เรื่องที่ 186 : รถขายอาหารเคลื่อนที่ (Mobile Catering Truck) กับความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL))
(ตอนที่หนึ่ง)
เรื่องที่ผ่านมาข้อพิพาทที่บังเกิดแก่รถขายอาหารเคลื่อนที่ (Mobile Catering Truck) นั้นมุ่งเน้นไปในประเด็นเรื่องความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เป็นเกณฑ์สำคัญมากกว่า ทั้งที่มีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) คุ้มครองร่วมอยู่ด้วย โดยศาลอุทธรณ์คดีนั้น ให้มุมมองไว้ว่า
กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์กับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นั้นมีความเกี่ยวข้องกันพอสมควร โดยเฉพาะหากเป็นกรณีที่เป็นฝ่ายผู้ให้เช่ารถขายอาหารเคลื่อนที่นั้นต้องรับผิด เพราะแม้กรมธรรม์ประกันภัยสองฉบับดังกล่าวจะมิได้ให้ความคุ้มครองทับซ้อนกัน ต่างก็สนับสนุนกันได้ เวลาเมื่ออีกฉบับหนึ่งไม่คุ้มครอง
ถัดจากนั้นอีกไม่กี่ปี ก็เกิดเรื่องราวคล้ายคลึงกัน แต่ครานี้กลับปรากฏประเด็นถึงการนำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์มาใช้บังคับร่วมด้วย ซึ่งจะมีประเด็นน่าศึกษาอะไร อย่างไรบ้างนั้น? ลองมาติดตามกันดูครับ
บริษัทเจ้าของรถขายอาหารเคลื่อนที่/ครัวเคลื่อนที่ (Mobile Catering Truck/Food Truck) เจ้าหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบกิจการให้เช่ารถชนิดนี้แก่ผู้เช่าที่สนใจจะนำไปใช้ เพื่อออกไปตระเวนบริการขายอาหารตามสถานที่ต่าง ๆ
ปรากฏมีสามีภรรยาครอบครัวโกเมซได้มาเช่ารถคันหนึ่งออกไปให้บริการดังกล่าว โดยที่ภายในตัวรถคันนั้นมีที่นั่งจำกัดอยู่เพียงสองที่เท่านั้น และมีอุปกรณ์เครื่องครัวที่จำเป็นถูกติดตั้งอยู่ อันประกอบด้วยหม้อทอดแบบน้ำมันท่วม เตาย่าง ตู้อุ่นอาหาร เตาอบ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำกาแฟ หม้อ กระทะ จาน ชาม ถ้วย ฯลฯ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า
ตัวรถคันนั้นมีลักษณะสามารถพับเปิดด้านข้างออกไปเป็นชั้นวาง เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าด้านนอกได้ โดยตัวผู้ให้บริการเองจะอยู่ภายใน
ฉะนั้น รถคันนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ในการขนคน หรือขนสิ่งของเหมือนดังเช่นรถยนต์ทั่วไป
เงื่อนไขการเช่า คือ ทุกวัน ผู้เช่ามีหน้าที่จะต้องนำรถกลับมาส่งคืนยังสถานที่ประกอบการของผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่าก็มีภารกิจในการจัดการทำความสะอาด การบำรุงรักษา และการซ่อมแซมเท่าที่จำเป็นให้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานของผู้เช่าในวันถัดไป
ส่วนใหญ่แล้ว การจัดเตรียมอาหารที่ใช้ในแต่ละครั้งจะถูกกระทำล่วงหน้าโดยผู้เช่าเอง ณ สถานที่ประกอบการของผู้ให้เช่า ก่อนที่ผู้เช่าจะนำรถคันนั้นออกไปให้บริการภายนอก หรือบางคราอาจมีการจัดเตรียมอาหารเป็นครั้งคราว ณ จุดจอดแวะให้บริการภายนอกก็ได้ แต่มิใช่ในระหว่างที่รถกำลังขับเคลื่อนอยู่
ตามปกติ ครอบครัวโกเซจะเริ่มต้นออกไปทำงานตั้งแต่เวลาตีห้า ไปจนถึงเวลาประมาณบ่ายโมง ใช้เส้นทางเดิมประจำทุกครา โดยจะมีการจอดแวะให้บริการตลอดทางอยู่ประมาณ 13 จุด
ณ วันที่เกิดอุบัติเหตุ ระหว่างนายโกเมซกำลังขับรถขายอาหารเคลื่อนที่คันที่เช่านั้นอยู่ โดยมีเพื่อนอีกคนร่วมนั่งทางไปด้วย ทำให้นางโกเมซจำต้องไปยืนอยู่ด้านหลังรถ ครั้นพอมาถึงสี่แยกแห่งหนึ่ง นายโกเมซได้หักหลบรถบรรทุกคันหนึ่งซึ่งขับเบียดกินเลนเข้ามา ส่งผลทำให้น้ำมันร้อน ๆ ซึ่งอยู่ในหม้อทอดแบบน้ำมันท่วมกระเซ็นออกมาถูกนางโกเมซจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนตัวผู้โดยสารอีกคนเจ็บไม่มาก
ครอบครัวโกเมซกับผู้โดยสารได้มาเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ให้เช่ารถยนต์คันนั้น ในกรณีความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (products liability) ในที่นี้ คือ หม้อทอดแบบน้ำมันท่วม ซึ่งถูกติดตั้งโดยตัวผู้ให้เช่าเอง ดังนี้
ก) ความประมาทเลินเล่อ อันเนื่องมาจากการที่ผลิตภัณฑ์ไม่มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ
ข) ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาอย่างบกพร่อง (design defect) ทำให้ฝาปิดไม่สามารถปิดได้อย่างมิดชิดแน่นหนา
เนื่องด้วยผู้ให้เช่ารถยนต์คันนั้นได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองเผื่อไว้อยู่แล้วกับบริษัทประกันภัยสองแห่ง รวมทั้งสิ้นสี่ฉบับ ได้แก่
1) บริษัทประกันภัย A ประกอบด้วย
1.1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Auto Insurance Policy)
1.2) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ แบบครอบคลุม (Umbrella Commercial Auto Insurance Policy)
2) บริษัทประกันภัย T ประกอบด้วย
2.1) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL))
2.2) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนเกินแบบครอบคลุมเชิงพาณิชย์ (Excess-Umbrella Commercial Liability Insurance Policy)
บริษัทประกันภัย A ตกลงยอมรับผิดเพียงบางส่วน เพราะเห็นว่า ทั้งฝ่ายผู้เสียหายเอง และผู้ขับขี่รถบรรทุกคู่กรณี ล้วนต่างควรมีส่วนร่วมรับผิดด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่บริษัทประกันภัย T กลับปฏิเสธไม่ชดใช้ใด ๆ ทั้งสิ้น
ในส่วนคดีของบริษัทประกันภัย A นั้น ปรากฏมีคำวินิจฉัยแจกแจงสัดส่วนความรับผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายออกมาว่า
- ผู้ขับขี่รถบรรทุกคู่กรณี มีอยู่ร้อยละ 20
- ผู้ให้เช่ารถขายอาหารเคลื่อนที่คันนั้น มีอยู่ร้อยละ 40
- นายโกเมซ ผู้ขับขี่รถขายอาหารเคลื่อนที่คันที่เช่านั้น มีอยู่ร้อยละ 25
- นางโกเมซ ผู้เสียหายในรถขายอาหารเคลื่อนที่คันที่เช่านั้น มีอยู่ร้อยละ 15
หลังจากนั้น บริษัทประกันภัย A จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันภัย T มาร่วมรับผิดด้วยตามสัดส่วน
ผลการวิเคราะห์จะออกมาเช่นไร? รอติดตามนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/