วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 146: จงใจทำร้ายผู้อื่น (Deliberate Act) ถือเป็นอุบัติเหตุภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) หรือไม่?

 

(ตอนที่สอง)

 

คดีศึกษาเรื่องนี้เกิดขึ้นในคืนวันหนึ่งของเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 ขณะที่นักเที่ยวกลางคืนรายหนึ่งมีอาการเมาเหล้าอย่างหนักจนแทบคุมสติไม่อยู่ เอะอะโวยวายจนถูกเชิญตัวออกมาจากผับ แต่ยังไม่ยอมหยุดอาละวาด ขัดขืน ท้ายที่สุดพนักงานหน้าประตูต้องเข้าไปควบคุมด้วยการจับล็อกคอ (neck hold) กดตัวให้นอนราบอยู่กับพื้นนานสามนาทีจนนักเที่ยวกลางคืนรายนี้สิ้นสติ และถูกประกาศว่า เสียชีวิตแล้วเมื่อถูกนำส่งตัวถึงโรงพยาบาล (กรณีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์อื้อฉาวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่นานมานี้)

 

พนักงานหน้าประตูผับผู้กระทำผิดถูกจับกุม และต่อมาได้ถูกศาลตัดสินลงโทษฐานความผิดทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย

 

ภรรยาของผู้ตายได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของเจ้าของผับ และพนักงานหน้าประตูผู้กระทำผิด รวมถึงบริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายแก่เจ้าของผับนี้ด้วย

 

บริษัทประกันภัยนี้ได้ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างอิง

 

(ก) ข้อยกเว้นที่ระบุไม่คุ้มครองถึงความรับผิดอันมีสาเหตุมาจากการกระทำโดยเจตนา หรือการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือ

 

(ข) ถ้าจะเข้าข่ายความคุ้มครองได้ ก็จะตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่เรียกว่า “การจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Wrongful Arrest Clause)” ซึ่งกำหนดวงเงินความคุ้มครองย่อย (Sub Limit) ไว้อยู่ที่ 100,000 ปอนด์สเตอร์ลิงเท่านั้น

 

โจทก์ในฐานะภรรยาผู้ตายไม่ยอมรับ เพราะวงเงินความคุ้มครองย่อยต่ำกว่าวงเงินที่เรียกร้องค่อนข้างเยอะ จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาประเด็นข้อพิพาทต่อไปว่า

 

บริษัทประกันภัยนี้จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่? (ไม่เข้าข้อยกเว้น)

 

ถ้าต้องรับผิด จะรับผิดตามวงเงินที่โจทก์เรียกร้องมา หรือรับผิดตามวงเงินความคุ้มครองย่อยเท่านั้น

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย เพราะกรณีไม่ตกอยู่ในข้อยกเว้น

 

เมื่อคดีนี้ได้ถูกนำขึ้นมาสู่ชั้นศาลสูงสุด (Supreme Court) โดยมีประเด็นข้อพิพาทที่ยังโต้แย้งกันอยู่ คือ

 

(1) การกระทำของพนักงานหน้าประตูนั้นเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่?

 

(2) ถ้าใช่ ก็จะตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ใช่หรือไม่?

 

ศาลสูงสุดได้พิจารณาถึงความหมายของข้อยกเว้นที่เขียนไม่คุ้มครองถึงการกระทำโดยเจตนา (Deliberate Acts) นั้นมีเจตนารมณ์เช่นไร?

 

การมีเจตนาทำร้ายควรหมายความถึง การเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อให้บังเกิดผลความบาดเจ็บแก่ร่างกายทั่วไปมากกว่าที่จะบังเกิดผลเลยเถิดในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งควรถือเป็นการกระทำโดยขาดความใส่ใจ หรือสะเพร่า (Recklessness)

 

การที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยอ้างว่า การกระทำโดยขาดความใส่ใจ หรือสะเพร่านั้นควรถือเป็นการกระทำโดยเจตนาด้วยนั้น ศาลสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย เพราะผู้กระทำผิดมิได้มีเจตนาฆ่า เพียงแค่เจตนาทำร้าย แต่พลั้งมือจนทำให้เสียชีวิตเท่านั้น

 

เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้เขียนยกเว้นการกระทำโดยเจตนาไว้ลอย ๆ มิได้มีกำหนดระดับการมุ่งหวัง หรือการคาดหวังจำเพาะกำกับเอาไว้ด้วย จำต้องตีความข้อยกเว้นตามถ้อยคำที่เขียนอย่างเคร่งครัด

 

ศาลสูงสุดจึงติดสินให้กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นดังอ้างอิง บริษัทประกันภัยจำเลยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทตามฟ้องให้แก่โจทก์

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Burnett or Grant v International Insurance Company of Hanover Ltd [2021] UKSC 12)

 

หมายเหตุ

 

หลักกฎหมายต่างประเทศจำแนกลักษณะการกระทำไม่เจตนาออกเป็น 3 ลักษณะได้แก่

 

1) ความประมาทเลินเล่อ (Negligence)

2) การกระทำโดยขาดความใส่ใจ หรือความสะเพร่า (Recklessness) มีนักกฎหมายบางท่านแปลคำนี้ว่า “ประมาทโดยจงใจ” ก็มี

3) ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (Gross Negligence)

 

เขียนตามความเข้าใจส่วนตัว คือ ความประมาทเลินเล่อทั้งสองลักษณะเป็นการใช้ความระมัดระวังแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ ขณะที่ความสะเพร่าเสมือนทำโดยไม่ใส่ใจใช้ความระมัดระวังเลย อย่างไรก็ดี ทั้งหมดก็มิใช่การกระทำโดยเจตนา

 

ถึงกระนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงเรื่องความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเอาไว้ในมาตรา 879 วรรคแรก ดังนี้

 

ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

 

น่าคิดว่า ถ้ามีข้อพิพาทประเด็นเรื่องการกระทำโดยขาดความใส่ใจ หรือความสะเพร่านี้ขึ้นสู่ศาลไทย ศาลท่านจะวินิจฉัยคดีแพ่งออกมาแนวทางเดียวกันหรือไม่? คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับ

เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า

 

"ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21379/2556 

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิด โดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์ เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง เพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้าย จนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290

ส่วนประเด็นเงื่อนไขพิเศษการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Wrongful Arrest Clause) มิได้ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อสู้กันอีกจึงตกไป แต่สัปดาห์หน้าเราจะมาดูตัวอย่างคดีศึกษาประเด็นเรื่องนี้ในคดีตัวอย่างอื่นบ้างว่า เงื่อนไขพิเศษนี้ทำงานเช่นไร?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory


วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 146 :  จงใจทำร้ายผู้อื่น (Deliberate Act) ถือเป็นอุบัติเหตุภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) หรือไม่?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

โดยหลักการปกติ ทุกประเภทของการประกันภัยจะให้ความคุ้มครองเพียงเฉพาะกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากภัยที่คุ้มครองเท่านั้น

 

เช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ถึงแม้นได้กำหนดว่า

 

บริษัท (ประกันภัย) ตกลงรับประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัย ภายใต้ข้อตกลงคุ้มครอง ข้อยกเว้น ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไป และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยนี้

 

เมื่อพิจารณาถึงความรับผิดตามกฎหมายส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องแล้ว มักเป็นเรื่องละเมิด ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 420 ว่า

 

ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 

จะเห็นได้ว่า กฎหมายละเมิดบัญญัติถึงทั้งเรื่องความจงใจ หรือความประมาทเลินเล่อ

 

ขณะที่หมวดที่ 2 ข้อตกลงคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ระบุว่า

 

ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ข้อยกเว้นในหมวดที่ 3 ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปในหมวดที่ 4 บริษัท (ประกันภัย) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหาย อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายอันสืบเนื่องหรือเป็นผลมาจากอุบัติเหตุจากการประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เอาประกันภัย ภายใต้ขอบเขตของการเสี่ยงภัย ในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย ณ อาณาเขตความคุ้มครองซึ่งระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับ

 

1. ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก

 

และหมวดที่ 3 ข้อยกเว้นระบุว่า

 

กรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองรวมถึง

1.   ………………….

 

11. ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย

 

กอปรกับหมวดที่ 1 คำจำกัดความที่เกี่ยวข้องระบุว่า

 

1.3 ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคล หรือนิติบุคคลตามที่ปรากฏชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตารางกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงเจ้าของ หุ้นส่วน กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ตัวแทนไม่ว่าจะแสดงออกโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายของผู้เอาประกันภัย แต่ทั้งนี้เฉพาะในขณะที่กระทำการภายในกรอบของหน้าที่ในฐานะดังกล่าวเท่านั้น

 

1.4 บุคคลภายนอก หมายถึง บุคคลใด ๆ ที่มิใช่คู่สัญญาประกันภัยฉบับนี้ และไม่ใช่บุคคลที่ระบุไว้ในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้นข้อ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

 

1.5 อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยผู้เอาประกันภัยมิได้มีเจตนาหรือมุ่งหวัง และทำให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออนามัย และ/หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

 

1.6 ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออนามัย หมายถึง การเสียชีวิต การบาดเจ็บ การเจ็บป่วยทางร่างกาย รวมถึง อนามัย โดยอุบัติเหตุ แต่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อจิตใจ

 

สรุป กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกจำกัดความคุ้มครองเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายละเมิดที่มีสาเหตุจากความประมาทเลินเล่อ (Negligence) ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุเท่านั้น

 

ฉะนั้น การจงใจ (Deliberate Act/Willful Act) ทำร้ายบุคคลอื่นจึงไม่ควรได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ใช่หรือไม่?

 

ข้อยกเว้นที่ 11 เรื่องความจงใจของผู้เอาประกันภัยมีความหมายชัดเจนเพียงพอแล้วใช่ไหม?

 

อ่านดูแล้วเสมือนหนึ่งทำความเข้าใจได้ไม่ลำบาก

 

แต่ในทางปฏิบัติแท้จริงแล้ว กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

เป็นกรณีข้อพิพาทเกิดขึ้น ณ ประเทศอังกฤษซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ฉบับมาตรฐานของบ้านเราใช้อาศัยเป็นต้นแบบเทียบเคียงได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้

 

ดังนั้น จึงน่าอาศัยใช้เป็นแนวทางการแปลความหมายได้

 

สัปดาห์หน้าเราจะมาไล่เรียงกันดูนะครับว่า ศาลสูงสุด (Supreme Court) ที่ประเทศอังกฤษจะวินิจฉัยข้อพิพาทนี้เช่นไร?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 


วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 145: ความคุ้มครองระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period Coverage) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) ควรถูกแปลความหมายเช่นไรดี?

 

(ตอนที่สาม)

 

ดังที่กล่าวแล้วว่า ภายใต้กรมธรรม์การปฏิบัติงานตามสัญญาจะประกอบด้วยระยะเวลาความคุ้มครอง ดังนี้

 

1) ระยะเวลาการก่อสร้าง และ/หรือการติดตั้ง

2) ระยะเวลาการทดสอบเครื่องจักรใหม่

 

ทั้งสองช่วงระยะเวลาข้างต้น ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองหลัก คือ

(ก) ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (งานถาวรกับงานชั่วคราวตามสัญญาว่าจ้าง) และ/หรือ

(ข) ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก

 

ถึงแม้นจะเป็นการให้ความคุ้มครองการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง แต่ก็มิได้คุ้มครองความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างเสียทีเดียว เพียงจำกัดขอบเขตเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติที่มิได้ถูกยกเว้นอย่างชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น

 

ช่วงระยะเวลาเหล่านี้ โดยทั่วไปจะมีกรมธรรม์ประกันภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการก่อสร้าง/ติดตั้ง เป็นต้นว่า

 

(ก) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (CAR/EAR) โดยมีผู้เอาประกันภัยร่วม ได้แก่ ผู้ว่าจ้าง ผู้รับเหมาหลัก และผู้รับเหมาช่วง

(ข) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (CPM) ผู้รับเหมาเป็นผู้เอาประกันภัยฝ่ายเดียว

(ค) กรมธรรม์ประกันภัยการขนส่ง (ในประเทศ/ระหว่างประเทศ) เพื่อขนส่งอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะติดตั้งมาพักรอไว้ ณ สถานที่จัดเก็บภายนอก หรือส่งมาถึงสถานที่ก่อสร้างก็ได้ จัดทำขึ้นมาโดยผู้ว่าจ้าง หรือผู้รับเหมาก็ได้ แล้วแต่กรณี

 

3) ระยะเวลาการบำรุงรักษา

 

ขณะที่ช่วงระยะเวลานี้ แม้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานบ้านเรามิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างชัดเจน และมีบางท่าน (ทั้งในประเทศกับต่างประเทศ) ตีความว่า ข้อยกเว้นเรื่องความบกพร่องจากการออกแบบผิดพลาด วัสดุที่บกพร่อง และฝีมือแรงงานที่บกพร่องนั้นจะคงยังมีผลใช้บังคับสำหรับช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษาด้วยเช่นกัน

 

ถ้างั้นบริษัทประกันภัยจะให้ความคุ้มครองอะไรกันแน่?

 

นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งหรือเปล่าที่ทำให้บริษัทประกันภัยไม่อยากใช้คำเรียกว่า “ระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่อง/ระยะเวลาการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (Defects Liability Period/Defects Retification Period)”?

 

ทั้งที่ตามข้อสัญญาว่าจ้าง และข้อกฎหมายแล้ว ล้วนกำหนดให้เป็นเรื่องความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาสองฝ่ายเท่านั้น (โดยไม่ได้คุ้มครองถึงตัวงานที่ส่งมอบแล้วตามสัญญาว่าจ้าง ทรัพย์สินอื่นใดของผู้ว่าจ้าง และความรับผิดต่อบุคคลภายนอกด้วย เว้นแต่จะได้ขยายเอาไว้เป็นอย่างอื่น)

 

เมื่อย้อนไปพิจารณา ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง ฉบับภาษาไทย หมวดที่ 4 ข้อตกลงคุ้มครอง ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธา ข้อที่ 1.3.2 ระยะเวลาบำรุงรักษา ซึ่งเขียนว่า

 

หากมีการกำหนดระยะเวลาบำรุงรักษาไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของบริษัทจะจำกัดอยู่เพียงความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากงานที่ผู้รับเหมา ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยปฏิบัติตามข้อผูกพัน ภายใต้การบำรุงรักษาตามสัญญาการก่อสร้างเท่านั้น

 

ยิ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษาจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้รับเหมาจะเข้าไปแก้ไขงานตามสัญญาว่าจ้างที่ยังถูกตรวจพบว่า มีความชำรุดบกพร่องอยู่ให้กลับมาอยู่ในสภาพเรียบร้อยถูกต้องสมบูรณ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาว่าจ้างนั้นเอง

 

โดยขั้นตอนการทำงานก่อสร้าง/ติดตั้ง เมื่อทำงานจนเสร็จแล้ว จำต้องมีการตรวจสภาพความเรียบร้อยถูกต้องสมบูรณ์เสียก่อน หากจุดใดยังบกพร่องไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ ผู้ตรวจสอบซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้างก็จะจัดทำรายงานแก้ไข (Punch List) ให้แก้ไขก่อนส่งมอบงาน และเมื่อได้แก้ไขจนครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์เป็นที่พึงพอใจแล้ว ผู้ว่าจ้างก็จะรับมอบงานอย่างเป็นทางการ พร้อมกับออกใบรับรองงานแล้วเสร็จ (Certificate of Completion) ให้ไว้เป็นหลักฐาน

 

ภาระหน้าที่การก่อสร้าง/การติดตั้งตามสัญญาว่าจ้างถือเป็นสิ้นสุดลงเช่นเดียวกับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา ยกเว้นเหลือเพียงแค่ข้อสัญญาการรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งผู้รับเหมามีอยู่กับผู้ว่าจ้างเท่านั้น ความชำรุดบกพร่องที่หลุดรอดจากการตรวจรับงาน ถ้าจะคงหลงเหลืออยู่บ้าง น่าจะไม่มาก แต่โครงการใดมิได้มีการตรวจรับมอบงานที่ดีพอ อาจก่อให้เกิดปัญหาภายหลังได้ 

 

ดังนั้น ช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา หรือช่วงระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องจะเริ่มนับตั้งแต่เวลาเมื่อมีการส่งมอบงานอย่างเป็นทางการดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดช่วงระยะเวลาดังกล่าวตามที่ได้ตกลงกันไว้

 

ในช่วงระยะเวลานี้โดยทั่วไปจะมีกรมธรรม์ประกันภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง เป็นต้นว่า

(ก) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (CAR/EAR) เหลืออยู่เพียงเฉพาะเงื่อนไขช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษาตามข้อสัญญาว่าจ้างเท่านั้น

(ข) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย/กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร (MBD)/หม้อน้ำ (BPV)/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EEI) แล้วแต่กรณี ซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นผู้เอาประกันภัยจัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองทรัพย์สิน (งานถาวรที่ได้รับมอบมาแล้ว)

(ค) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (PL) ของผู้รับเหมา ซึ่งได้ขยายถึงการทำงานนอก (Work Away) สถานที่ประกอบการของผู้รับเหมาเอง

 

ระยะเวลาการบำรุงรักษานั้น โดยหลักการแล้วจะต้องมีการขอขยายให้คุ้มครองเสียก่อน (การประกันภัยการก่อสร้าง/การติดตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า “Builders’ Risk Insurance” จะไม่ให้ความคุ้มครองช่วงระยะเวลานี้) โดยจะมีการเรียกเก็บชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมด้วย และมีแบบความคุ้มครองให้เลือกอยู่สองแบบ ได้แก่ (ควรแนบเอกสารแนบท้ายของแต่ละแบบ เพื่อกำหนดขอบเขตไว้ด้วย)

 

(1) แบบจำกัด หรือแบบเยี่ยมชม (Limited/Visits Maintenance Cover)

 

จะให้ความคุ้มครองจำกัด หรือแคบกว่าแบบที่สอง โดยถูกร่างขึ้นมาใช้ก่อน เพราะบริษัทประกันภัยยังลังเลที่จะให้ความคุ้มครองมากกว่านี้ บางประเทศคิดอัตราเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมอยู่ระหว่าง 0.025 – 0.050% แล้วแต่ช่วงระยะเวลา โดยกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครอง ดังนี้

 

ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้รับเหมาระหว่างเข้าไปปฏิบัติงานตามภาระผูกพันในข้อสัญญาการบำรุงรักษา (การรับประกันความชำรุดบกพร่อง) ตามสัญญาว่าจ้างนั้นเอง

 

ข้อสังเกต - อาจเกิดขึ้นได้จากกรณีที่ผู้รับเหมาเข้าไปตรวจเยี่ยมตามวาระ หรือเจ้าของทรัพย์สิน (งานถาวรที่ส่งมอบแล้วของผู้ว่าจ้าง) บังเอิญตรวจเจอข้อบกพร่องจึงเรียกตัวให้เข้าไปดูก็ได้ และระหว่างนั้น บังเอิญไปสร้างความเสียหายใหม่ขึ้นมาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวเพียงเท่านั้น อันมีลักษณะเป็นการคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อเจ้าของทรัพย์สิน (งานถาวรที่ส่งมอบแล้วของผู้ว่าจ้าง) เท่านั้น โดยที่มิได้รวมไปถึงความชำรุดบกพร่องเดิม

 

(2) แบบขยาย (Extended Maintenance Cover)

 

ต่อมา ผู้ร่างเงื่อนไขความคุ้มครองเห็นว่า แบบแรกไม่สามารถตอบสนองแก่ความเสี่ยงภัยของผู้รับเหมาได้อย่างแท้จริง จึงได้กำหนดแบบที่สองนี้ขึ้นมา โดยเพิ่มความคุ้มครองรวมไปถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุต่องานถาวรที่เกิดขึ้นมาแล้วระหว่างการก่อสร้าง/การติดตั้ง ซึ่งหลุดรอดจากการพบเห็นเวลาตรวจรับและส่งมอบงานครั้งสุดท้าย หรือความชำรุดบกพร่องเดิมนั่นเอง

 

บางประเทศคิดอัตราเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมอยู่ระหว่าง 0.050 – 0.100% แล้วแต่ช่วงระยะเวลา

 

ข้อสังเกตมีลักษณะเป็นการคุ้มครองความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างข้อการรับประกันความชำรุดบกพร่อง และความรับผิดตามกฎหมายต่อเจ้าของทรัพย์สิน (งานถาวรที่ส่งมอบแล้วของผู้ว่าจ้าง) เนื่องจากการนั้นด้วย

 

เนื่องด้วยถ้อยคำที่ใช้อยู่เดิมไม่ใคร่ชัดเจน ทั้งไม่มีคำนิยามกำหนดเอาไว้ รวมถึงมีถ้อยคำเขียนไว้อย่างหลากหลายอีกด้วย ส่งผลทำให้เกิดการแปลความหมายออกไปแตกต่างกัน

 

ปัจจุบันนี้ แม้นจะได้ปรากฏถ้อยคำที่ร่างใหม่ออกมาหลากหลาย พร้อมกับคำนิยามเฉพาะกำกับเอาไว้ด้วยแล้วก็ตาม บางอันก็ชัดขึ้น บางอันก็ยังไม่แน่ใจเช่นเดิม น่าเสียดายที่ไม่พบเจอแนวคำพิพากษาในประเด็นเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับด้านประกันภัย

 

ตัวอย่างที่ 1 ถ้อยคำต่างประเทศ

 

(ก) ช่วงระยะเวลาบำรุงรักษา

 

หมายความถึง ช่วงระยะเวลาที่เริ่มต้นนับตั้งแต่เมื่อส่วนใดของงานตามสัญญาว่าจ้างได้ถูกเข้าไปใช้งาน ถูกเข้าไปครอบครอง หรือถูกออกใบรับรองว่างานแล้วเสร็จในระดับที่ใช้การได้ (Certificate of Practical Completion) จนสิ้นสุดเมื่อ

 

() ครบกำหนดช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา หรือการรับประกันความชำรุดบกพร่องตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันภัย หรือ

() ครบกำหนดช่วงระยะเวลาดังที่ปรากฏในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

 

แล้วแต่กรณีในข้อใดจะครบกำหนดก่อนกัน

 

ข้อสังเกต - ร่างลักษณะนี้จะให้แต่ละส่วนงานมีการนับระยะเวลาบำรุงรักษาแยกจากกันไป โดยมีช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษาหลักครอบอีกทีไว้ด้วย ดูแล้วไม่สอดคล้องกับสัญญาว่าจ้าง

 

(ยังไม่ถึงขั้นใบรับรองงานแล้วเสร็จ (Certificate of Completion) อย่างสมบูรณ์ โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในบทความประกันภัยเป็นเรื่อง เรื่องที่ เรื่องที่ 63:ภายหลังจากผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้น และส่งมอบงานไปเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่เจ้าของโรงงานกำลังใช้งานเครื่องจักรนั้นอยู่ ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาสร้างความเสียหาย จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) อยู่หรือไม่?)

 

ความเสียหายในระหว่างช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา

 

ผู้เอาประกันภัย (ผู้รับเหมา) จะได้รับความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากการเข้าไปแก้ไขความเสียหายโดยอุบัติเหตุของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย  ภายใต้เงื่อนไขการบำรุงรักษา หรือการรับประกันความชำรุดบกพร่องตามสัญญาว่าจ้าง ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ความเสียหายนั้นจะต้อง

 

1) ถูกค้นพบระหว่างช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา และ

 

2) เกิดขึ้นเนื่องมาจากงานตามสัญญาว่าจ้างในระหว่างช่วงระยะเวลาการก่อสร้าง/การติดตั้ง และ 

 

3) ผู้เอาประกันภัย (ผู้รับเหมา) ได้ก่อให้เกิดขึ้นมาขณะปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้เงื่อนไขเงื่อนไขการบำรุงรักษา หรือการรับประกันความชำรุดบกพร่องตามสัญญาว่าจ้าง   

 

ตัวอย่างที่ 2 ถ้อยคำต่างประเทศ

 

(ก) ช่วงระยะเวลาบำรุงรักษา

 

หมายความถึง เมื่อได้ระบุช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษาไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย คือ ช่วงระยะเวลาที่จะขยายออกไปจากระยะเวลาประกันภัย (โดยที่งานตามสัญญาว่าจ้างได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว) ตามจำนวนวันที่ปรากฏอยู่ในช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษานั้นเอง แต่จะต้องไม่เกินกว่าช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา หรือช่วงระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องดังที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าจ้าง

 

ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยในการปรับแก้ไขความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพต่องานตามสัญญาว่าจ้าง เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้างนั้นเอง ซึ่งเกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษาดังระบุไว้ โดยที่เป็นเพียงความรับผิดชอบเฉพาะของผู้เอาประกันภัย (ผู้รับเหมา) และเนื่องมาจาก

 

1) สาเหตุที่มิได้ถูกระบุยกเว้นไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติงานตามสัญญาประกันภัยในระหว่างระยะเวลาประกันภัย หรือ

 

2) สาเหตุที่มิได้ถูกระบุยกเว้นไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการดำเนินงานของผู้เอาประกันภัย (ผู้รับเหมา) ขณะที่ปฏิบัติงานตามข้อกำหนดว่าด้วยการบำรุงรักษาของสัญญาประกันภัย

 

ข้อสังเกต - โปรดพิจารณาการใช้ถ้อยคำว่า “สัญญว่าจ้าง” กับ “สัญญาประกันภัย” นั้น ในทั้งสองตัวอย่าง จะก่อให้เกิดผลในการแปลความหมายที่แตกต่างกันหรือไม่?

 

กรณีศึกษาที่ 1

 

ภายหลังจากที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบอาคารโกดังใหม่ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จจากผู้รับเหมาได้ไม่นาน เกิดปัญหาหลังคาโลหะที่ติดตั้งอยู่ได้ส่งสัญญาณไม่ดี แล้วอีกไม่นานก็พังถล่มลงมาท้ายที่สุด ในช่วงระหว่างระยะเวลาการบำรุงรักษา หรือช่วงระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องตามสัญญาว่าจ้าง

 

หากพิสูจน์ได้ว่า เหตุการณ์นี้มีสาเหตุมาจากการออกแบบผิดพลาดจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

ลำดับแรกจำต้องพิจารณาก่อนว่า ถือเป็นความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างของผู้รับเหมาหรือไม่?

 

ลำดับที่สอง ตกอยู่ในข้อกำหนด ข้อยกเว้น และเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่?

 

(ก) ถ้าเทียบเคียงกับตัวอย่างถ้อยคำที่ 1 ซึ่งให้ถือสัญญาประกันภัยเป็นเกณฑ์ เห็นว่า น่าจะแปลความไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาระบุว่า ไม่คุ้มครองความเสียหายอันเนื่องมาจากการออกแบบผิดพลาด ความบกพร่องของวัสดุหรือแบบหล่อ ฝีมือแรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่ความผิดพลาดจากการติดตั้ง

 

(ข) ถ้าเทียบเคียงกับตัวอย่างถ้อยคำที่ 2 ซึ่งให้ถือสัญญาว่าจ้างเป็นเกณฑ์ เห็นว่า น่าจะแปลความได้รับความคุ้มครอง ภายใต้ช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา แบบขยาย แม้ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาจะระบุว่า ไม่คุ้มครองความเสียหายอันเนื่องมาจากการออกแบบผิดพลาด ความบกพร่องของวัสดุหรือแบบหล่อ ฝีมือแรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่ความผิดพลาดจากการติดตั้งก็ตาม

 

แต่ถ้าเป็นภายใต้ช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา แบบเยี่ยมชมจะไม่ได้รับความคุ้มครองเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างถ้อยคำใดก็ตาม

 

อนึ่ง หากหลังคาถล่มลงมานั้นได้สร้างความเสียหายแก่

 

(1) ส่วนอื่นของโครงสร้างตัวอาคารหลังนั้นเอง หรือ

 

(2) สินค้าอื่นใดของผู้ว่าจ้าง

 

ข้อที่ (1) กับข้อที่ (2) จะมิได้รับความคุ้มครอง ภายใต้ช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษาใดเลย เพราะแม้เกิดขึ้นช่วงระยะเวลานั้นเอง แต่มิได้เกิดเนื่องจากการเข้าไปบำรุงรักษา

 

แต่อาจได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาก็ได้ หากพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นเป็นผลติดตามมาและเพิ่งปรากฏผลขึ้นมาจากการชำรุดบกพร่องนั้นเอง โดยอาศัยแนวทางการตีความจากทฤษฏีการปรากฏผล (Exposure Theory)

 

และอาจได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ซึ่งระบุว่า “อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่ติดตามมาจากข้อ 1.1 (ความผิดพลาดหรือความบกพร่องจากการออกแบบ การใช้วัสดุ หรือฝีมือแรงงาน) ถึง 1.3 ถ้าหากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ 

 

กรณีศึกษาที่ 2

 

ภายหลังจากที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบอาคารโกดังใหม่ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จจากผู้รับเหมาได้ไม่นาน เกิดปัญหาหลังคาโลหะที่ติดตั้งอยู่ได้ส่งสัญญาณไม่ดี ผู้ว่าจ้างจึงรีบแจ้งแก่ผู้รับเหมาทันที ครั้นผู้รับเหมาเข้ามาตรวจสอบทำการแก้ไข แต่ไม่ทันการณ์ หลังคาก็พังถล่มลงมาในท้ายที่สุด และสร้างความเสียหายแก่ส่วนอื่นของโครงสร้างอาคาร ตลอดจนสินค้าของผู้ว่าจ้างที่เก็บอยู่ภายในนั้นด้วย ในช่วงระหว่างระยะเวลาการบำรุงรักษา หรือช่วงระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องตามสัญญาว่าจ้าง

 

สำหรับตัวหลังคาที่เป็นต้นเหตุ การวิเคราะห์เป็นเช่นเดียวกับกรณีศึกษาที่ 1

 

ส่วนความเสียหายแก่โครงสร้างอาคารส่วนอื่น กับสินค้าของผู้ว่าจ้างนั้น

 

เฉพาะเพียงโครงสร้างอาคารส่วนอื่น (งานถาวรที่ส่งมอบแล้วตามสัญญาว่าจ้าง) เท่านั้นถึงจะได้รับความคุ้มครอง ภายใต้ช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา แบบขยาย เนื่องจากได้เกิดขึ้นขณะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้าง

 

และยังได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) อีกด้วย

 

ขณะที่สินค้าของผู้ว่าจ้างนั้นเพียงได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ของตนเองเท่านั้น

 

ส่งผลทำให้โครงสร้างอาคารส่วนอื่นนั้นตกอยู่ ภายใต้เงื่อนไขที่มีการประกันภัยอื่นคุ้มครองอยู่หลายราย ซึ่งจะต้องมาร่วมเฉลี่ยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกันตามสัดส่วน ยกเว้นถ้าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา ฉบับภาษาอังกฤษที่ระบุจะร่วมชดใช้เฉพาะส่วนที่เกินจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับอื่นเท่านั้น

 

อนึ่ง บริษัทประกันภัยที่ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามส่วน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) นั้น ยังสามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้รับเหมาอีกก็ได้

 

ครั้นผู้รับเหมานั้นจะหยิบยกกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (PL) ของตนเองให้รับผิดแทน ก็กลับตกอยู่ในข้อยกเว้นความรับผิดใด ๆ ซึ่งเกิดจาก หรือสืบเนื่องจากงานก่อสร้าง งานบำรุงรักษา งานซ่อมแซม งานต่อเติม หรือรื้อถอน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ และ/หรือการชำรุดบกพร่องของงานหรือทรัพย์สิน ซึ่งผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับจ้าง ก่อสร้างต่อเติม ติดตั้ง  ซ่อมแซม ปลูก บำรุงรักษา หรือรื้อถอน ซึ่งได้ส่งมอบงานหรือทรัพย์สินนั้นให้แก่ ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของไปแล้วเสียอีก

 

นอกจากนี้ หากผู้รับเหมานั้นไม่ยินยอมเข้าไปดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของตนตามสัญญาว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างสามารถเรียกผู้รับเหมารายอื่นให้มากระทำการแทน และไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้รับเหมานั้นก็ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2541

ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อตกลงเรื่องความชำรุดบกพร่องไว้ในสัญญาว่า หากงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกแบบและควบคุมเกิดความชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบและโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ซ่อมแซมแก้ไขหรือซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่ไม่เรียบร้อย โจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นซ่อมแซมแก้ไขแทนได้ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชอบในค่าจ้างที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่ผู้อื่นนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องได้ตามข้อสัญญา กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 และ 601 มาใช้บังคับ เพราะบทบัญญัติแห่งมาตราทั้งสองใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ไม่มีข้อตกลงในสัญญาเป็นอย่างอื่น กรณีในคดีนี้เป็นเรื่องมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้มาใช้บังคับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2550
การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วงานที่ทำเกิดการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลังส่งมอบ แต่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น อันเป็นข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตาม หาใช่เป็นเพียงข้อตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาซึ่งผู้รับจ้างต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 600 ไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้กำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

 

การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วงานที่ทำเกิดการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลังส่งมอบ จึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฎขึ้น คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้าง ข้อ 6 ซึ่งระบุว่า "เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์... หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นจากงานจ้างนี้ภายในกำหนด 2 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้อง หรือทำไว้ไม่เรียบร้อย หรือทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าว... ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย" ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น อันเป็นข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหากซึ่งผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตาม หาใช่เป็นเพียงข้อตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาซึ่งผู้รับจ้างต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเท่านั้นไม่

 

ข้อเสนอแนะ

 

ควรเปลี่ยนไปใช้คำเรียก “ระยะเวลาการบำรุงรักษา” จากเดิมซึ่งให้ความหมายค่อนกว้างไปเป็น “ระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่อง หรือระยะเวลาการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง” น่าจะสร้างความเข้าใจที่ดีและถูกต้องมากกว่า ทั้งวงการประกันภัยต่างประเทศก็ไม่กังวลในการใช้คำเรียกใหม่อีกต่อไปแล้ว กอปรกับปัจจุบันนี้ได้มีการยินยอมขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมเรื่องการออกแบบผิดพลาด ความบกพร่องของวัสดุ หรือฝีมือแรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างกว้างขวางกันแล้วเช่นกัน (DE/LEG) ส่งผลทำให้ปัญหาการแปลความหมายเรื่องนี้ลดน้อยลงไปพอสมควร และควรขอตรวจดูขอบเขตสัญญาว่าจ้างเสียก่อนที่จะรับประกันภัยน่าจะดีที่สุดด้วย

 

(อ้างอิง และเทียบเคียงมาจาก IMIA6-59 (98)E Defects Liability Cover Construction Insurance, https://www.imia.com/wp-content/uploads/2013/05/Defects-Liability-Cover-Construction-Insurance-WGP-6_59-98.pdf และ The Conditions of Contract and the Maintenance Period Cover under the CAR Policy – cause for concern?, https://www.saia.co.za/index.php?id=1901)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory