วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 216 : อาคารให้เช่า (Landlord’s Building) ถูกไฟไหม้ บริษัทประกันภัยของอาคารนั้นไล่เบี้ยเอาผิด (subrogation) กับผู้เช่าอาคาร (Tenant) ที่เป็นต้นเพลิงได้ไหม?

 

ต้นปี พ.ศ. 2561 ผมได้หยิบยกตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศ ระหว่างผู้ให้เช่า ผู้เช่า และบริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารที่ให้เช่า มากล่าวถึงสองเรื่องด้วยกัน คือ

 

เรื่องที่ 60: ผู้เช่าบ้านทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเช่า หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองบ้านเช่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าบ้านได้หรือไม่?

 

และ

 

เรื่องที่ 61: ผู้เช่าส่วนหนึ่งของอาคารทำร้านอาหาร แล้วทำให้เกิดไฟไหม้อาคารที่เช่าทั้งหลัง หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอาคารที่เช่านั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนไปแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าที่เป็นต้นเพลิงได้หรือไม่?

 

โดยมีข้อสรุปแนวคำพิพากษาขณะนั้นว่า แม้มิได้ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองอาคารที่เช่า ให้ผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วยก็ตาม แนวทางการตีความ ให้ถือผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมโดยปริยาย (implied co-insured) บริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารที่ให้เช่านั้นไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาผิดกับผู้เช่าซึ่งเป็นต้นเพลิงได้ เว้นแต่จะได้มีการระบุเงื่อนไขสัญญาเช่าไว้เป็นอย่างอื่น

 

บัดนี้ ถึงคราวที่ได้มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการระบุเงื่อนไขสัญญาเช่าไว้เป็นอย่างอื่นเกิดขึ้นพอดี

ปี ค.ศ. 1964 ได้เกิดสัญญาเช่าลำดับแรก (superior lease) ระหว่างเจ้าของอาคาร และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดกับผู้เช่าลำดับแรก

 

ปลายปี ค.ศ. 1996 ผู้เช่าลำดับแรกได้ให้เช่าช่วงกับผู้เช่าลำดับที่สอง

 

ต่อมา ผู้เช่าลำดับที่สองได้โอนสิทธิการเช่าเฉพาะส่วนตัวอาคารให้แก่ HPE เป็นผู้เช่าลำดับที่สาม ซึ่งก็ได้แบ่งพื้นที่ชั้นล่างกับชั้นใต้ดินให้เช่าช่วงแก่ Prezzo เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร

 

วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2016 ได้เกิดไฟไม้ขึ้น ณ ร้านอาหารนั้น และลุกลามไปไหม้ส่วนอื่นของตัวอาคารหลังนั้นด้วย

 

เนื่องด้วยภายใต้สัญญาเช่าตัวอาคารหลังนั้น ได้กำหนดให้ HPE ผู้เช่าลำดับที่สามจัดทำประกันภัยคุ้มครองตัวอาคารหลังนั้น เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของอาคารหลังนั้นด้วย

 

ครั้นเมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารหลังนั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ได้รับช่วงสิทธิจาก HPE มาไล่เบี้ยเอาผิดจาก Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้น

 

ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลชั้นต้น เพื่อพิจารณาว่า

 

1) การจัดทำประกันภัยคุ้มครองตัวอาคารหลังนั้นของ HPE ผู้เช่าลำดับที่สามได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตัวอาคารหลังนั้น โดยรวมถึงพื้นที่บางส่วนที่ปล่อยเช่าช่วงนั้นด้วยหรือเปล่า?

 

2) ถ้าใช่ การประกันภัยนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทั้ง HPE ผู้เช่าลำดับที่สามกับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้น อันจะส่งผลทำให้บริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารหลังนั้นไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้น ใช่หรือไม่?

 

ศาลชั้นต้นในคดีนี้ได้วิเคราะห์ถ้อยคำในสัญญาเช่าระหว่าง HPE ผู้เช่าลำดับที่สามกับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้นแล้ว พบว่า มีการกำหนดคำนิยามโดยเฉพาะเจาะจงที่แตกต่างกันระหว่างตัวอาคาร (building) กับพื้นที่ (premise)

 

ฉะนั้น ตัวอาคาร (building) มีความหมายเพียงถึงพื้นที่ส่วนที่ HPE ผู้เช่าลำดับที่สามครอบครองอยู่ ขณะที่พื้นที่ (premise) มีความหมายเฉพาะถึงบริเวณซึ่ง Prezzo ผู้เช่าช่วงได้ครอบครองอยู่เท่านั้น

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การประกันภัยนั้นจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทั้ง HPE ผู้เช่าลำดับที่สามกับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้นดังที่ Prezzo ผู้เช่าช่วงได้หยิบยกแนวคำพิพากษาศาลในคดีก่อนมาอ้างอิง และโต้แย้ง เพราะข้อความจริงของคดีนี้ได้มีการเขียนเงื่อนไขสัญญาเช่าเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ

 

ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้บริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารหลังนั้นใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้นได้

 

คดีนี้ถือเป็นอันสิ้นสุด เนื่องด้วยศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องขอยื่นอุทธรณ์ของผู้เช่าช่วงนั้น

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Prezzo Ltd v High Point Estates Ltd [2018] EWHC 1851 (TCC))

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 215: พฤติกรรมของผู้เช่า/ผู้เช่าช่วงจะส่งผลทำให้ความเสี่ยงภัยของอาคารที่เช่าเปลี่ยนแปลงถึงขนาดถูกระงับความคุ้มครอง (Materail Change in Risk) หรือไม่?

 

ประเด็นการผิดเงื่อนไขจนถึงขนาดทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับสิ้นสุดความคุ้มครองทันที เป็นกรณีที่ส่วนตัวพยายามเอ่ยถึงความรุนแรงของเงื่อนไขนี้ทุกครั้งเท่าที่มีโอกาส แต่น่าเสียดายที่กลับถูกมองข้าม ถูกละเลย หรือไม่ได้ให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง ก็ไม่ละความพยายามดอกครับ จะพยายามหยิบยกมาพูดตามแต่โอกาสจะอำนวยต่อไปเรื่อย ๆ

 

อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องความคุ้มครองกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยมากกว่าก็เป็นได้ หารู้ไม่ยังมีกรณีร้ายแรงมากกว่านั้นแอบแฝงอยู่ในส่วนที่เป็นเงื่อนไขอีก

 

เงื่อนไขนี้จะพบได้อยู่ในข้อที่ 9 ว่าด้วยการระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน โดยระบุว่า

 

"ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันทีเมื่อ


       9.1
มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการค้า การผลิต หรือลักษณะการใช้สถานที่ หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลกระทบต่ออาคาร หรือสถานที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และทำให้ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น      

      9.2 สิ่งปลูกสร้างซึ่งเอาประกันภัย หรือสถานที่ตั้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตก อยู่ในสภาพไม่มีผู้อยู่อาศัย หรือไม่มีผู้ดูแลรักษา และยังคงอยู่ในสภาพนั้นเป็นเวลาเกินกว่า 30 วันติดต่อกัน
   
  9.3 มีการโยกย้ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไปยังอาคาร หรือสถานที่อื่นใด นอกจากสถานที่ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
  
   9.4 ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัย โดยวิธีอื่น นอกจากทางพินัยกรรม หรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
  
    9.5 ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาเอาประกันภัย โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โดยบริษัทจะต้องเคยมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยก่อนวันครบกำหนดดังกล่าวไม่น้อยกว่า 7 วัน 

 

      ข้อ 9.1 ถึง 9.4 จะได้รับความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบก่อนเกิดความเสียหายขึ้น และบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะออกใบสลักหลังแนบท้ายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้"

หรืออาจเป็นคราวโชคดีของผู้เอาประกันภัยในบ้านเราที่มีประเด็นข้อพิพาทของเงื่อนไขข้างต้นให้พบเห็นค่อนข้างน้อย

 

ที่ต่างประเทศอาจไม่มีโชคเหมือนกับเรา ทำให้มีประเด็นข้อพิพาทนี้บ่อยครั้ง ดังเช่นตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้

 

ในปี ค.ศ. 2008 ผู้เอาประกันภัยได้ซื้ออาคารพาณิชย์ล็อตหนึ่งมาปล่อยให้เช่าแก่ผู้เช่าหลายราย พร้อมกับได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิด (Property All Risks Insurance Policy) คุ้มครองตัวอาคารกับทรัพย์สินที่ติดตั้งอยู่ภายใน และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนถึงปีที่เกิดเหตุ ค.ศ. 2016

 

ปี ค.ศ. 2012 มีผู้เช่ารายหนึ่งได้ปล่อยเช่าช่วงคูหาของตนให้แก่ชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์ โดยมีการชำระค่าเช่าล่วงหน้าโดยตรงแก่ผู้ให้เช่าด้วย แต่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นลายลักษณ์อักษรกันแต่ประการใด

 

ตลอดช่วงระยะเวลาที่เช่า ชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์นั้นได้ขยายตัวเติบโตอย่างมาก มีสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้น และจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงงานเลี้ยงรื่นเริงกันอยูบ่อยครั้ง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อชมรมใหม่โดยไม่ทราบเหตุผล

 

ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ผู้ให้เช่าได้เดินตรวจตราดูคูหาห้องเช่าต่าง ๆ พบว่า ล้วนอยู่ในสภาพปกติเรียบร้อยดี

 

ครั้นวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2016 ได้เกิดไฟไหม้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่อาคารให้เช่า

 

ผลการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐ สันนิษฐานว่า เกิดจากการลอบวางเพลิง เพราะตรวจพบภาชนะบรรจุสารไวไฟแปลกปลอมอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้ใดถูกกล่าวโทษ หรือถูกควบคุมตัวไว้

 

ผู้เอาประกันภัยเจ้าของอาคารให้เช่าจึงแจ้งเหตุต่อบริษัทประกันภัยของตน เพื่อให้มารับผิดชดใช้ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นแก่ตน

 

ภายหลังจากฝ่ายสินไหมของบริษัทประกันภัยรายนั้นได้มาตรวจสอบเหตุการณ์ และประเมินมูลค่าความเสียหาย

 

วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 ฝ่ายสินไหมได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดอย่างเป็นทางการถึงผู้เอาประกันภัย โดยกล่าวอ้างดังนี้

 

(1) ผู้เอาประกันภัยมิได้เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสภาพสถานที่ตั้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจนถึงขนาดทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น (material change in risk) ด้วยการปล่อยให้เช่าสถานที่นั้นแก่ชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแก๊งมอเตอร์ไซค์นอกกฎหมายที่รู้จักดีในชื่อ “Hells Angels” และ

  

(2) ผู้เอาประกันภัยมิได้แจ้งรายละเอียดของการให้เช่าช่วงต่าง ๆ ให้แก่บริษัทประกันภัยนั้นได้รับทราบล่วงหน้า  

 

ผู้เอาประกันภัยจึงยื่นฟ้องเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรายนั้นให้รับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ

 

ก่อให้เกิดสองประเด็นข้อพิพาทแก่ศาลชั้นต้นในการพิจารณาวินิจฉัยคดี ดังนี้

 

1) การให้เช่าช่วงแก่ชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์ดังกล่าวถือเป็นการทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นหรือไม่?

 2) การที่ผู้เอาประกันภัยไม่รีบดำเนินการสร้างอาคารที่เอาประกันภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยไวตามเงื่อนไขเวลา จะส่งผลทำให้เพียงได้รับการชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) คือ 406,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 9,977,693.60 บาท) หรือได้รับชดใช้ตามมูลค่าทดแทนใหม่ (New Replacement Value) เท่ากับ 640,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 15,728,384 บาท)?


ประเด็นแรก

 

ปี ค.ศ. 2012 ที่มีชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาเช่าช่วงเป็นปีแรกนั้น ฝ่ายรับประกันภัยของบริษัทประกันภัยรายนั้นเองเคยมาสำรวจภัย แต่ไม่ได้แสดงความวิตกกังวลใดเลย กลับพิจารณาต่ออายุความคุ้มครองของผู้เอาประกันภัยเช่นเดิมทุกปีเรื่อยมา

 

ทางฝ่ายสินไหมเองยอมรับข้อมูลพฤติกรรมของผู้เช่าช่วงรายที่เป็นประเด็นนั้นได้มาจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีข้อมูลการติดต่อการปฏิสัมพันธ์กับแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์อยู่บ้าง

 

เช่นเดียวกับพยานฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงเบิกความว่า ผู้เช่าช่วงรายที่เป็นประเด็นนั้นได้เชิญชวนสมาชิกแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์เข้ามาร่วมงานรื่นเริงด้วยเป็นครั้งคราว และได้นำสินค้าของแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์มาจำหน่ายในชมรมของตนด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏพบพยานหลักฐานชัดเจนใด ๆ ถึงการร่วมกระทำผิดกฎหมายกับแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์แต่ประการใด

 

ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้พบเห็นข้อมูลข่าวสารเรื่องพฤติกรรมไม่ดีของแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนที่เชื่อมโยงกับผู้เช่าช่วงรายที่เป็นประเด็นนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้ว่า ผู้เช่าช่วงรายที่เป็นประเด็นนั้นได้ก่อให้เกิดการทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นแก่สถานที่เอาประกันภัยนั้นเช่นใด

 

ประเด็นที่สอง

 

แม้นตามเงื่อนไขความคุ้มครอง จำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจะเป็นมูลค่าที่แท้จริง แต่เมื่อฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์โต้แย้งตามเจตนารมณ์ของตนควรเป็นมูลค่าทดแทนใหม่มากกว่า และฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่ได้คัดค้านกลับไปหยิบยกเรื่องเงื่อนเวลาการกลับคืนสู่สภาพเดิมในเวลาอันสมควรมาเป็นประเด็นแทน

 

พิพากษาให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามมูลค่าทดแทนใหม่ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท คือ 640,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 15,728,384 บาท)

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังนี้

 

ประเด็นแรก

 

กรณีใดจะส่งผลถึงขนาดทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นนั้น จะต้องเป็นกรณีที่อยู่ในการรับรู้ และการควบคุมของผู้เอาประกันภัย

 

ทั้งจะต้องถึงขนาดส่งผลทำให้เมื่อบริษัทประกันภัยได้รับรู้แล้ว ไม่อาจให้ความคุ้มครองได้อีกต่อไป

 

แต่พยานหลักฐานของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยกลับไม่ได้แสดงอย่างชัดเจนถึงความเชื่อมโยงดังที่กล่าวอ้างให้ศาลอุทธรณ์รับฟังเชื่อถือเช่นว่านั้นได้เลย

 

ประเด็นที่สอง

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยพยายามอ้างว่า อันที่จริง มูลค่าสร้างใหม่ทดแทนนั้นควรเท่ากับ 812,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 19,955,387.20 บาท) และเชื่อว่า แม้นฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้รับชดใช้เต็มวงเงินเอาประกันภัย 640,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 15,728,384 บาท) ก็คงไม่น่าจะสร้างใหม่ให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขเวลาได้จริงนั้น เพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอ ฉะนั้น ควรได้รับการชดใช้ตามมูลค่าที่แท้จริง แต่กลับไม่ได้แสดงพยานหลักฐานชัดเจนประกอบมาหักล้างคำพูดของฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ที่ว่า เมื่อได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนแล้ว พร้อมลงมือได้เลย

 

ศาลอุทธรณ์ไม่อาจรับฟังได้ และตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Wynward Insurance Group v Smith Building and Development Ltd., 2023 SKCA 57 (CanLII))

 

หมายเหตุ

 

กรณีทำนองเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นที่บ้านเราก็ได้ ผู้ให้เช่าไม่อาจรับรู้ได้ว่า ผู้เช่าใช้สถานที่เช่าในลักษณะเช่นใดบ้าง? และ

 

ถ้าเกิดมีประเด็นข้อพิพาทลักษณะนี้เกิดขึ้น

 

จะต้องอาศัยศาลท่านเป็นที่พึ่งสุดท้าย? หรือ

 

มีทางเลือกที่ดีกว่านั้นไหม?

 

ขอให้ลองกลับไปอ่านทบทวนย่อหน้าท้ายของเงื่อนไข ข้อที่ 9 ข้างต้นได้เลยครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 214 : เมื่อน้ำไม่ได้ท่วมบนพื้นดิน ภัยน้ำท่วมจะให้ความคุ้มครองรวมไปถึงด้วยหรือไม่? (Whether surface waters on roof are flood waters or not)?

 

คำว่า “น้ำท่วม (flood)” ดูเสมือนเป็นคำที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันดี และสามารถรับรู้เข้าใจได้ทันที

 

แต่ถ้าจะแสวงหาความหมายลักษณะเชิงวิชาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว กลับเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจ และเห็นพ้องร่วมกันได้

 

เพราะแต่ละคนจะให้มุมมองแตกต่างกันออกไป

 

ต่อให้มีพจนานุกรมบัญญัติศัพท์ความหมายอย่างเป็นทางการขึ้นมาก็เถอะ

 

มาลองพิจารณากันดูนะครับ ในเวปของราชบัณฑิตยสถาน เขียนว่า

 

คำว่า  น้ำท่วม  ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า  flood พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติศัพท์ไว้ 2 ความหมาย ดังนี้ 

 

1. น้ำท่วม หมายถึง น้ำซึ่งท่วมพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นครั้งคราว เนื่องจากมีฝนตกหนัก หรือหิมะละลาย ทำให้น้ำในลำน้ำ หรือทะเลสาบไหลล้นตลิ่ง หรือบ่าลงมาจากที่สูง 

 

2. อุทกภัย หมายถึง อันตรายอันเกิดจากน้ำท่วม

 

แวดวงประกันภัยเอง ได้มีการบัญญัติศัพท์ความหมายขึ้นมาเช่นเดียวกัน

 

คำว่า น้ำท่วมในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ หมายถึง น้ำซึ่งไหลล้น หรือไหลออกจากทางน้ำปกติซึ่งจะเป็นทางน้ำธรรมชาติ หรือจะเป็นทางน้ำที่สร้างขึ้นก็ดี (ไม่รวมถึงรางน้ำบนหลังคา) หรือเกิดจากท่อน้ำสาธารณะแตก ทำให้เกิดการท่วมของน้ำจากภายนอกของอาคารที่เอาประกันภัยไว้ หรืออาคารที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ รวมถึงน้ำท่วมอันเกิดจากลมพายุ น้ำป่า และโคลนถล่ม

 

คุณคิดว่า ทั้งคู่สามารถให้ความหมายครอบคลุมน้ำท่วมได้อย่างครบถ้วนไหมครับ?

 

น้ำท่วม หรือปัจจุบันอาจเรียกเป็นน้ำรอการระบายนั้น จำเป็นไหมที่จะต้องเกิดบนพื้นผิวดิน?

 

น้ำท่วมห้องพักชั้นบน หรือน้ำท่วมดาดฟ้าเอย ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

ยังงี้ มองในแง่ประกันภัย กรณีเช่นว่าเหล่านั้นจะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้ภัยน้ำท่วมข้างต้นหรือเปล่า?

 

ถ้าไม่เข้าข่ายความหมายข้างต้น โดยหลักการตีความของกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสรรพภัย หรือความเสี่ยงภัยทุกชนิด อาจจัดเป็นอุบัติภัยอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้น ก็เป็นได้

 

ประเด็นชวนคิดเพิ่มเติม ก็คือ

 

ทุกวันนี้ บริษัทประกันภัยมักไม่มีความประสงค์จะให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมเต็มทุนประกันภัยอีกต่อไปแล้ว เพราะเห็นว่า มีความเสี่ยงภัยสูง เพียงให้ความคุ้มครองลักษณะเป็นวงเงินต่ำ ๆ ที่เรียกว่า “จำนวนเงินจำกัดความคุ้มครองย่อย (sublimit)” เท่านั้น

 

ขณะที่อุบัติภัยอื่น ๆ อาจไม่ได้มีข้อจำกัดเข้มงวดลักษณะนั้นอย่างเคร่งครัด

 

การเลือกปฏิบัติทำนองนี้จึงก่อให้เกิดเป็นตัวอย่างคดีข้อพิพาทขึ้นมาในต่างประเทศล่าสุดนี้

 

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้ประสบปัญหาความเสียหายอย่างมาก อันสืบเนื่องมาจากเกิดพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาสะสมท่วมขังชั้นใต้ดินสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างมาก

 

นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนยังท่วมบริเวณหลังคาอาคารโรงพยาบาลที่ถูกจัดสร้างลักษณะเป็นเชิงเทิน (parapet roof) มีขอบกั้นรอบบริเวณหลังคามีรูปลักษณะเสมือนหนึ่งเป็นบ่อ จนเอ่อไหลล้นท่วมบริเวณลานดาดฟ้า ทั้งยังได้แทรกซึมเข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ตกแต่ง และจัดเก็บอยู่ภายในตัวอาคารเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก

 

เนื่องด้วยโรงพยาบาลได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิดสองฉบับไว้กับสองบริษัทประกันภัย ดังนี้

 

1) ฉบับแรกกับบริษัทประกันภัย Z โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 750 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือเทียบเท่ากับ 24,316,875,000 บาท) แต่มีจำนวนเงินจำกัดความคุ้มครองย่อย (sublimit) สำหรับภัยน้ำท่วมอยู่ที่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือเทียบเท่ากับ 3,242,250,000 บาท)

  

2) ฉบับที่สองกับบริษัทประกันภัย A โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 850 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือเทียบเท่ากับ 27,559,125,000 บาท) แต่มีจำนวนเงินจำกัดความคุ้มครองย่อย (sublimit) สำหรับภัยน้ำท่วมอยู่ที่ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือเทียบเท่ากับ 4,863,375,000 บาท)

 

โรงพยาบาลจึงได้ทำเรื่องแจ้งเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้บริษัทประกันภัยทั้งสองมทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

คำตอบกลับมาอย่างเป็นทางการของฝ่ายบริษัทประกันภัย คือ

 

1) ความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน และระดับพื้นดิน (ชั้นที่หนึ่ง) จะได้รับความคุ้มครองตามความเสียหายที่แท้จริง แต่รวมแล้วไม่เกินจำนวนเงินจำกัดความคุ้มครองย่อย (sublimit) ที่กำหนดไว้ ภายใต้ภัยน้ำท่วม

 

2) เช่นเดียวกับความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งอยู่ตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปก็จะได้รับความคุ้มครองตามความเสียหายที่แท้จริง แต่รวมแล้วไม่เกินจำนวนเงินจำกัดความคุ้มครองย่อย (sublimit) ที่กำหนดไว้ ภายใต้ภัยน้ำท่วม

 

เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากเหตุการณ์เดียวกันจากภัยน้ำท่วม ซึ่งได้ให้คำจำกัดความไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท หมายความถึงกรณีดังต่อไปนี้

 

ภาวการณ์เกิดน้ำเอ่อท่วม (inundation) ชั่วคราวตามปกติของสิ่งปลูกสร้าง หรือบริเวณพื้นที่แห้งบางส่วน หรือทั้งหมด อันมีสาเหตุมาจาก

 

(1) การสะสม หรือการไหลผ่านอย่างผิดปกติ และอย่างฉับพลันของน้ำบนพื้นผิว (surface waters) คลื่น น้ำหนุน คลื่นใต้น้ำ สึนามิ น้ำที่ถูกปล่อยออกมา การเอ่อล้น หรือการแตกของแนวกั้นของแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือการแพร่กระจายของน้ำ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากแรงลม หรือไม่ก็ตาม

 

(2) โคลนไหล (mudflow) หรือโคลนถล่ม (mudslide) อันมีสาเหตุมาจากการสะสมน้ำที่อยู่บนดิน หรือที่อยู่ใต้ดิน

 

(3) การอุดตันของน้ำ (backup of water) ในระบบระบายน้ำ หรือระบบสูบน้ำ อันมีสาเหตุมาจากน้ำท่วม ไม่ว่าบางส่วน หรือทั้งหมดก็ตาม

 

(4) คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge)

 

หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดประเมินมูลค่าออกมาแล้วเกินกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือเทียบเท่าประมาณมากกว่าหกพันล้านบาท) เพียงจะได้รับการชดใช้บางส่วนเท่านั้น

 

ฝ่ายโรงพยาบาลผู้เอาประกันภัยยอมรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่เกินจำนวนเงินจำกัดความคุ้มครองย่อย (sublimit) ที่กำหนดไว้ ในส่วนบริเวณชั้นใต้ดิน และระดับพื้นดิน (ชั้นที่หนึ่ง)

 

แต่ในส่วนของความเสียหายตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปนั้น จะต้องได้รับการชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง เพราะกรณีไม่เข้าคำจำกัดความของภัยน้ำท่วมดังอ้างอิง

 

เรื่องราวจึงถูกนำเป็นคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด เนื่องจากคู่กรณีมีการแปลความหมายที่แตกต่างกันของคำว่า “น้ำบนพื้นผิว (surface waters)” ซึ่งไม่ได้มีคำนิยามกำกับไว้อย่างชัดแจ้ง

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยเห็นว่า ถ้อยคำนี้ควรแปลความหมายตรงตัวตามพจนานุกรมทั่วไป ซึ่งให้ความหมายถึงส่วนของพื้นดินที่สัมผัสอากาศ หรือส่วนด้านนอก หรือรอบนอกสุดของวัตถุ หรือสิ่งของ

 

ฉะนั้น ส่วนหลังคาอาคารโรงพยาบาลที่ถูกจัดสร้างลักษณะเป็นเชิงเทิน (parapet roof) นั้น แม้นน้ำฝนสะสมที่เอ่อไหลล้น หรือแทรกซึมสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งอยู่ชั้นบนจะมิได้ไหลลงมาสู่พื้นดินก็ตาม บริเวณพื้นผิวของหลังคาดังกล่าวจึงถือเสมือนหนึ่งอยู่ในความหมายของส่วนด้านนอก หรือรอบนอกสุดของวัตถุ หรือสิ่งของนั้นแล้ว อันตกอยู่ในคำจำกัดความของภัยน้ำท่วมดังอ้างอิงนั้นเอง

 

ฝ่ายโรงพยาบาลผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า การแปลความหมายถ้อยคำใดควรพิจารณาจากข้อความทั้งหมดเป็นเกณฑ์ เมื่อพิจารณากรณีข้อย่อยของคำจำกัดความดังอ้างอิงล้วนกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นบนภาคพื้นดินทั้งหมด

 

ดังนั้น จุดประสงค์ของผู้ร่างถ้อยคำเช่นว่านั้นจึงได้วางกรอบไปในแนวทางเดียวกัน คือ จำกัดกรณีที่เกิดขึ้นบนภาคพื้นดินเท่านั้น

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในส่วนของความเสียหายตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปนั้น จึงไม่ใช่กรณีตามคำจำกัดความของภัยน้ำท่วมดังอ้างอิง

 

ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นพ้องตามคำกล่าวอ้างของฝ่ายบริษัทประกันภัย และตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดี

 

คดีนี้ได้ถูกส่งต่อมาถึงชั้นศาลสูง (Supreme Court)

 

ศาลสูงได้วินิจฉัยกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ฝ่ายโรงพยาบาลผู้เอาประกันภัยชนะคดี เนื่องด้วยศาลสูงเห็นว่า ถ้อยคำของ “น้ำบนพื้นผิว (surface waters)” นั้นสามารถแปลความหมายออกไปได้หลายนัย ถือเป็นถ้อยคำที่กำกวม ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ตามหลักกฎหมาย ควรยกประโยชน์ให้แก่ฝ่ายโรงพยาบาลผู้เอาประกันภัยซึ่งไม่ได้มีส่วนร่างถ้อยคำดังกล่าว เพราะหากฝ่ายบริษัทประกันภัยประสงค์จะให้ถ้อยคำนั้นมีความหมายรวมถึงพื้นผิวใด ๆ ก็ได้ ทำไมถึงไม่เขียนระบุให้ชัดแจ้งเช่นว่านั้นลงไปเลยตั้งแต่แรก

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Zurich American Insurance Company v Medical Properties Trust, Inc., 2024 WL 3504060 (Mass. Jul. 23, 2024))

 

หมายเหตุ

 

นั่นหมายความว่า ในส่วนของความเสียหายตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปนั้น จะต้องได้รับการชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง เพราะถือเป็นอุบัติภัยอื่น ๆ ไม่ตกอยู่ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความคุ้มครองย่อย (sublimit) ที่กำหนดไว้ของภัยน้ำท่วม

 

บางท่านอาจมองว่า กรณีควรตกอยู่ภายใต้ภัยความเสียหายเนื่องจากน้ำ (Water Damage Peril)

 

ลองมาพิจารณาดูคำจำกัดความของภัยนี้กันนะครับ ซึ่งเขียนว่า

 

ภัยเนื่องจากน้ำ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมาของน้ำ หรือไอน้ำ จากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ และรวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในอาคารจากการเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบประตูหน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ

 

คุณคิดว่า กรณีตัวอย่างคดีศึกษาข้างต้นเข้าข่ายนี้บ้างไหมครับ?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/