เรื่องที่ 151 : ความหมายที่แท้จริงของสต็อกสินค้า
เมื่อพูดถึงเรื่องสต็อกแล้ว ก็อดใจไม่พูดถึงความหมายของสต็อกได้ เพราะก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นโรงขึ้นศาลมาแล้ว จึงขอนำมากล่าวถึงให้ครบถ้วน
จนบัดนี้ส่วนตัวยังค่อนข้างสับสนกับการเขียนคำว่า Stock เป็นภาษาไทยที่ถูกต้อง แม้ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายเป็นภาษาไทยออกมา แปลว่า
“หุ้น, สินค้าคงคลัง, มูลภัณฑ์ [นิติศาสตร์ 11 มี.ค. 2545]”
แต่ขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 กลับไปเอ่ยถึงความหมายของ
“ล้างสต๊อก คือ ลดราคาสินค้าเพื่อจำหน่ายให้หมด”
ทำให้เข้าใจได้ว่า การเขียน “สต๊อก” น่าจะเป็นการเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง แต่ก็มีบางแหล่งข้อมูลอ้างว่า ควรใช้ “สต็อก” แทน
ด้วยความคุ้นชิน ส่วนตัวจึงขอเลือกใช้คำหลังมากกว่า
โอเคครับ เราคงไม่มาถกกันประเด็นนี้ แต่จะขอกล่าวถึงประเด็นสต็อกที่เป็นประเด็นข้อพิพาทในแง่การประกันภัย
มีโรงงานแห่งหนึ่งได้แจ้งทำประกันภัยคุ้มครองตัวอาคาร เครื่องจักร และสต็อกสินค้าเอาไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
ต่อมาเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้สร้างความเสียหายแก่สต็อกทั้งหมดที่มีอยู่ของผู้เอาประกันภัยรายนี้
เมื่อผู้ประเมินวินาศภัยของบริษัทประกันภัยเข้าไปตรวจสอบรายการความเสียหายของสต็อกทั้งหมดแล้ว พบว่า ภายใต้ทุนประกันภัยของสต็อกสินค้าที่เอาประกันภัยจำนวนทั้งสิ้น 20,000,000 บาทนั้น ประกอบด้วย
(1) รายการวัตถุดิบมูลค่ารวม = 15,000,000 บาท
(2) รายการสินค้าสำเร็จรูปมูลค่ารวม = 5,000,000 บาท
ทั้งหมดล้วนถูกไฟไหม้เสียหาย อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เพียงรายการที่สอง 5,000,000 บาทเท่านั้น โดยอ้างว่า คำว่า “สต็อกสินค้า” ที่ระบุเอาประกันภัยไว้นั้น มิได้หมายความรวมถึงวัตถุดิบ (รอผลิต) ด้วย
คุณคิดอย่างไรครับ?
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ไม่ยอมครับ เพราะอุตส่าห์เสียเบี้ยประกันภัยซื้อความคุ้มครองตั้งยี่สิบล้านบาท และได้รับความเสียหายจริงตามนั้น แต่ตนเองกลับจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงแค่ห้าล้านบาทเท่านั้น จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อร้องขอความเป็นธรรม และได้มีการต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกา
ถ้าอยู่ในห้องอบรม ผมมักจะตั้งคำถามว่า คุณคิดว่า ฝ่ายใดจะชนะคดี?
หากใครเลือกฝ่ายผู้เอาประกันภัย คงต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ เพราะศาลฎีกาพิจารณาว่า
สินค้ากับวัตถุดิบมีความหมายไม่เหมือนกัน
เมื่อผู้เอาประกันภัยระบุรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สต็อกสินค้า
จึงไม่ถือว่า ได้เอาประกันภัยรวมถึงวัตถุดิบด้วย
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2519)
เมื่อเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 พบว่า
“สินค้า คือ สิ่งของที่ซื้อขายกัน เช่น ร้านนี้มีสินค้านานาชนิด
วัตถุดิบ คือ สิ่งที่เตรียมไว้เพื่อผลิตหรือประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป”
โดยสรุป วัตถุดิบอาจมีความหมายเป็นวัตถุดิบเพื่อรอผลิตก็ได้ หรืออาจหมายถึงวัตถุดิบที่ขายเป็นสินค้าออกไปก็ได้
หากกรณีตามคดีศึกษาข้างต้น วัตถุดิบที่พิพาทจัดอยู่ในความหมายอย่างหลัง คดีนั้นคงจบลงด้วยดี แต่ข้อความจริงไม่ใช่ เพราะไปตกอยู่ในความหมายแรกเสียนี่
ฉะนั้น โปรดพึงระมัดระวังอย่างมากในการเลือกใช้ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัย มิฉะนั้น อาจเจอปัญหาปวดหัวเหมือนดั่งคดีศึกษาข้างต้นได้ หรือตัวอย่างคดีศึกษา ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2537
โจทก์เอาประกันภัยสต๊อกสินค้ารองเท้าทุกชนิดในร้านค้าของโจทก์ไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า จำเลยที่ 1 รับประกันภัยเฉพาะรองเท้าและสินค้าที่อยู่ในร้านโจทก์ ดังนั้น สต๊อกสินค้ารองเท้าทุกชนิด ซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยไว้จึงมีความหมายรวมถึงรองเท้าและเครื่องหนังทุกชนิด ที่โจทก์มีไว้ในร้านเพื่อขาย มิใช่กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแต่รองเท้าอย่างเดียว เมื่อสินค้าในร้านของโจทก์ได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายโดยสิ้นเชิง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 ได้สันนิษฐานเป็นคุณแก่โจทก์ไว้ก่อนว่า โจทก์มีสิทธิจะเรียกให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้เต็มจำนวนที่เอาประกันภัยไว้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะพิสูจน์หักล้างได้ว่า ความเสียหายของสินค้านั้นต่ำกว่าจำนวนเงินที่ได้เอาประกันไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงจำนวนสินค้าที่ถูกเพลิงไหม้อันแท้จริงได้ และน่าเชื่อว่าขณะเกิดเพลิงไหม้สินค้ารองเท้าและเครื่องหนังที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านโจทก์ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745-3747/2533
สต๊อกสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าระหว่างผลิต ส่วนสต๊อกสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นสินค้าที่เก็บในโกดัง เป็นสต๊อกสินค้าต่างรายการกัน จึงมิใช่การเอาประกันภัยซ้ำซ้อน โจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย
ความเห็นส่วนตัวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาข้อโต้แย้งดังกล่าว เวลาบรรยาย หรือเวลาให้คำปรึกษา ผมจะขอเสนอให้เลือกใช้คำว่า “สต็อก (Stock)” ลอย ๆ น่าจะปลอดภัยดีกว่า เนื่องจากแปลเป็นภาษาไทยออกมาเป็น “สินค้าคงคลัง” นั้น จะให้ความหมายค่อนข้างกว้าง อันหมายถึง วัตถุดิบ งานระหว่างกระบวนการผลิต วัสดุซ่อมบำรุง สินค้าสำเร็จรูป ฯลฯ (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม https://bsc.dip.go.th/th/category/sale-marketing/sm-stockbalance)
ลองพิจารณาตัดสินใจดูนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul