เรื่องที่ 111: คุณเห็นคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ควรจะหมายความรวมถึงสิ่งนี้ได้บ้างไหม?
(ตอนที่สอง)
เรามาคุยกันต่อถึงความหมายของคำว่า “ยานพาหนะ (Vehicles)” ในคดีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องเรียกร้องบริษัทประกันภัยของตนเป็นจำเลยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกฎข้อบังคับของกฎหมายซึ่งแม้จะตกอยู่ในข้อยกเว้น
แต่ก็จะคุ้มครองให้หากมีสาเหตุจากภัยยานพาหนะ (มิได้ถูกกำหนดคำนิยามไว้)
โดยผู้เอาประกันภัยอ้างอิงพจนานุกรม Merriam-Webster’s
Collegiate Dictionary กับ Black’s Law Dictionary ซึ่งให้ความหมายของ
“ยานพาหนะ (Vehicles)” หมายความถึง สิ่งที่ใช้นำพา หรือขนส่งบางสิ่ง ฉะนั้น
ถังขยะพลาสติกมีลูกล้อที่ใช้ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรีไซเคิล อันสามารถเข็นเคลื่อนย้ายไปมาได้นั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนดังความหมายเช่นว่านั้นทุกประการ
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ว่า
ถึงแม้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจะมิได้กำหนดคำนิยามของยานพาหนะเอาไว้
แต่ก็ไม่ถือว่ากำกวม หรือไม่ชัดเจน เนื่องจากถ้ามองวัตถุประสงค์หลักของถังนี้ใช้เพื่อเก็บหรือบรรจุสิ่งของเป็นสำคัญ
การที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เป็นเพียงเพื่อความสะดวกช่วงเวลาจะนำพาไป
เวลาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่กับที่ ซึ่งต่างจากยานพาหนะที่คนทั่วไปนึกคิดและเข้าใจซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการใช้นำพาคนหรือสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งมากกว่าที่จะปล่อยให้อยู่เฉย
ๆ กับที่ แม้ถังขยะนี้กับยานพาหนะที่คนทั่วไปเข้าใจนั้นล้วนต่างมีคุณสมบัติใช้เก็บสิ่งของและใช้ขนนำพาไปได้เช่นเดียวกันก็ตาม
ยิ่งกว่านี้ บางพจนานุกรมยังได้ยกตัวอย่างประกอบขยายความเพิ่มเติมอีก เช่น รถ เรือ
เครื่องบิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้จัดการอะพาร์ตเมนต์เองได้เบิกความตอบข้อซักถามของทนายว่า
ตนก็ไม่คิดว่า กระเป๋าเดินทางมีลูกล้อจัดอยู่ในความหมายของยานพาหนะได้
ฉะนั้น การแปลความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องพิจารณาถ้อยคำทั้งหมดเพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริง
หรือที่ควรจะเป็น มิใช่เพียงอาศัยจากพจนานุกรมซึ่งอาจมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ
เมื่อเทียบเคียงกับภัยคุ้มครองอื่นที่ถูกกำหนดอยู่ในข้อยกเว้นนี้
ได้กล่าวถึงภัยอากาศยานเอาไว้ด้วย อันจัดอยู่ในกลุ่มยานพาหนะจำพวกเดียวกัน
แต่คงไม่สามารถนำเอาถังขยะไปจัดเทียบเคียงกับเครื่องบินโบอิ้งได้อย่างแน่นอน
ประกอบกับการพิจารณาถึงลักษณะความรุนแรงเวลาที่ภัยจากกลุ่มยานพาหนะเช่นนี้สามารถก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นมาได้
ถังขยะก็ไม่อาจเทียบเคียงได้เช่นเดียวกัน
ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามฟ้อง
ฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์
และศาลอุทธรณ์ยืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น
คดีนี้เป็นอันถึงสิ้นสุด เนื่องจากฝ่ายโจทก์พิจารณาแล้วน่าจะลุ้นต่อไปได้ลำบากมาก
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี
1070 Park Avenue Corporation v. Fireman’s
Fund Insurance Company, No. 17 CIV. 2474 (CM) (2d Cir. June 29, 2018))
สำหรับบ้านเรา
โชคดีที่ได้มีการขยายถ้อยคำของยานพาหนะค่อนข้างชัดเจน เช่น
1) ภัยจากการเฉี่ยว
และหรือการชนของยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น (กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย)
2) ข้อยกเว้นยานพาหนะทางบกที่จดทะเบียนสำหรับใช้บนถนน (รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องตกแต่งทุกชนิด)
หัวรถจักร
รถไฟ ยานพาหนะทางน้ำ อากาศยาน ยานอวกาศ หรือสิ่งอื่นที่คล้ายคลึงกัน
(กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน)
3) ข้อยกเว้นยานพาหนะทุกชนิดที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์
รวมทั้งเครื่องจักรหรือยานใด ๆ ที่ดันหรือลากโดยเครื่องยนต์ (กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก)
4) ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ก็ใช้คำว่า
“รถยนต์ (Motor Vehicle)” ตรง
ๆ ไปเลย
ข้อยกเว้นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังคดีศึกษาข้างต้นนั้น
สามารถจะขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ หรือเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติม
ซึ่งต่างประเทศจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า Public Authorities
Clause, Civil Authority Clause, Ordinance or Law Coverage Endorsement
ขณะที่บ้านเราเรียกว่า
เอกสารแนบท้ายว่าด้วยคำสั่งเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (Public
Authorities Clause) และเอกสารแนบท้ายว่าด้วยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม
เนื่องมาจากกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่ออกโดยอำนาจของกฎหมาย (Increased Costs of Repair Due to Laws or
By – Laws)
ซึ่งจะนำมาขยายความเป็นเรื่องต่อไปครับ
เรื่องต่อไป
คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายว่าอย่างไร?
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet
Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น