วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 173 : เมื่อโรคภัย (Disease): กลุ่มโรคลมชัก มาประจวบกับอุบัติเหตุ (Accident) เราควรตีความเช่นไร?

 

(ตอนที่สาม)

 

ตามความเป็นจริง มีหลากหลายกรณีที่โรคภัยต่าง ๆ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุจนอาจเกิดปัญหาการตีความมากมายทั้งในต่างประเทศ และบ้านเราเอง บังเอิญที่บ้านเราอาจพบเห็นข้อพิพาทเกิดเป็นคดีขึ้นสู่ศาลไม่ใคร่มากนัก ต่างจากต่างประเทศซึ่งมักนำคดีขึ้นสู่ศาลมากกว่า อาจเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการตีความ หรือด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ การหยิบยกคดีความของต่างประเทศมานำเสนอ ก็อยู่ที่ผู้อ่านแต่ละท่านล่ะครับ สนใจจะนำไปปรับใช้ประโยชน์อย่างไร? ก็สุดแล้วแต่เจตนารมณ์ของแต่ละท่าน หรืออาจเพียงแค่อ่านผ่านไปเท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี ครานี้ก็มาถึงตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศที่ค้างไว้ เรื่องการเกิดโรคลมชักกับอุบัติเหตุจมน้ำกันเสียที

 

ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่ง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลได้เสียชีวิตลงในเหตุการณ์ที่ผิดปกติ โดยที่ตัวผู้เอาประกันภัยรายนี้มีประวัติเป็นโรคลมชัก (epileptic seizures) อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ประมาณหนึ่งปีแล้ว เขาถูกพบเป็นศพอยู่ในห้องน้ำอะพาร์ตเมนต์ของเขาเอง ในสภาพร่างห้อยอยู่ขอบอ่างอาบน้ำ โดยขาสองข้างกับแขนข้างหนึ่งห้อยออกมานอกอ่าง ขณะที่ศรีษะกับแขนอีกข้างหนึ่งอยู่ในอ่างใบนั้น ตอนที่พบศพ ก๊อกน้ำอ่างยังถูกเปิดน้ำอยู่ แต่ฝาระบายน้ำกลับถูกเปิดทิ้งไว้ ทำให้คงมีปริมาณน้ำอยู่ในอ่างใบนั้นไม่มากนัก

 

ผลการชันสูตรพลิกศพตรวจพบว่า มีน้ำอยู่ในปอดกับช่องกะโหลกศรีษะ (cranial cavity) ของผู้ตาย จึงถูกลงความเห็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตเนื่องจากจมน้ำ โดยมิได้อธิบายถึงการจมน้ำนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เพียงตั้งข้อสมมุติฐานว่า ผู้ตายอาจเกิดอาการชักขึ้นมาก่อนหน้านั้น เนื่องด้วยพบผู้ตายได้กัดลิ้นที่แลบออกมาของตนเอง รวมถึงศรีษะของผู้ตายเองอยู่ในตำแหน่งที่บิดเบี้ยวด้วย

 

กรณีนี้ได้ถูกนำขึ้นสู่ศาลเป็นคดี โดยมีประเด็นข้อถกเถียงระหว่างคู่ความทั้งสองฝ่ายอยู่สองประเด็น ได้แก่

 

1) ผู้เอาประกันภัยนั้นได้เสียชีวิตลงอันเป็นผลโดยตรง และโดยอิสระจากสาเหตุอื่น ๆ ทั้งหลาย (directly and independently of all other causes) เนื่องจากการบาดเจ็บทางร่างกายซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะที่มาจากปัจจัยภายนอก อย่างรุนแรง โดยอุบัติเหตุ (solely through external, violent and accidental means) หรือไม่?

 

2) โดยที่มิได้ปัจจัยทางด้านโรคภัยไข้เจ็บ หรืออาการป่วยทางด้านจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (not contributed by disease or mental infirmity) หรือเปล่า?

 

ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นทายาท และผู้รับประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยรายนี้ อ้างว่า เป็นการเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ เนื่องจากการจมน้ำตามผลการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ดังอ้าง

 

ขณะที่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัย หยิบยกถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทมาโต้แย้ง ซึ่งเขียนข้อตกลงคุ้มครองไว้ว่า

 

การเสียชีวิตอันเป็นผลโดยตรง และโดยอิสระจากสาเหตุอื่น ๆ ทั้งหลาย เนื่องจากการบาดเจ็บทางร่างกายซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะที่มาจากปัจจัยภายนอก อย่างรุนแรง โดยอุบัติเหตุ ... ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า จะไม่ชดใช้ค่าชดเชยให้แก่การเสียชีวิต (1) กรณีซึ่งเป็นผลมาจาก หรือเกี่ยวเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บ หรืออาการป่วยทางด้านจิตใจ หรือการรักษาทางเวชกรรม หรือศัลยกรรม ...

 

กรณีนี้ การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงมิได้ตกอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองดังกล่าว เพราะมีสาเหตุอาการชักเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

คดีนี้ได้ต่อสู้กันถึงสองยก

 

ยกแรก ศาลชั้นต้นตัดสินเข้าข้างฝ่ายโจทก์

 

ยกสอง ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาถึงพยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว วินิจฉัยว่า

 

แม้โรคลมชักเป็นต้นเหตุก่อให้ผู้ตายหมดสติล้มลงไปก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามปกติแก่ผู้ป่วยโรคนี้ แต่มิใช่การส่งผลทำให้เกิดการเสียชีวิตนี้ขึ้นมา การจมน้ำโดยอุบัติเหตุต่างหาก ดังนั้น แท้ที่จริงแล้ว การเสียชีวิตครั้งนี้มิใช่เป็นสาเหตุตามปกติ และผลสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นได้จากอาการเจ็บป่วยของผู้ตาย

 

โดยสรุป โรคลมชักนั้นถือเป็นเพียงต้นเหตุของสาเหตุการจมน้ำอีกทอดหนึ่งเท่านั้น

 

ส่วนประเด็นถ้อยคำของ “เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (contributed by)” นั้น มิได้หมายความถึง ให้จำต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงสาเหตุที่ห่างไกล (remote cause) หรือต้นเหตุของสาเหตุ (cause of a cause) เหมือนดั่งเช่นในคดีนี้ด้วย การที่จะส่งผลทำให้ถ้อยคำนี้มีผลใช้บังคับเป็นข้อยกเว้นได้ โรคภัยไข้เจ็บนั้นจะต้องอยู่ในลักษณะสาเหตุใกล้ชิด(proximate cause) มากกว่า

 

จึงตัดสินยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี National Life & Accident Insurance Co. v Franklin, 506 S.W. 2d 765 (Tex. Civ. App. 1974))

 

ข้อสรุป

 

แนวทางการตีความทั่วไปของศาลต่างประเทศจะมีอยู่สามทฤษฏี คือ

 

ก) ทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) โดยให้มองที่ต้นเหตุเป็นเกณฑ์ หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปัจจัยทางอุบัติเหตุ (accidental means)

 

ข) ทฤษฏีของผล (Effect Theory) โดยให้มองที่ผลลัพธ์เป็นเกณฑ์ หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ผลจากอุบัติเหตุ (accidental results)

 

ค) ทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate Events Theory) คือ ให้มองทั้งภาพเหตุการณ์เป็นสำคัญ แทนที่จะมองแค่เพียงต้นทาง หรือปลายทางอย่างใด อย่างหนึ่งเท่านั้น

 

ทั้งนี้ การจะใช้ทฤษฏีใดนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลท่านล่ะครับ

 

หากท่านใดสนใจจะนำตัวอย่างคดีศึกษาเหล่านี้ไปปรับใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ในส่วนของเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติมการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ร.ย. 01) ของบ้านเรา แล้วแต่กรณี ก็เชิญตามสะดวกนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น