วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 173 : เมื่อโรคภัย (Disease): กลุ่มโรคหัวใจ มาประจวบกับอุบัติเหตุ (Accident) เราควรตีความเช่นไร?

 

(ตอนที่สอง)

 

ตอนที่ผ่านมาได้เกริ่นว่า จะกล่าวถึงการเกิดโรคลมชักกับอุบัติเหตุจมน้ำอีกตัวอย่างหนึ่งมาเทียบเคียง แต่บังเอิญไปเจออีกคดีหนึ่งของกลุ่มโรคหัวใจ เห็นว่า น่าสนใจที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง จึงขอแทรกแซงคิวก่อนนะครับ

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ไม่รุนแรงอะไรมากนัก สภาพร่างกายไม่ปรากฏร่องรอยการบาดเจ็บทางร่างกาย แต่ครั้นเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งชั่วโมง พอผู้เอาประกันภัยรายนี้จะออกไปจากจุดเกิดเหตุ ได้เกิดอาการโรคหัวใจเข้าจู่โจม (heart attack) จึงถูกรีบส่งตัวไปยังโรงพยาบาลโดยไว และได้เสียชีวิตลงในค่ำวันเดียวกันนั้นเอง

 

ครั้นเมื่อผู้จัดการมรดกของผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองการประกันภัยฉบับนี้

 

คุณจะลองคาดเดาก่อนไหมครับว่า เขาจะได้รับคำตอบกลับมาอย่างไร?

 

(ก) คุ้มครอง หรือ

 

(ข) ไม่คุ้มครอง

 

ส่วนตัวเชื่อว่า คงเลือกคำตอบ ข้อ (ข) เป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าเลือกเป็นข้อ (ก) น่าจะไม่ใคร่มีประเด็นให้วิเคราะห์กันมากนัก

 

ใช่ครับ กรณีนี้ เมื่อบริษัทประกันภัยเจ้านี้ตอบปฏิเสธความรับผิดชอบ จึงได้เกิดข้อพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล

 

ยกแรก ศาลชั้นต้นติดสินให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยชนะคดี

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในยกสอง โดยกล่าวโต้แย้งว่า

 

เนื่องด้วยภายใต้ข้อตกลงคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทได้ระบุ ดังนี้

 

หากในระหว่างช่วงระยะเวลาประกันภัยใด ผู้เอาประกันภัยได้รับการบาดเจ็บทางร่างกาย (Bodily Injury) ซึ่งเป็นเหตุโดยเอกเทศ และโดยอิสระจากสาเหตุอื่นใด (independently of any other cause) จนเป็นผลทำให้เกิดการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรแก่ผู้เอาประกันภัยนั้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าชดเชยให้แก่ผู้เอาประกันภัยนั้น หรือทายาทตามกฏหมายของผู้เอาประกันภัยนั้นตามตารางผลประโยชน์ที่กำหนดไว้

 

โดยที่ได้มีกำหนดคำจำกัดความเฉพาะของการบาดเจ็บทางร่างกายกำกับเอาไว้ด้วยให้หมายความถึง

 

การบาดเจ็บซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยโดยอุบัติเหตุ (accidental means) และซึ่งได้เกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลายี่สิบสี่เดือน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเอง จนเป็นผลทำให้ผู้เอาประกันภัยนั้นได้เกิดการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ หรือการทุพพลภาพถาวรขึ้นมา

 

ฉะนั้น ในคดีนี้ การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยรายนี้มิใช่การบาดเจ็บทางร่างกาย (Bodily Injury) ตามขอบเขตความคุ้มครองดังกล่าวแต่ประการใด

 

อนึ่ง ถึงแม้นจะใช่ ก็มิได้เป็นผลโดยตรงมาจากเหตุโดยเอกเทศ และโดยอิสระจากสาเหตุอื่นใด (independently of any other cause) ด้วยเช่นกัน เพราะมีสาเหตุเกี่ยวเนื่อง (contributory cause) มาจากโรคที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (pre-existing disease)

 

ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในการแปลถ้อยคำเหล่านั้นออกเป็นสองประเด็น กล่าวคือ การเสียชีวิตของผู้ตายนั้น

 

1) ถือเป็นการบาดเจ็บทางร่างกาย (Bodily Injury) ตามความหมายดังกล่าวหรือเปล่า? และ

 

2) มีสาเหตุโดยเอกเทศ และโดยอิสระจากสาเหตุอื่นใด (independently of any other cause) ใช่ หรือไม่ใช่?

 

ในการพินิจพิเคราะห์ ลำดับแรกจำต้องไปพิจารณาถึงประวัติการเจ็บป่วยของผู้ตายเสียก่อน

 

ประมาณสองปีย้อนหลัง ผู้ตายเคยเจ็บป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่สามเส้น ซึ่งมีอาการค่อนข้างหนักหนา เพราะอาจมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจล้มเหลวได้ทุกเวลา แต่เขาก็พยายามใช้ชีวิตไปตามปกติ โดยไม่ใคร่ใส่ใจใช้ยารักษาตัวตามคำสั่งแพทย์นัก

 

อันที่จริง อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันดังกล่าว มิได้รุนแรงแต่ประการใด ทั้งไม่พบอาการบาดเจ็บทางร่างกายด้วย เพียงแต่ถัดมาอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลัง จึงเริ่มเกิดอาการเจ็บหน้าอก และถูกรีบนำส่งไปโรงพยาบาล กระทั่งเสียชีวิตลงในช่วงค่ำคืนของวันนั้นในท้ายที่สุด แม้ทางแพทย์ผู้ทำการรักษาจะได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ให้การในฐานะพยานว่า สาเหตุที่ก่อให้หัวใจของผู้ตายเต้นผิดจังหวะนั้นมาจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งผลทำให้เส้นโลหิตที่ตีบตันอยู่แล้วเกิดอาการบีบรัดตัวเพิ่มเติม

 

พยานบางท่านของฝ่ายจำเลยให้ความเห็นว่า เป็นผลเนื่องมาจากภาวะรุนแรงของโรคหัวใจนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าว

 

ขณะที่พยานบางท่านของฝ่ายโจทก์เบิกความว่า น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากอาการตื่นตระหนกของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าว จนส่งผลก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางระบบประสาทโดยอัตโนมัติแก่หลอดเลือด เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าของอุบัติเหตุนั้น ซึ่งเรียกว่า “ระบบประสาทซิมพาเทติก (the sympathetic nervous system)

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การขาดเลือดตรงหัวใจดังว่านั้นมีสาเหตุมาจากความเคร่งเครียดของการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ควบคู่กับภาวะของโรคที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัยนั้นเอง จนส่งผลทำให้เส้นเลือดตีบตันลงท้ายที่สุดนั่นเอง

 

ลำดับต่อไป การวิเคราะห์ถึงประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ มีดังนี้

 

ประเด็นแรก

 

ตามคำจำกัดความเฉพาะของการบาดเจ็บทางร่างกาย (Bodily Injury) อ่านแล้วให้ความหมายถึง การบาดจ็บใดก็ตามทุกชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย โดยเพียงมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ และส่งผลทำให้เกิดการเสียชีวิต (หรือการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร)

 

สิ่งพึงพิจารณาเพิ่มเติม คือ คำว่า “การบาดเจ็บ (injury)” นั้น จะหมายความรวมถึงการที่ผู้ตายนั้นได้รับการบาดเจ็บด้วยหรือไม่?

 

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายโจทก์ ตรงที่ว่า อาการตื่นตระหนกต่ออุบัติเหตุดังกล่าวของผู้ตายนั้นจนส่งผลทำให้เส้นเลือดเกิดการบีบรัดตัวท้ายที่สุดนั้น และอาจเกิดบาดแผลโดยปรากฏลิ่มเลือดขึ้นมาก็ได้ ตามสถิติแล้ว สามารถส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้ถึงประมาณ 90% คล้ายกับการเสียชีวิตของผู้ตายรายนี้

 

แม้นฝ่ายจำเลยจะเห็นชอบกับคำให้การนั้นของพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายโจทก์ แต่คงยังยืนกรานว่า มิได้ตกอยู่ในขอบเขตความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทอยู่ดี เพราะสิ่งที่พยานนั้นได้หยิบยกขึ้นมาเป็นแค่สถิติตัวเลข มิได้พิสูจน์แสดงถึงความน่าเชื่อถือแต่ประการใดนั้น

 

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องด้วยพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายโจทก์มีสถานะเป็นถึงพยาธิแพทย์ (Pathologist) (แพทย์ผู้มีบทบาทด้านการวินิจํยโรค โดยการตรวจวิเคราะห์เนื่อเยื่อ ของเหลวในร่างกายของผู้ป่วย หรือตรวจศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล) ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ การอ้างอิงถึงตัวเลขทางสถิติก็เพื่อสนับสนุนความเห็นของตนเองเท่านั้น อีกทั้ง ในทางทฤษฎีแล้ว พยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจำเลยเอง ก็ใช้ทฤษฎีเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันตรงที่พยานนั้นของฝ่ายจำเลยเห็นว่า การเกิดร่องรอยบาดแผลตรงเส้นเลือดกับการเกิดลิ่มเลือดนั้นเกิดขึ้นได้ตามปกติ โดยมิใช่เกิดเนื่องจากอุบัติเหตุด้วย

 

คำจำกัดความเฉพาะดังกล่าวมิได้มีปัญหาของการตีความ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ภาวะโรคที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย คือ ภาวะผนังหลอดเลือดแข็งตัว (athero-sclerotic condition) มีส่วนทำให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิต โดยมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากอุบัติเหตุดังกล่าวนั้น ฝ่ายจำเลยเองมิได้กล่าวโต้แย้งเอาไว้ ศาลอุทธรณ์จึงยืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้รับการบาดเจ็บทางร่างกาย อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางอุบัติเหตุ

 

ประเด็นที่สอง

 

สำหรับการกล่าวอ้างว่า การบาดเจ็บทางร่างกายเป็นสาเหตุใกล้ชิดทำให้เสียชีวิต แต่พอมีสาเหตุโดยเอกเทศ และโดยอิสระจากสาเหตุอื่นใด (independently of any other cause) มาประกอบการพิจารณาแล้ว จะส่งผลทำให้ถือภาวะโรคที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัยมาเป็นสาเหตุเกี่ยวเนื่องจนไม่ได้รับความคุ้มครองเลยนั้น ไม่น่าจะตรงตามเจตนารมณ์เช่นว่านั้น ฝ่ายจำเลยเองก็ไม่สามารถชี้แจงให้ศาลรับฟังได้ถึงเหตุผลของการร่างถ้อยคำเช่นนั้น

 

อนึ่ง ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทก็มิได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสุขภาพที่ดีของผู้เอาประกันภัย อีกทั้งไม่ปรากฏมีแบบสอบถาม หรือการกรอกข้อมูลนั้นลงในใบคำขอเอาประกันภัยใดเลย ทั้งที่ตามความถูกต้องแท้จริงแล้ว ถือเป็นความเสี่ยงภัยของผู้รับประกันภัยที่จะต้องให้ความสำคัญ และใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการพิจารณารับประกันภัยต่อชีวิต ร่างกายของผู้ขอเอาประกันภัยเป็นเกณฑ์ด้วย

 

สุขภาพร่างกายของมนุษย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงลงได้ตลอดเวลา  

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่เชื่อว่า คู่สัญญาประกันภัยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีความคุ้มครองบังเกิดขึ้นโดยเด็ดขาดทุกกรณี หากมีภาวะการเจ็บป่วยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในการให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Concord Insurance Company Ltd. v Oelofsen NO (448/90) [1992] ZASCA 116; [1992] 2 All SA 448 (A) (21 August 1992))

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 173 : เมื่อโรคภัย (Disease) มาประจวบกับอุบัติเหตุ (Accident) เราควรตีความเช่นไร?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เมื่อพูดถึงการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance) กับการประกันภัยสุขภาพ (Health Insurance) เราอาจพอจำแนกเบื้องต้นได้อย่างชัดเจนว่า อย่างแรกเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ขณะที่อย่างหลังเป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ โดยปกติทั่วไป ความคุ้มครองทั้งสองอย่างจะแยกกันไปค่อนข้างเด็ดขาด ไม่ทับซ้อนกัน

 

แต่ถ้าบังเอิญตามเหตุการณ์ความเป็นจริงเกิดจำเพาะพ้องกันขึ้นมาพอดี เราจะสามารถแยกแยะกันอย่างไรดี? หากว่า มีเพียงกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับเดียวเท่านั้นที่ให้ความคุ้มครองอยู่ ณ เวลานั้น

 

ดั่งเช่นตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศรื่องนี้

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ขับรถยนต์ไปตามลำพัง แล้วเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำจนทำให้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

 

ผลจากการสืบสวนสอบสวน และการตรวจชันสูตรทางการแพทย์ ให้ข้อมูลออกมาพอสรุปได้ ดังนี้

 

1) อุบัติเหตุรถพลิกคว่ำนั้น ไม่มีปัจจัยภายนอกอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

2) แต่มีต้นเหตุมาจากการที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) จนไม่สามารถควบคุมรถยนต์ของตนได้

 

3) ขณะพลิกคว่ำ ผู้เอาประกันภัยรายนี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่เนื่องด้วยแรงกระแทกของการพลิกคว่ำ ได้ส่งผลทำให้กระดูกซี่โครงหักทิ่มทะลุหัวใจจนเสียชีวิตในท้ายที่สุด

 

4) ลำพังอาการหัวใจวายเฉียบพลันอาจทำให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้เสียชีวิตลงได้ หรืออาจคงยังมีชีวิตต่อไปได้อีกหลายชั่วโมง หลายสัปดาห์ หรือกระทั่งหลายปีก็เป็นได้

 

ประเด็นข้อพิพาทซึ่งทายาทของผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้นำคดีขึ้นสู่ศาล กล่าวคือ

 

ก) ผู้เอาประกันภัยรายนี้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ? หรือ

 

ข) ผู้เอาประกันภัยรายนี้เสียชีวิตเนื่องจากการเจ็บป่วยกันแน่?

 

โดยที่บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับพิพาทมีความเห็นเป็นอย่างหลัง พร้อมกับได้หยิบยกข้อยกเว้นมากล่าวอ้างปฏิเสธความรับผิดว่า

 

การประกันภัยนี้จะไม่ชดใช้สำหรับความสูญเสียใด ๆ อันเป็นผลเนื่องมาจากการบาดเจ็บใดซึ่งมีสาเหตุ หรือมีส่วนมาจาก หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากภัยที่ไม่คุ้มครองดังต่อไปนี้ ถึงแม้นว่า มีสาเหตุใกล้ชิด หรือเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายโดยอุบัติเหตุอยู่ด้วยก็ตาม อันได้แก่

 

(ก) ความเจ็บป่วยต่อร่างกาย หรือแก่จิตใจ หรือ

(ข) การเกิดโรคภัย การเกิดพิษในช่องท้อง หรือการติดเชื้อโรคแบคทีเรียทุกชนิด ...

 

ศาลได้พิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบกับถ้อยคำดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่า

 

1) ผู้เอาประกันภัยรายนี้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ

 

2) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมีต้นเหตุมาจากอาการหัวใจวายเฉียบพลันของผู้เอาประกันภัยรายนี้

 

3) อาการหัวใจวายดังกล่าวถือเป็นสาเหตุโดยอ้อม/สาเหตุห่างไกลต่อการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยรายนี้

 

4) สาเหตุโดยตรง หรือสาเหตุใกล้ชิดแก่การตายของผู้เอาประกันภัยรายนี้เกิดจากกระดูกซี่โครงหักทิ่มทะลุหัวใจ

 

5) เหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นนั้นอยู่ในช่วงระยะเวลาเอาประกันภัย

 

6) อาการหัวใจวายเฉียบพลันของผู้เอาประกันภัยรายนี้จัดอยู่ในความหมายของโรคภัย หรือความเจ็บป่วยต่อร่างกายดังที่กำหนดอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าว

 

ประกอบกับถ้อยคำที่เขียน “มีสาเหตุ หรือมีส่วนมาจาก หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจาก” ซึ่งให้ความหมายกว้างเทียบเท่ากับ “โดยตรง หรือโดยอ้อม” รวมถึงการขยายความเพิ่มเติมกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งว่า “ถึงแม้นว่า มีสาเหตุใกล้ชิด หรือเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายโดยอุบัติเหตุอยู่ด้วยก็ตาม” ยิ่งทำให้ชัดเจนมากว่า บริษัทประกันภัยไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ความคุ้มครองถึงการเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่มาผนวกกับอุบัติเหตุในทุกกรณี ทั้งโดยทางตรง และโดยทางอ้อม

 

ศาลจึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Huff v. Aetna Life Ins. Co., 587 P. 2d 267 - Ariz: Court of Appeals, 1st Div., Dept. B 1978)

 

ข้อสังเกต

 

ข้อควรคำนึง เนื่องด้วยข้อความจริงแต่ละคดี ถ้อยคำที่เขียนไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ ประกอบกับประเด็นข้อต่อสู้ และการใช้ดุลพินิจของศาลอาจส่งผลทำให้ผลทางคดีต่าง ๆ มีความผันแปรไปก็ได้

 

ตอนต่อไป ขอหยิบยกอีกตัวอย่างหนึ่งมาเทียบเคียง

 

การเกิดโรคลมชัก หรืออุบัติเหตุจมน้ำกันแน่?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 172 : ติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยน : เพื่อรองรับผลการปิดกั้นจนทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

 

(ตอนที่สี่)

 

นอกจากการติดเงื่อนไขพิเศษไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของถ้อยคำที่ปรากฏแล้ว การแปลความหมายคลาดเคลื่อนอาจส่งผลไม่แตกต่างกันนัก เหมือนดั่งเช่นในตัวอย่างคดีศึกษานี้

 

เทศบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่งได้จัดทำโครงการปรับปรุงสภาพถนนบางจุดในเขตเมือง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ประมาณวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2010 จวบจนถึงประมาณวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2011

 

ระหว่างการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบแก่การประกอบธุรกิจร้านสะดวกซื้อของผู้เอาประกันภัยรายนี้ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดของถนนสายหนึ่งในโครงการนั้นพอดี ทำให้ยอดขายลด กำไรหด แถมค่าใช้จ่ายบางรายการเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากบางช่วงถนนนั้นถูกปิดกั้นลง สภาพถนนนั้นไม่สะดวกแก่การสัญจรตามปกติ รถที่เคยสัญจรไปมาอย่างคับคั่งก่อนหน้านั้นต่างพยายามหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น จนเรียกได้ว่า แทบจะไม่มีรถแล่นผ่านไปมากันอีกเลย

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับ

 

1) ความเสียหายต่อระบบเครื่องปรับอากาศ ประตูกับหน้าต่าง ผลิตภัณฑ์อาหารกับสินค้าถูกปนเปื้อน (ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย) อันมีสาเหตุมาจากฝุ่นของงานก่อสร้าง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินฉบับพิพาท และ

 

2) ความสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้นแก่ตน จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 75,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (หรือประมาณสองล้านกว่าบาท) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบทางธุรกิจ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (Civil Authority Clause) ของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาท ซึ่งมีถ้อยคำเขียนว่า

 

บริษัทจะชดใช้ให้สำหรับความสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามความจำเป็น และตามสมควร อันเนื่องมาจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายซึ่งสั่งห้ามการเข้าออกสถานที่เอาประกันภัย ทั้งนี้ คำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้นจะต้องเป็นผลเนื่องมาจากความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพโดยตรงจากภัยที่คุ้มครองแก่ทรัพย์สินอื่นใด ภายในอาณาเขตรัศมี 100 ไมล์ โดยรอบบริเวณสถานที่เอาประกันภัยนั้นเอง .... 

 

อันมีระยะเวลาประกันภัยคุ้มครองหนึ่งปี ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2010  จนถึงวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2011

 

ศาลได้พินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว จึงวินิจฉัยว่า

 

สำหรับประเด็นความสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยนั้น โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อถือ และรับฟังได้ว่า

 

(ก) ธุรกิจของตนได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง อันสืบเนื่องมาจากโครงการปรับปรุงถนนดังกล่าว จนถึงขนาดส่งผลทำให้ต้องหยุดกิจการบางส่วน หรือทั้งหมด จากพยานหลักฐานของโจทก์ยังปรากฏมีการเปิดกิจการตามปกติ ที่จอดรถยังแสดงถึงรถของลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการอยู่ แม้ผลของการก่อสร้างจะทำให้ปริมาณลูกค้าลดน้อยลงไปบ้าง เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกดังเดิมในการเดินทางเข้าออก

 

จริงอยู่ที่ตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาท มิได้จำกัดให้ความคุ้มครองเพียงแค่การหยุดชะงักของกิจการโดยสิ้นเชิง (cessation in whole) เท่านั้น บางส่วน (cessation in part) ก็ยังมีผลใช้บังคับได้ แต่กระนั้นจำต้องมีการหยุด/ปิดการประกอบกิจการอยู่ด้วย เพื่อให้เข้าเงื่อนไขความคุ้มครอง มิฉะนั้น จะกลายเป็นเพียงความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วไป

 

(ข) การจะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้น จะต้องถึงขนาดมีคำสั่งห้ามเข้าออกพื้นที่บริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาดจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ไม่เข้าข่ายดังกล่าวแต่ประการใด

 

ด้วยเหตุผลข้างต้น ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Commstop, Inc. v. Travelers Indemnity Co., 2012 U.S. Dist. LEXIS 69962 (W.D.La. May 17, 2012))

 

หมายเหตุ

 

โดยสรุป ถ้าเลือกไม่ถูกจะติดเงื่อนไขพิเศษอะไรดี พยายามเลือกติดหลายอันเผื่อไว้น่าจะปลอดภัยกว่า

 

ข้อพึงระวัง อย่าให้เกิดขัดแย้งกันเองก็แล้วกัน เพราะเท่าที่เจอ พอไปเน้นปริมาณจำนวนเงื่อนไขพิเศษมากจนเกินไป จะเจอปัญหาเช่นนี้ประจำ และโปรดอย่าลืมว่า เงื่อนไขพิเศษที่มีให้เลือกนั้นมิใช่เป็นประโยชน์ (แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด) ทั้งหมดนะครับ

 

อนึ่ง ยังมีเงื่อนไขพิเศษอื่น ๆ ทำนองนี้ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มความคุ้มครองผลสืบเนื่องทางการเงิน โดยไม่คำนึงว่า จะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือกระทั่งมิได้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินใดเลยก็มี ที่เรียกว่า “Non-Damage Clause” เช่นกัน อีกทั้งมิได้มีสาเหตุมาจากภัยคุ้มครองก็ยังได้ เพียงแต่จะต้องตกอยู่ในสาเหตุที่ถูกระบุไว้เป็นพิเศษอย่างชัดแจ้งเสียก่อนเท่านั้น เป็นต้นว่า การประท้วง การข่มขู่วางระบิด การฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย โรคภัยไข้เจ็บ

 

เอาไว้จะหาโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/