วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 177 : การลักขโมย และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ตั้งใจทางไซเบอร์จะได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) ไหม?

 

ผมเคยเขียนบทความเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกแบบครอบคลุม (Commercial General Liability/Comprehensive General Liability Insurance Policy (CGL) ไว้ในเรื่องที่ 6 ของบทความอีกชุดหนึ่ง คือ พบ ป (ร) ะ กัน (ภัย) เป็นเรื่อง เป็นราว เมื่อหลายปีก่อน

 

เนื่องด้วยได้รับทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดชุดนี้ซึ่งมีที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ถูกนำเข้าใช้ในบ้านเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยจะให้ความคุ้มครองที่กว้างขวางกว่ากรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ฉบับมาตรฐานจากฝั่งอังกฤษซึ่งบ้านเราใช้อ้างอิงมานมนานมาก

 

ลองย้อนกลับไปทบทวนดูก็ได้นะครับ

 

แม้ในยุคไซเบอร์ เราจะมีกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะของไซเบอร์ออกมาให้เลือกซื้อความคุ้มครองกันแล้ว แต่บางครา ความที่กรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ซึ่งถูกร่างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความเสี่ยงภัยทางไซเบอร์อาจยังไม่มีความชัดเจน และมาตรฐานที่เพียงพอ จนทำให้เกิดประเด็นปัญหาการทับซ้อนกับกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบปกติทั่วไปได้ ที่ต่างประเทศเรียกว่า “ภัยเงียบ (Silent Risk)” ขึ้นมาได้

 

เหมือนดั่งตัวอย่างคดีศึกษาเหล่านี้

 

การลักขโมย และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ตั้งใจทางไซเบอร์ สามารถได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปทางพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) ไหม?

 

โดยเฉพาะกรณีความคุ้มครองทางเลือกเพิ่มเติม (จะเลือกซื้อหรือไม่ก็ได้)

ส่วนความคุ้มครอง ข (Coverage B) – ความรับผิดสำหรับการบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคคล (Personal Injury) และความเสียหายจากการโฆษณา (Advertising Injury) ซึ่งระบุข้อตกลงคุ้มครองโดยสรุปว่า      

 

บริษัทประกันภัยตกลงที่จะ

 

(1) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย สำหรับความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยซึ่งก่อให้เกิด “การบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคคล และความเสียหายจากการโฆษณา” แก่บุคคลภายนอก โดยมีสาเหตุมาจากความผิดที่เกิดขึ้นจากธุรกิจของผู้เอาประกันภัย (ที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาโดยตรง) ซึ่งได้กระทำขึ้นมาในอาณาเขตความคุ้มครอง และในระหว่างระยะเวลาประกันภัย และ

 

(2) ทำการต่อสู้คดีในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับการฟ้องร้องคดีใด ๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดตามกฎหมาย

 

คดีนี้ ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่งซึ่งประกอบกิจการร้านค้าย่อยหลายสาขาได้ถูกคนร้ายแฮกเข้ามาขโมยข้อมูลส่วนบุคคลจากบัตรเครดิตของลูกค้าของตน นับหลายล้านข้อมูลเป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณปีครึ่ง

 

เมื่อผู้ให้บริการระบบชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผู้เสียหายได้มาเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้รับผิดชอบ โทษฐานผิดสัญญาที่ไม่จัดการดูแลป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลให้ดีพอ โดยมีความสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้นจำนวน 20 กว่าล้านดอลล่าร์สหรัฐ

 

โชคดีที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปทางพาณิชย์ และขยายความคุ้มครองในส่วนความคุ้มครอง ข อยู่ด้วย จึงแจ้งเรื่องไปถึงบริษัทประกันภัยของตนให้เข้ามารับผิดชอบแทน

 

บริษัทประกันภัยนั้นกลับปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ความเสียหายทางไซเบอร์มิได้ตกอยู่ในส่วนความคุ้มครองดังกล่าวแต่ประการใด เนื่องด้วย การบาดเจ็บเสียหายส่วนบุคคล และความเสียหายจากการโฆษณา” นั้นมีความหมายถึง “การประกาศด้วยวาจา หรือการจัดพิมพ์ ไม่ว่าในลักษณะใด ของข่าวสารที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล (oral or written publication, in any manner, of material that violates a person’s right of privacy)

 

ครั้นคดีได้มาถึงศาล ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยจำเลยว่า

 

1) การลักขโมยข้อมูลของลูกค้าเช่นนั้น ไม่ถืออยู่ในลักษณะของการจัดพิมพ์ (publication) ดังที่กำหนดไว้ และ

2) มูลเหตุของการเรียกร้องให้ชดใช้เงินของผู้ให้บริการระบบชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผู้เสียหายนั้นมาจากการทำผิดสัญญา มิได้เรื่องการกระทำละเมิดโดยตรงต่อลูกค้าของโจทก์ผู้เอาประกันภัย

 

พิพากษาให้บริษัทประกันภัยจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท

 

โจทก์ผู้เอาประกันภัยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ โดยเห็นว่า

 

1) คำว่า “การจัดพิมพ์ (publication)” นั้น ควรแปลความหมายอย่างกว้าง เพื่อประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งมิได้มีส่วนร่วมร่างถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับดังกล่าว ตามความหมายในพจนานุกรมทั่วไป ให้ความหมายถึง การประกาศ (ข้อมูล) ให้ได้รับรู้กัน คล้ายคลึงกับกรรมวิธีในการดูหมิ่นด้วยการประกาศโฆษณา

 

เมื่อข้อมูลของลูกค้าเหล่านั้นได้ถูกจัดพิมพ์โดยผู้ให้บริการระบบชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผู้เสียหายนั้น และคนร้ายก็ได้นำข้อมูลนั้นไปจัดพิมพ์ต่อ เพื่อกระทำการซื้อสินค้า หรือบริการโดยฉ้อฉลแล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนตกอยู่ในความหมายดังกล่าวทั้งสิ้น

 

2) ส่วนประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การกระทำละเมิดโดยตรงแก่ตัวลูกค้าแต่ละรายเท่านั้น เพราะควรหมายความรวมไปถึงการบาดเจ็บเสียหายต่าง ๆ (injuries) ทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิดังกล่าวด้วย

 

ตัดสินให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท

 

หมายเหตุ

 

ดูเหมือนกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปทางพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) ฉบับร่างล่าสุดจะได้ถูกปรับแก้ไขให้ไม่รวมไปถึงความรับผิดทางไซเบอร์แล้วนะครับ ลองตรวจทานดู)

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Landry’s Inc. v. Insurance Co. of the State of Pennsylvania, No. 19-20430 (July 21, 2021)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 176 : เงื่อนไขพิเศษการขนย้ายซากทรัพย์สิน (Debris Removal) มีความหมายเช่นใดกันแน่?

 

อีกหนึ่งเงื่อนไขพิเศษที่จัดเป็นพื้นฐานจะต้องซื้อขยายไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินหลากหลายประเภท ไม่จำกัดอยู่เพียงกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินเท่านั้น ซึ่งมักจะขยายควบคู่กับเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยค่าวิชาชีพที่เคยได้พูดถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้

 

ขอหยิบยกตัวอย่างเงื่อนไขพิเศษการขนย้ายซากทรัพย์สิน (Debris Removal) แบบ อค./ทส. 1.10 ฉบับมาตรฐานของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินบ้านเราซึ่งหลายท่านน่าจะคุ้นเคย มาวิเคราะห์ประกอบตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ดีขึ้น ดังนี้

 

เริ่มแรก เราลองมาพิจารณาถึงเนื้อความ ซึ่งได้ระบุว่า

 

การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ขยายความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสูญเสีย หรือความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย อันได้แก่

 

ก) เพื่อการค้ำ หรือยันซากทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

ข) เพื่อการรื้อถอน หรือทำลายซากทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

ค) เพื่อการขนย้ายซากทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

 

ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทก่อน

 

อนึ่ง จำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้จะต้องได้รับการปรับปรุงให้รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการดังกล่าวข้างต้น และความรับผิดชอบของบริษัทสำหรับค่าใช้จ่ายในกรณีนี้ ไม่เกิน………………..ของจำนวนเงินเอาประกันภัยของรายการที่………….อย่างไรก็ตาม ความรับผิดของบริษัทตามเอกสารแนบท้ายนี้ และตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย ไม่ว่าในกรณีใด

 

เงื่อนไขพิเศษนี้มีประโยชน์เช่นใดแก่ผู้เอาประกันภัย?

 

บางครา เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยขึ้นมา อาจจำเป็นต้องขนเคลื่อนย้ายเศษซากความเสียหายนั้นออกไป เพื่อจะได้มีพื้นที่ว่างสะดวกในการที่จะดำเนินการซ่อมแซม หรือสร้างใหม่ทดแทนต่อไป

 

ถ้าปราศจากเงื่อนไขพิเศษนี้ จะเกิดอะไรขึ้น?

 

ค่าขนส่งเคลื่อนย้ายเศษซากดังกล่าว ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเติมภายหลังจากความเสียหายนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง เพราะบริษัทประกันภัยมีหน้าที่เพียงชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น

 

การขยายเงื่อนไขพิเศษนี้จะต้องชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมอีกไหม?

 

ตามย่อหน้าสุดท้ายข้างต้น ทางทฤษฎีจะต้องกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายนี้เป็นอัตราร้อยละของจำนวนเงินเอาประกันภัยของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คำนวณเป็นตัวเลขออกมา แล้วนำไปบวกเข้ากับจำนวนเงินเอาประกันภัยดังกล่าว เพื่อคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยรวมทั้งหมด

 

แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ใคร่พบเห็นเช่นนั้น กลายเป็นว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนี้เสมือนหนึ่งมิได้ถูกขยายไว้จริง แถมไปเบียดบังอยู่ในจำนวนเงินเอาประกันภัยของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นอีก

 

ปัญหาการตีความเงื่อนไขพิเศษนี้?

 

คำว่า “ซากทรัพย์ (Debris)” หมายถึง อะไร?

 

พจนานุกรมศัพท์ ภาษาอังกฤษ ให้ความหมายโดยสรุป คือ เศษซากที่เหลืออยู่ของสิ่งที่แตกหักเสียหาย หรือที่ถูกทำลาย

 

ขณะที่พจนานุกรมไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายตอนหนึ่งว่า สิ่งก่อสร้างที่ปรักหักพังแล้ว และเหลือเพียงแต่เค้า

 

ดูเสมือนหนึ่งเศษซากนั้นจำกัดเพียงเป็นวัสดุที่เป็นของแข็งเท่านั้นหรือเปล่า?

 

แล้วจะเป็นเศษซากได้จะต้องถูกทำให้แตกหักเสียหาย หรือถูกทำลายเสียก่อนใช่ไหม?

 

เกิดมีปัญหาข้อถกเถียงกันระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยจนเป็นคดีขึ้นมาในที่สุด

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้เอาประกันภัยทรัพย์สินของตนเอง โดยระบุรวมถึงน้ำมันที่ถูกจัดเก็บไว้ให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วย

 

ต่อมา ได้เกิดอุบัติเหตุจากภัยที่คุ้มครองส่งผลทำให้น้ำมันที่ถูกจัดเก็บไว้นั้นรั่วไหลออกมาแทรกซึมลงไปในพื้นดินจำนวนมาก

 

เนื่องจากมีข้อตกลงชัดเจนกันแล้ว น้ำมันนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้แล้ว

 

แต่ยังคงมีประเด็นข้อโต้แย้งหลงเหลืออยู่สองประเด็น

 

1) เศษซากทรัพย์ที่จะคุ้มครองมีความหมายเช่นไรกันแน่? เนื่องด้วยมิได้มีคำจำกัดความเฉพาะเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด ฉบับพิพาท

 

2) เศษซากทรัพย์นั้นจะต้องถูกทำให้แตกหักเสียหาย หรือถูกทำลายเสียก่อนใช่ไหม?

 

ฝั่งบริษัทประกันภัยพยายามโต้แย้งว่า

 

1) เมื่อมิได้มีคำจำกัดความเฉพาะกำกับไว้ จำต้องอาศัยตามความเข้าใจของคนทั่วไปดังปรากฏในพจนานุกรมเป็นเกณฑ์

 

2) น้ำมันที่รั่วไหลออกไปนั้นมิได้อยู่ในสภาพที่แตกหักเสียหาย หรือจะต้องถูกทำลายลงไปเลย

 

ดังนั้น จึงไม่ถือเป็นเศษซากทรัพย์ดังที่ระบุไว้ในเงื่อนไขพิเศษดังกล่าว

 

ทั้งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับข้อโต้แย้งจากฝั่งบริษัทประกันภัย เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะกลับกลายเป็นว่า หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้ถูกไฟไหม้เผาจนป่นเป็นเถ้าถ่าน แล้วบริษัทประกันภัยอาจใช้อ้างได้ว่า ไม่หลงเหลือเศษซากทรัพย์ที่จะให้คุ้มครองค่าเคลื่อนย้ายได้ตามเงื่อนไขพิเศษนั้น น่าจะมิใช่เป็นการตีความที่ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย อนึ่ง บริษัทประกันภัยรายนี้เองก็ยอมรับให้น้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วยตั้งแต่ต้นแล้ว

 

พิพากษาให้ ฝั่งบริษัทประกันภัยรับผิดรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเศษซากทรัพย์นั้นด้วย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Lexinton Insurance Company v Ryder System Inc., 234 SE 2d 839 – Georgia Court of Appeals 1977)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก? : เมื่อคนขับรถแท็กซี่ข่มขืนผู้โดยสาร

 

(ตอนที่ห้า)

 

ไม่พบเจอคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยที่ตัดสินคดีแพ่งลักษณะนี้โดยตรง ถึงแม้มีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นในบ้านเราด้วยเหมือนกัน

 

คงพบที่ใกล้เคียงในคดีอาญาโทษความผิดฐานกระทำผิดอนาจาร และพรากผู้เยาว์ ดังนี้

 

จำเลยขับรถแท็กซี่พาผู้เสียหายไปถึงปากทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลี ผู้เสียหายบอกจำเลยให้ขับรถไปส่งในหมู่บ้าน แต่จำเลยกลับขับรถเลยไปโดยพูดกับผู้เสียหายว่า ขอควงผู้เสียหายไปเที่ยวบางแสน เมื่อจำเลยขับรถไปถึงบริเวณหน้าวัดหอมศีล จำเลยเลี้ยวรถกลับมุ่งไปทางกรุงเทพมหานคร และไปจอดอยู่ริมทางหน้าวัดหอมศีล ซึ่งอยู่เลยทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลีประมาณ 10 กิโลเมตร ระหว่างนั้นจำเลยได้ดึงตัวผู้เสียหายไปจูบแก้มรวม 3 ครั้ง และพูดขอให้ผู้เสียหายยอมเป็นภริยา การกระทำของจำเลยที่ไม่ยอมเลี้ยวรถเข้าไปส่งผู้เสียหายที่หมู่บ้านการเคหะบางพลี และขับรถเลยไปเพื่อจะกระทำอนาจารผู้เสียหาย เป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ดูแล โดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วย จึงเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสามแล้ว หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้เสียหายไปไกลอีกถึง 10 กิโลเมตร จำเลยจึงได้กระทำอนาจารผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 อีก การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำต่างกรรมกับความผิด ตามมาตรา 318 วรรคสาม

 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3767/2541)

 

ด้านกรณีทางคดีแพ่ง ขอหยิบยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงมาปรับใช้เทียบเคียง โดยขอจำแนกออกเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

 

1) ความรับผิดของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ต่อผู้โดยสาร

 

ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ต้องรับผิดในเหตุกระทำละเมิดแก่ผู้โดยสารของตน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2557

 

ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย (ผู้โดยสารรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถคู่กรณี) และที่ 2 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครอง และเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ขับไว้กับจำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัยรถแท็กซี่) จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 5 (ผู้ครอบครองผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เพราะฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 5 (ผู้ครอบครองผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ขาดอายุความ มิใช่ยกฟ้อง เพราะจำเลยที่ 5 (ผู้ครอบครองผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัยรถแท็กซี่) จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย

 

2) ผู้โดยสารผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องบริษัทประกันภัยรถแท็กซี่ได้โดยตรงหรือไม่?

 

สามารถกระทำได้ ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557

 

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุ ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ขับรถของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ขับรถของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ซึ่งจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยัน และรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้อง หรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหาย และทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัย โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิด ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผิดไป มีผลทำให้จำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) กระทำละเมิดต่อโจทก์ และขณะนั้น จำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิด อันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2556

 

โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยทำละเมิด และต้องรับผิดชอบต่อ ว. ท. และ จ. บุคคลภายนอก โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ว. ท. และ จ. ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่ จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 (ปัจจุบันแก้ไขเป็นเกินกว่า 50) มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ข้อ 7.6 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัย ไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้ โจทก์ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพียงแต่เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์ใช้ไปนั้นคืนโจทก์

 

3) ผู้ขับขี่รถแท็กซี่กระทำผิดอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจหรือเปล่า?

 

ขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือตัวการกับตัวแทนโดยทั่วไป อาจถูกกำหนดไว้ค่อนข้างจำกัด แค่เพียงให้ทำตามคำสั่งของนายจ้าง หรือตามแต่ตัวการจะได้มอบหมายมาเท่านั้น แต่สำหรับกรณีของผู้ประกอบการขนส่ง ภายใต้กฎหมายเฉพาะแล้ว จะมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับการขนส่งมากกว่านั้นเยอะ โดยเฉพาะกรณีที่มีค่าต่างตอบแทน

 

นึกง่าย ๆ เรามักได้ยินสุภาษิตสากลที่ว่า “ลูกค้า คือ พระเจ้า” แต่ไม่น่าเชื่อจะมีผู้ใดบอกกล่าว “ลูกจ้าง คือ พระเจ้า” บ้างเลย จริงไหมครับ?

 

สองตัวอย่างคดีศึกษาที่หยิบยกมาเทียบเคียง เชื่อว่า จะเห็นภาพเปรียบเทียบได้ชัดเจนขึ้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3750/2545

 

คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) ที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) และที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาของศาลคดีส่วนอาญาที่ฟังว่า จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ขับรถบรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายสาหัส มีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) ที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) และที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่

 

การที่จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) และที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกผักและผลไม้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) และที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ได้แวะรับประทานอาหารและดื่มสุรา จนถูกทำร้ายร่างกายด้วยความโกรธแค้น เพราะเหตุส่วนตัวที่ถูกทำร้ายดังกล่าว จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) จึงขับรถบรรทุกพุ่งชนโจทก์ที่ 5 และผู้ตายกับพวกที่ทำร้ายตน จนเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ เช่นนี้ เป็นเหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการในทางการที่จ้าง หรือกรอบแห่งการจ้างของจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) และที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) นายจ้างที่มอบหมายให้จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ลูกจ้างไปกระทำ จำเลยที่ 2 (นายจ้าง) และที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ก่อให้เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งห้า ส่วนจำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 887 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2563

 

จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่ามากถึง 60 คัน จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) จึงเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่รายใหญ่ จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าซื้อรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากโจทก์ ซึ่งจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน อันเป็นรถยนต์สาธารณะตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของนายทะเบียน และผู้ตรวจการขนส่งทางบก โดยมีชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ติดอยู่ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง แล้วจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) นำรถแท็กซี่ไปให้จำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าขับรับส่งคนโดยสารในนามของโจทก์ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ถือว่าจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18871/2557 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ และจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เพราะจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปให้เช่า จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ย่อมต้องทราบดีว่า จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ไม่สามารถนำรถที่ตนเช่าซื้อจากโจทก์ให้ผู้อื่น หรือจำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าได้ การที่จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าซื้อรถแท็กซี่ของโจทก์ เพื่อนำออกให้เช่าโดยที่โจทก์ได้จดทะเบียนรถแท็กซี่เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎหมายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ใช้ชื่อ และตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ติดอยู่ด้านข้างรถแท็กซี่นำไปให้จำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าขับรถส่งคนโดยสาร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ส่วนโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย เพราะโจทก์สามารถให้เช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ และจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร โจทก์ และจำเลยที่ 2 มิได้ผูกนิติสัมพันธ์กันแต่เฉพาะนิติกรรมการเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) นำรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าขับรับคนโดยสาร จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เป็นตัวการร่วมกับโจทก์เชิดให้จำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เป็นตัวแทนของตน ในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วย จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) กับโจทก์จึงต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

 

4) ใครคือผู้เอาประกันภัยซึ่งจะต้องรับผิดกันแน่?

 

ผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัย ในสถานะทางกฎหมายอาจเป็นลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยนั้นก็ได้

 

โดยหลักกฎหมายทั่วไป การตีความของถ้อยคำที่เป็นความคุ้มครองควรแปลความอย่างกว้าง ขณะที่ข้อยกเว้นนั้นควรแปลความอย่างแคบ

 

เทียบเคียงคดีรถแท็กซี่ดังกล่าวมาแล้ว

 

ผู้เอาประกันภัย คือ เจ้าของรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย

 

ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย คือ ผู้ได้รับความคุ้มครอง แต่มิใช่เป็นผู้เอาประกันภัยตัวจริง เนื่องด้วยในคำจำกัดความเฉพาะของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เพียงหมายถึง บุคคลผู้ระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตาราง (กรมธรรม์ประกันภัย) ซึ่งจะมีสิทธิหน้าที่เต็มที่อย่างสมบูรณ์ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวเท่านั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2525

 

ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 บัญญัติว่า ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด ในเมื่อความวินาศภัย หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้น เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์นั้น เป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า หมายถึงความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์เองเท่านั้น ไม่หมายรวมถึง ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของลูกจ้างผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ด้วย

 

ข้อสรุป

 

ส่วนตัวเห็นว่า หากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศดังกล่าวได้มาเกิดขึ้นในบ้านเรา จากแนวทางตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาต่าง ๆ ซึ่งได้หยิบยกมาเทียบเคียง ผู้เสียหายน่าจะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนนะครับ

 

อันที่จริง อ่านพบเจอตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับอีก ซึ่งมีการแปลความต่างออกไป ขอติดไว้คราหน้านะครับ มิฉะนั้นแล้ว จะมิได้มีโอกาสกล่าวถึงประเภทการประกันภัยอื่นบ้างเลย

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/