เรื่องที่ 136 : การแปลความหมายข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy)
(ตอนที่หนึ่ง)
ถ้อยคำที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งถูกร่างขึ้นมาโดยบริษัทประกันภัยแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น ในแง่ของกฎหมายถือเป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือแสดงถึงข้อตกลงของสัญญาประกันภัยซึ่งได้ถูกกระทำขึ้นมาด้วยวาจานั้นเอง
เวลาเกิดข้อพิพาทเรื่องความคุ้มครอง บ่อยครั้งที่จะเกิดการแปลความหมายของถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างกันไประหว่างผู้เอาประกันภัย (ฝ่ายที่ไม่ได้ร่วมร่างถ้อยคำ) กับบริษัทประกันภัย (ฝ่ายร่างถ้อยคำ)
ข้อสังเกต อันที่จริง บริษัทประกันภัยก็มิได้ร่างเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นมาเองโดยตรง ควรเรียกเป็น “ผู้ใช้” จะถูกต้องกว่า เพราะในทางปฏิบัติสากล จะมีคณะทำงาน หรือหน่วยงานกลางของสมาคมประกันภัย หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยทำหน้าที่ร่างขึ้นมาแทน หรือหลายกรณี อาจจะนำตัวอย่างกรมธรรม์ประกันภัยต่างประเทศมาแปลปรับใช้ก็มี ที่ร่างเองโดยเฉพาะก็มีอยู่บ้างนะครับเท่าที่รับทราบมา แต่น้อยมาก
มองดูแล้ว ไม่น่าเป็นกรรมวิธีผิดปกติ เมื่อลองนำไปเปรียบเทียบกับการตรากฎหมายขึ้นมา มีความคล้ายคลึงกันทั้งเรื่องของกรรมวิธี และการแปลความหมาย
ดังตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้
ผู้รับเหมาก่อสร้างถูกว่าจ้างจากโรงเรียนแห่งหนึ่งให้ทำการปรับปรุงโครงสร้างอาคารเดิม และการสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติม รวมถึงสนามเทนนิสด้วย โดยผู้รับเหมาเจ้านี้ได้นำโครงการก่อสร้างทั้งหมดไปจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้าง (Construction Insurance Policy) ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าจ้างด้วย
เมื่อได้ทำการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็มีการส่งมอบ และตรวจรับงานโดยคณะกรรมการของโรงเรียนผู้ว่าจ้าง ปรากฏว่า ส่วนของสนามเทนนิสไม่ผ่านการตรวจรับงาน เนื่องจากพื้นสนามปรากฏร่องรอยแตกร้าว หลุดร่อน ไม่ราบเรียบ ดูลักษณะแล้ว มีข้อบกพร่อง และคุณภาพงานต่ำกว่าระดับมาตรฐานการก่อสร้างที่ควรจะเป็นอยู่มาก จนไม่สามารถใช้งานได้
โรงเรียนแห่งนี้จึงยื่นฟ้องเรียกร้องให้ผู้รับเหมาเจ้านี้รับผิดตามสัญญาว่าจ้าง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ในความผิดฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ การไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นที่กำหนดให้ทำการก่อสร้างอย่างดี และอย่างถูกต้องเหมาะสมตามวิชาชีพ ทั้งมิได้ดำเนินงานตามแบบแปลนกับรายการที่กำหนดเอาไว้ ตลอดจนมิได้ทำหน้าที่ดีพอในการกำกับตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาช่วงอีกด้วย
ครั้นผู้รับเหมาเจ้านี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยเข้ามารับผิดแทน กลับถูกปฏิเสธด้วยการหยิบยกเงื่อนไขกับข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้องมาใช้อ้างอิง ดังนี้
1) ภายใต้หมวดเงื่อนไขทั่วไป ระบุว่า
“ผู้เอาประกันภัยจะต้องดำเนินการด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง อย่างระมัดระวังตามสมควรในทุกวิถีทางที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหาย หรือความรับผิดขึ้นมา และจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามวิธีปฎิบัติทางวิศวกรรมทั่วไป (sound engineering practice) ข้อกำหนดทางกฎหมาย และข้อแนะนำของผู้ผลิตที่ได้กำหนดขึ้นมา เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ....”
2) ส่วนที่ 3 ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
3.2 ข้อยกเว้น
“บริษัทประกันภัยจะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับ
1. ……………
3. ความรับผิด ซึ่งเกิดขึ้นจาก
1) ……..
4) สัญญาหรือข้อตกลงที่ผู้เอาประกันภัยทำขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าว ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยจะไม่เกิดขึ้น (any contract or agreement unless such liability would have attached in the absence of such contract or agreement;)”
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า บริษัทประกันภัยนี้กำลังอ้างเรื่องความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) มาใช้ปฏิเสธความรับผิดของตน
ยิ่งถ้ามาดูถึงชื่อเรียกรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้างแล้ว อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy)”
นั่นกำลังหมายความว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยในที่นี้คือ ผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างทำของไม่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาว่าจ้าง แล้วบริษัทประกันภัยไม่จำต้องคุ้มครองใช่หรือไม่?
ทั้งที่กรณีนี้มีเพียงความรับผิดตามสัญญาของผู้รับจ้างที่แก่ผู้ว่าจ้างเท่านั้น
งั้น ความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) ที่เขียนไว้เช่นนั้น มีความหมายเช่นใดกันแน่?
ต้องอดใจไปคุยกันต่อตอนหน้าแล้วล่ะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น