วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 110: การแปลความหมายเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ได้รับอนุญาต


(ตอนที่สาม)

ภายใต้หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจฉบับมาตรฐาน ในเงื่อนไขข้อ 4. การคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่ ระบุว่า

         บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์ โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง แต่มีเงื่อนไขว่า

         4.1 บุคคลนั้นต้องปฏิบัติตนเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง และอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้

ครั้นย้อนกลับไปดูตรงข้อตกลงคุ้มครองกับข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้องในหมวดเดียวกันได้ระบุว่า

ข้อ 1.  ข้อตกลงคุ้มครอง
           บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในนามผู้เอาประกันภัย ดังนี้
           1.1 ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย  บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น
           ………………………..

          บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม 1.1 นี้ ไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น
          1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สิน  บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตาราง
          ความเสียหายต่อทรัพย์สินดังต่อไปนี้ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
         () ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย  คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง

ฉะนั้น หากนำไปปรับใช้เทียบเคียงกับกรณีของมิสเตอร์เอ็มที่ยืมรถยนต์ของอู่ไปใช้ และได้มอบหมายให้ลูกชายของตนขับขี่รถยนต์คันนั้นอีกทอดหนึ่งนั้น น่าจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของอู่เช่นเดียวกัน เพราะไม่ปรากฏเงื่อนไขใดห้ามมิให้ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมคนที่หนึ่งจำต้องไปขอความเห็นชอบจากผู้เอาประกันภัยอีกครั้งหนึ่งเสียก่อนถึงจะสามารถให้ผู้ได้รับความยินยอมคนที่สองนำรถยนต์คันนั้นไปขับขี่ได้ เปรียบเทียบได้กับในทางปฏิบัติแท้จริงดั่งกรณีพ่อซื้อรถยนต์ให้ลูกขับ แม้พ่อเป็นเจ้าของตัวจริงและเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว แต่ได้อนุญาตให้ลูกนำไปใช้โดยอิสระตลอดเวลา ซึ่งลูกผู้ขับขี่ตัวจริงนั้นก็สามารถจะพิจารณาให้ใครยืมใช้รถยนต์คันดังกล่าวได้

ประเด็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้เฉกเช่นกับคดีต่างประเทศ กล่าวคือ ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับความยินยอมนั้นจะได้รับความคุ้มครองเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเองควรแปลความหมายเช่นใด? โดยเฉพาะข้อยกเว้นเรื่องความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยในข้อ 1.1 และความเสียหายต่อทรัพย์สินในข้อ 1.2 ข้างต้น

1) กรณียืมรถของอู่ไปใช้ โดยมีผู้จัดการอู่นั่งไปด้วย แล้วรถยนต์คันนั้นประสบอุบัติเหตุเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของมิสเตอร์เอ็ม ทำให้มิสเตอร์เอ็มและผู้จัดการอู่ได้รับบาดเจ็บไปด้วยกันทั้งสองคน ใครบ้างถือเป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครอง?
      (ก) ผู้จัดการอู่
      (ข) มิสเตอร์เอ็ม
      (ค) ไม่มีผู้ใดเป็นบุคคลภายนอกเลย

2) กรณีลูกขับรถไปพร้อมกับพ่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย แล้วทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ อันเนื่องจากการขับขี่ด้วยความประมาทเลินเล่อของลูก ใครบ้างถือเป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครอง?
      (ก) พ่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย
      (ข) ลูกซึ่งเป็นผู้ขับขี่
      (ค) ไม่มีผู้ใดเป็นบุคคลภายนอกเลย

3) กรณียืมรถของอู่ไปใช้ โดยมีผู้จัดการอู่นั่งไปด้วย มิสเตอร์เอ็มได้ขับรถยนต์คันนั้นไปเฉี่ยวชนประตูกำแพงของอู่ได้รับความเสียหาย กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของอู่จะให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?

4) กรณีลูกขับรถไปยังบริษัทประกันภัยเพื่อขอรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันนั้นเอง ระหว่างขับเข้าไปข้างใน ได้เกิดเฉี่ยวชนทำให้ทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ของบริษัทประกันภัยนั้นได้รับความเสียหาย จะสามารถเรียกร้องให้กรมธรรม์ประกันภัยของตนฉบับนั้นคุ้มครองได้หรือไม่?

ท่านจะพิจารณาให้คำตอบข้อเหล่านี้ได้อย่างไรบ้างครับ?

ส่วนตัวของผม เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยข้างต้น มีความเห็นดังนี้

1) ตามเงื่อนไขแล้ว ควรเลือกข้อ (ก) ผู้จัดการอู่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะมิใช่เป็นลูกจ้างของผู้ขับขี่ ดั่งที่ได้อธิบายไว้ในคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ 

แต่ผมขอเลือกข้อ (ค) ไม่มีผู้ใดเป็นบุคคลภายนอกเลยแทน เนื่องจากเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6249/2541 เจ้าของรถยนต์จะรับผิดหรือร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิด ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของรถยนต์เป็นผู้กระทำละเมิด คือ เป็นผู้ขับด้วยตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีเจ้าของรถยนต์ต้องร่วมรับผิดกับบุคคลอื่นในผลแห่งการละเมิด ต้องเป็นกรณีผู้กระทำละเมิดเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของเจ้าของรถยนต์ หรือเจ้าของรถยนต์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ขณะเกิดเหตุ โดยเจ้าของรถยนต์โดยสารไปด้วย ตามมาตรา 425, 427 และ 437 (มาตรา 437 วรรคหนึ่ง "บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบ เพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง")

2) ข้อ (ค) ไม่มีผู้ใดเป็นบุคคลภายนอกเลย

3) อยากจะตอบว่า ไม่คุ้มครองโดยเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาอ้างอิงในข้อ 1)  

แต่ลังเลใจ เพราะผมอ่านเงื่อนไขข้อ 1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งระบุให้ความคุ้มครองถึง “ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย” 

ครั้นย่อหน้าถัดมา อ่านแล้วเข้าใจว่า สามารถจำแนกความหมายของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครองของข้อ (ก) ข้างต้นออกได้เป็นข้อย่อย ๆ ประกอบด้วย

    3.1) ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย
    3.2) ทรัพย์สินที่ผู้ขับขี่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย    
    3.3) ทรัพย์สินที่คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง
    3.4) ทรัพย์สินที่คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง

รู้สึกสับสนเสมือนหนึ่งจะไม่คุ้มครองทรัพย์สินใด ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลภายนอกหรือไม่ก็ตาม หากว่าเกิดจากความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่แล้ว ล้วนไม่คุ้มครองทั้งสิ้น ซึ่งไม่น่าจะมีเจตนารมณ์เช่นนั้น เนื่องจากถ้าปรับถ้อยคำใหม่เป็น “3.1) ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง และ 3.2) ทรัพย์สินที่ผู้ขับขี่เป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง” ดังเช่นกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอื่นน่าจะสมเหตุผลมากกว่า

(4) อยากจะเชื่อว่า บริษัทประกันภัยคงจะยอมให้ความคุ้มครองตนเองได้นะครับ มิฉะนั้น หากจะให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่รับผิดชอบเอง ดูออกจะแปลกเหมือนกัน

ที่หยิบยกเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะเท่าที่อ่านตัวอย่างของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ต่างประเทศค่อนข้างชัดเจนกว่า

เรื่องต่อไปยังตัดสินเลือกไม่ถูก รอดูสัปดาห์หน้าก็แล้วกันครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น