วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558



ผู้เอาประกันภัยมิใช่ผู้เอาประกันภัย (ต่อ)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฝากเป็นการบ้านให้คิดว่า
1)       ลูกเป็นตัวแทนประกันภัย นำบ้านของพ่อแม่ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่มาทำประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัย โดยระบุชื่อตนเองเป็นผู้เอาประกันภัย และชำระเบี้ยประกันภัยเองได้หรือไม่
2)       สามีนำบ้านที่เป็นสินสมรส มาทำประกันภัยเต็มมูลค่าทั้งหลัง โดยใส่ชื่อสามีเป็นผู้เอาประกันภัยคนเดียว เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้บ้านเสียหายทั้งหลัง บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ใครบ้าง อย่างไร
3)       ลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับพ่อแม่ พ่อและ/หรือแม่ จะมีสิทธิเอาประกันภัยทรัพย์สินของลูกคนนั้นด้วยได้หรือไม่
4)       ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายจะมีส่วนได้เสียเอาประกันชีวิตสามีได้หรือไม่
5)       นายจ้างจะสามารถเอาประกันชีวิตลูกจ้างได้หรือไม่

แนวทางการวิเคราะห์
1)   ก่อนอื่นคงต้องพิจารณาว่า บ้านหลังที่เอาประกันภัยเป็นของใคร หากเป็นของพ่อแม่ ก็ถือว่า พ่อแม่มีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะสามารถนำบ้านหลังนั้นมาทำประกันภัยได้ ส่วนตัวลูก แม้จะพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นหรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่พ่อแม่ยังไม่เสียชีวิต หรือได้ยกให้ในขณะยังมีชีวิตอยู่ ลูกคงมีสถานะเป็นแค่ผู้อยู่อาศัย ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่อาจนำบ้านหลังนั้นมาทำประกันภัยได้ ผลตามมาตรา 863 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็คือ “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด” แม้สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นมา โดยบริษัทประกันภัยตกลงรับประกันภัยเอาไว้ แต่พอเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมา บริษัทประกันภัยอาจปฎิเสธไม่ยอมผูกพันที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ก็ได้ โดยอ้างว่า ผู้เอาประกันภัย คือ ตัวลูกมิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในบ้านหลังนี้
ถ้าเป็นเช่นนั้น ตัวลูกซึ่งระบุเป็นผู้เอาประกันภัยจะอ้างหลักกฎหมายเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อ (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 2888/2553 ข้างต้น) มาโต้แย้งได้หรือไม่ ข้อสังเกตในคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าว คือ บริษัทประกันภัยมิได้หยิบยกเรื่องการมีส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัยมาโต้แย้งเลย ส่วนในกรณีของข้อนี้ หากบริษัทประกันภัยหยิบยกเรื่องส่วนได้เสียขึ้นมาต่อสู้ ผู้เอาประกันภัยคงต้องเหนื่อยล่ะครับที่จะต้องพยายามนำสืบให้ได้ว่า พ่อแม่ได้มอบหมายให้มาทำประกันภัยแทนจริงหรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาหลักกฎหมายเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อแล้ว ตัวการต้องมีเจตนาที่จะมาทำสัญญา เพียงแต่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ โดยขอให้ใส่ชื่อบุคคลอื่นแทน ฉะนั้น คู่สัญญาอีกฝ่ายจำต้องรับทราบถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย มิใช่จะอาศัยหลักกฎหมายเรื่องนี้มาอ้างได้เสมอไป ซึ่งศาลในต่างประเทศก็มองเช่นเดียวกันดังในคดี Talbot Underwriting Ltd. v. Nausch Hogan & Murray, Jascon 5 [2005] EWHC 2359 (Comm)
ด้วยเหตุนี้ ในการวิเคราะห์เรื่องข้อพิพาทประกันภัย คงไม่อาจหลีกเลี่ยงหลักกฎหมายของสัญญาได้เลย และควรนำมาวิเคราะห์เป็นลำดับแรกด้วยซ้ำไป เพราะสัญญาประกันภัยซึ่งเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง ก็จำต้องอยู่ในหลักกฎหมายของสัญญาด้วยเหมือนกันที่สรุปว่า
           -  คู่สัญญาต้องมีเจตนาอย่างแท้จริงในการทำสัญญา
           -  คู่สัญญาต้องมีความสามารถตามกฎหมาย
           -  เป็นสัญญาต่างตอบแทน            
           -  ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ดังนั้น ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่มีเจตนาที่จะมาทำสัญญา สัญญานั้นก็มิอาจเกิดขึ้นมาได้เลย

2)   เรื่องของคู่สมรสตามกฎหมาย ทรัพย์สินที่หามาได้หลังการสมรส ถือเป็นสินสมรส หรือกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างคู่สมรส โดยมีสัดส่วนกันคนละครึ่ง อย่างบ้านราคาหนึ่งล้านบาท ก็จะเป็นของสามีกับภรรยาคนละห้าแสนบาท การที่สามีฝ่ายเดียวนำบ้านหลังนั้นมาทำประกันภัยเต็มมูลค่าหนึ่งล้านบาท ในแง่กฎหมาย ก็สามารถทำได้ เพราะตราบใดยังมิได้ตกลงแบ่งสมบัติกัน ยังไม่ใครสามารถตอบได้ว่า ส่วนใดของบ้านเป็นของใคร แต่ครั้นเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นมาเสียหายทั้งหมด สามีซึ่งระบุเป็นผู้เอาประกันภัยจะขอรับค่าสินไหมทดแทนไปทั้งหมดคนเดียว ไม่น่าจะถูกต้อง พึงต้องมองว่า ในการทำประกันภัยนั้น ภรรยาควรรับรู้ด้วย แต่บางครั้ง จะมาระบุใส่ชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยทั้งสามีกับภรรยา อาจไม่นิยมกระทำกัน โดยเฉพาะหากมีคู่สมรสฝ่ายเดียวเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว มักจะใส่ชื่อคู่สมรสฝ่ายนั้นเพียงผู้เดียว เพื่อความสะดวกในการชำระเบี้ยประกันภัย ดังเช่นกรณีนี้ สามีเป็นผู้ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว จึงระบุชื่อตัวเองคนเดียวเป็นผู้เอาประกันภัย ตัวภรรยาก็อ้างหลักกฎหมายตัวการไม่เปิดเผยชื่อมาขอรับค่าสินไหมทดแทนได้ เพราะหลักกฎหมายนี้สามารถใช้บังคับกับกรณีของการเอาประกันภัยร่วมด้วย ดังในคดีต่างประเทศอ้างถึงข้างต้น

3)   ในข้อนี้กลับกันกับข้อที่หนึ่ง คือ พ่อแม่นำทรัพย์สินของลูกซึ่งบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายแล้วมาทำประกันภัยรวมกับทรัพย์สินของพ่อแม่ด้วย โดยเฉพาะในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยบ้านที่อยู่อาศัยได้เปิดช่องเอาไว้ ซึ่งโดยหลักการแล้วคงเป็นเช่นเดียวกัน คือ ลูกที่บรรลุนิติภาวะนั้น ยินยอมเห็นชอบให้พ่อแม่กระทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ถ้าไม่ยินยอม พ่อแม่ก็ไม่มีสิทธิ หรือส่วนได้เสียในทรัพย์สินของลูกคนดังกล่าวเลย แต่ถ้ายินยอม แม้จะใส่ชื่อพ่อเป็นผู้เอาประกันภัยคนเดียว จะเข้าหลักกฎหมายตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อได้เช่นเดียวกัน

4)   ในตำราหลายเล่ม ระบุว่า สามีมีส่วนได้เสียในชีวิตของภรรยา เช่นเดียวกันภรรยาก็มีส่วนได้เสียในชีวิตของสามี โดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ที่บัญญัติในวรรคสองว่า “สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” ถ้ามองในแง่ของการมีส่วนได้เสียอาจใช่ แต่ถ้าพิจารณาในหลักของสัญญาแล้ว ตัวสามี หรือภรรยาผู้ที่จะเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น ได้ตกลงยินยอมที่จะทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยหรือไม่ ถ้าไม่ สัญญาก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้เลย
อนึ่ง สามีหรือภรรยาที่ไปจัดการทำประกันภัยให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง อาจเรียกว่า เป็นตัวแทนไปกระทำการแทนน่าจะชัดเจนกว่าการใช้คำว่ามีส่วนได้เสียในชีวิตของบุคคลอื่น

5)   ในข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน นายจ้างมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันชีวิตลูกจ้างได้ แต่เนื่องด้วยผู้เอาประกันภัย คือ ลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างไม่ตกลงยินยอม สัญญาประกันภัยก็จะไม่เกิด เพราะในทางปฎิบัติในลักษณะเช่นนี้เวลาออกกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยจะระบุชื่อนายจ้างเป็นผู้ถือกรมธรรม์เท่านั้น ส่วนตัวผู้เอาประกันภัย คือ ลูกจ้างทั้งหลายนั่นเอง นายจ้างจึงไม่อาจถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยได้เลย เพราะชีวิตลูกจ้างน่าจะไม่ใช่วัตถุที่เอาประกันภัยได้ ซึ่งเข้าใจว่า แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2516 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องลักษณะนี้ น่าจะมีเจตนารมณ์ดังว่า และหลักกฎหมายของต่างประเทศในกรณีการเอาประกันชีวิตบุคคลอื่น ก็ระบุว่า ผู้ที่ถูกเอาประกันภัยต้องเห็นชอบด้วย ซึ่งตัวคนที่ไปจัดการแทนก็กลายเป็นตัวแทนตามหลักกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทนไป

บทลงท้าย
การกระทำที่ทำให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น น่าจะเหมาะสมที่สุด ดีกว่าจะต้องมาหาทางแก้ปัญหากันภายหลัง

เรื่องต่อไป คงจะนำเรื่องระยะเวลาเอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันวินาศภัยกลับมาพูดถึงอีกครั้งให้ครบถ้วน
  

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558




ผู้เอาประกันภัยมิใช่ผู้เอาประกันภัย

ถ้าตั้งคำถามว่า “ผู้เอาประกันภัย” คือใคร เราจะได้คำตอบ ดังนี้
-          ผู้เอาประกันภัย คือ ผู้ซื้อประกันภัย
-          ผู้เอาประกันภัย คือ คนที่เป็นคู่สัญญากับผู้รับประกันภัย
-          ผู้เอาประกันภัย คือ คนที่ชำระเบี้ยประกันภัย[1]
-          ผู้เอาประกันภัย คือ คนที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย[2]
-          ผู้เอาประกันภัย คือ ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย[3]
-          ผู้เอาประกันภัย คือ ผู้ที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย[4]
-          ผู้เอาประกันภัย คือ บุคคล หรือนิติบุคคล ตามที่ปรากฏชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในหน้าตารางกรมธรรม์ ซึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกัน 
         ภัยให้แก่บริษัทประกันภัย

แล้วถ้ามีคำถามต่อไปว่า
-          ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย จะมาเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเวลาเมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเสียหายได้หรือไม่

คำตอบ คือ คงไม่ได้ เพราะสัญญาประกันภัยนั้น ไม่มีผลผูกพัน

-          และถ้าคนที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่มิใช่เป็นผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยยังต้องรับผิดชอบให้ได้หรือไม่  

เชื่อว่า ร้อยทั้งร้อย น่าจะตอบว่า ไม่ เพราะมิได้มีความสัมพันธ์อะไรกับบริษัทประกันภัยตามสัญาประกันภัยเลย

งั้นเรามาดูเรื่องนี้กัน

นาย ก. เอารถของภรรยามาขับโดยประมาทแซงซ้ายรถคู่กรณีด้วยความเร็ว แต่ปรากฏไปเจอรถจักรยานยนต์วิ่งอยู่ในช่องทางซ้าย จึงหักหลบเบียดเข้ามาในเลนขวาที่รถคู่กรณีวิ่งอยู่ รถคู่กรณีจึงเบนหนี ส่งผลทำให้ทั้งรถนาย ก. กับรถคู่กรณีหมุนคว้างจนได้รับความเสียหายทั้งสองคัน คู่กรณีจึงฟ้องนาย ก. เป็นจำเลยที่ 1 ภรรยาของนาย ก. ในฐานะเจ้าของรถคันที่ก่อเหตุ เป็นจำเลยที่ 2 เนื่องจากรถคันนี้มีประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอยู่โดยระบุชื่อ นาย เอ เป็นผู้เอาประกันภัย และตกเป็นจำเลยที่ 3 ด้วยเช่นเดียวกับบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองรถคันก่อเหตุนี้ เป็นจำเลยที่ 4 ให้ร่วมกัน หรือแทนกันรับผิดต่อโจทก์ 

จากการนำสืบ รถคันที่ก่อเหตุเป็นรถคันที่ได้เอาประกันภัยไว้จริงตามหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยจำเลยที่ 4 โดยมีภรรยานาย ก. จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามทะเบียนรถยนต์ และยินยอมให้นาย ก. สามีซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 นำรถคันนั้นไปใช้จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ขึ้นมา ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยนั้น  นาย ก. จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่รู้จักเป็นใคร เพียงแต่จำได้ว่า เพื่อนคนหนึ่งรู้จักในชื่อเล่นว่า ซี มาขอยืมรถคันนี้ไปขับ และเป็นช่วงเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันนี้กำลังจะหมดอายุพอดี จึงฝากให้นาย ซี ไปช่วยทำประกันภัยให้ด้วย ส่วนนาย ซี จะเป็นคนเดียวกับนาย เอ ที่ถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยหรือเปล่า ตนเองไม่แน่ใจ เพราะไม่ทราบชื่อจริงของนาย ซี 

คดีนี้ ศาลมีความเห็นว่า เนื่องด้วยจำเลยที่ 4 บริษัทประกันภัยไม่นำสืบว่า ทำไมถึงยอมรับประกันภัยรถยนต์คันนี้ในชื่อของนาย เอ ทั้งที่น่าจะทราบได้ว่ามิใช่เป็นเจ้าของ หรือผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าว ตามพฤติการณ์ที่รับฟังมา จึงเชื่อว่า นาย เอ ถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2  ภรรยานาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้น และในฐานะเป็นตัวการโดยไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งสามารถกลับมาแสดงตนเพื่อถือเอาสิทธิตามสัญญาประกันภัยได้[5] โดยมีนาย ก. จำเลยที่ 1 รับมอบหมายให้ช่วยจัดการดูแลแทนอีกช่วงหนึ่ง ดังนั้น  จำเลยที่ 4 บริษัทประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน (คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 2888/2553)

เรื่องนี้ให้อุทาหรณ์ว่า ขั้นตอนการพิจารณารับประกันภัยเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งในฝ่ายของผู้จะเอาประกันภัยกับฝ่ายผู้จะรับประกันภัย ควรใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบ เพราะบางกรณี ทะเบียนรถยนต์ หรือกระทั่งทะเบียนบ้านก็มิใช่สิ่งที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการมีกรรมสิทธิ์ หรือส่วนได้เสียในทรัพย์สินนั้นเสมอไป ผลของการทำประกันภัยโดยไม่มีส่วนได้เสียนั้น สัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพัน คือ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมา บริษัทประกันภัยอาจปฎิเสธไม่ผูกพันด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ก็ได้ แม้จากตัวอย่างคำพิพากษานี้ จะเปิดช่องให้ผู้เอาประกันภัยสามารถหยิบยกหลักกฎหมายตัวการตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาโต้แย้งได้ก็ตาม ทางที่ดี ควรทำให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น จะดีที่สุด

ประเด็นปัญหาที่เทียบเคียงกับเรื่องนี้ได้ ซึ่งมักหยิบยกขึ้นมาถกกันอยู่บ่อยครั้ง และเป็นเรื่องที่ถือปฎิบัติกันอยู่ทั่วไป เป็นต้นว่า
1)       ลูกเป็นตัวแทนประกันภัย นำบ้านของพ่อแม่ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่มาทำประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัย โดยระบุชื่อตนเองเป็นผู้เอาประกันภัย และชำระเบี้ยประกันภัยเองได้หรือไม่
2)       สามีนำบ้านที่เป็นสินสมรส มาทำประกันภัยเต็มมูลค่าทั้งหลัง โดยใส่ชื่อสามีเป็นผู้เอาประกันภัยคนเดียว เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้บ้านเสียหายทั้งหลัง บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ใครบ้าง อย่างไร
3)       ลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับพ่อแม่ พ่อและ/หรือแม่ จะมีสิทธิเอาประกันภัยทรัพย์สินของลูกคนนั้นด้วยได้หรือไม่
4)       ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายจะมีส่วนได้เสียเอาประกันชีวิตสามีได้หรือไม่
5)       นายจ้างจะสามารถเอาประกันชีวิตลูกจ้างได้หรือไม่
                             ฯลฯ 

ฝากช่วยกันคิดเป็นการบ้านด้วย คราวต่อไป เราค่อยคุยกันต่อในประเด็นเหล่านี้
  


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 วรรคสาม
[2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 วรรคสอง
[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 วรรคสี่กับวรรคห้า
[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863
[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558



คนกลางมิใช่คนกลาง ตัวแทนไม่ใช่ตัวแทน นายหน้าไม่ใช่นายหน้า

ข่าวประกันภัยหลอกที่ว่า ซื้อประกันภัยรถยนต์ผ่านโบรกเกอร์ตัวแทนแล้ว พอเกิดเหตุ บริษัทประกันภัยปฎิเสธยังไม่ได้รับประกันภัย ซึ่งฮือฮากันในช่วงไม่นานมานี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขาดความเข้าใจ และความสับสนในธุรกิจประกันภัย กอปรกับปัจจุบัน การโฆษณาเชิญชวนให้คนมาซื้อประกันภัย เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อาจสร้างให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ แม้กระทั่งคนที่อยู่ในธุรกิจประกันภัยเอง ทำให้ต้องหวนกลับมาคิดทบทวนกระบวนการซื้อขายประกันภัยกันอีกครั้ง

ช่องทางการซื้อขายประกันภัย
ธุรกิจประกันภัยจัดช่องทางการซื้อขายออกเป็นสองช่องทางใหญ่ ๆ คือ ช่องทางแรก ซื้อตรงกับบริษัทประกันภัย และช่องทางที่สอง ซื้อผ่านคนกลาง ซึ่งช่องทางแรก ปัญหามักจะน้อย ขณะที่ช่องทางที่สองจะเกิดเป็นปัญหาบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นช่องทางหลักในการซื้อขายประกันภัยกันเลย ที่เป็นข่าวขึ้นมา ก็มาจากช่องทางนี้

แนวความคิดคนกลางประกันภัย
เรามาดูกันก่อนว่า คนกลาง คือใคร ในที่นี้ คนกลางประกันภัย คือ คนที่ชักนำให้ทั้งผู้จะซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ผู้จะขายมาตกลงซื้อขายประกันภัยกัน เมื่อตกลงกันได้แล้ว สัญญาประกันภัยก็เกิดขึ้นมา มีผลผูกพันกับคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งเมื่อนั้น ผู้จะซื้อประกันภัยจะกลายมาเป็น “ผู้เอาประกันภัย” ที่มีหน้าที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัย ส่วนบริษัทประกันภัยผู้จะขาย กลายเป็นที่เรียกตามภาษากฎหมายว่า “ผู้รับประกันภัย” หรือใช้คำทั่วไปว่า “บริษัทประกันภัย” ก็จะตอบแทนผู้เอาประกันภัย ด้วยการให้ความคุ้มครองตามที่ได้ตกลงกัน ส่วนคนกลางที่ชักนำมานั้น จะได้ค่าตอบแทนเป็นค่าบำเหน็จจากบริษัทประกันภัย ฉะนั้น โดยหลักการแล้ว คนกลางประกันภัยมิใช่เป็นพนักงานขายของบริษัทประกันภัยแต่ประการใด แต่อย่างที่เกริ่นตอนต้น ด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ออกไปเสมือนหนึ่งก่อให้เกิดการรับรู้ในลักษณะนั้น
คนกลางประกันภัยนั้นจะประกอบด้วย คนที่เรียกว่า “ตัวแทนประกันภัย” กับอีกคนที่เรียกว่า “นายหน้าประกันภัย” ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับหลักกฎหมายสองฉบับ คือ หลักกฎหมายทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทนกับนายหน้า และหลักกฎหมายเฉพาะธุรกิจประกันภัยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนของการประกันวินาศภัย

บทบาทหน้าที่คนกลางตามหลักกฏหมายทั่วไป
ตามหลักกฎหมายทั่วไปเสียก่อน คำว่า “ตัวแทน” หมายความถึง ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อื่นให้กระทำการแทน อาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้[1] ซึ่งตัวแทนโดยปริยายนั้น จะมีคำเรียกว่า “ตัวแทนเชิด”[2] ส่วนผู้ที่มอบหมายให้ตัวแทนทั้งสองลักษณะกระทำการแทนนั้น จะเรียกว่า “ตัวการ” โดยหลักการแล้ว ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทน นอกจากจะได้มีการกำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่น[3] ตัวการต้องรับผิดชอบในการกระทำในขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายของตัวแทน เว้นแต่ตัวแทนได้กระทำการเกินเลยไปจากนั้น ตัวแทนจึงต้องรับผิดตามลำพัง[4]

ส่วนคำว่า “นายหน้า” หมายความถึง ผู้ที่ชี้ช่องหรือชักนำให้คนอื่นมาตกลงทำสัญญาระหว่างกัน หรือเป็นธุระจัดการให้คนอื่นมาตกลงทำสัญญากัน โดยหวังค่าตอบแทนเมื่อเกิดสัญญานั้นขึ้น[5] แต่นายหน้าไม่มีสิทธิรับเงิน หรือรับชำระหนี้แทนคู่สัญญานั้น[6]

บทบาทหน้าที่คนกลางตามหลักกฏหมายเฉพาะของธุรกิจประกันภัย
ขณะที่หลักกฎหมายเฉพาะของธุรกิจประกันภัย คือ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนของการประกันวินาศภัย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้มีการควบคุมตัวแทนประกันภัยกับนายหน้าประกันภัยว่า จะต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “คปภ.”  และกำหนดคำนิยามเฉพาะกับกำหนดบทบาทหน้าที่ระหว่างตัวแทนประกันภัยกับนายหน้าประกันภัยไว้แตกต่างกัน ดังนี้

ก)     ตัวแทนประกันภัย หมายความถึง ผู้ที่ชักชวนคนอื่นให้มาซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่ตนสังกัดอยู่เท่านั้น[7] ดังนั้น ในใบอนุญาตของตัวแทนประกันภัยจะระบุบริษัทประกันภัยที่สังกัดอย่างชัดเจน[8] โดยสามารถจัดระดับของตัวแทนประกันภัยเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
(๑)    ตัวแทนประกันภัยที่ชักชวนอย่างเดียว
(๒)    ตัวแทนประกันภัยที่ชักชวนและให้ไปรับชำระเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทประกันภัยได้
(๓)    ตัวแทนประกันภัยที่รับมอบอำนาจให้รับประกันภัยในนามบริษัทประกันภัยได้
(๔)    ตัวแทนประกันภัยที่รับมอบอำนาจให้รับประกันภัยและรับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทประกันภัยได้

เมื่อตกลงซื้อขายประกันภัยเรียบร้อยแล้ว บริษัทประกันภัยจะให้สิทธิแก่ตัวแทนประกันภัยไปรับชำระเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทได้[9] มิใช่ให้ไปเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยล่วงหน้ามาก่อนที่จะตกลงซื้อขายประกันภัยกันเหมือนอย่างที่มีการตีความ ซึ่งได้ก่อให้เกิดช่องใหว่ในทางปฎิบัติอย่างมากมาย เมื่อเทียบเคียงกับการซื้อขายประกันภัยโดยตรง หรือผ่านช่องทางขายทางโทรศัพท์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเฉพาะของธุรกิจประกันภัยดังกล่าว เปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถมอบอำนาจเป็นหนังสือในการตกลงรับประกันภัยให้แก่ตัวแทนประกันภัยกระทำการแทนได้[10] หากเป็นเช่นนี้ ตัวแทนประกันภัยจะเปรียบเสมือนพนักงานขายที่ตกลงรับประกันภัยและรับชำระเบี้ยประกันภัยได้อย่างสมบูรณ์ในนามของบริษัทประกันภัยนั้น แต่ไม่ว่าตัวแทนประกันภัยจะมีบทบาทมากน้อยขนาดไหน บริษัทประกันภัยก็จำต้องร่วมรับผิดกับการกระทำในขอบเขตอำนาจของตัวแทนประกันภัยนั้นด้วย[11] โดยเป็นการวางบทบาทของตัวแทนประกันภัยให้เป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัย มิใช่เป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยแต่ประการใด

ข)       นายหน้าประกันภัย หมายถึง ผู้ที่ชี้ช่องว่าควรเลือกซื้อประกันภัยอย่างไร กับใคร หรือจัดการไปตกลงทำประกันภัยในนามของผู้จะซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่ได้คัดเลือกไว้[12] ใบอนุญาตของนายหน้าประกันภัยจึงไม่มีการกำหนดบริษัทประกันภัยที่สังกัด เพราะเป็นการวางบทบาทให้เสมือนเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยในการจัดหาประกันภัย และ/หรือเข้าไปตกลงทำสัญญาประกันภัยในนามของผู้จะเอาประกันภัย ด้วยเหตุนี้ กฎหมายเลยไม่มีการกำหนดให้นายหน้าประกันภัยสามารถรับมอบอำนาจในการตกลงรับประกันภัยแทนบริษัทประกันภัยได้ เพียงแต่มอบอำนาจให้รับเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทประกันภัยได้เท่านั้น[13] ซึ่งน่าแปลกใจว่า ทำไมถึงใช้คำว่า “ให้รับเบี้ยประกันภัย” แทนที่จะใช้คำว่า “ให้ชำระเบี้ยประกันภัย” ตกลงว่า นายหน้าประกันภัยถือเป็นตัวแทนของทั้งผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยใช่หรือไม่ ทั้งในทางปฎิบัติ บ่อยครั้งพบว่า นายหน้าประกันภัยทำหน้าที่เสมือนหนึ่งพนักงานขายของบริษัทประกันภัย
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกันกับตัวแทนประกันภัย สามารถจัดระดับของนายหน้าประกันภัยเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
(๑)     นายหน้าประกันภัยที่ชี้ช่องอย่างเดียว
(๒)     นายหน้าประกันภัยที่ชี้ช่องและจัดการไปซื้อประกันภัยในนามของผู้เอาประกันภัย
(๓)     นายหน้าประกันภัยที่ชี้ช่องและจัดการไปซื้อประกันภัยในนามของผู้เอาประกันภัย และรับชำระเบี้ยประกันภัยในนามบริษัทประกันภัยได้

บทลงท้าย
ฉะนั้น เมื่อทบทวนดูแล้ว จึงเกิดความสับสนว่า
๑) คนกลางประกันภัยนั้น น่ามิใช่คนกลางอย่างที่คิดกัน
๒) ตัวแทนประกันภัยนั้น น่ามิใช่ตัวแทนตามหลักกฎหมายทั่วไป หรือเปล่า
๓) นายหน้าประกันภัยนั้น น่ามิใช่นายหน้าตามหลักกฎหมายทั่วไป แต่จะถือเป็นตัวแทนมากกว่า โดยอาจเป็นตัวแทนของฝ่ายผู้เอาประกันภัย หรือฝ่ายบริษัทประกันภัย หรือทั้งสองฝ่ายก็ยังได้

ด้วยเหตุนี้ จึงตั้งชื่อบล็อคไว้ว่า “..... ประกันภัยเป็นเรื่อง ..... โดยเว้นคำนำหน้ากับคำลงท้ายไว้ เพื่อให้ท่านที่เข้ามาอ่านแล้ว มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ก็สามารถเติมช่องว่างลงไปได้ตามอัธยาศัย

และบันทึกครั้งต่อไป จะมีเรื่องราวที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันในหัวข้อว่า “ผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย” โปรดติดตาม


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๗  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
                อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้
[2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๓  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ
[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๑๒  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด
[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๔๕  วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
[6] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๔๙  การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา
[7] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔ ตัวแทนประกันวินาศภัย หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท
[8] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔ วรรคสาม ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย ให้ระบุด้วยว่าเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทใด
[9] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๖ วรรคแรก ให้ตัวแทนประกันวินาศภัยมีสิทธิรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท
[10] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๖ วรรคสอง ตัวแทนประกันวินาศภัยอาจทำสัญญาประกันภัยในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท
[11] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๕/๑ บริษัทต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันวินาศภัยต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันวินาศภัยนั้นได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัท
[12] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔ นายหน้าประกันวินาศภัย หมายความว่า ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น
[13] พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๖ วรรคสาม นายหน้าประกันวินาศภัยหรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงิน อาจรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท