เรื่องที่ 150 : ความเสียหายที่แท้จริงของสต็อกสินค้า
(ตอนที่สอง)
คดีศึกษาต่างประเทศ เป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยสต็อกสินค้าของตนเอาไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
ต่อมาในช่วงระยะเวลาประกันภัย ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้สร้างความเสียหายแก่สต็อกสินค้านั้นทั้งหมด
คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องภัยที่คุ้มครองกับทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ แต่กลับมีข้อถกเถียงกันในเรื่องของจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องชดใช้
เนื่องจากสต็อกสินค้าที่เสียหายนั้นเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยปรากฏว่า ณ วันเวลาที่เกิดความเสียหาย ราคาของสต็อกสินค้าที่แหล่งต้นทางได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
สมมุติ คำนวณราคาต่อชิ้น
ณ วันทำประกันภัย
จำนวนเงินเอาประกันภัยของสต็อกสินค้านั้น กำหนดจากราคาต้นทุน (ราคาสินค้าต้นทาง บวกค่าขนส่งกับค่าภาษี) และบวกค่ากำไรขาย คือ
ชิ้นละ 10 บาท + 5 (ค่าขนส่งกับค่าภาษี) + 10 (กำไร) = 25 บาท/ชิ้น
ณ วันเกิดความเสียหาย
ราคาต้นทางเพิ่มสูงขึ้นเป็นชิ้นละ 15 บาท + 5 (ค่าขนส่งกับค่าภาษี) + 10 (กำไร) = 30 บาท/ชิ้น
ผู้เอาประกันภัยอ้างอิงถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุ
“บริษัท (ประกันภัย) จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงในขณะเกิดความเสียหาย (the value of the property at the time of its loss or destruction) แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย”
นั่นเท่ากับ ชิ้นละ 30 บาท
บริษัทประกันภัยโต้แย้งจะชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงซึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัย ณ วันที่เกิดความเสียหายนั้นเอง
นั่นเท่ากับ ชิ้นละ 25 บาทเท่านั้น
งั้นในทางกลับกัน ถ้าผู้เอาประกันภัยจะต่อสู้ว่า สมมุติราคาสินค้าต้นทาง ณ วันเกิดความเสียหายได้ลดลงเหลือเพียงชิ้นละ 7 บาทล่ะ (+ 5 (ค่าขนส่งกับค่าภาษี) + 10 (กำไร) = 22 บาท/ชิ้น)
บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เท่าไหร่?
(ก) ชิ้นละ 25 บาท หรือ
(ข) ชิ้นละ 22 บาท
แล้วคำว่า “มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงในขณะเกิดความเสียหาย” ของทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยข้างต้น แท้ที่จริงควรแปลความหมายอย่างไรกันแน่?
คุณมีความเห็นเช่นใดบ้างครับ?
เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยต่อสู้กันจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยออกมา ดังนี้
ถ้ามีคำถามว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้รับความเสียหายจริงเท่าไหร่กันแน่ในวันที่เกิดความเสียหายนั้น?
คำตอบ คือ ได้รับความเสียหายจริงไปชิ้นละ 25 บาท ตามราคาขายที่ควรจะได้รับ หากมิได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นมาเสียก่อน
ส่วนในระหว่างนั้น ราคาต้นทางของสต็อกสินค้านั้นจะเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น หรือลดลงไป ก็มิใช่ปัจจัยที่จะส่งผลก่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าสินไหมทดแทนที่ควรจะได้รับตามจริงแต่ประการใด
เพราะถ้ามิได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาเลย ผู้เอาประกันภัยยังคงขายสินค้านั้นในราคาเดิมอยู่ดี เว้นแต่จะได้มีการปรับเปลี่ยนราคาขายใหม่ตามสภาวะตลาด พร้อมทั้งได้แจ้งต่อบริษัทประกันภัยไปตามนั้น ครั้นถึงเวลาที่มีความเสียหายเกิดขึ้น บริษัทประกันภัยก็จะได้ชดใช้ให้สอดคล้องตามไปด้วยเช่นกัน
(อ้างอิง และเรียบเรียงจากคดี Saunders and Co. Ltd v Phoenix Assurance Co. Ltd. [1953] NZLR 598)
มีข้อถกเถียงประเด็นปัญหานี้ในต่างประเทศมากมาย โดยเฉพาะเรื่องค่าซ่อมแซมที่แพงขึ้น เพราะค่าวัสดุ หรือค่าวัตถุดิบได้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นช่วงสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งการซื้อขายสินค้าต่าง ๆ ลดลงไป ส่งผลทำให้ผู้ผลิตจำต้องลดกำลังการผลิต หรือกระทั่งเลิกกิจการไปเลยก็มี
การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเรื่องค่าซ่อมแซมจะจ่ายตามจริง ณ วันเวลา และสถานที่เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่?
เนื่องจากเป็นการซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม แต่ไม่ดีกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น แต่ต้นทุนค่าซ่อมกลับเพิ่มสูงขึ้นไปตามสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว
เป็นประเด็นปัญหาแก่การประกันภัยทุกประเภท โดยเฉพาะผู้ทำเคลมประกันภัยรถยนต์น่าจะรู้ดี
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น