วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 174 : เงื่อนไขพิเศษค่าวิชาชีพ (Professional Fees Clause) มีความหมายเช่นใดกันแน่?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินของบ้านเรามักพบเห็นมีการขยายเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ มากมาย เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยค่าวิชาชีพก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเรียกได้ว่า มีปรากฏเป็นพื้นฐานอยู่ในแทบทุกกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินก็พูดได้

 

เช่นเดียวกับเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ที่แนบกันอยู่มากมายนั้น มักเชื่อกันว่า ใครแนบไว้ยิ่งเยอะ ยิ่งดี แท้ที่จริงแล้ว จะให้ประโยชน์ (แก่ฝ่ายใด) จริงไหม? และควรมีความหมายเช่นใดกันแน่?  

 

บ่อยครั้ง กว่าจะล่วงรู้ความจริงเช่นนั้นได้ ส่วนใหญ่จำต้องเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นสู่ศาลเพื่อหาข้อยุติเสียก่อน

 

ดั่งเช่นเงื่อนไขพิเศษค่าวิชาชีพซึ่งดูเสมือนหนึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดประเด็นปัญหาขึ้นมาได้ ก็ได้บังเกิดขึ้นมาแล้วในตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้

 

ก่อนอื่น เราลองมาอ่านเงื่อนไขพิเศษค่าวิชาชีพ (Professional Fees Clause) ฉบับมาตรฐาน แบบ อค./ทส. 1.14 ของบ้านเรา ซึ่งเขียนว่า

 

จำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ให้รวมถึงค่าวิชาชีพตามความจำเป็นสำหรับสถาปนิก พนักงานสำรวจ วิศวกรที่ปรึกษา รวมถึงที่ปรึกษากฎหมาย และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ (ไม่เกินกว่าอัตราที่กำหนดขึ้นโดยสถาบันที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่เกิดความสูญเสียหรือความเสียหาย แต่ไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินเอาประกันภัย) เพื่อการประเมินราคา ออกแบบ กำหนดมาตรฐาน การประมูล และการควบคุมงานอันเกิดจากการซ่อมแซม หรือสร้างขึ้นใหม่แทนทรัพย์สินที่ได้เกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ (แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสาร เพื่อประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน)

the sum insured is extended to include Architects, Accountants’, Surveyors’ and Consultant Engineers’ legal and other fees (not exceeding those authorized under the scales of the various institutions and/ Bodies regulating such fees prevailing at the time of the destruction or damage but shall not exceed 10% of the sum insured) for estimates, plans specifications, quantities, tenders and supervision necessarily incurred in the reinstatement consequent upon the destruction of or damage to the property insured (but not including such fees for preparing a claim hereunder).

 

คำถาม

 

เงื่อนไขพิเศษข้างต้นหมายความถึง

 

(1) ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพดังกล่าว ใครเป็นผู้ว่าจ้าง?

 

(ก) ผู้เอาประกันภัยเองโดยลำพัง

(ข) ผู้เอาประกันภัย แต่ด้วยความเห็นชอบจากบริษัทประกันภัยเสียก่อน

(ค) บริษัทประกันภัยโดยลำพัง

(ง) ทั้งผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย

 

(2) ค่าที่ใช้จ่ายทางวิชาชีพซึ่งบังเกิดขึ้นมานั้น คู่สัญญาประกันภัยฝ่ายใดควรต้องรับผิดชอบ? หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คุ้มครองผู้ใดกันแน่ระหว่าง?

 

(ก) ผู้เอาประกันภัย

(ข) บริษัทประกันภัย

(ค) ทั้งผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย

 

คุณจะเลือกคำตอบข้อใดเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด สำหรับคำถามทั้งสองข้อดังกล่าวครับ

 

ลองทดสอบความเข้าใจของตนเองดูนะครับ แล้วค่อยไปเทียบเคียงกับผลของคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้กันในสัปดาห์หน้า

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น