วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 137 : ข้อยกเว้นการลักทรัพย์ (Theft) กับการไม่ซื่อสัตย์ (Dishonesty) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไร?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

คดีศึกษาเรื่องนี้เกิดขึ้น ณ ประเทศอังกฤษ

 

ข้อยกเว้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก แบบความคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด หรือแบบสรรพภัยฉบับที่ผู้เอาประกันภัยถืออยู่ ได้ระบุไม่คุ้มครองถึงความเสียหายอันมีสาเหตุมาจาก

 

การลักทรัพย์ (Theft) หรือการพยายามลักทรัพย์ เว้นแต่เกิดขึ้นด้วยการใช้กำลังรุนแรงในการเข้าไปหรืออกจากตัวอาคารที่เอาประกันภัย หรือ

 

การกระทำโดยฉ้อฉล หรือโดยทุจริต (acts of fraud and dishonesty) ของลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย

 

คุณเข้าใจความหมายของข้อยกเว้นข้างต้นทั้งสองข้อเช่นใดครับ?

 

และหากคดีนี้ได้มีการออกใบสลักหลังขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมเฉพาะในส่วนของข้อยกเว้นเรื่องการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยนี้ ให้รวมถึงการลักทรัพย์ หรือการพยายามลักทรัพย์ที่ไม่ปรากฏร่องรอยการเข้า/ออกตัวอาคารที่เอาประกันภัยเข้าไปด้วย

 

ความเข้าใจของคุณจะเปลี่ยนเป็นเช่นใด?

 

หากปรากฏข้อมูลแห่งคดีว่า ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของกิจการขายเสื้อผ้าแบรนด์ดังที่มีวางขายอยู่ตามสาขา และร้านค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ตรวจพบความผิดปกติของสต็อกสินค้า ณ คลังสินค้าใหญ่ของตนประมาณช่วงต้นปี ค.ศ. 2006 เรื่อยมา แม้ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยตรวจสอบอีกแรงหนึ่ง ก็ยังค้นหาสาเหตุไม่ได้ จนกระทั่งวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2008 ก็ได้มีผู้หวังดีแต่ไม่ประสงค์ออกนามให้ข้อมูลจนสามารถจับกุมลูกจ้างผู้กระทำผิดจำนวนสามคนได้ในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2008  ประกอบด้วย พนักงานควบคุมการรับคืนสินค้าได้สมคบกับคนขับรถบรรทุกอีกสองคนร่วมมือกันแอบลักขโมยสินค้าไปจากคลังสินค้า โดยกลุ่มคนร้ายได้สารภาพว่า ลงมือกระทำผิดมาตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 2000 จนถึงวันที่ถูกจับกุม รวมเวลาทั้งหมดประมาณแปดปี นับจำนวนครั้งไม่ต่ำกว่าห้าร้อยครั้ง

 

ครั้นเมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่บริษัทประกันภัยเจ้าหลักฉบับล่าสุดของตน โดยได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในส่วนของความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวน 1 ล้านปอนด์ (หรือประมาณ 40 ล้านบาท) และในส่วนของความสูญเสียทางการเงินอีกจำนวน 3 ล้านปอนด์ (หรือประมาณ 120 ล้านบาท)

 

คุณคิดว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ อย่างไร?

 

ประเด็นข้อพิพาทหลักของคดีนี้ คือ

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย

 

ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่า การลักทรัพย์ของลูกจ้างตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ ถึงแม้ได้มีการขยายความคุ้มครองให้รวมถึงการลักทรัพย์โดยไม่ปรากฏร่องรอยแล้วก็ตาม แต่มิได้มีการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมรวมไปถึงการฉ้อฉล หรือการทุจริตของลูกจ้าง ภายใต้การประกันภัยความซื่อสัตย์ (Fidelity Insurance/Fidelity Guarantee Insurance) ซึ่งตามแนวปฏิบัติทั่วไปของธุรกิจประกันภัย (Market Practice) จะหมายความรวมถึงการลักทรัพย์ของลูกจ้างอยู่ด้วย ซึ่งทำให้บางครั้งใช้เรียกชื่อเป็นการประกันภัยการลักทรัพย์ของลูกจ้าง (Employee’s Theft Insurance) ก็มี

 

ขณะที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์

 

คงยืนยันข้อโต้แย้งของตนที่ว่า การลักทรัพย์ คือ การลักทรัพย์ของบุคคลอื่นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ และคนทั่วไปก็เข้าใจเช่นนั้น โดยไม่คำนึงว่า ผู้กระทำผิดจะเป็นลูกจ้าง หรือบุคคลอื่นใดก็ตาม ล้วนตกเป็นผู้มีความผิดฐานลักทรัพย์ทั้งสิ้น

 

คุณเห็นด้วยกับฝ่ายไหนครับ?

 

คดีนี้ขึ้นไปสู่ชั้นศาลอุทธรณ์ซึ่งวินิจฉัยเห็นพ้องกับฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ว่า การลักทรัพย์มีความหมายปกติทั่วไป ผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคลอื่นนั้นจะเป็นใครก็ได้ หากบริษัทประกันภัยประสงค์จะให้ความหมายพิเศษไม่รวมถึงการลักทรัพย์โดยลูกจ้างด้วย ก็จำต้องเขียนลงไปให้ชัดเจน จะอาศัยเพียงแนวทางปฏิบัติของธุรกิจประกันภัยมาอ้างอิงนั้น ไม่อาจยอมรับได้ จึงตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยจำต้องคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Ted Baker plc v AXA Insurance UK plc [2012] EWHC 1406)

 

คุณเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลไหมครับ?

 

ผมเคยเขียนบทความเรื่องที่ 7: ภาษาประกันภัย คำใน คำนอก Theftที่แปลเป็นไทยว่า “การลักทรัพย์” และเรื่องที่ 8: ภาษาประกันภัย คำใน คำนอก Fidelityที่แปลเป็นไทยว่า “ความซื่อสัตย์” ลงในพบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ซึ่งวิเคราะห์กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานบ้านเรา มีข้อยกเว้นทำนองนี้ว่า

 

ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

1. ความเสียหายอันเกิดจาก

1.6 การลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นการลักทรัพย์จากตัวอาคารโดยการเข้าไปหรือออกจากตัวอาคารนั้นด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรงและทำให้เกิดร่องรอยความเสียหายที่เห็นได้อย่างชัดเจนต่อตัวอาคาร

1.7 การกระทำอันมีลักษณะฉ้อโกงหรือไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้เอาประกันภัยหรือทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

 

โดยเคยแสดงความคิดเห็นส่วนตัวไปว่า ก็คงจำต้องอาศัยหลักการตีความข้อยกเว้นอย่างเคร่งครัดว่า การไม่ซื่อสัตย์ในที่นี้ มิได้หมายความรวมถึงการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอย การชิงทรัพย์ และการปล้นทรัพย์ของลูกจ้างด้วย บังเอิญเป็นแนวทางเดียวกันกับคำพิพากษาคดีนี้

 

นี่เป็นเพียงด่านแรกที่ผู้เอาประกันภัยฟันฝ่าข้อยกเว้นดังกล่าวไปได้

 

ด่านต่อไปที่น่าสนใจควรติดตาม ได้แก่ ความเสียหายนานถึงแปดปี บริษัทใดบ้างเข้ามารับผิดชอบ และหากรับผิดชอบ ต้องรับผิดเช่นใด?

 

โปรดติดตามต่อสัปดาห์หน้าครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2563

 เรื่องที่ 136 : การแปลความหมายข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy)

 

(ตอนที่สอง)

 

ข้อพิพาทนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลชั้นต้นโดยผู้รับเหมาเจ้านี้ในฐานะผู้เอาประกันภัย เพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย

 

โดยกำหนดประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

 

ข้อต่อสู้จากบริษัทประกันภัยจำเลย

 

อ้างว่า เงื่อนไขทั่วไปกับข้อยกเว้นเรื่องความรับผิดตามสัญญา  (Contractual Liability) ของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy) นั้นชัดเจนดีอยู่แล้ว และควรตีความหมายของความรับผิดตามสัญญาให้ตรงตามถ้อยคำที่เขียนเอาไว้ คือ

 

4) สัญญาหรือข้อตกลงที่ผู้เอาประกันภัยทำขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าว ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยจะไม่เกิดขึ้น (any contract or agreement unless such liability would have attached in the absence of such contract or agreement;)

 

ฉะนั้น เมื่อได้ให้สัญญากับผู้ว่าจ้างว่า ู้รับจ้างจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังตามสมควรในทุกวิถีทางที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหาย หรือความรับผิดขึ้นมา และจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามวิธีปฎิบัติทางวิศวกรรมทั่วไป (sound engineering practice) ด้วย

 

ครั้นเมื่อทำผิดข้อตกลงจึงตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อยกเว้นดังกล่าว

 

ข้อโต้แย้งจากผู้เอาประกันภัยโจทก์

 

อ้างว่า คำเรียกร้องให้รับผิดของผู้ว่าจ้างใช้คำว่า “ประมาท” อยู่ด้วย อันเป็นสาเหตุใกล้ชิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวงานดังกล่าวขึ้นมา และตกอยู่ในความหมายของความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Property Damage) ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องให้ความคุ้มครองถึง เนื่องจากมิใช่ความรับผิดตามสัญญา แต่เข้าข่ายเรื่องละเมิดมากกว่า

 

ส่วนเรื่องความรับผิดตามสัญญานั้นก็ควรแปลความหมายถึง เฉพาะข้อตกลงพิเศษนอกเหนือจากหน้าที่ปกติทั่วไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายของคู่สัญญาเท่านั้น จึงจะตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นดังกล่าว อันจะเรียกว่า “การยอมรับผิด (Assumption of Liability)” แทนบุคคลอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ข้อตกลงรับชดใช้ (Hold-harmless agreement) นั่นเอง (ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 หมายความถึง ข้อตกลงที่ฝ่ายหนึ่งจะรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหาย จากการกระทำที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นนั้น เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับรางรถไฟตกลงจะรับผิดชอบเพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายจากรถไฟตกรางอันเนื่องมาจากความบกพร่องของอุปกรณ์นั้น)

 

เนื่องจากข้อตกลงที่จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังตามสมควรในทุกวิถีทางที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหาย หรือความรับผิดขึ้นมา และจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามวิธีปฎิบัติทางวิศวกรรมทั่วไป (sound engineering practice) นั้น ถือเป็นข้อตกลงปกติธรรมดา มิได้สร้างภาระผูกพันพิเศษเกินเลยกว่านั้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขกับข้อยกเว้นดังอ้างอิง

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยว่า เมื่อแปลความหมายตรงตัวแล้ว สัญญา คือ สัญญา ไม่ว่าคู่สัญญาจะมีข้อตกลงกันไว้อย่างใดก็ตาม

 

เมื่อคดีนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยเห็นคล้อยตามกับฝ่ายผู้เอาประกันภัยว่า การแปลความหมายให้การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทุกเรื่องราวส่งผลทำให้ผิดเงื่อนไขกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะกลายเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยแทบจะไม่มีโอกาสได้รับความคุ้มครองเลย

 

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทคงมิได้มุ่งหวังถึงขนาดให้เป็นเสมือนดั่งเช่นการรับประกันผลการทำงาน (Performance Bond) (ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้ความหมาย Performance Bond หรือหนังสือค้ำประกันการรับเหมา คือ เอกสารที่ผู้รับประกันภัยออกให้เพื่อเป็นการค้ำประกันผู้รับเหมา โดยระบุว่าหากผู้รับเหมาดำเนินการไม่แล้วเสร็จหรือไม่สมบูรณ์ตามสัญญารับเหมา ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้ ทั้งนี้ ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น)

 

กระนั้น ถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่เข้าข่ายเงื่อนไขกับข้อยกเว้นดังอ้างอิง แต่อาจตกอยู่ในเงื่อนไขกับข้อยกเว้นอื่นก็เป็นได้ ซึ่งปรากฏมีข้อยกเว้นฝีมือแรงงาน (Workmanship) อยู่ด้วย

 

อนึ่ง ประเด็นที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ควรเข้าข่ายกรณีละเมิดด้วย เพราะถูกเรียกร้องให้รับผิดเนื่องด้วยความประมาทเลินเล่อของตนนั้น ไม่น่าถูกต้องเช่นกัน กรณีที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจนทำให้ทรัพย์สินเสียหายมากกว่า

 

(อ้างอิง เทียบเคียง และเรียบเรียงมาจากคดี Ewing Construction Co. Inc. v. Amerisure Ins. Co., No. 12-0661, 2014 WL 185035 (Tex. Jan. 17, 2014))

 

ข้อสังเกต

 

เมื่อผู้ว่าจ้างเรียกร้องให้ผู้รับจ้าง (ผู้เอาประกันภัย) รับผิดตามสัญญาว่าจ้าง ส่งผลทำให้คำฟ้องในคดีนี้ของผู้เอาประกันภัยกลายเป็นฟ้องบริษัทประกันภัยเนื่องด้วยความรับผิดตามสัญญาเช่นกัน บริษัทประกันภัยจึงต่อสู้ในเรื่องเดียวกัน ขณะที่ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยจะคุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน นอกเหนือจากความรับผิดตามสัญญา

 

อย่างไรก็ดี การจำแนกกรณีใดจะเข้าข่ายอุบัติเหตุที่คุ้มครองกับกรณีใดจะเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นดังกำหนดไว้นั้น ในความเป็นจริง มิใช่เรื่องง่ายดายเลย ข้อพิพาทคงยังมีต่อไป ไม่สิ้นสุดลงสักที

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2563

 เรื่องที่ 136 : การแปลความหมายข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญา (Contractual Liability) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy)

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ถ้อยคำที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งถูกร่างขึ้นมาโดยบริษัทประกันภัยแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น ในแง่ของกฎหมายถือเป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือแสดงถึงข้อตกลงของสัญญาประกันภัยซึ่งได้ถูกกระทำขึ้นมาด้วยวาจานั้นเอง

 

เวลาเกิดข้อพิพาทเรื่องความคุ้มครอง บ่อยครั้งที่จะเกิดการแปลความหมายของถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างกันไประหว่างผู้เอาประกันภัย (ฝ่ายที่ไม่ได้ร่วมร่างถ้อยคำ) กับบริษัทประกันภัย (ฝ่ายร่างถ้อยคำ)

 

ข้อสังเกต อันที่จริง บริษัทประกันภัยก็มิได้ร่างเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นมาเองโดยตรง ควรเรียกเป็น “ผู้ใช้” จะถูกต้องกว่า เพราะในทางปฏิบัติสากล จะมีคณะทำงาน หรือหน่วยงานกลางของสมาคมประกันภัย หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยทำหน้าที่ร่างขึ้นมาแทน หรือหลายกรณี อาจจะนำตัวอย่างกรมธรรม์ประกันภัยต่างประเทศมาแปลปรับใช้ก็มี ที่ร่างเองโดยเฉพาะก็มีอยู่บ้างนะครับเท่าที่รับทราบมา แต่น้อยมาก

 

มองดูแล้ว ไม่น่าเป็นกรรมวิธีผิดปกติ เมื่อลองนำไปเปรียบเทียบกับการตรากฎหมายขึ้นมา มีความคล้ายคลึงกันทั้งเรื่องของกรรมวิธี และการแปลความหมาย

 

ดังตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้

 

ผู้รับเหมาก่อสร้างถูกว่าจ้างจากโรงเรียนแห่งหนึ่งให้ทำการปรับปรุงโครงสร้างอาคารเดิม และการสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติม รวมถึงสนามเทนนิสด้วย โดยผู้รับเหมาเจ้านี้ได้นำโครงการก่อสร้างทั้งหมดไปจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้าง (Construction Insurance Policy) ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าจ้างด้วย

 

เมื่อได้ทำการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็มีการส่งมอบ และตรวจรับงานโดยคณะกรรมการของโรงเรียนผู้ว่าจ้าง ปรากฏว่า ส่วนของสนามเทนนิสไม่ผ่านการตรวจรับงาน เนื่องจากพื้นสนามปรากฏร่องรอยแตกร้าว หลุดร่อน ไม่ราบเรียบ ดูลักษณะแล้ว มีข้อบกพร่อง และคุณภาพงานต่ำกว่าระดับมาตรฐานการก่อสร้างที่ควรจะเป็นอยู่มาก จนไม่สามารถใช้งานได้

 

โรงเรียนแห่งนี้จึงยื่นฟ้องเรียกร้องให้ผู้รับเหมาเจ้านี้รับผิดตามสัญญาว่าจ้าง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ในความผิดฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ การไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นที่กำหนดให้ทำการก่อสร้างอย่างดี และอย่างถูกต้องเหมาะสมตามวิชาชีพ ทั้งมิได้ดำเนินงานตามแบบแปลนกับรายการที่กำหนดเอาไว้ ตลอดจนมิได้ทำหน้าที่ดีพอในการกำกับตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาช่วงอีกด้วย

 

ครั้นผู้รับเหมาเจ้านี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยเข้ามารับผิดแทน กลับถูกปฏิเสธด้วยการหยิบยกเงื่อนไขกับข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้องมาใช้อ้างอิง ดังนี้

 

1) ภายใต้หมวดเงื่อนไขทั่วไป ระบุว่า

 

ผู้เอาประกันภัยจะต้องดำเนินการด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง อย่างระมัดระวังตามสมควรในทุกวิถีทางที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหาย หรือความรับผิดขึ้นมา และจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามวิธีปฎิบัติทางวิศวกรรมทั่วไป (sound engineering practice) ข้อกำหนดทางกฎหมาย และข้อแนะนำของผู้ผลิตที่ได้กำหนดขึ้นมา เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ....

 

2) ส่วนที่ 3 ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก

    3.2 ข้อยกเว้น

 

บริษัทประกันภัยจะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับ

  1. ……………

  3. ความรับผิด ซึ่งเกิดขึ้นจาก

      1) ……..

      4) สัญญาหรือข้อตกลงที่ผู้เอาประกันภัยทำขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าว ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยจะไม่เกิดขึ้น (any contract or agreement unless such liability would have attached in the absence of such contract or agreement;)

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า บริษัทประกันภัยนี้กำลังอ้างเรื่องความรับผิดตามสัญญา  (Contractual Liability) มาใช้ปฏิเสธความรับผิดของตน

 

ยิ่งถ้ามาดูถึงชื่อเรียกรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้างแล้ว อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy)

 

นั่นกำลังหมายความว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยในที่นี้คือ ผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างทำของไม่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาว่าจ้าง แล้วบริษัทประกันภัยไม่จำต้องคุ้มครองใช่หรือไม่?

 

ทั้งที่กรณีนี้มีเพียงความรับผิดตามสัญญาของผู้รับจ้างที่แก่ผู้ว่าจ้างเท่านั้น

 

งั้น ความรับผิดตามสัญญา  (Contractual Liability) ที่เขียนไว้เช่นนั้น มีความหมายเช่นใดกันแน่?

 

ต้องอดใจไปคุยกันต่อตอนหน้าแล้วล่ะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory