เรื่องที่ 150 : ความเสียหายที่แท้จริงของสต็อกสินค้า
(ตอนที่หนึ่ง)
เวลาพูดถึงการกำหนดทุนประกันภัยของอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินปกติทั่วไป ณ วันที่ทำประกันภัย มักมีข้อเสนอแนะจากบริษัทประกันภัยให้พิจารณาเลือกกำหนดอยู่สองทางเลือกหลัก ได้แก่
1) ตามมูลค่าที่แท้จริง (Actual Cash Value) แบบมีการหักค่าเสื่อมราคา หรือ
2) ตามมูลค่าเปลี่ยนทดแทน/มูลค่าสร้างใหม่ (Replacement Value) แบบไม่มีการหักค่าเสื่อมราคา
โดยทางเลือกที่สองจะถือเป็นข้อตกลงพิเศษซึ่งถูกระบุอย่างชัดแจ้งเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยด้วย เนื่องจากจำต้องระบุข้อกำหนดเงื่อนไขการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้สอดคล้องไปด้วย มิฉะนั้น จะกลายเป็นเข้าหลักการปกติของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง
แล้วกรณีของสต็อก (Stock) ล่ะ จะใช้หลักการเดียวกันหรือเปล่า?
อันที่จริง โดยหลักการแล้วคงไม่มีอะไรแตกต่างกัน ที่แตกต่างออกไปนั้น จะอยู่ที่รายละเอียดปลีกย่อยตามประเภทของสต็อกมากกว่า ซึ่งมีความหลากหลาย และจำต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันตั้งแต่เบื้องต้นจะดีที่สุด
สต็อกทั่วไปอาจจำแนกตามวัตถุประสงค์ในแง่มุมของผู้เกี่ยวข้อง กล่าวคือ ในฐานะของผู้ผลิต ผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก หรือกระทั่งผู้ซื้อเอง ออกได้เป็น
(ก) สต็อกวัตถุดิบ
(ข) สต็อกระหว่างการผลิต
(ค) สต็อกผลิตเสร็จแล้ว
(ง) สต็อกสินค้าเพื่อขาย
(จ) สต็อกสินค้าสำรองเพื่อใช้งาน
กอปรกับสต็อกเองในทางเศรษฐกิจอาจมีมูลค่าผันแปรไปตามสิ่งที่เรียกว่า “อุปสงค์ (Demand) กับอุปทาน (Supply)” หรืออีกนัยหนึ่ง คือ “ความต้องการซื้อกับความต้องการขาย” นั่นเอง
ทั้งยังไม่มีความคงที่แน่นอนตายตัว อาจมีระดับความเคลื่อนไหวผันแปรไปตามปัจจัยข้างต้น
ยิ่งส่งผลทำให้ควรต้องใส่ใจในรายละเอียดของการกำหนดทุนประกันภัยมากกว่าทรัพย์สินทั่วไปอื่น ๆ แต่ในทางปฏิบัติ กลับถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย จนทำให้เกิดปัญหาเวลาเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง
เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสต็อกที่เอาประกันภัยมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ณ เวลาเกิดความเสียหาย
ในสภาวะของโรคโควิดแพร่ระบาดขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในเรื่องของอุปสงค์กับอุปทานไปทั่วโลก ระดับกำลังการผลิตลดน้อยลงไปอย่างไม่สัมพันธ์กับระดับความต้องการซื้อที่แม้ลดน้อยลงไปบ้างก็ตาม
บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ตามมูลค่าที่แท้จริงเช่นไร?
อันเนื่องจากข้อกำหนดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินโดยทั่วไปจะระบุว่า
1) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป
“บริษัท (ประกันภัย) จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงในขณะเกิดความเสียหาย (the value of the property at the time of its loss or destruction) แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย หรือเลือกที่จะทำการสร้างให้ใหม่ หรือซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด หรือบางส่วน”
2) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
“บริษัท (ประกันภัย) ไม่ผูกพันที่จะต้องซ่อมแซม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิมทุกประการ เพียงแต่ว่าจัดไปตามสภาพการจะอำนวย โดยบริษัท (ประกันภัย) จะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุด และไม่ว่ากรณีใดๆ บริษัท (ประกันภัย) จะจ่ายไม่เกินค่าซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นในขณะที่เกิดความเสียหายหรือไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย (at the time of the occurrence of such loss or damage, nor more than the sum insured thereon)”
คำว่า “มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงในขณะเกิดความเสียหาย” ของทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยข้างต้นควรแปลความหมายอย่างไร?
โปรดติดตามต่อสัปดาห์หน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น