วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 230 : เมื่อเงื่อนไขบังคับก่อน (Condition Precedent) ของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) มีผลใช้บังคับ!!!

 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้คำนิยามถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้

 

1) condition precedent of the policy เงื่อนไขบังคับก่อนของกรมธรรม์ประกันภัย หมายความถึง เงื่อนไขในการประกันภัยซึ่งกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องปฏิบัติก่อน มิฉะนั้นจะถือว่า ผู้เอาประกันภัยทำผิดสัญญา อันเป็นผลให้ผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญา

 

2) condition precedent to liability เงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิด หมายความถึง เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งถ้าผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้น ผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธการชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นได้

 

แม้ในส่วนเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าส่วนของความคุ้มครองกับข้อยกเว้น แต่บ่อยครั้งกลับถูกละเลยไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรไปอย่างน่าเสียดาย

 

กว่าจะรู้สึกตัว ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว

 

ดั่งเช่นบทเรียนที่เจ็บปวดจากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้

 

เช้าตรู่ของวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2012 ได้เกิดเพลิงไหม้ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของประเทศสิงคโปร์ ลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่โรงงานสามแห่งที่ตั้งอยู่ข้างเคียงกัน อันได้แก่ โรงงานเขตพื้นที่ 141, 143 และ 145 ตามลำดับ

 

โรงงานเขตพื้นที่ 141 กับ 143 ต่างกล่าวหา พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันว่า ต้นเพลิงนั้นเกิดมาจากโรงงานแต่ละแห่ง จนเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล เพื่อค้นหาข้อยุติว่า

 

(ก) ต้นเพลิงนั้นเกิดมาจากโรงงานเขตพื้นที่ 141 หรือ 143 กันแน่?

 

(ข) ถ้าต้นเพลิงนั้นมีที่มาจากโรงงานเขตพื้นที่ 141 ของฝ่ายจำเลยแล้ว เกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายจำเลยหรือไม่?

 

(ข) ถ้าต้นเพลิงนั้นมีที่มาจากโรงงานเขตพื้นที่ 143 ของฝ่ายโจทก์แล้ว เกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์หรือไม่?

 

ผลการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่าง ๆ ออกมาแล้ว ปรากฏว่า ฝ่ายจำเลยโรงงานเขตพื้นที่ 141 ยอมรับว่า ต้นเพลิงเกิดมาจากสถานที่ตั้งของตนเองจริง และไฟได้ลุกลามไปไหม้สร้างความเสียหายแก่โรงงานเขตพื้นที่ 143 ของฝ่ายโจทก์ ณ เวลาถัดมา

 

เนื่องจากขณะที่เกิดเหตุ โรงงานเขตพื้นที่ 143 ของฝ่ายโจทก์นั้นไม่มีพนักงานทำงานอยู่เลย เพราะเป็นช่วงเวลาหยุดงาน ขณะที่โรงงานเขตพื้นที่ 141 ของฝ่ายจำเลยนั้น นอกจากใช้อาคารสถานที่ตั้งของตนเองประกอบกิจการโรงงานประกอบ และทดสอบสายส่งพลังงานไฟฟ้า (electrical cables) กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจำหน่าย และติดตั้งระบบไฟฟ้าให้แก่กลุ่มการค้า หรือกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังกันพื้นที่บางส่วนเป็นหอพักให้แรงงานงานต่างชาติพักอาศัยอยู่ ซึ่งมีการหุงหาทำอาหารอยู่ภายในนั้นด้วย ทั้งพยานแรงงานงานต่างชาติซึ่งเป็นของฝ่ายจำเลยได้ให้การว่า พบเห็นไฟลุกไหม้ในโรงงานนั้นเอง ไม่เห็นมาลุกลามจากโรงงานอื่นข้างเคียงแต่ประการใด และพยายามช่วยกันดับไฟแล้ว แต่ไม่สำเร็จ

 

ศาลจึงตัดสินว่า ต้นเพลิงนั้นมาจากโรงงานเขตพื้นที่ 141 ของฝ่ายจำเลย และถือเป็นความประมาทเลินเล่อของฝ่ายจำเลยโรงงานเขตพื้นที่ 141 เองซึ่งจำต้องรับผิดแก่ผู้เสียหายตามฟ้อง

  

ฝ่ายจำเลยโรงงานเขตพื้นที่ 141 ได้แจ้งว่า ตนมีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกอยู่ เดี๋ยวจะให้บริษัทประกันภัยนั้นของตนมารับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทน

 

อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับคำบอกปัดไม่รับผิดชอบจากบริษัทประกันภัยนั้นของตน ฝ่ายโรงงานเขตพื้นที่ 141 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยนั้นของตนเป็นอีกคดีหนึ่ง

 

ฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 โต้แย้งคำกล่าวอ้างของฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยนั้นที่ว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนั้น เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่กำหนดไว้ดังอ้างอิงนั้นเป็นเพียงข้อสัญญาปกติทั่วไป ไม่ได้ถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดแต่ประการใด

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยนั้นตอบโต้ว่า หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าว หน่วยงานราชการได้กล่าวหาว่า ฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัย (Fire Safety Act) จำนวนห้ากระทง โทษฐานการใช้พื้นที่ของโรงงานเป็นที่พักอาศัย และที่ประกอบอาหาร  ทั้งยังไม่ได้จัดเตรียมแผนงานเพื่อปกป้องการเกิดไฟไหม้อีกสามกระทง ผลการวินิจฉัย ปรากฏฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหารวมห้ากระทงจากทั้งหมดแปดกระทง

 

อนึ่ง นี่ไม่ใช่เป็นการกระทำผิดครั้งแรกด้วย เพราะฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 เคยถูกตัดสินลงโทษลักษณะทำนองเดียวกันเมื่อปี ค.ศ. 2009 มาแล้ว

 

ทั้งที่มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทระบุว่า

 

1) ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควร ในการจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตนให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานได้ตามปกติ และจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ผลิต หรือข้อบังคับตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน

 

2) ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควร และปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนด ข้อบังคับ และเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เท่าที่เกี่ยวข้องการดำเนินการใดที่จะต้องกระทำ หรือที่ไม่ควรกระทำ ตลอดจนถึงการแถลงข้อความจริงในการตอบแบบสอบถามต่าง ๆ โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่บริษัท (ประกันภัย) จะยอมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

 

ศาลมีคำพิพากษาว่า จริงอยู่ที่เงื่อนไขทั้งหมดของกรมธรรม์ประกันภัยไม่อาจนับเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดได้ทั้งหมด แต่การละเมิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัยถึงสองครั้งสองครานั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับอันสมควร (เพื่อประโยชน์ระหว่างตัวผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเป็นสำคัญ) อันจัดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่บริษัทประกันภัยจะสามารถตกลงยอมรับผิดได้ เมื่อฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 ในฐานะผู้เอาประกันภัยละเลยหน้าที่ของตนเช่นนี้ ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยนั้นจึงปฏิเสธความรับผิดตามสิทธิที่มีอยู่ของตนได้เช่นเดียวกัน

 

ตัดสินให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยนั้นชนะคดีนี้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Grace Electrical Engineering Pte. Ltd. v EQ Insurance Co., Ltd [2016] SGHC 233)

 

หมายเหตุ

 

บางครั้ง หัวข้อ หรือถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยอาจไม่ได้เขียนอย่างชัดเจนว่า นี่คือ เงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดก็ตาม ทางปฏิบัติอาจดูจากจุดมุ่งหมายของข้อความที่เขียนไว้ประกอบเป็นสำคัญด้วย

 

เช่นดังในหมวดที่ 4 เงื่อนไข และข้อกำหนดทั่วไปของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกฉบับมาตรฐานบ้านเรา เขียนว่า

 

……………..

 

2. เงื่อนไขบังคับก่อน

 

บริษัท (ประกันภัย) ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาประกันภัย และเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย

 

……………..

 

5. หน้าที่ของผู้เอาประกันภัยในการจัดการป้องกัน

 

ผู้เอาประกันภัยต้องป้องกัน หรือจัดให้มีการป้องกันตามสมควร เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุ และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย และข้อบังคับของเจ้าหน้าที่ราชการ ซึ่งบริษัท (ประกันภัย) จะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

 

……………..

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 229 : ภัยฟ้าผ่า (Lightning Peril) หมายความถึงอะไร?

 

ภัยคุ้มครองพื้นฐานปกติของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจะประกอบด้วย ภัยหลักสามภัยดังต่อไปนี้

 

1) ภัยไฟไหม้

 

2) ภัยฟ้าผ่า (Lightning)

 

3) ภัยการระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือประโยชน์เพื่อการ

อยู่อาศัย

 

ภัยฟ้าผ่าไม่ปรากฏคำนิยามเฉพาะเจาะจงกำกับเอาไว้เลย

 

แล้วอะไร คือ ภัยฟ้าผ่ากันล่ะ?

 

ฟ้าผ่ายังไงถึงจะได้รับความคุ้มครอง?

 

- ต้องเกิดฟ้าผ่าตรงที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น หรือ

 

- แค่มีฟ้าผ่าเฉียด ๆ แต่ส่งผลความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ได้แล้ว

 

อย่างแรกพิสูจน์ได้ง่าย เพราะเห็นได้อย่างชัดเจน

 

อย่างหลังพิสูจน์ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่ปรากฏร่องรอยฟ้าผ่า พบแต่ร่องรอยผลความเสียหายที่ตามมาเท่านั้น

 

ภัยฟ้าผ่าที่ดูผิวเผินประหนึ่งจะเข้าใจง่ายนี้ มักสร้างความปวดหัวอย่างมากทั้งในบ้านเรา และต่างประเทศ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดแก่ตัวเครื่องจักร เครื่องไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์ที่ได้เอาประกันภัย ซึ่งอาจเกิดความเสียหายชำรุดเสียหายไม่ทำงาน (breakdown/failure) ขึ้นมาเฉย ๆ

 

มักบังเกิดข้อพิพาทอยู่บ่อยครั้ง ความชำรุดเสียหายดังกล่าวนั้นมีสาเหตุมาจากภัยฟ้าผ่า หรือสาเหตุอื่นใดกันแน่?

 

เรามาลองพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้จากต่างประเทศกันครับ

 

ผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองทรัพย์สินต่าง ๆ ไว้ โดยมีทุนประกันภัยเฉพาะในส่วนของเครื่องจักรกลกับเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พร้อมส่วนประกอบต่าง ๆ รวมกันอยู่ที่ 15,000,000 รูปีอินเดีย (หรือเทียบเท่าประมาณ 5,656,890 บาท) ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 เรื่อยมา

 

ณ วันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2007 ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองกับฟ้าผ่าขึ้นมาแถบพื้นที่ตั้งโรงงานของผู้เอาประกันภัยรายนี้ ส่งผลทำให้เสารับสัญญาณตรงระเบียงอาคารสำนักงานของผู้เอาประกันภัยหักโค่นลง และสร้างความเสียหายแก่เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการ์ดควบคุมการเคลื่อนไหวห้าตัว (five electronic control cards) ที่มีอยู่ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ถึงขนาดปรากฏข้อผิดพลาด และไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ส่งหนังสือแจ้งความเสียหายพร้อมกับรายงานการตรวจสอบของบริษัทผู้ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ต่อบริษัทประกันภัยของตนในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2007

 

บริษัทประกันภัยเจ้านี้ก็ได้แต่งตั้งผู้ประเมินวินาศภัยเข้ามาดำเนินการตรวจประเมินความเสียหายทันทีในวันเดียวกัน โดยมีรายงานผลการตรวจประเมินนั้นออกมา ณ วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2007

 

วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2007 บริษัทประกันภัยเจ้านี้ได้ตอบปฏิเสธความรับผิดอย่างเป็นทางการแก่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ โดยอ้างว่า

 

ผลความเสียหายเกิดขึ้นมาจากภาวะกระแสไฟฟ้ากระโชกอย่างรุนแรง (heavy surges) ซึ่งได้ถูกเหนี่ยวนำ (induced) กระแสไฟฟ้านั้นให้เข้ามาสร้างความเสียหายแก่เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จนถึงขนาดชำรุดเสียหายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป

 

โดยที่กรณีความเสียหายเช่นว่านี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาทที่ระบุไม่คุ้มครองถึง

 

ความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายต่อเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ อันเกิดขึ้นมาจาก หรือเป็นเหตุมาจากการเดินเครื่องเกินกำลัง การใช้ความดันเกินกำหนด ไฟฟ้าลัดวงจร การเกิดประกายไฟฟ้า การเผาไหม้ของสายไฟในตัวเอง หรือการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าจากสาเหตุใดก็ตาม (รวมทั้งสาเหตุฟ้าผ่าด้วย) ทั้งนี้ เพียงเฉพาะแก่เครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นว่านั้นเท่านั้น โดยไม่รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้อื่นใดที่เสียหายจากไฟไหม้ด้วย

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นโจทก์ได้นำเรื่องขึ้นสู่คณะกรรมการพิจารณาข้อพิพาทด้านผู้บริโภคแห่งชาติ (National Consumer Disputes Redressal Commission (NCDRC)) ของประเทศอินเดียซึ่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาหาข้อยุติ

 

คณะกรรมการชั้นต้นได้ตัดสินให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้รับความคุ้มครอง เนื่องด้วยภัยฟ้าผ่า (lightning) เป็นภัยที่คุ้มครองซึ่งไม่ได้มีคำนิยามกำกับไว้ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาทอย่างชัดแจ้ง ถึงแม้นได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปคลื่นแรงดันไฟฟ้าของกระแสไฟฟ้าสืบเนื่องจากฟ้าผ่าอยู่ก็ตาม นั่นเป็นผลที่มีสาเหตุมาจากภัยฟ้าผ่าที่คุ้มครองโดยเฉพาะ

 

บริษัทประกันภัยเจ้านี้ในฐานะจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

 

คณะกรรมการชั้นอุทธรณ์ได้พินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดของทั้งสองฝ่ายแล้ว ให้ความเห็นว่า

 

คำฟ้องของฝ่ายโจทก์ระบุอย่างชัดเจนว่า พายุลมแรงที่มากับฝนฟ้าคะนองได้สร้างความเสียหายแก่เสารับสัญญาณที่ติดตั้งอยูบนระเบียงอาคาร โดยได้มีการกล่าวถึงไว้ในหนังสือลงวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 ซึ่งแจ้งถึงความเสียหายพร้อมกับรายงานการตรวจสอบของบริษัทผู้ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ของฝ่ายโจทก์ต่อบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยไว้ด้วย แต่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ในรายงานผลการตรวจประเมินความเสียหายนั้นของผู้ประเมินวินาศภัยฝ่ายจำเลยกลับมิได้กล่าวถึงภาวะเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ตลอดจนไม่ได้เอ่ยถึงการเข้าไปตรวจสอบระเบียง หรือเหตุแห่งความเสียหายที่มีต่อเสารับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่บนระเบียงนั้นใด ๆ เลย สิ่งที่น่าฉงนใจยิ่งกว่านั้น ทั้งที่ผู้แทนของฝ่ายจำเลยเองก็เข้าอยู่ร่วมในการตรวจประเมินความเสียหายนั้นเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่มีการลงรายละเอียดของสาระสำคัญแห่งความเสียหายดังกล่าวนั้นแต่ประการใด พยานหลักฐานในประเด็นข้อโต้แย้งนี้ของฝ่ายจำเลยดูไม่น่าเชื่อถือว่า ได้มีการตรวจประเมินความเสียหายนั้นจริง

 

อนึ่ง คำว่า “ฟ้าผ่า (lightning)” อันเป็นภัยคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาท เมื่อไม่ปรากฏคำนิยามเฉพาะกำกับไว้ จำต้องอาศัยการพิจารณาความหมายทั่วไปตามพจนานุกรมทั่วไป ซึ่งในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับย่อของอ็อกซ์ฟอร์ด (Concise Oxford English Dictionary) หมายความถึง

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงระหว่างเมฆกับพื้นดิน หรือระหว่างเมฆกับเมฆ ทำให้เกิดแสงสว่างวาบ (ฟ้าแลบ) และเสียงดัง (ฟ้าร้อง) ตามมา โดยปกติแล้วฟ้าผ่ามักเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง

 

ในคดีนี้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานบันทึกถึงการเกิดฟ้าผ่าลงที่ตัวอาคารโดยตรง เพียงแต่มีรายงานการตรวจประเมินความเสียหายระบุถึงสภาพภูมิอากาศช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นต้นว่า ฟ้าผ่า พายุฝนฟ้าคะนองบังเกิดขึ้น ภาวะกระแสไฟฟ้ากระโชกอย่างรุนแรง (heavy surges) อาจถูกเหนี่ยวนำ (induced) เข้าไปอยู่ในสายไฟฟ้าอาจทำให้เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวที่มีความซับซ้อนอ่อนไหวจนถึงขนาดชำรุดเสียหายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเช่นเดิม

 

ความเข้าใจทั่วไปถึงภัยฟ้าผ่า คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงระหว่างเมฆกับเมฆ หรือระหว่างเมฆกับพื้นดิน ครั้นเมื่อปราศจากคำนิยามเฉพาะกำกับไว้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาท คณะกรรมการชั้นอุทธรณ์จึงเห็นว่า ความเสียหายจากภัยฟ้าผ่าไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่การปลดปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงระหว่างเมฆกับพื้นดินเท่านั้น แต่ควรรวมถึงจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงระหว่างเมฆกับเมฆด้วยเช่นเดียวกัน

 

อีกทั้งรายงานผลการตรวจประเมินความเสียหายนั้นของผู้ประเมินวินาศภัยฝ่ายจำเลยยังเขียนถึงการบอกเล่าของพยานฝ่ายโจทก์ว่า บริเวณเมืองที่ตั้งของสถานประกอบการที่เอาประกันภัยได้ประสบภาวะพายุลมแรงตามด้วยฝนฟ้าคะนอง ประมาณเวลา 18.00 น. ของวันพุธที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2007 และเกิดไฟฟ้าดับไปทั่วทั้งเมืองเป็นระยะเวลาประมาณสองชั่วโมง เนื่องด้วยสาเหตุการเกิดกระแสไฟฟ้ากระโชกจากภายนอกที่มาจากฟ้าผ่าอันส่งผลทำให้เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายดังกล่าว โดยไม่ปรากฏร่องรอยความเสียหายจากไฟไหม้ทั้งภายนอกกับภายในของตัวเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นแต่ประการใด ฉะนั้น คณะกรรมการชั้นอุทธรณ์มีความเห็นว่า การชำรุดเสียหายของเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นเนื่องมาจากการเกิดกระแสไฟฟ้ากระโชกอย่างรุนแรงในระบบไฟฟ้านั้น

 

การที่ผู้ประเมินวินาศภัยของฝ่ายจำเลยอ้างอิงข้อความจริงจากผู้แทนของฝ่ายโจทก์เป็นเกณฑ์ โดยไม่ได้พยายามค้นหาพยานหลักฐานอื่นเพื่อมาโต้แย้งเป็นอื่น จึงถือว่า ฝ่ายจำเลยได้ยอมรับสาเหตุแห่งความเสียหายนั้นโดยปริยาย แต่กลับมาอ้างอิงข้อยกเว้นข้างต้นเพื่อปฏิเสธความรับผิดภายหลัง อีกทั้งข้อยกเว้นนี้ก็ไม่มีผลใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ เพราะไม่ได้มีการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า เนื่องจากฟ้าไม่ได้ผ่าลงตรงที่ตัวเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นโดยตรง และไม่ได้มีไฟลุกไหม้ขึ้นมาด้วย (because there is no leakage of electricity as lightning has not struck the machine and there was no fire)

 

คณะกรรมการชั้นอุทธรณ์จึงตัดสินให้ฝ่ายจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี National Insurance Co. Ltd. vs M/S. Gold Stone Technologies Ltd. on 23 February, 2016)

 

หมายเหตุ

 

ถ้าอ่านเหตุผลความเห็นตอนท้ายสุดของคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์อย่างผิวเผิน ก็อาจค่อนข้างงงว่า การรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าไปเกี่ยวข้องได้ยังไง?

 

แต่เมื่อย้อนกลับไปอ่านถ้อยคำอย่างเพ่งพินิจของข้อยกเว้นนี้อีกครั้งหนึ่งซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึง

 

ความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายต่อเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ อันเกิดขึ้นมาจาก หรือเป็นเหตุมาจากการเดินเครื่องเกินกำลัง การใช้ความดันเกินกำหนด ไฟฟ้าลัดวงจร การเกิดประกายไฟฟ้า การเผาไหม้ของสายไฟในตัวเอง หรือการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าจากสาเหตุใดก็ตาม (รวมทั้งสาเหตุฟ้าผ่าด้วย) ทั้งนี้ เพียงเฉพาะแก่เครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นว่านั้นเท่านั้น โดยไม่รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้อื่นใดที่เสียหายจากไฟไหม้ด้วย

 

หากคงไม่เข้าใจอยู่เช่นเดิม เสนอแนะให้ลองแยกแยะถ้อยคำออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ ดังนี้ น่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นไหมครับ?

 

1) ความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายต่อเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้

 

2) อันเกิดขึ้นมาจาก หรือเป็นเหตุมาจาก

 

2.1) การเดินเครื่องเกินกำลัง

2.2) การใช้ความดันเกินกำหนด

2.3) ไฟฟ้าลัดวงจร

2.4) การเกิดประกายไฟฟ้า

2.5) การเผาไหม้ของสายไฟในตัวเอง หรือ

2.6) การรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าจากสาเหตุใดก็ตาม (รวมทั้งสาเหตุฟ้าผ่าด้วย)

 

3) ทั้งนี้ เพียงเฉพาะแก่เครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นว่านั้นเท่านั้น

 

4) โดยไม่รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้อื่นใดที่เสียหายจากไฟไหม้ด้วย

 

น่าสนใจนะครับ ศาลบ้านเราจะแปลความหมายข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป ฉบับมาตรฐานของบ้านเราเช่นไร? ซึ่งได้เขียนคล้ายคลึงกันว่า

 

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครอง

  ……………………………..

 

 4)  ทรัพย์สินต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งเป็นอย่างอื่นในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

       ……………………………….

 

      4.7 ไดนาโม หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า แผง

ควบคุม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งได้รับความเสียหาย

เนื่องจาก หรือเพราะการเดินเครื่องเกินกำลัง หรือได้รับกระแสไฟฟ้าเกินกำลัง

หรือไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า เฉพาะเครื่องที่เกิดการ

เสียหายในกรณีดังกล่าว

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 228 : ถังสัมผัสคลอรีน (Chlorine Tank) ของระบบไฮโดรฟนิวเมติค (Hydropneumatic System) จัดเป็นหม้อกำเนิดไอน้ำ/ภาชนะอัดความดัน (Boiler/Pressure Vessel) หรือไม่?

 

ผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามารับผิดชอบ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ และเครื่องจักร (Boiler and Machinery Insurance Policy) สำหรับความเสียหายต่อถังสัมผัสคลอรีน (chlorine tank) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบน้ำสะอาดที่ใช้อยู่ในภัตคาคารของตน โดยอ้างว่า ได้มีก๊าซคลอรีนพ่นออกมาจากที่อยู่ภายในถังนั้นอย่างฉับพลัน และอย่างไม่ได้คาดคิด

 

แต่ปรากฏมีประเด็นข้อพิพาทขึ้นถึงชั้นศาลอุทธรณ์ในท้ายที่สุด ดังนี้

 

1) ถังสัมผัสคลอรีนจัดเป็นภาชนะอัดความดัน (pressure vessel) ที่จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่? และ

 

2) กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นอุบัติเหตุอันจะได้รับความคุ้มครองหรือเปล่า?

 

1) ถังสัมผัสคลอรีนจัดเป็นภาชนะอัดความดัน (pressure vessel) ที่จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ได้แจกแจงรายการของวัตถุที่เอาประกันภัย (Object) ได้แก่ ภาชนะอัดความดันโลหะแบบท่อน้ำใด ๆ (any metal unfired pressure vessel) ดังต่อไปนี้ ถังระบบไฮโดรฟนิวเมติค (hydro-pneumatic tank) …

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า ถังสัมผัสคลอรีนไม่ใช่ถังระบบไฮโดรฟนิวเมติค เพราะเป็นเพียงแค่ถังบรรจุสารคลอรีนเท่านั้น อันไม่ใช่วัตถุที่เอาประกันภัยตามรายการดังกล่าว

 

ขณะที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยต่อสู้ว่า ถังสัมผัสคลอรีนนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฮโดรฟนิวเมติด (hydropneumatics system) หรือระบบที่ใช้ของเหลวกับก๊าซ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว และแรงดัน โดยเฉพาะ ณ เวลาเมื่อเกิดเหตุ ก็อยู่ในสภาวะเช่นว่านั้นด้วย

 

พยานผู้เชี่ยวชาญที่มาตรวจสอบความเสียหายได้ให้ข้อมูลเสริมเพิ่มเติมว่า ระบบไฮโดรฟนิวเมติด (hydropneumatics system) หรือระบบที่ใช้ของเหลวกับก๊าซนั้นจะประกอบด้วยเครื่องอุปกรณ์สามส่วน กล่าวคือ ส่วนหัวฉีดน้ำ (water injector unit) ส่วนควบคุมการทำงาน (control unit) และส่วนที่เป็นกระบอกสูบ (cylinder unit) อยู่บนถังสัมผัสคลอรีน ถ้าเฉพาะถังสัมผัสคลอรีนเพียงลำพัง ไม่จัดเป็นถังระบบไฮโดรฟนิวเมติค แต่เมื่อได้ถูกนำมาใช้อยู่ในระบบดังกล่าวนั้นแล้ว มีความเห็นว่า จัดเป็นถังระบบไฮโดรฟนิวเมติคได้ เพราะตัวถังสัมผัสคลอรีนได้ก่อให้เกิดการทำงานของระบบนี้ขึ้นมาได้ และจะไม่สามารถได้ก๊าซคลอรีนออกมา ณ เวลาที่เกิดความเสียหาย ถังสัมผัสคลอรีนนี้ก็ร่วมอยู่ในกระบวนการของระบบไฮโดรฟนิวเมติด (hydropneumatics system) หรือระบบที่ใช้ของเหลวกับก๊าซนั้นเอง จึงควรถือเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยอันจะได้รับความคุ้มครอง

 

ศาลอุทธรณ์เห็นโน้มเอียงทางฝ่ายผู้เอาประกันภัย และพยานผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทไม่ชัดเจนเพียงพอ เห็นควรยกประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย

 

2) กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นอุบัติเหตุอันจะได้รับความคุ้มครองหรือเปล่า?

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทให้ความหมายของ “อุบัติเหตุ” คือ การชำรุดเสียหายของวัตถุที่เอาประกันภัยโดยฉับพลัน และโดยไม่ได้มุ่งหวัง ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพขึ้นมาถึงขนาดจำต้องได้รับการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนทดแทน ณ เวลาเมื่อเกิดความเสียหายนั้น ทั้งนี้ ไม่ได้รวมถึง การลดลง การเสื่อมสภาพ การกัดกร่อน หรือการสึกกร่อนของวัสดุ ตลอดจนถึงการรั่วไหลของวาวล์ควบคุม

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า เหตุการณ์นี้ไม่จัดเป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากได้ปรากฏมีการรั่วไหลของวาวล์ ทั้งส่งผลทำให้เกิดการค่อย ๆ กัดกร่อนตรงส่วนประกอบของวาวล์ที่มีอยู่ในระบบถังอัดความดัน (chlorinator system) ในท้ายที่สุด

 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อความจริงที่เป็นอันยุติ คือ ก๊าซคลอรีนได้เล็ดรอดออกมาจากวาวล์ควบบคุมเครื่องผลิตคลอรีน (chlorinator valve) ซึ่งอยู่ด้านบนของถังสัมผัสคลอรีน โดยเป็นการหลุดเล็ดรอดอย่างแบพลันทันด่วนด้วยการพ่นก๊าซคลอรีนออกไปในอากาศ พร้อมมีเสียงดังฟู่ ซึ่งพยานผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เกิดจากซีลตรงบ่าวาวล์ในส่วนของกระบอกสูบมีการหลุดเคลื่อนอย่างฉับพลันเนื่องจากแรงกดของสปริงภายใน ภายในถังสัมผัสคลอรีนจึงก่อให้เกิดแรงดันของก๊าซระเบิดพุ่งพ่นออกมาดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่ใช่จากการรั่วไหลของวาวล์อย่างชัดเจน

 

แม้นจะปรากฏร่องรอยการกัดกร่อนอยู่ด้วย ก็เป็นเพียงผลสืบเนื่องมาจากการเล็ดรอดออกมาของก๊าซคลอรีนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกรณีการค่อย ๆ กัดกร่อนโดยลำพังอันจะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Lakeshore Marine, Inc. Acc. & Indem. Co., 164 Ga. App. 417, 296 S.E. 2d 418 (1982))

 

หมายเหตุ

 

น่าสนใจว่า ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้ หากนำมาปรับใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยหม้อน้ำของบ้านเรา หรือชื่อเต็มเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน (Boiler and Pressure Vessel Insurance Policy)” ซึ่งจะให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในที่มิได้ถูกระบุยกเว้นเอาไว้ แต่จำกัดเพียงเฉพาะถึงขนาดเกิดการระเบิด (explosion) และการยุบแฟบ (collapse) ขึ้นมาแล้วเท่านั้น โดยสร้างความเสียหายแก่

 

     1.1) ตัวหม้อกำเนิดไอน้ำกับถังอัดความดันที่ได้กำหนดเอาประกันภัยไว้นั้นเอง

     1.2) ทรัพย์สินอื่นของผู้เอาประกันภัย

     1.3) ความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และ

     1.4) ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี

 

โดยกำหนดคำนิยามเฉพาะไว้ ดังนี้

 

คำว่า หม้อกำเนิดไอน้ำหมายถึงภาชนะที่ปิดมิดชิด หรือทั้งภาชนะและระบบของท่อที่ถูกเผาไฟให้ร้อน เพื่อใช้การผลิตไอน้ำภายใต้ความดัน เมื่อใช้ในตารางนี้หม้อกำเนิดไอน้ำหมายรวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ท่อ/เครื่องให้ความร้อนสูง และเครื่องประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งสร้างรวมเป็นส่วนหนึ่งหรือแยกอยู่ต่างหากของหม้อกำเนิดไอน้ำ

 

คำว่า ถังอัดความดันในเอกสารแนบท้ายนี้ หมายถึงภาชนะที่ปิดมิดชิดใด ๆ ที่ไม่ได้ถูกเผาไฟ ซึ่งมีกำลังอัดของไอน้ำหรืออากาศอยู่ภายใน

 

คำว่า การระเบิดในเอกสารแนบท้ายนี้ หมายถึงการฉีกขาดหรือแตกแยกออกโดยฉับพลันของโครงสร้างของหม้อกำเนิดไอน้ำ หรือถังอัดความดัน เนื่องจากกำลังดันของไอน้ำ อากาศ หรือของเหลวที่อยู่ภายใน เป็นผลให้โครงสร้างเคลื่อนที่ไป และทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ภายในกระเด็นออกไปด้วยกำลังแรงดังกล่าวการระเบิดให้หมายรวมถึงความเสียหายใด ๆ ที่เกิดแก่โครงสร้างของหม้อกำเนิดไอน้ำ โดยแรงของการสันดาปอย่างทันทีทันใดของเชื้อเพลิงในเตาไฟหรือในปล่องไฟ

 

คำว่าการยุบแฟบในเอกสารแนบท้ายนี้ หมายถึงการเปลี่ยนรูปของส่วนใดส่วนหนึ่งของหม้อกำเนิดไอน้ำ หรือถังอัดความดันโดยฉับพลันในลักษณะอันตราย โดยแรงบีบอัดของไอน้ำหรือของเหลวจะถึงแตกร้าวหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ มิได้หมายความถึงการเสียรูปซึ่งค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ ไม่ว่าจะเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม การระเบิดของก๊าซในปล่องไฟตามเอกสารแนบท้ายฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองถึงความเสียหาย ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการระเบิดของก๊าซในเตา หรือปล่องไฟของหม้อกำเนิดไอน้ำนั้น

 

ผลสรุปจะเป็นเช่นไร?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 227 : อากาศเสีย (Poor Air Quality) ใช่ความเสียหายทางกายภาพ (Physical Damage) ที่บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดไหม?

 

เราเคยคุ้นชินกับความเสียหายทางกายภาพ (physical damage) ที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านรูปร่าง (change or alteration towards structure or appearance) ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจนรู้สึกปกติธรรมดาไปแล้ว

 

เราอาจเคยรู้สึกแปลกใจไปบ้าง เมื่อได้รับฟังถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านกลิ่น (odor) ที่มีต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งเคยเล่าสู่กันฟังหลายเรื่องแล้ว

 

แต่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านสภาพอากาศ (air quality) นี่นะ

 

เชื่อว่า หลายท่านอาจร้องอุทานด้วยความตกใจ ล้อกันเล่นหรือเปล่า? ใช่เรื่องจริงไหม? แล้วจะเป็นไปได้ยังไง?

 

คำเฉลยจะอยู่ในสิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ครับ

สมาคมผู้ชื่นชมบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ (Oregon Shakespeare Festival Association) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหากำไรแห่งรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดดำเนินการแสดงดังกล่าวให้แก่ประชาชนผู้เป็นแฟนประจำได้รับชมตามตารางเวลาอย่างสม่ำเสมอ โดยมีอาคารโรงละครอยู่ทั้งหมดสามหลัง สองหลังแรกเป็นอาคารปิดตามปกติทั่วไป ขณะที่หลังที่สามจะเป็นอาคารลักษณะกึ่งกลางแจ้ง คือ มีหลังคาปิดเฉพาะส่วนของเวทีเท่านั้น

 

สมาคมแห่งนี้ได้นำทรัพย์สินของตนไปจัดทำการประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัยควบคู่กับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสูญเสียรายได้ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

ช่วงฤดูร้อน คือ ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2013 ได้เกิดมีกลุ่มควันขนาดใหญ่จากไฟไหม้ป่าหลายจุดด้วยกัน ล่องลอยเข้ามาปกคลุมบริเวณโรงละครดังกล่าว โดยเฉพาะโรงละครที่สามจนก่อให้เกิดควัน คราบเขม่ากับเศษขี้เถ้ากระจายแทรกเข้าไปอยู่ตามที่นั่งพลาติก พื้นคอนกรีต ตลอดจนตัวอาคารทั้งภายนอก ภายใน รวมทั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การหมุนเวียนปรับสภาะอากาศกับการกรองอากาศ (Heating Ventilation & Air Conditiong – HVAC) ระบบไฟฟ้าแสงสีเสียง และระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จนส่งผลทำให้จำต้องตัดสินใจยกเลิกการแสดงตามตารางปกติของโรงละครที่สามซึ่งเป็นอาคารกึ่งเปิดโล่งดังกล่าวรวมสี่คืน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยแก่สุขภาพของพนักงาน นักแสดง และผู้เข้าชม

 

อนึ่ง การพิจารณาตัดสินใจยกเลิกตารางการแสดงปกติแต่ละรอบของคณะกรรมการของโรงละครนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลจากปัจจัยหลัก ดังนี้

 

ก) สภาพภูมิอากาศแต่ละวัน

ข) คำพยากรณ์สภาพภูมิอากาศล่วงหน้าของแต่ละวัน

ค) สุขภาพอนามัยของนักแสดง

 

โดยอาศัยการอ้างอิงเครื่องมือวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) ของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่รู้จักกันดีว่า ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เว้นแต่กรณีมีปริมาณมากจะดูคล้ายหมอก หรือควันปกคลุมอยู่ หากวัดได้คุณภาพอากาศที่ไม่ปลอดภัยเป็นอันตรายแก่สุขภาพ คณะกรรมการนั้นก็จะตัดสินใจยกเลิกล่วงหน้า สำหรับรอบการแสดงนั้น ๆ

 

นอกจากนี้ ยังอาศัยข้อมูลภายหลังจากการแสดงแต่ละรอบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจอีกด้วย

 

วันแรกกับวันที่สองที่มีการยกเลิกการแสดง ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ระดับร้ายแรงที่  400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

วันที่สามกับที่สี่ซึ่งมีการยกเลิกเช่นเดียวกัน ลดระดับลงมาอยู่ที่ 250 กับ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

 

แม้วันถัดมาจะคงยังมีระดับสูงเกินกว่าระดับความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก คือ อยู่ที่ไม่เกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ตาม คณะกรรมการก็ไม่ได้ตัดสินใจยกเลิกแต่ประการใด

 

กรณีเหล่านี้ได้เกิดเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล โดยมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

 

1) ผู้เอาประกันภัยโจทก์จะได้รับความคุ้มครองจากความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ โรงละครที่สามซึ่งมีลักษณะกึ่งเปิดโล่งจากควันของไฟป่าที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ในทรัพย์สินนั้นจนส่งผลทำให้ไม่สามารถใช้งานทรัพย์สินนั้นได้อีกต่อไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่?

 

คู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่า ทรัพย์สินที่อยู่ ณ โรงละครที่สามเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่เห็นต่างกันในประเด็นเรื่องการแปลความหมายของถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทที่ระบุว่า “ความความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (direct physical loss or damage)” เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดคำนิยามเฉพาะเจาะจงเอาไว้  

 

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์หยิบยกความหมายของคำว่า “ทางกายภาพ” ตามพจนานุกรมทั่วไปมาแสดงว่า หมายความถึง วัตถุที่จับต้องได้ตามสภาพ หรือตามปกติทั่วไป (natural or material thing) ไม่ใช่สิ่งที่นึกคิดไปเองตามอารมณ์ความรู้สึก ฉะนั้น ควันจากไฟป่าได้สร้างความเสียหายแก่สิ่งตกแต่งภายในโรงละครนั้น ซึ่งรวมถึงอากาศ (air) ที่อยู่ภายในนั้นด้วย

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยโต้แย้งว่า อากาศไม่อาจเอาประกันภัยได้ เพราะไม่ถือเป็นทรัพย์สิน อีกทั้งก็ไม่ได้ข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่า อากาศที่อยู่ภายในนั้นจะถึงขนาดได้รับความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพจากการปนเปื้อน หรือการแทรกตัวได้

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่ได้พยายามอธิบายชี้แจงอย่างเพียงพอที่จะทำให้ศาลรับฟังเข้าใจได้ว่า อากาศไม่มีสภาพทางกายภาพ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกแน่นอน ดั่งเช่น ความมีชื่อเสียง หรือมูลค่าทางการตลาด เป็นต้น

 

จริงอยู่ อากาศไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะพูดว่า อากาศไม่จัดเป็นทรัพย์สินได้เลยนั้นไม่ได้ (ทรัพย์สินอาจหมายความถึง วัตถที่มีรูปร่าง และไม่มีรูปร่างก็ได้)

 

นอกจากนี้ ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยยังต่อสู้อีกด้วยว่า การเกิดความเสียหายทางกายภาพจะต้องมีลักษณะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่าง หรือรูปลักษณะแก่วัตถุด้วย จนถึงขนาดทำให้จำต้องทำการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนทดแทน เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิม มิฉะนั้นแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั้งสองฉบับก็ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้

 

ในที่นี้ อากาศตามที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์อ้างว่า เสียหายทางกายภาพแล้ว ก็ไม่ปรากฏจะต้องได้รับการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนทดแทนแต่ประการใด ซึ่งไม่ปรากฏมีถ้อยคำตรงจุดใดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทระบุไว้ หรือสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยเช่นนั้นอยู่เลย

 

คดีนี้ ไม่อาจโต้แย้งได้ว่า จะต้องมีการทำความสะอาดแก่ทรัพย์สินที่เสียหายทั้งภายนอก ภายในโรงละครที่สามดังกล่าว ด้วยการเปลี่ยนไส้กรองอากาศบ่อยครั้ง การเช็ดถูทำความสะอาด (ไม่มีการใช้น้ำยาเคมี) ทุกจุด โดยเฉพาะบริเวณที่เปิดโล่งซึ่งใช้เวลานานนับชั่วโมงก่อนจะเปิดการแสดงแต่ละรอบ

 

ส่วนข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยมากล่าวอ้างเพิ่มเติม อันได้แก่

 

1.1) การล่าช้า การขาดประโยชน์จากการใช้งาน และการสูญเสียตลาด

 

การแปลความหมายว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งเสียหายจากภัยที่คุ้มครอง แล้วยังจะต้องตกอยู่ในข้อยกเว้นเรื่องกรณีข้างต้นนั้น ไม่น่าถูกต้อง และรับฟังได้ น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกอย่างอื่นมากกว่า เป็นต้นว่า ความไม่พร้อมของนักแสดง ทำให้การแสดงรอบนั้นต้องถูกเลื่อนเวลา ถึงจะเข้าข่ายในข้อยกเว้นนี้

 

1.2) ควันพิษ หรือควัน (smog or smoke)

 

ควันพิษจะปรากฏอยู่ในข้อยกเว้น แต่ไม่มีคำนิยามเฉพาะกำหนดไว้ ครั้นไปดูความหมายนี้ของพจนากรมทั่วไป ควันพิษจะหมายความรวมถึง ควัน ก็จะกลายเป็นว่า ควันทุกชนิดจะพลอยไม่ได้รับความคุ้มครองไปด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน

 

1.3) มลพิษ

 

เช่นเดียวกัน ศาลก็ไม่ยอมรับการแปลความหมายกว้างถึงขนาดนั้น

 

2) ควันเป็นอุบัติเหตุที่ส่งผลทำให้ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยโจทก์หยุดชะงักหรือเปล่า?

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยพยายามต่อสู้เพิ่มเติมว่า การยกเลิกรอบการแสดงเกิดขึ้นตามความประสงค์ด้วยความสมครใจของฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์เอง ไม่ได้บังเกิดจากสาเหตุของอุบัติภัย

 

ศาลไม่เห็นพ้องด้วย ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้แสดงพยานหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจนแล้วว่า อากาศภายในโรงละครนั้นถูกแทรกตัวอยู่จากควันของไฟป่าที่เกิดขึ้นหลายแห่ง ควันไม่อยู่ภายใต้สิ่งที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์จะสามารถจำกัดควบคุมได้ ทั้งอากาศที่อยู่ภายในนั้นอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยแก่สุขภาพอนามัยแก่ผู้คนทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จำต้องยกเลิกรอบการแสดงเหล่านั้นลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

 

อนึ่ง ลักษณะโครงสร้างพิเศษของอาคารโรงละครแห่งนี้ ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยได้รับรู้ และยอมรับสภาพตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้พยายามที่จะจำกัด หรือวางกรอบการรับประกันภัยเป็นกรณีจำเพาะแต่ประการใด รวมถึงการเขียนถ้อยคำให้ชัดแจ้งกว่านี้ ซึ่งฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยอยู่ในสถานะที่จะกระทำได้อยู่แล้ว แต่กลับละเลย

 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ศาลจึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั้งสองฉบับ

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Oregon Shakespeare Festival Association v. Great American Insurance Co., 2016 WL 3267247)

 

หมายเหตุ

 

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ส่วนท่านใดจะเห็นพ้อง หรือเห็นต่าง สุดแล้วแต่ใจท่านครับ

 

เคยพยายามชี้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เวลามีโอกาสบรรยายความรู้ด้านการประกันภัยต่าง ๆ

 

บริษัทประกันภัยมักระบุถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

 

ถ้าไปพลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดูจะพบว่า ทรัพย์สินนั้นมีความหมายกว้างขวางนัก

 

มาตรา 137 ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง

 

มาตรา 138 ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

 

ไม่เคยพบใครใช้คำว่า “ทรัพย์ที่เอาประกันภัย” บ้างเลย

 

แถมบางรายยังไปใช้คำว่า Real Property & Personal Property (อสังหาริมทรัพย์กับสังหาริมทรัพย์) เข้าไปอีก

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/