เรื่องที่ 230 : เมื่อเงื่อนไขบังคับก่อน (Condition Precedent) ของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) มีผลใช้บังคับ!!!
พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้คำนิยามถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้
1) condition precedent of the policy เงื่อนไขบังคับก่อนของกรมธรรม์ประกันภัย หมายความถึง เงื่อนไขในการประกันภัยซึ่งกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องปฏิบัติก่อน มิฉะนั้นจะถือว่า ผู้เอาประกันภัยทำผิดสัญญา อันเป็นผลให้ผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญา
2) condition precedent to liability เงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิด หมายความถึง เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งถ้าผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้น ผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธการชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นได้
แม้ในส่วนเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าส่วนของความคุ้มครองกับข้อยกเว้น แต่บ่อยครั้งกลับถูกละเลยไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรไปอย่างน่าเสียดาย
กว่าจะรู้สึกตัว ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว
ดั่งเช่นบทเรียนที่เจ็บปวดจากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้
เช้าตรู่ของวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2012 ได้เกิดเพลิงไหม้ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของประเทศสิงคโปร์ ลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่โรงงานสามแห่งที่ตั้งอยู่ข้างเคียงกัน อันได้แก่ โรงงานเขตพื้นที่ 141, 143 และ 145 ตามลำดับ
โรงงานเขตพื้นที่ 141 กับ 143 ต่างกล่าวหา พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันว่า ต้นเพลิงนั้นเกิดมาจากโรงงานแต่ละแห่ง จนเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล เพื่อค้นหาข้อยุติว่า
(ก) ต้นเพลิงนั้นเกิดมาจากโรงงานเขตพื้นที่ 141 หรือ 143 กันแน่?
(ข) ถ้าต้นเพลิงนั้นมีที่มาจากโรงงานเขตพื้นที่ 141 ของฝ่ายจำเลยแล้ว เกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายจำเลยหรือไม่?
(ข) ถ้าต้นเพลิงนั้นมีที่มาจากโรงงานเขตพื้นที่ 143 ของฝ่ายโจทก์แล้ว เกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์หรือไม่?
ผลการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่าง ๆ ออกมาแล้ว ปรากฏว่า ฝ่ายจำเลยโรงงานเขตพื้นที่ 141 ยอมรับว่า ต้นเพลิงเกิดมาจากสถานที่ตั้งของตนเองจริง และไฟได้ลุกลามไปไหม้สร้างความเสียหายแก่โรงงานเขตพื้นที่ 143 ของฝ่ายโจทก์ ณ เวลาถัดมา
เนื่องจากขณะที่เกิดเหตุ โรงงานเขตพื้นที่ 143 ของฝ่ายโจทก์นั้นไม่มีพนักงานทำงานอยู่เลย เพราะเป็นช่วงเวลาหยุดงาน ขณะที่โรงงานเขตพื้นที่ 141 ของฝ่ายจำเลยนั้น นอกจากใช้อาคารสถานที่ตั้งของตนเองประกอบกิจการโรงงานประกอบ และทดสอบสายส่งพลังงานไฟฟ้า (electrical cables) กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจำหน่าย และติดตั้งระบบไฟฟ้าให้แก่กลุ่มการค้า หรือกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังกันพื้นที่บางส่วนเป็นหอพักให้แรงงานงานต่างชาติพักอาศัยอยู่ ซึ่งมีการหุงหาทำอาหารอยู่ภายในนั้นด้วย ทั้งพยานแรงงานงานต่างชาติซึ่งเป็นของฝ่ายจำเลยได้ให้การว่า พบเห็นไฟลุกไหม้ในโรงงานนั้นเอง ไม่เห็นมาลุกลามจากโรงงานอื่นข้างเคียงแต่ประการใด และพยายามช่วยกันดับไฟแล้ว แต่ไม่สำเร็จ
ศาลจึงตัดสินว่า ต้นเพลิงนั้นมาจากโรงงานเขตพื้นที่ 141 ของฝ่ายจำเลย และถือเป็นความประมาทเลินเล่อของฝ่ายจำเลยโรงงานเขตพื้นที่ 141 เองซึ่งจำต้องรับผิดแก่ผู้เสียหายตามฟ้อง
ฝ่ายจำเลยโรงงานเขตพื้นที่ 141 ได้แจ้งว่า ตนมีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกอยู่ เดี๋ยวจะให้บริษัทประกันภัยนั้นของตนมารับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทน
อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับคำบอกปัดไม่รับผิดชอบจากบริษัทประกันภัยนั้นของตน ฝ่ายโรงงานเขตพื้นที่ 141 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยนั้นของตนเป็นอีกคดีหนึ่ง
ฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 โต้แย้งคำกล่าวอ้างของฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยนั้นที่ว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนั้น เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่กำหนดไว้ดังอ้างอิงนั้นเป็นเพียงข้อสัญญาปกติทั่วไป ไม่ได้ถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดแต่ประการใด
ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยนั้นตอบโต้ว่า หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าว หน่วยงานราชการได้กล่าวหาว่า ฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัย (Fire Safety Act) จำนวนห้ากระทง โทษฐานการใช้พื้นที่ของโรงงานเป็นที่พักอาศัย และที่ประกอบอาหาร ทั้งยังไม่ได้จัดเตรียมแผนงานเพื่อปกป้องการเกิดไฟไหม้อีกสามกระทง ผลการวินิจฉัย ปรากฏฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหารวมห้ากระทงจากทั้งหมดแปดกระทง
อนึ่ง นี่ไม่ใช่เป็นการกระทำผิดครั้งแรกด้วย เพราะฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 เคยถูกตัดสินลงโทษลักษณะทำนองเดียวกันเมื่อปี ค.ศ. 2009 มาแล้ว
ทั้งที่มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทระบุว่า
1) ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควร ในการจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของตนให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานได้ตามปกติ และจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ผลิต หรือข้อบังคับตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน
2) ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควร และปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนด ข้อบังคับ และเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เท่าที่เกี่ยวข้องการดำเนินการใดที่จะต้องกระทำ หรือที่ไม่ควรกระทำ ตลอดจนถึงการแถลงข้อความจริงในการตอบแบบสอบถามต่าง ๆ โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่บริษัท (ประกันภัย) จะยอมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
ศาลมีคำพิพากษาว่า จริงอยู่ที่เงื่อนไขทั้งหมดของกรมธรรม์ประกันภัยไม่อาจนับเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดได้ทั้งหมด แต่การละเมิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัยถึงสองครั้งสองครานั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับอันสมควร (เพื่อประโยชน์ระหว่างตัวผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเป็นสำคัญ) อันจัดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่บริษัทประกันภัยจะสามารถตกลงยอมรับผิดได้ เมื่อฝ่ายโจทก์โรงงานเขตพื้นที่ 141 ในฐานะผู้เอาประกันภัยละเลยหน้าที่ของตนเช่นนี้ ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยนั้นจึงปฏิเสธความรับผิดตามสิทธิที่มีอยู่ของตนได้เช่นเดียวกัน
ตัดสินให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยนั้นชนะคดีนี้
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Grace Electrical Engineering Pte. Ltd. v EQ Insurance Co., Ltd [2016] SGHC 233)
หมายเหตุ
บางครั้ง หัวข้อ หรือถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยอาจไม่ได้เขียนอย่างชัดเจนว่า นี่คือ เงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดก็ตาม ทางปฏิบัติอาจดูจากจุดมุ่งหมายของข้อความที่เขียนไว้ประกอบเป็นสำคัญด้วย
เช่นดังในหมวดที่ 4 เงื่อนไข และข้อกำหนดทั่วไปของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกฉบับมาตรฐานบ้านเรา เขียนว่า
……………..
2. เงื่อนไขบังคับก่อน
บริษัท (ประกันภัย) ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาประกันภัย และเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย
……………..
5. หน้าที่ของผู้เอาประกันภัยในการจัดการป้องกัน
ผู้เอาประกันภัยต้องป้องกัน หรือจัดให้มีการป้องกันตามสมควร เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุ และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย และข้อบังคับของเจ้าหน้าที่ราชการ ซึ่งบริษัท (ประกันภัย) จะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
……………..
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น