วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 196 : นกอีแร้งเกาะหลังคา โชคดีหรือร้าย ถ้าร้าย บริษัทประกันภัยจะว่าอย่างไร?

 

เรามักได้ยินว่า ถ้ามีนกแสก หรือนกอีแร้งบินมาเกาะหลังคาบ้านใคร ถือเป็นลางบอกเหตุที่ไม่ดีแก่บ้านหลังนั้น

 

นั่นเป็นเรื่องลางบอกเหตุอัปมงคลตามความเชื่อ

 

แต่ถ้ามีนกอีแร้งมาเกาะบนหลังคาศูนย์การค้าแห่งหนึ่งล่ะ และมิใช่เพียงบินมาเกาะเฉย ๆ แต่มาสร้างความเสียหายแก่หลังคาศูนย์การค้านั้นด้วย

 

ก่อให้เกิดคำถามว่า กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินของศูนย์การค้าแห่งนั้น ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิดจะสามารถให้ความคุ้มครองแก่ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้นได้ไหม?

 

คุณคิดเห็นเช่นไรครับ?

 

ประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลในต่างประเทศแล้วครับ

 

มาลองพิจารณาดูด้วยกันนะครับ ผลสรุปของเรื่องนี้จะออกมาเช่นไร?

 

เจ้าของศูนย์การค้าแห่งหนึ่งได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยของตนเป็นจำเลย เรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ของตน อันมีสาเหตุมาจากนกแร้งไก่งวง (turkey vultures) ซึ่งนอกจากมาจิก กัดแทะ ปล่อยมูลแล้ว แต่เนื่องด้วยความที่มีขนาดตัวใหญ่กับมีด้วยกันอยู่หลายตัว แค่บินมาเกาะเฉย ๆ ก็สามารถทำให้สิ่งตกแต่ง อุปกรณ์ หรือระบบท่อ/รางที่ติดตั้งเอาไว้ หักหลุดเลื่อนออกมา และส่งผลทำให้เกิดน้ำรั่วซึมเข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายในอาคารนั้นได้อีกด้วย

 

บริษัทประกันภัยจำเลยต่อสู้คดีโดยกล่าวอ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ตกอยู่ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งเขียนว่า

 

บริษัทจะไม่ชดใช้ให้ สำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหาย อันมีสาเหตุมาจาก หรือเป็นผลมาจากกรณีใดดังต่อไปนี้

 

ง. (5) การวางรัง หรือการบุกรังควาน (infestation) หรือการทิ้ง หรือการปลดปล่อยผลิตภัณฑ์ หรือสารคัดหลั่งที่เป็นของเสียของสัตว์จำพวกแมลง นก สัตว์ที่มีฟันแหลมคม หรือสัตว์อื่น ๆ 

 

ผลลัพธ์ที่บังเกิดขึ้นเหล่านี้อยู่ในความหมายของข้อยกเว้น ตรงคำ “การบุกรังควานของสัตว์จำพวกนก” ดังที่กำหนดไว้ กรณีจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองแต่ประการใด

 

ฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า ถ้อยคำจุดนั้นมีความหมายกำกวม ไม่ชัดเจนว่า การบุกรังควานนั้นหมายความถึงอะไรกันแน่? จะต้องมีสัตว์จำนวนกี่มากน้อย?

 

ฝ่ายจำเลยตอบโต้กลับว่า ฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้ขยายความเพิ่มเติม ที่ว่าไม่ชัดเจน และมีหลายความหมายนั้น คืออะไรบ้าง?

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายจำเลย และตัดสินให้ชนะคดี

 

ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์จากคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญ

 

นกแร้งเหล่านี้มีจำนวนนับได้หลายสิบตัว รวมกันเป็นฝูง ไม่ได้บินมาเกาะทุกวันอย่างสม่ำเสมอ อาจมาบ้าง ไม่มาบ้าง จำนวนที่บินมาก็เช่นเดียวกัน อาจมาไม่กี่ตัว หรือมาหลายตัวก็ได้ ไม่แน่นอนเสมอไป

 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดกับพฤติกรรมของสัตว์ด้วยเหมือนกัน

 

ครั้นเมื่อพิจารณาความหมายตามพจนานุกรมประกอบ ต่างให้ความหมายอย่างหลากหลายด้วยเช่นกัน

 

บ้างก็ให้ความหมายการบุกรังควานนั้นจะต้องมากันเป็นฝูง บ้างก็ไม่ได้เอ่ยถึงขนาดนั้น

 

แม้นความหมายของการบุกรังควานดูเสมือนมีหลายนัยก็ตาม แต่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่า ควรจะต้องมีอยู่จำนวนหนึ่งที่มากพอในการสร้างความเสียหายขึ้นมาได้ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ให้ฝ่ายจำเลยไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Mitchellville Plaza Bar LP v. The Hanover American Insurance Company, No. 22-2089 [4th Cir. 2024])

 

หมายเหตุ

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมาย “รังควาน” หมายความถึง รบกวนทำให้รำคาญหรือเดือดร้อน เช่น คนพาลชอบรังควานคนอื่น

 

กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานบ้านเรา เขียนไว้ในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ข้อ ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ดังนี้

 

1. ความเสียหาย อันเกิดจาก

 

…………………

1.5 การกัดกร่อนหรือการผุกร่อน การเกิดสนิม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น ความแห้ง การบูดเน่า การขึ้นรา การหดตัว การระเหยหรือการระเหิด การสูญเสียน้ำหนัก มลพิษหรือมลภาวะ การปนเปื้อน การเปลี่ยนแปลงของสี รส กลิ่น องค์ประกอบสสาร หรือผิววัตถุ การทำปฏิกิริยาของแสง การกัดแทะของแมลงหรือสัตว์ (vermin, insects) การเป็นตำหนิ การขีดข่วนผิววัตถุ

 

เมื่อลองนำไปปรับใช้เทียบเคียงกับกรณีข้างต้น

 

คุณเห็นว่า ผลทางคดีจะออกมาเหมือนกัน หรือต่างกันบ้างไหม หรืออย่างไรครับ?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 195 : ผู้ใดควรต้องรับผิดแก่ลูกค้าในการขโมยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า (Breach of Data Protection)?

 

ข่าวการลักลอบขโมยข้อมูลของลูกค้าในกลุ่มธรุกิจต่าง ๆ สามารถพบเห็นได้ทั่วโลก แม้ในบ้านเรา ก็ปรากฏภาพข่าวมากมาย ไม่เว้นกระทั่งธุรกิจประกันภัยเอง

 

บริษัทประกันภัยโดยเฉพาะที่ต่างประเทศได้อาศัยความเสี่ยงภัยทางไซเบอร์ลักษณะนี้มาออกแบบความคุ้มครองทั้งในรูปแบบด้านทรัพย์สิน และด้านความรับผิด แต่ด้วยความใหม่ของลักษณะความเสี่ยงภัยเอย ลักษณะกฎหมายใหม่ที่ถูกบัญญัติออกมารองรับ หรือกฎหมายเดิมที่นำมาปรับใช้เอย ประกอบกับเนื้อหาความคุ้มครองที่หลากหลายของแต่ละบริษัทประกันภัยซึ่งยังไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลก่อให้เกิดข้อถกเถียง การตีความหมายทั้งในถ้อยคำของกฎหมายกับของตัวกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์เหล่านี้แตกต่างกันออกไปอย่างมากมาย

 

ดั่งเช่นตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้

 

ธุรกิจขายปลีกเจ้าหนึ่งถูกคนร้ายใช้โปรแกรมมัลแวร์เข้าไปโจมตีกับลักลอบนำข้อมูลลูกค้าไป ทำให้ธุรกิจขายปลีกรายนี้ถูกหน่วยงานรัฐปรับโทษฐานไม่จัดการปกป้องระบบคอมพิวเตอร์อย่างดีพอ

 

ลูกค้ารายหนึ่งอ้างว่า ตนเป็นผู้เสียหายโดยหวั่นวิตกว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของตนอาจจะถูกคนร้ายนั้นนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่เสียหายแก่ตนในอนาคตได้ จึงฟ้องเรียกร้องให้ธุรกิจขายปลีกรายนี้ชดใช้ค่าเสียหายจากความหวั่นวิตก (Distress) ของตนเป็นจำนวนเงิน 5,000 ปอนด์สเตอร์ลิง ในข้อกล่าวหากระทำผิด ดังนี้  

 

1) ละเมิดความไว้วางใจของลูกค้าที่มีต่อตนเอง (Breach of Confidence)

2) การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิด (Misuse of Private Information)

3) กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อตามหลักกฎหมายทั่วไป (Negligence)

4) การทำผิดกฎหมายว่าด้วยข้อมูลส่วนบุคคล (Breach of Data Protection Act)

 

ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยออกมาเป็นลำดับ ดังนี้

 

1) ละเมิดความไว้วางใจของลูกค้าที่มีต่อตนเอง และ

2) การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิด

 

ข้อกล่าวหาทั้งสองข้อไม่ได้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่ผู้เก็บรวบรวมข้อมูล หรือผู้ควบคุมข้อมูล ในการจัดการดูแลรักษาความปลอดภัยของข้อมูล แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการห้ามมิให้ผู้เก็บรวบรวมข้อมูล หรือผู้ควบคุมข้อมูลเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญที่ตนได้รับรู้มามากกว่า เป็นต้นว่า ข้อมูลลับทางการค้า เช่นนี้ จึงเรียกว่า การจะไม่ละเมิดความไว้วางใจของลูกค้าที่มีต่อตนเอง มิใช่หมายความถึงข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป

 

ส่วนการใช้ในทางที่ผิดนั้นจะต้องมีการลงมือกระทำอย่างแท้จริงด้วย โดยศาลได้หยิบยกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพว่า สมมุติมีคนร้ายแอบเข้าไปในบ้านทางหน้าต่างที่ถูกเปิดทิ้งไว้โดยเจ้าของบ้านหลังนั้นด้วยความสะเพร่า แล้วขโมยสมุดบัญชีธนาคารของลูกเจ้าของบ้านหลังนั้นไป จะเรียกว่า เจ้าของบ้านหลังนั้นกระทำการเสมือนหนึ่งใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิดยังงั้นได้หรือ? ศาลไม่เห็นพ้องด้วย

กรณีนี้เป็นเพียงความล้มเหลวที่จะปกป้องการลักลอบเข้ามาโดยไม่ชอบของคนร้ายเท่านั้น โดยที่ธุรกิจขายปลีกรายนี้ถือเป็นผู้เสียหาย มิใช่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวแต่ประการใด

 

3) กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อตามหลักกฎหมายทั่วไป

 

เมื่อมีกฎหมายเฉพาะกำหนดหน้าที่เอาไว้แล้ว ไม่จำต้องมีการกำหนดหน้าที่ในการใช้ความระมัดระวังอันสมควรมาใช้บังคับให้ซ้ำซ้อนกันอีก

 

นอกจากนี้ หลักการไม่ใช้ความระมัดระวังอันสมควรตามหลักกฎหมายทั่วไป อย่างเช่นหลักกฎหมายเรื่องละเมิด จะต้องมีความเสียหายบังเกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งความเสียหายจากความหวั่นวิตกนั้นไม่ถือเป็นความเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือทางอนามัยอันจะได้รับความคุ้มครองภายใต้หลักกฎหมายเรื่องละเมิดด้วย เพราะเป็นเพียงความคาดหวังในอนาคตที่ยังมิได้บังเกิดขึ้นมาจริง

 

อนึ่ง หากจะสามารถคุ้มครองได้ ผู้กระทำผิดที่แท้จริงก็คือ คนร้ายผู้กระทำผิดเรื่องละเมิดนั้นเอง แต่มิใช่ธุรกิจขายปลีกรายนี้ซึ่งตกเป็นผู้เสียหายทำนองเดียวกันเช่นนี้

 

4) การทำผิดกฎหมายว่าด้วยข้อมูลส่วนบุคคล

 

เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันต่อไป เนื่องจากธุรกิจขายปลีกรายนี้ยื่นอุทธรณ์เรื่องค่าปรับต่อหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Darren Lee Warren v DSG Retail Limited [2021] EWHC 2168 (QB))

หมายเหตุ

 

แม้นเป็นเพียงแนวคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ก็ได้รับความสนใจในแวดวงกฎหมายทั่วโลก

 

สามารถใช้อ้างอิงเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาเลือกใช้ความคุ้มครองของการประกันภัยไซเบอร์ให้ถูกต้อง และเหมาะสมแก่โอกาสความเสี่ยงภัยของตนต่อไป

   

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 194 : ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) ซึ่งถูกว่าจ้างโดยตรงจากผู้ว่าจ้างเอง ถือเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ได้หรือไม่?

 

(ตอนที่สอง)

 

ปีใหม่นี้ เรามาว่ากันต่อนะครับ

 

ขอทบทวนเรื่องราวอีกที

 

ผู้รับเหมาหลักได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการให้ทำการก่อสร้างบ้านหลายหลัง และได้ไปจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) หรืออาจเรียกทั่วไปว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง (Contractor All Risks Insurance Policy (CAR)) โดยระบุให้ผู้รับเหมาหลักกับเจ้าของโครงการเป็นผู้เอาประกันภัยแบบระบุชื่อ นอกจากนี้ยังเขียนเพิ่มเติมอีกว่า และ/หรือผู้รับเหมาช่วงอื่น ๆ ให้ได้รับความคุ้มครองด้วยในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมแบบไม่ระบุชื่อ

 

โครงการหมู่บ้านนี้มีลักษณะพิเศษ คือ เปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านแต่ละหลังสามารถออกแบบตกแต่งได้ตามใจชอบ

 

เจ้าของบ้านหลังหนึ่งได้ไปว่าจ้างผู้รับเหมาย่อยอีกรายมาทาสีบ้านของตนเอง โดยไม่ได้ผ่านผู้รับเหมาหลัก

 

ระหว่างทำงาน ผู้รับเหมาย่อยรายนี้กระทำผิดพลาดจนเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้บ้านหลังนั้นขึ้นมา

 

เมื่อผู้รับเหมาหลักได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวของตนแล้ว บริษัทประกันภัยแห่งนั้นก็ได้มาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้รับเหมาย่อยรายดังกล่าว เพื่อเรียกเงินที่ตนได้จ่ายไปแล้วคืนตามหลักของกฎหมายว่าด้วยการรับช่วงสิทธิ

 

ผู้รับเหมาย่อยรายดังกล่าวปฏิเสธโดยอ้างว่า ได้รับความคุ้มครองอยู่แล้วในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวในฐานะผู้รับเหมาช่วงเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อ ฉะนั้น บริษัทประกันภัยแห่งนั้นจึงไม่มีสิทธิมาไล่เบี้ยเอากับผู้เอาประกันภัยของตนเองได้

 

บริษัทประกันภัยแห่งนั้นร่วมกับผู้รับเหมาหลักจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยหยิบยกสัญญาว่าจ้างให้ก่อสร้างมากล่าวอ้าง และตอบโต้ว่า เนื่องด้วยข้อสัญญาข้อหนึ่งกำหนดให้ผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาหลัก) มีสิทธิควบคุมการปฏิบัติงานอย่างเบ็ดเสร็จ (complete control of the work)

 

ดังนั้น ในการว่าจ้างผู้รับเหมาช่วง/ผู้รับเหมาย่อยอื่น ๆ จะต้องผ่านการรับรู้ หรือการเห็นชอบจากผู้รับเหมาหลักเสียก่อนถึงจะได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้ สมดังชื่อของกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง” สัญญาว่าจ้างกับกรมธรรม์ประกันภัย (สัญญาประกันภัย) จะต้องล้อตามกันไป

 

ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องด้วย ตัดสินให้ฝ่ายผู้รับเหมาย่อยจำเลยชนะคดี

 

ฝ่ายผู้รับเหมาหลักกับบริษัทประกันภัยโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์มีความเห็นดังนี้

 

1) สัญญาว่าจ้างกับกรมธรรม์ประกันภัย (สัญญาประกันภัย) จะต้องล้อตามกันไปจริงไหม?

 

พิจารณาถึงลักษณะกรมธรรม์ประกันภัย (สัญญาประกันภัย) แล้วจะอยู่ในรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งมีการกำหนดข้อบังคับกับเงื่อนไขต่าง ๆ โดยบริษัทประกันภัยเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเพียงยอมรับตามนั้น หรืออาจจะเจรจาปรับแก้ไขได้บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

 

ขณะที่สัญญาว่าจ้างไม่เป็นเช่นนั้น สามารถจะปรับเปลี่ยนไปได้ตามลักษณะของงานก่อสร้างที่แตกต่างกันออกไป

 

กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเขียนคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันได้แก่ ทรัพย์สินที่ใช้ในการก่อสร้าง ติดตั้ง หรือก่อสร้างขึ้นมาใหม่ หรือซ่อมแซม ... ซึ่งรวมอยู่ใน และประกอบกันเป็นส่วนหนึ่งของงานโครงการก่อสร้างบ้านนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ (the completed project)

 

ครั้นพิจารณาถึงขอบเขตการทำงานของผู้รับเหมาย่อยรายนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นในการทำให้งานโครงการนี้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ได้ เช่นนี้ ผู้รับเหมาย่อยรายนี้ถือเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้

 

นอกจากนี้ ไม่ได้มีข้อความตรงไหนในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวที่เขียนอย่างชัดแจ้งให้ความคุ้มครองเฉพาะเพียงแก่ “ผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาหลักเท่านั้น

 

ข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจึงให้ความหมายกว้างพอที่จะครอบคลุมถึงผู้รับเหมาย่อยรายนี้ด้วย

 

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทั้งสองสัญญาไม่จำเป็นจะต้องล้อตามกัน ประกอบกับในทางปฏิบัติ บริษัทประกันภัยเองก็ไม่ได้ใส่ใจจะอ่าน หรือนำสัญญาว่าจ้างมาประกอบรวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแต่ประการใด

 

2) ผู้รับเหมาย่อยรายนี้มีส่วนได้เสียในกรมธรรม์ประกันภัย (สัญญาประกันภัย) ฉบับดังกล่าวหรือไม่?

 

ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า คำถามที่ว่า

 

(ก) คู่กรณีเป็นผู้เอาประกันภัยหรือไม่? กับ

 

(ข) คู่กรณีมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยหรือไม่?

 

มีความแตกต่างกัน โดยศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ ดังนี้

 

(ก) คู่กรณีเป็นผู้เอาประกันภัยหรือไม่?

 

ได้ข้อสรุปข้างต้นแล้วตามข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

 

(ข) คู่กรณีมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยหรือไม่?

 

ส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยจำต้องพิจารณาตามข้อความจริงแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์สำคัญ

 

ในการที่จะทำให้งานโครงการก่อสร้างใดสำเร็จเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ได้นั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการเอง ผู้รับเหมาหลัก ผู้รับเหมาย่อย ตลอดจนบุคคลอื่นผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ล้วนต่างถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะสามารถเอาประกันภัยงานโครงการก่อสร้างนั้นได้ทุกคน เพราะผลสำเร็จของงานโครงการก่อสร้างนั้นจะเกิดขึ้นได้จำต้องอาศัยพึ่งพาผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันนำพาให้ประสบความสำเร็จกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับกรณีนี้ ผู้รับเหมาย่อยรายนี้ถือมีส่วนได้เสียอย่างชัดแจ้ง ในความสำเร็จสมบูรณ์ของงานโครงการก่อสร้างนี้อยู่ด้วย

 

ฉะนั้น ผู้รับเหมาย่อยรายนี้จึงมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยงานโครงการก่อสร้างนี้ได้

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ฝ่ายโจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ฝ่ายจำเลยได้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Duri Homes Ltd v Quest Coating Ltd, 2023 ABCA 276)

 

ข้อสังเกต

 

ดั่งที่เกริ่นไว้ในตอนแรก ในทางปฏิบัติไม่เคยพบเห็นการเขียนผู้เอาประกันภัยรองที่ไม่ระบุชื่อ (Unnamed Insured) อันได้แก่ ผู้รับเหมาช่วง ให้จำกัดความหมายเพียงเฉพาะผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาหลักเท่านั้นเลยนะครับ เพียงแค่แปลความหมายจำกัดไปเองเช่นว่านั้น

 

เชื่อว่า หากเกิดคดีพิพาทขึ้นสู่ศาลไทย ผลทางคดีน่าจะออกมาไม่แตกต่างจากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้นะครับ

 

ส่วนประเด็นเรื่องความเพียงพอของจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือไม่นั้น? คงต้องไปแยกพิจารณาต่างหาก

 

ผู้อยู่ในธุรกิจประกันภัยอาจจำต้องเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่กันได้แล้ว

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/