วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 111: คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 111: คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ...: เรื่องที่ 111: คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles) ” ควรจะหมายความรวมถึงสิ่งนี้ได้บ้างไหม? (ตอนที่ สอง ) เรามาคุยกันต่อถึง ความหม...
เรื่องที่ 111: คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ควรจะหมายความรวมถึงสิ่งนี้ได้บ้างไหม?
(ตอนที่สอง)
เรามาคุยกันต่อถึงความหมายของคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ในคดีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องเรียกร้องบริษัทประกันภัยของตนเป็นจำเลยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกฎข้อบังคับของกฎหมายซึ่งแม้จะตกอยู่ในข้อยกเว้น
แต่ก็จะคุ้มครองให้หากมีสาเหตุจากภัยยานพาหนะ (มิได้ถูกกำหนดคำนิยามไว้)
โดยผู้เอาประกันภัยอ้างอิงพจนานุกรม Merriam-Webster’s
Collegiate Dictionary กับ Black’s Law Dictionary ซึ่งให้ความหมายของ
“ยานพาหนะ (Vehicles)” หมายความถึง สิ่งที่ใช้นำพา หรือขนส่งบางสิ่ง ฉะนั้น
ถังขยะพลาสติกมีลูกล้อที่ใช้ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรีไซเคิล อันสามารถเข็นเคลื่อนย้ายไปมาได้นั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนดังความหมายเช่นว่านั้นทุกประการ
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ว่า
ถึงแม้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจะมิได้กำหนดคำนิยามของยานพาหนะเอาไว้
แต่ก็ไม่ถือว่ากำกวม หรือไม่ชัดเจน เนื่องจากถ้ามองวัตถุประสงค์หลักของถังนี้ใช้เพื่อเก็บหรือบรรจุสิ่งของเป็นสำคัญ
การที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เป็นเพียงเพื่อความสะดวกช่วงเวลาจะนำพาไป
เวลาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่กับที่ ซึ่งต่างจากยานพาหนะที่คนทั่วไปนึกคิดและเข้าใจซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการใช้นำพาคนหรือสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งมากกว่าที่จะปล่อยให้อยู่เฉย
ๆ กับที่ แม้ถังขยะนี้กับยานพาหนะที่คนทั่วไปเข้าใจนั้นล้วนต่างมีคุณสมบัติใช้เก็บสิ่งของและใช้ขนนำพาไปได้เช่นเดียวกันก็ตาม
ยิ่งกว่านี้ บางพจนานุกรมยังได้ยกตัวอย่างประกอบขยายความเพิ่มเติมอีก เช่น รถ เรือ
เครื่องบิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้จัดการอะพาร์ตเมนต์เองได้เบิกความตอบข้อซักถามของทนายว่า
ตนก็ไม่คิดว่า กระเป๋าเดินทางมีลูกล้อจัดอยู่ในความหมายของยานพาหนะได้
ฉะนั้น การแปลความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องพิจารณาถ้อยคำทั้งหมดเพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริง
หรือที่ควรจะเป็น มิใช่เพียงอาศัยจากพจนานุกรมซึ่งอาจมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ
เมื่อเทียบเคียงกับภัยคุ้มครองอื่นที่ถูกกำหนดอยู่ในข้อยกเว้นนี้
ได้กล่าวถึงภัยอากาศยานเอาไว้ด้วย อันจัดอยู่ในกลุ่มยานพาหนะจำพวกเดียวกัน
แต่คงไม่สามารถนำเอาถังขยะไปจัดเทียบเคียงกับเครื่องบินโบอิ้งได้อย่างแน่นอน
ประกอบกับการพิจารณาถึงลักษณะความรุนแรงเวลาที่ภัยจากกลุ่มยานพาหนะเช่นนี้สามารถก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นมาได้
ถังขยะก็ไม่อาจเทียบเคียงได้เช่นเดียวกัน
ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามฟ้อง
ฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์
และศาลอุทธรณ์ยืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น
คดีนี้เป็นอันถึงสิ้นสุด เนื่องจากฝ่ายโจทก์พิจารณาแล้วน่าจะลุ้นต่อไปได้ลำบากมาก
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี
1070 Park Avenue Corporation v. Fireman’s
Fund Insurance Company, No. 17 CIV. 2474 (CM) (2d Cir. June 29, 2018))
สำหรับบ้านเรา
โชคดีที่ได้มีการขยายถ้อยคำของยานพาหนะค่อนข้างชัดเจน เช่น
1) ภัยจากการเฉี่ยว
และหรือการชนของยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น (กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย)
2) ข้อยกเว้นยานพาหนะทางบกที่จดทะเบียนสำหรับใช้บนถนน (รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องตกแต่งทุกชนิด)
หัวรถจักร
รถไฟ ยานพาหนะทางน้ำ อากาศยาน ยานอวกาศ หรือสิ่งอื่นที่คล้ายคลึงกัน
(กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน)
3) ข้อยกเว้นยานพาหนะทุกชนิดที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์
รวมทั้งเครื่องจักรหรือยานใด ๆ ที่ดันหรือลากโดยเครื่องยนต์ (กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก)
4) ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ก็ใช้คำว่า
“รถยนต์ (Motor Vehicle)” ตรง
ๆ ไปเลย
ข้อยกเว้นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังคดีศึกษาข้างต้นนั้น
สามารถจะขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ หรือเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติม
ซึ่งต่างประเทศจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า Public Authorities
Clause, Civil Authority Clause, Ordinance or Law Coverage Endorsement
ขณะที่บ้านเราเรียกว่า
เอกสารแนบท้ายว่าด้วยคำสั่งเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (Public
Authorities Clause) และเอกสารแนบท้ายว่าด้วยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม
เนื่องมาจากกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่ออกโดยอำนาจของกฎหมาย (Increased Costs of Repair Due to Laws or
By – Laws)
ซึ่งจะนำมาขยายความเป็นเรื่องต่อไปครับ
เรื่องต่อไป
คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายว่าอย่างไร?
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet
Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisoryวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 111: คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 111: คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ...: เรื่องที่ 111 : คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles) ” ควรจะหมายความรวมถึงสิ่งนี้ได้บ้างไหม? (ตอนที่ หนึ่ง ) เมื่อพบเห็นคำว่า “ ยาน...
เรื่องที่ 111: คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ควรจะหมายความรวมถึงสิ่งนี้ได้บ้างไหม?
(ตอนที่หนึ่ง)
เมื่อพบเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยบางฉบับ
โดยปราศจากคำนิยามกำกับเอาไว้ อดตั้งข้อสงสัยมิได้ว่า คนอื่น ๆ
ที่มาอ่านคำนี้จะแปลความหมายออกมาได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบ้างไหมหนอ? แต่บังเอิญยังไม่เจอคดีที่มีประเด็นข้อโต้แย้งถึงความหมายของคำนี้ในบ้านเรา
ในต่างประเทศได้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาแล้ว
เราลองมาดูกันนะครับ เขาแปลความหมายของคำนี้ยังไงกันบ้าง?
คดีศึกษานี้เกิดเป็นเรื่องราวขึ้นช่วงบ่ายของวันที่
14 กรกฏาคม ค.ศ. 2016
ณ อะพาร์ตเมนต์หรูหราแห่งหนึ่งในกรุงนิวยอร์ก เมื่อผู้ให้บริการได้นำถังขยะพลาสติกใบใหม่มีลูกล้อขนาดใหญ่กว่าเดิมไปเปลี่ยนทดแทนถังขยะใบเก่าที่ตั้งอยู่ชั้นใต้ดินของอะพาร์ตเมนต์นั้น
อันเป็นหนึ่งในขั้นตอนโครงการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ของเมืองที่ทางตึกให้ความร่วมมืออยู่
เพื่อให้ผู้พักอาศัยสามารถจัดแยกทิ้งขยะชนิดนี้ลงในถังขยะพิเศษดังกล่าวได้
ภายหลังจากผู้ให้บริการกลับไปแล้วไม่นาน มีคนไปแจ้งทางตึกว่า
ได้กลิ่นแก๊สรั่ว เมื่อไปตรวจสอบ ก็พบว่า จุดที่มีปัญหาเกิดจากตัวมิเตอร์แก๊สที่อยู่ชั้นใต้ดินได้รับความเสียหาย
โดยตั้งสมมุติฐานเบื้องต้นว่า
น่าจะเสียหายจากการถูกถังขยะดังกล่าวใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมชนกระแทกเข้าระหว่างการเข็นเข้าไปเปลี่ยนทดแทน
เพราะช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ตัวมิเตอร์นั้นก็อยู่ในสภาพปกติดี อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏพยานรู้เห็นมายืนยันให้ได้
ทางตึกจำเป็นต้องปิดระบบส่งแก๊สทันที
พร้อมแจ้งผู้ให้บริการแก๊สมาตรวจซ่อมแซม ซึ่งตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หลังจากซ่อมเสร็จจะต้องเข้าขบวนสู่การตรวจวัดแรงดันและผ่านการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ
และเนื่องจากระบบแก๊สของตึกนี้ค่อนข้างเก่า ทำให้จำต้องเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์หลายอย่างให้มีคุณภาพรองรับได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
อันก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายติดตามมาจำนวนมากมาย
ทางเจ้าของตึกต้องหาทางออกด้วยการไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ตึกหลังนี้มาชดใช้ค่าใช้จ่ายต่าง
ๆ เหล่านี้แทน
บริษัทประกันภัยรายนี้พิจารณาข้อกำหนดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินแบบสรรพภัยฉบับนี้แล้ว
พบว่า ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นที่ถอดความออกมาได้ว่า
“ไม่คุ้มครอง (ก)
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับบทบังคับของกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับใดในการทดสอบการมีเสถียรภาพหรือสภาวะมั่นคงปลอดภัยของระบบแก๊ส
หรือ (ข) ความเสียหายของระบบแก๊สที่มีสาเหตุมาจากการทดสอบการมีเสถียรภาพหรือสภาวะมั่นคงปลอดภัยดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นนี้ไม่มีผลใช้บังคับ หากการทดสอบนั้นเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายโดยตรงทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันมีสาเหตุมาจากไฟไหม้
ฟ้าผ่า .....อากาศยาน หรือยานพาหนะ (Vehicles) ....”
แม้ได้รับแจ้งว่า กรณีตกอยู่ในข้อยกเว้น แต่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของตึกหลังนี้ยังไม่ละความพยายามด้วยการต่อสู้ว่า
ถังขยะพลาสติกที่คิดว่าน่าจะเป็นต้นตอของปัญหา ซึ่งทางเมืองนิวยอร์กเรียกอย่างสุภาพว่า
“ถังใส่ของ (Storage
Bin)” ถือเป็นยานพาหนะชนิดหนึ่ง
เนื่องจากมีลูกล้อทั้งสี่มุม โดยสามารถเข็นเคลื่อนย้ายได้
เจอลูกนี้เข้า บริษัทประกันภัยรายนี้มึนงงไปพักนึง
และแจ้งเพิ่มเติมกลับมาว่า กรณีนี้ยังเข้าข้อยกเว้นเพิ่มเติมเรื่องการเสื่อมสภาพ (Wear & Tear) ของอุปกรณ์อีกด้วย
ผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้นเพื่อให้พิจารณาชี้ขาด
ศาลชั้นต้นท่านจะชี้ขาดเช่นใด
และคดีนี้จะดำเนินไปอย่างไร? รออ่านสัปดาห์หน้าครับ
ส่วนท่านใดนึกสนุกจะลองลุ้นถือข้างฝ่ายไหนระหว่างรอ
ก็เชิญนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของ...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของ...: เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต (ตอนที่ สาม ) ภายใต้หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคค...
เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต
(ตอนที่สาม)
ภายใต้หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
ภาคสมัครใจฉบับมาตรฐาน ในเงื่อนไขข้อ 4.
การคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่ ระบุว่า
“บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์
โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง แต่มีเงื่อนไขว่า
4.1 บุคคลนั้นต้องปฏิบัติตนเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง
และอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้”
ครั้นย้อนกลับไปดูตรงข้อตกลงคุ้มครองกับข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้องในหมวดเดียวกันได้ระบุว่า
“ข้อ 1. ข้อตกลงคุ้มครอง
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย
หรือความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย
เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น
ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในนามผู้เอาประกันภัย ดังนี้
1.1 ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย
หรืออนามัย บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต
ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น
………………………..
บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม
1.1 นี้ ไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง
คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น
1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตาราง
ความเสียหายต่อทรัพย์สินดังต่อไปนี้
จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
(ก) ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง”
ฉะนั้น
หากนำไปปรับใช้เทียบเคียงกับกรณีของมิสเตอร์เอ็มที่ยืมรถยนต์ของอู่ไปใช้
และได้มอบหมายให้ลูกชายของตนขับขี่รถยนต์คันนั้นอีกทอดหนึ่งนั้น
น่าจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของอู่เช่นเดียวกัน
เพราะไม่ปรากฏเงื่อนไขใดห้ามมิให้ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมคนที่หนึ่งจำต้องไปขอความเห็นชอบจากผู้เอาประกันภัยอีกครั้งหนึ่งเสียก่อนถึงจะสามารถให้ผู้ได้รับความยินยอมคนที่สองนำรถยนต์คันนั้นไปขับขี่ได้
เปรียบเทียบได้กับในทางปฏิบัติแท้จริงดั่งกรณีพ่อซื้อรถยนต์ให้ลูกขับ
แม้พ่อเป็นเจ้าของตัวจริงและเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว
แต่ได้อนุญาตให้ลูกนำไปใช้โดยอิสระตลอดเวลา
ซึ่งลูกผู้ขับขี่ตัวจริงนั้นก็สามารถจะพิจารณาให้ใครยืมใช้รถยนต์คันดังกล่าวได้
ประเด็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้เฉกเช่นกับคดีต่างประเทศ
กล่าวคือ ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมนั้นจะได้รับความคุ้มครองเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเองควรแปลความหมายเช่นใด?
โดยเฉพาะข้อยกเว้นเรื่องความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยในข้อ 1.1 และความเสียหายต่อทรัพย์สินในข้อ 1.2
ข้างต้น
1) กรณียืมรถของอู่ไปใช้
โดยมีผู้จัดการอู่นั่งไปด้วย
แล้วรถยนต์คันนั้นประสบอุบัติเหตุเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของมิสเตอร์เอ็ม
ทำให้มิสเตอร์เอ็มและผู้จัดการอู่ได้รับบาดเจ็บไปด้วยกันทั้งสองคน
ใครบ้างถือเป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครอง?
(ก) ผู้จัดการอู่
(ข) มิสเตอร์เอ็ม
(ค) ไม่มีผู้ใดเป็นบุคคลภายนอกเลย
2) กรณีลูกขับรถไปพร้อมกับพ่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย
แล้วทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ
อันเนื่องจากการขับขี่ด้วยความประมาทเลินเล่อของลูก
ใครบ้างถือเป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครอง?
(ก) พ่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย
(ข) ลูกซึ่งเป็นผู้ขับขี่
(ค) ไม่มีผู้ใดเป็นบุคคลภายนอกเลย
3) กรณียืมรถของอู่ไปใช้ โดยมีผู้จัดการอู่นั่งไปด้วย มิสเตอร์เอ็มได้ขับรถยนต์คันนั้นไปเฉี่ยวชนประตูกำแพงของอู่ได้รับความเสียหาย
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของอู่จะให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?
4) กรณีลูกขับรถไปยังบริษัทประกันภัยเพื่อขอรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันนั้นเอง
ระหว่างขับเข้าไปข้างใน
ได้เกิดเฉี่ยวชนทำให้ทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ของบริษัทประกันภัยนั้นได้รับความเสียหาย
จะสามารถเรียกร้องให้กรมธรรม์ประกันภัยของตนฉบับนั้นคุ้มครองได้หรือไม่?
ท่านจะพิจารณาให้คำตอบข้อเหล่านี้ได้อย่างไรบ้างครับ?
ส่วนตัวของผม
เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยข้างต้น มีความเห็นดังนี้
1)
ตามเงื่อนไขแล้ว ควรเลือกข้อ (ก) ผู้จัดการอู่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง
เพราะมิใช่เป็นลูกจ้างของผู้ขับขี่
ดั่งที่ได้อธิบายไว้ในคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
แต่ผมขอเลือกข้อ (ค) ไม่มีผู้ใดเป็นบุคคลภายนอกเลยแทน
เนื่องจากเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่
6249/2541 เจ้าของรถยนต์จะรับผิดหรือร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิด
ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของรถยนต์เป็นผู้กระทำละเมิด คือ
เป็นผู้ขับด้วยตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคหนึ่ง
หรือในกรณีเจ้าของรถยนต์ต้องร่วมรับผิดกับบุคคลอื่นในผลแห่งการละเมิด ต้องเป็นกรณีผู้กระทำละเมิดเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของเจ้าของรถยนต์
หรือเจ้าของรถยนต์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ขณะเกิดเหตุ โดยเจ้าของรถยนต์โดยสารไปด้วย
ตามมาตรา 425, 427 และ 437 (มาตรา 437 วรรคหนึ่ง "บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล
บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบ เพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย
หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง")
2) ข้อ (ค) ไม่มีผู้ใดเป็นบุคคลภายนอกเลย
3) อยากจะตอบว่า ไม่คุ้มครองโดยเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาอ้างอิงในข้อ 1)
แต่ลังเลใจ เพราะผมอ่านเงื่อนไขข้อ 1.2
ความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งระบุให้ความคุ้มครองถึง
“ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย”
ครั้นย่อหน้าถัดมา อ่านแล้วเข้าใจว่า สามารถจำแนกความหมายของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครองของข้อ
(ก) ข้างต้นออกได้เป็นข้อย่อย ๆ ประกอบด้วย
3.1) ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย
3.2) ทรัพย์สินที่ผู้ขับขี่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย
3.3) ทรัพย์สินที่คู่สมรส
บิดา มารดา บุตรของผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง
3.4) ทรัพย์สินที่คู่สมรส
บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง
รู้สึกสับสนเสมือนหนึ่งจะไม่คุ้มครองทรัพย์สินใด
ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลภายนอกหรือไม่ก็ตาม หากว่าเกิดจากความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่แล้ว
ล้วนไม่คุ้มครองทั้งสิ้น ซึ่งไม่น่าจะมีเจตนารมณ์เช่นนั้น เนื่องจากถ้าปรับถ้อยคำใหม่เป็น
“3.1)
ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม
หรือครอบครอง
และ 3.2)
ทรัพย์สินที่ผู้ขับขี่เป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง” ดังเช่นกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอื่นน่าจะสมเหตุผลมากกว่า
(4) อยากจะเชื่อว่า บริษัทประกันภัยคงจะยอมให้ความคุ้มครองตนเองได้นะครับ
มิฉะนั้น หากจะให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่รับผิดชอบเอง ดูออกจะแปลกเหมือนกัน
ที่หยิบยกเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา
เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะเท่าที่อ่านตัวอย่างของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ต่างประเทศค่อนข้างชัดเจนกว่า
เรื่องต่อไปยังตัดสินเลือกไม่ถูก
รอดูสัปดาห์หน้าก็แล้วกันครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)