เรื่องที่ 136 : การแปลความหมายข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy)
(ตอนที่สอง)
ข้อพิพาทนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลชั้นต้นโดยผู้รับเหมาเจ้านี้ในฐานะผู้เอาประกันภัย เพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย
โดยกำหนดประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
ข้อต่อสู้จากบริษัทประกันภัยจำเลย
อ้างว่า เงื่อนไขทั่วไปกับข้อยกเว้นเรื่องความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) ของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy) นั้นชัดเจนดีอยู่แล้ว และควรตีความหมายของความรับผิดตามสัญญาให้ตรงตามถ้อยคำที่เขียนเอาไว้ คือ
4) สัญญาหรือข้อตกลงที่ผู้เอาประกันภัยทำขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าว ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยจะไม่เกิดขึ้น (any contract or agreement unless such liability would have attached in the absence of such contract or agreement;)”
ฉะนั้น เมื่อได้ให้สัญญากับผู้ว่าจ้างว่า ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังตามสมควรในทุกวิถีทางที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหาย หรือความรับผิดขึ้นมา และจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามวิธีปฎิบัติทางวิศวกรรมทั่วไป (sound engineering practice) ด้วย
ครั้นเมื่อทำผิดข้อตกลงจึงตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อยกเว้นดังกล่าว
ข้อโต้แย้งจากผู้เอาประกันภัยโจทก์
อ้างว่า คำเรียกร้องให้รับผิดของผู้ว่าจ้างใช้คำว่า “ประมาท” อยู่ด้วย อันเป็นสาเหตุใกล้ชิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวงานดังกล่าวขึ้นมา และตกอยู่ในความหมายของความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Property Damage) ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องให้ความคุ้มครองถึง เนื่องจากมิใช่ความรับผิดตามสัญญา แต่เข้าข่ายเรื่องละเมิดมากกว่า
ส่วนเรื่องความรับผิดตามสัญญานั้นก็ควรแปลความหมายถึง เฉพาะข้อตกลงพิเศษนอกเหนือจากหน้าที่ปกติทั่วไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายของคู่สัญญาเท่านั้น จึงจะตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นดังกล่าว อันจะเรียกว่า “การยอมรับผิด (Assumption of Liability)” แทนบุคคลอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ข้อตกลงรับชดใช้ (Hold-harmless agreement) นั่นเอง (ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 หมายความถึง ข้อตกลงที่ฝ่ายหนึ่งจะรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหาย จากการกระทำที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นนั้น เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับรางรถไฟตกลงจะรับผิดชอบเพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายจากรถไฟตกรางอันเนื่องมาจากความบกพร่องของอุปกรณ์นั้น)
เนื่องจากข้อตกลงที่จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังตามสมควรในทุกวิถีทางที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหาย หรือความรับผิดขึ้นมา และจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามวิธีปฎิบัติทางวิศวกรรมทั่วไป (sound engineering practice) นั้น ถือเป็นข้อตกลงปกติธรรมดา มิได้สร้างภาระผูกพันพิเศษเกินเลยกว่านั้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขกับข้อยกเว้นดังอ้างอิง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยว่า เมื่อแปลความหมายตรงตัวแล้ว สัญญา คือ สัญญา ไม่ว่าคู่สัญญาจะมีข้อตกลงกันไว้อย่างใดก็ตาม
เมื่อคดีนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยเห็นคล้อยตามกับฝ่ายผู้เอาประกันภัยว่า การแปลความหมายให้การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทุกเรื่องราวส่งผลทำให้ผิดเงื่อนไขกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะกลายเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยแทบจะไม่มีโอกาสได้รับความคุ้มครองเลย
อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทคงมิได้มุ่งหวังถึงขนาดให้เป็นเสมือนดั่งเช่นการรับประกันผลการทำงาน (Performance Bond) (ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้ความหมาย Performance Bond หรือหนังสือค้ำประกันการรับเหมา คือ เอกสารที่ผู้รับประกันภัยออกให้เพื่อเป็นการค้ำประกันผู้รับเหมา โดยระบุว่าหากผู้รับเหมาดำเนินการไม่แล้วเสร็จหรือไม่สมบูรณ์ตามสัญญารับเหมา ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้ ทั้งนี้ ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น)
กระนั้น ถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่เข้าข่ายเงื่อนไขกับข้อยกเว้นดังอ้างอิง แต่อาจตกอยู่ในเงื่อนไขกับข้อยกเว้นอื่นก็เป็นได้ ซึ่งปรากฏมีข้อยกเว้นฝีมือแรงงาน (Workmanship) อยู่ด้วย
อนึ่ง ประเด็นที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ควรเข้าข่ายกรณีละเมิดด้วย เพราะถูกเรียกร้องให้รับผิดเนื่องด้วยความประมาทเลินเล่อของตนนั้น ไม่น่าถูกต้องเช่นกัน กรณีที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจนทำให้ทรัพย์สินเสียหายมากกว่า
(อ้างอิง เทียบเคียง และเรียบเรียงมาจากคดี Ewing Construction Co. Inc. v. Amerisure Ins. Co., No. 12-0661, 2014 WL 185035 (Tex. Jan. 17, 2014))
ข้อสังเกต
เมื่อผู้ว่าจ้างเรียกร้องให้ผู้รับจ้าง (ผู้เอาประกันภัย) รับผิดตามสัญญาว่าจ้าง ส่งผลทำให้คำฟ้องในคดีนี้ของผู้เอาประกันภัยกลายเป็นฟ้องบริษัทประกันภัยเนื่องด้วยความรับผิดตามสัญญาเช่นกัน บริษัทประกันภัยจึงต่อสู้ในเรื่องเดียวกัน ขณะที่ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยจะคุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน นอกเหนือจากความรับผิดตามสัญญา
อย่างไรก็ดี การจำแนกกรณีใดจะเข้าข่ายอุบัติเหตุที่คุ้มครองกับกรณีใดจะเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นดังกำหนดไว้นั้น ในความเป็นจริง มิใช่เรื่องง่ายดายเลย ข้อพิพาทคงยังมีต่อไป ไม่สิ้นสุดลงสักที
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น