันภัยในนามของผู้จะเอาประกันภัย ด้วยเหตุนี้ กฎหมายเลยไม่มีการกำหนดให้นายหน้าประกันภัยสามารถรับมอบอำนาจในการตกลงรับประกันภัยแทนบริษัทประกันภัยได้ เพียงแต่มอบอำนาจให้รับเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทประกันภัยได้เท่านั้น[13] ซึ่งน่าแปลกใจว่า ทำไมถึงใช้คำว่า “ให้รับเบี้ยประกันภัย” แทนที่จะใช้คำว่า “ให้ชำระเบี้ยประกันภัย” ตกลงว่า นายหน้าประกันภัยถือเป็นตัวแทนของทั้งผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยใช่หรือไม่ ทั้งในทางปฎิบัติ บ่อยครั้งพบว่า นายหน้าประกันภัยทำหน้าที่เสมือนหนึ่งพนักงานขายของบริษัทประกันภัย
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกันกับตัวแทนประกันภัย สามารถจัดระดับของนายหน้าประกันภัยเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
(๑)     นายหน้าประกันภัยที่ชี้ช่องอย่างเดียว
(๒)     นายหน้าประกันภัยที่ชี้ช่องและจัดการไปซื้อประกันภัยในนามของผู้เอาประกันภัย
(๓)     นายหน้าประกันภัยที่ชี้ช่องและจัดการไปซื้อประกันภัยในนามของผู้เอาประกันภัย และรับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทประกันภัยได้

บทลงท้าย
ฉะนั้น เมื่อทบทวนดูแล้ว จึงเกิดความสับสนว่า
๑) คนกลางประกันภัยนั้น น่ามิใช่คนกลางอย่างที่คิดกัน
๒) ตัวแทนประกันภัยนั้น น่ามิใช่ตัวแทนตามหลักกฎหมายทั่วไป หรือเปล่า
๓) นายหน้าประกันภัยนั้น น่ามิใช่นายหน้าตามหลักกฎหมายทั่วไป แต่จะถือเป็นตัวแทนมากกว่า โดยอาจเป็นตัวแทนของฝ่ายผู้เอาประกันภัย หรือฝ่ายบริษัทประกันภัย หรือทั้งสองฝ่ายก็ยังได้

ด้วยเหตุนี้ จึงตั้งชื่อบล็อคไว้ว่า “..... ประกันภัยเป็นเรื่อง ..... โดยเว้นคำนำหน้ากับคำลงท้ายไว้ เพื่อให้ท่านที่เข้ามาอ่านแล้ว มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ก็สามารถเติมช่องว่างลงไปได้ตามอัธยาศัย

และบันทึกครั้งต่อไป จะมีเรื่องราวที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันในหัวข้อว่า “ผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย” โปรดติดตาม


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๗  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
                อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้
[2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๓  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ
[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๑๒  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด
[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๔๕  วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
[6] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๔๙  การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา
[7] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔ ตัวแทนประกันวินาศภัย หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท
[8] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔ วรรคสาม ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย ให้ระบุด้วยว่าเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทใด
[9] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๖ วรรคแรก ให้ตัวแทนประกันวินาศภัยมีสิทธิรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท
[10] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๖ วรรคสอง ตัวแทนประกันวินาศภัยอาจทำสัญญาประกันภัยในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท
[11] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๕/๑ บริษัทต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันวินาศภัยต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันวินาศภัยนั้นได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัท
[12] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔ นายหน้าประกันวินาศภัย หมายความว่า ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น
[13] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๖ วรรคสาม นายหน้าประกันวินาศภัยหรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงิน อาจรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น