เรื่องที่ 156 : เงื่อนไขพิเศษชุด DE & LEG ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้าง/ติดตั้ง
(ตอนที่สี่)
(ค) เงื่อนไขพิเศษของ London Market Defects Exclusions (DE)
สำหรับทางเลือกชุดนี้มีอยู่ห้าแบบด้วยกัน คือ
(1) DE 1
แทบเหมือนกับ LEG 1/96 ซึ่งเป็นการแนบเพื่อตอกย้ำว่า ไม่คุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายเนื่องจากความบกพร่องต่าง ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าในเรื่องของวัสดุ ฝีมือแรงงาน การออกแบบ แต่มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างตรงที่ไม่ได้เขียนยกเว้นถึงข้อบกพร่องในรายละเอียดของการทำงานด้วย
(2) DE 2
ใช้แนบเพื่อขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นซึ่งได้รับความเสียหาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากต้นเหตุความบกพร่องดังกล่าวกับทรัพย์สินอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน (support) นั้นเอง แม้นอันหลังจะอยู่ในสภาพปกติก็ตาม ทั้งหมดจะไม่ได้รับความคุ้มครอง
(3) DE 3
คล้ายกับ DE 2 คือ เพื่อขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นกับทรัพย์สินอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน (support) นั้นเองซึ่งทั้งหมดเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในสภาพปกติ และได้รับความเสียหาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากต้นเหตุความบกพร่องดังกล่าวที่คงยังจะไม่ได้รับความคุ้มครองอยู่ดี
(4) DE 4
คล้ายกับ DE 3 มาก โดยระบุยกเว้นไม่คุ้มครองถึงต้นเหตุความบกพร่องดังกล่าวเท่านั้น
(5) DE 5
คุ้มครองกว้างมากที่สุด โดยระบุยกเว้นเพียงไม่คุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น (improvements) เท่านั้น
ถ้าย้อนกลับไปดูถึงตอนที่ผ่านมา สำหรับ LEG 3/96 ซึ่งเขียนว่า
“ใช้แนบเพื่อขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นซึ่งได้รับความเสียหาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากต้นเหตุความบกพร่องดังกล่าวที่ยังคงไม่ได้รับความคุ้มครองอยู่ดี แต่ทั้งนี้ จะขยายรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ด้วย”
อาจรู้สึกถึงข้อขัดแย้งกันได้ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญยังมีการโต้แย้งกันอยู่ว่า ความหมายของคำว่า “การแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น (improvements)” นั้น ควรให้ความหมายแท้จริงเช่นใดกันแน่?
จริงอยู่ความบกพร่องที่มีอยู่เดิม หรือที่เกิดขึ้นนั้น ในมุมมองของบริษัทประกันภัยไม่ถือเป็นความเสียหายอันจะได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับอ้างอิง เนื่องมาจากเป็นความเสียหายดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนจะมาทำประกันภัย หรือก่อนจะมีความคุ้มครอง หรือบางกรณีเป็นความเสียหายซึ่งควรจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะฉบับอื่นมากกว่า จึงได้กำหนดยกเว้นเอาไว้
กอปรกับหลักการทั่วไปของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะชดใช้ตามความเป็นจริง เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สภาพแท้จริงดังเดิมเสมือนหนึ่งมิได้เกิดมีความเสียหายนั้นขึ้นมาเลย นั่นคือ จะต้องไม่ดีกว่าเดิม หรือมากกว่าเดิม หรือแพงกว่าเดิม
แต่ในทางปฏิบัติ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องพินิจวิเคราะห์เป็นรายกรณีไป จะให้ถือลักษณะเหมาเข่งทั้งหมดเสียทีเดียว ไม่น่าจะถูกต้อง และเป็นธรรมได้ เพราะแต่ละกรณีมีความแตกต่างกันไป
ลองพิจารณาจากตัวอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหยิบยกมานะครับ
เสาคอนกรีตที่หล่อขึ้นมาค้ำยันหลังคา ตรวจพบ (ภายหลัง) ว่ามีเหล็กเส้นข้างในที่ถูกผลิตไม่ได้มาตรฐาน (วัสดุบกพร่อง)
ต่อมา หลังคาพังถล่มลงมาพร้อมกับเสาคอนกรีตนั้น และส่งผลทำให้พื้นเสียหาย
ถ้าเป็นเงื่อนไขพิเศษแบบ
LEG 1/96 กับ DE 1 ไม่คุ้มครองความเสียหายทั้งหมด (หลังคา เสา เหล็กเส้นที่บกพร่อง และพื้น)
DE 2 คุ้มครองพื้น ไม่คุ้มครองหลังคา เสา และเหล็กเส้นที่บกพร่อง
LEG 2/96 (บางส่วน) กับ DE 3 คุ้มครองพื้นกับหลังคา ไม่คุ้มครองเสา และเหล็กเส้นที่บกพร่อง
LEG 2/96 (บางส่วน) กับ DE 4 คุ้มครองพื้น หลังคา กับเสา ไม่คุ้มครองเหล็กเส้นที่บกพร่อง
LEG 3/96 กับ DE 5 คุ้มครองทั้งหมด ไม่คุ้มครองเฉพาะค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปรับปรุงเหล็กเส้นที่มีปัญหาให้ดีขึ้น (improvements)
ชัดเจนว่า การเปลี่ยนทดแทนเหล็กเส้นที่มีปัญหาด้วยเหล็กเส้นปกติ เป็นการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากดีกว่า และแพงกว่าเดิมด้วย
ถ้าเปลี่ยนให้เหมือนเดิม คือ ด้วยการใช้เหล็กเส้นที่มีปัญหาเส้นใหม่
ปัญหาอาจเกิดขึ้นซ้ำดังเดิมที่จะทำให้หลังคานั้นพังถล่มลงมาได้อีกในอนาคต
ฉะนั้น การตีความจุดนี้ ควรแปลความหมายว่า
(ก) ไม่คุ้มครองมูลค่าทดแทนเหล็กเส้นปกติทั้งหมด? หรือ
(ข) ไม่คุ้มครองมูลค่าส่วนต่างระหว่างเหล็กเส้นปกติกับเหล็กเส้นที่มีปัญหา?
แต่ถ้าความเสียหายนั้นไม่รุนแรงถึงขนาดต้องรื้อทำใหม่ทั้งหมด แค่ซ่อมแซมให้กลับมามั่นคงแข็งแรงเท่านั้น แต่จำต้องปรับปรุงแก้ไขเสริมให้เสานั้นมั่นคงแข็งแรงเพื่อให้ทุกอย่างอยู่ร่วมกันต่อไปได้ เช่นนี้ จะสามารถคุ้มครองให้ได้หรือเปล่า?
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจไม่ได้แพงกว่าด้วย?
เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมา นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสิ่งใด คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกันแน่?
ฉะนั้น จึงขอให้โปรดใช้วิจารณญาณประกอบในการอ่านบทความนี้ด้วย เนื่องจากถ้อยคำภาษาอังกฤษต้นฉบับที่ใช้ในเงื่อนไขพิเศษเหล่านี้ อ่านค่อนข้างทำความเข้าใจลำบาก แทนที่จะเขียนขยายความคุ้มครองตรง ๆ กลับบอกว่า ไม่คุ้มครองอะไรบ้าง ด้วยการเขียนลักษณะแก้ไขข้อยกเว้นแทน?
อันที่จริง ของภาษาไทยซึ่งถูกถอดความมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษก็มี ซึ่งเรียกว่า “แบบ CWI 005 เอกสารแนบท้ายว่าด้วยการออกแบบผิดพลาด (Faulty Design Clause)” โดยใช้ถ้อยคำ ดังนี้
“การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ขยายความคุ้มครองนับแต่วันเริ่มคุ้มครองให้ตัดข้อความในข้อยกเว้นข้อ 1 ของข้อตกลงคุ้มครองส่วนที่ 1 งานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธาและส่วนที่ 2 การติดตั้งเครื่องจักรที่ระบุยกเว้น “ความเสียหายอันเนื่องมาจากการออกแบบผิดพลาด” ออกและใช้ข้อความข้างล่างนี้บังคับแทน
บริษัทจะไม่รับผิด สําหรับความเสียหายโดยตรง อันเนื่องมาจากการออกแบบผิดพลาดแต่จะยังคงให้ความคุ้มครองความเสียหายทางกายภาพที่ติดตามมา อันเนื่องมาจากการออกแบบผิดพลาดดังกล่าว
ทั้งนี้ข้อตกลงภายใต้เอกสารแนบท้ายนี้ให้ใช้ข้อยกเว้นเงื่อนไขทั่วไปข้อตกลงคุ้มครองและข้อความอื่น ๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้บังคับตามเดิมเว้นแต่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมไว้ตามเอกสารแนบท้ายนี้”
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจาก Design Clauses in Engineering Contracts by Cepagram Admim - May 21, 2020, https://cepagram.com/index.php/2020/05/21/design-clauses-engineering-contracts-converium/; You have to be pulling my LEG(3), 24th September 2020 by David Pryce & Rob Goodship, https://www.fenchurchlaw.co.uk/you-have-to-be-pulling-my-leg3/; How The Defect Exclusions are Operating in Practice Some Case Studies, I.M.I.A. Conference – 26th September 2012,
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น