วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 98: ผู้ขับขี่ขับรถไปรถเกิดน้ำมันหมดกลางท...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 98: ผู้ขับขี่ขับรถไปรถเกิดน้ำมันหมดกลางท...: เรื่องที่ 98: ผู้ขับขี่ขับรถไป รถเกิดน้ำมันหมดกลางทาง จึงจอดรถและวิ่งข้ามถนนไปขอความช่วยเหลือ แล้วถูกรถคันอื่นชน ถือเป็นอุบัติเหตุเนื่องจาก...
เรื่องที่ 98: ผู้ขับขี่ขับรถไป
รถเกิดน้ำมันหมดกลางทาง จึงจอดรถและวิ่งข้ามถนนไปขอความช่วยเหลือ
แล้วถูกรถคันอื่นชน ถือเป็นอุบัติเหตุเนื่องจากการใช้รถของตนเองหรือไม่?
ประมาณหนึ่งทุ่มของวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1992
ขณะที่นายวิเศษกำลังขับรถยนต์อยู่บนทางหลวงสายหนึ่ง จู่ ๆ
ก็เห็นนางสวยวิ่งข้ามถนนเข้ามาหา จึงถูกรถของนายวิเศษชนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และรถได้เสียหลักจนทำให้นายวิเศษก็ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศรีษะด้วยเช่นกัน
นายวิเศษได้ฟ้องเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกของนางสวยซึ่งได้เสียชีวิตลงเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว กับบริษัทประกันภัยรถยนต์ของนางสวยให้รับผิดชอบร่วมกัน
สำหรับความบาดเจ็บทางร่างกาย และความเสียหายของตนที่เกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของนางสวยดังกล่าว
เนื่องด้วยบริษัทประกันภัยรถยนต์ของนางสวยได้ปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชอบให้
ถึงแม้ผู้จัดการมรดกจะยอมรับผิดแล้วก็ตาม
จากพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า
ประมาณสิบนาทีก่อนหน้าจะเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
นางสวยได้ขับรถยนต์ของตนไปตามถนนหลวงสายนั้นเช่นกัน แต่ปรากฏว่า รถเกิดน้ำมันหมด
เธอจึงขับไปจอดรถไว้ข้างทางพร้อมเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินเอาไว้ด้วย และได้ลงมายืนอยู่ท้ายรถเพื่อจะขอความช่วยเหลือ
โชคดีที่เพื่อนของเธอบังเอิญขับรถผ่านมาพอดี และได้จอดรถตรงอีกฝากของถนน
หลังจากที่ร้องตะโกนคุยกัน
นางสวยได้ตัดสินใจวิ่งข้ามถนนไปจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นมาในที่สุด
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้ว
ตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจฉบับดังกล่าว
บริษัทประกันภัยนั้นยื่นอุทธรณ์ โดยมีประเด็นข้อโต้แย้งหลักอยู่สองข้อ
อันได้แก่
1) นางสวย
ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทกำลังอยู่ในระหว่างการใช้ (use) รถคันที่เอาประกันภัยของตนอยู่หรือไม่?
2) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจาก
หรือเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ (use) รถคันที่เอาประกันภัยของนางสวยอยู่หรือไม่?
บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยให้การโต้แย้งว่า
1) แม้นางสวยอยู่ในช่วงการใช้รถของตน
แต่เมื่อได้จอดรถไว้อย่างถูกต้อง และได้ออกมายืนอยู่ภายนอกตัวรถอย่างปลอดภัยแล้ว
เป็นช่วงระยะเวลานานถึงสิบนาที หรือนานกว่านั้น ถือเป็นอันสิ้นสุดการใช้รถในเวลานั้นแล้ว
2) การตัดสินใจวิ่งข้ามถนน
มิได้เกี่ยวข้องกับการใช้รถซึ่งจอดอยู่ ดังนั้น ความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจึงมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถของนางสวยแต่ประการใด
อันที่จริง เวลานั้นนางสวยอยู่ในสถานะของคนเดินถนนมากกว่า
ซึ่งได้วิ่งข้ามถนนไปเพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนจนกระทั่งได้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้นมา
3) ความบาดเจ็บของนายวิเศษ โจทก์คดีนี้
จึงมิได้เกิดขึ้นโดยตรงจากรถคันของนางสวยเลย
4) อนึ่ง การอ้างว่า
นางสวยวิ่งไปขอความช่วยเหลือนั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน
เป็นเพียงข้อสันนิษฐานมากกว่า นางสวยอาจมิได้ยินคำพูดของเพื่อน
จึงได้วิ่งข้ามถนนไปเพื่อสอบถามให้ชัดเจน ก็อาจเป็นได้
ศาลอุทธรณ์ได้พิเคราะห์รายละเอียดแห่งคดีแล้ว
วินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นซึ่งตัดสินว่า
(1) นางสวยได้วิ่งข้ามถนนไปโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้นายวิเศษ
โจทก์ได้รับบาดเจ็บ (จนตนเองเสียชีวิตด้วย)
(2) เชื่อว่า นางสวยได้วิ่งข้ามถนนไปก็เพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในการจัดหาน้ำมันมาเติมรถของตน
อันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการใช้รถของนางสวยเอง เพราะไม่มีเหตุผลอย่างอื่นที่ทำให้น่าเชื่อถือได้ว่า
นางสวยวิ่งข้ามถนนไปด้วยเหตุผลอื่น
(3) ความบาดเจ็บของโจทก์ได้เกิดขึ้นเนื่องมาจาก
(arose out of)
การใช้รถของนางสวย ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับในเวลาพิจารณาคดีด้วยว่า ถ้ารถเกิดน้ำมันหมดใกล้ปั้มน้ำมัน
แล้วผู้ขับขี่เดินไปซื้อน้ำมันใส่ถังมาเติม ยังถืออยู่ในช่วงเวลาการใช้รถของตนอยู่
ฉะนั้น ระยะห่างจึงมิใช่เครื่องวัดได้อย่างชัดเจน
ขึ้นอยู่กับข้อความจริงแห่งคดีแต่ละคดีมากกว่า
(4) เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ระบุว่า
“คุ้มครองความบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจาก (caused by) หรือเนื่องมาจาก
(arose out of)
การใช้รถ ....”
แนวทางการตีความทั่วไปของศาล
สำหรับคำว่า “สาเหตุมาจาก (caused by)” หมายความถึง ความเกี่ยวข้องโดยตรง
หรือโดยใกล้ชิดระหว่างเหตุ (cause) และผล (effect) ที่เกิดขึ้น ส่วนคำว่า
“เนื่องมาจาก (arose out of)”
นั้นจะให้ความหมายที่กว้างกว่า โดยไม่จำต้องใกล้ชิดอย่างฉับพลันทันทีก็ได้ แต่ต้องส่งผลสืบเนื่องเกี่ยวข้องกันตามสมควร
ด้วยเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ของนางสวยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายวิเศษ
โจทก์
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Dunthorne
v. Bentley [1999] Lloyd's Rep. I.R.
560 ( C.A.))
เรื่องต่อไป:
รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีผู้ขับขี่หนึ่งกับผู้โดยสารอีกสี่ได้รับบาดเจ็บ
จะนับเป็นกี่อุบัติเหตุ (Accident)
กันแน่?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook
Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: ..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 97: ลู...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: ..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 97: ลู...: ..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างห... : เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้าง...
เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างหลายครั้ง กินเวลาหลายปี
จะถือเป็นเหตุการณ์ (Occurrence) เดียว หรือหลายเหตุการณ์ และจะเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้าง
(Employee Dishonesty Insurance) ซึ่งต่ออายุมาตลอดได้กี่ฉบับ?
(ตอนที่สาม)
เรามาดูอีกสองคดีศึกษาที่เหลือกัน
คดีศึกษาที่สอง
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ประกอบกิจการโมเต็ลให้เช่าห้องพักมีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้าง
(Employee Dishonesty Insurance) ไว้สองฉบับต่อเนื่องกัน ได้แก่
ฉบับแรก ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2000 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม
ค.ศ. 2001
ฉบับที่สอง ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2001 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม
ค.ศ. 2002
กำหนดวงเงินความคุ้มครองสูงสุด
100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อเหตุการณ์ (Occurrence)
แต่ละครั้ง
คำจำกัดความ
“เหตุการณ์ (occurrence)” หมายความถึง “ความสูญเสียทั้งหมดอันมีสาเหตุมาจาก หรือเกี่ยวข้องกับลูกจ้างหนึ่งราย
หรือหลายรายซึ่งก่อให้เกิดผลจากการกระทำเพียงครั้งเดียว หรือหลายครั้งต่อเนื่องกัน
(series of acts)”
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2002 ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ตรวจสอบพบว่า
ลูกจ้างรายหนึ่งได้แอบนำเงินของนายจ้างไปเป็นของตนโดยใช้กลฉ้อฉลต่าง ๆ นา ๆ
เป็นต้นว่า ให้ลูกค้าเข้าพักโดยไม่ลงทะเบียน ขายสินค้าไม่ลงบิล
ปรับเปลี่ยนตัวเลขบัญชีเพื่อนำส่งเงินไม่ครบจำนวน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998
เรื่อยมาจนสามารถตรวจพบในที่สุด รวมเป็นเงินที่นาจ้างสูญเสียไปทั้งสิ้น 324,834.69
ดอลล่าร์สหรัฐ
เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนทำการชดใช้ตามจำนวนเงินดังกล่าว
ก็ได้รับแจ้งกลับมาว่า จะยินดีรับผิดชอบเฉพาะช่วงเวลาที่ลูกจ้างกระทำทุจริตภายในระยะเวลาประกันภัย
คือ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป
ในวงเงินสูงสุดเพียงเหตุการณ์เดียว 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้โต้แย้งว่า
ตนมีช่วงระยะเวลาประกันภัยสองช่วง และการกระทำของลูกจ้างรายนี้ใช้กลฉ้อฉลหลากหลายวิธีที่ไม่เกี่ยวเนื่องกัน
จึงถือแยกออกเป็นได้หลายเหตุการณ์
มิใช่เพียงหนึ่งเหตุการณ์ดังที่บริษัทประกันภัยกล่าวอ้าง
เมื่อตกลงกันไม่ได้
จึงมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลให้พิจารณาตัดสิน ศาลเห็นว่า
ที่ผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้างว่า ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวมีข้อความไม่ชัดเจนนั้น
ศาลไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากเงื่อนไขข้อหนึ่งระบุว่า
หากมีความสูญเสียที่ได้รับความคุ้มครองบางส่วนอยู่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
และบางส่วนอยู่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับก่อนหน้าที่สิ้นสุดความคุ้มครองไปแล้ว
ความรับผิดสูงสุดของบริษัทประกันภัยที่จะชดใช้ให้ไม่เกินกว่าวงเงินใดที่มากกว่าระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้หรือฉบับก่อนหน้า
โดยไม่คำนึงว่าจะยังมีระยะเวลาประกันภัยซึ่งมีผลบังคับอยู่ต่อไปอีกกี่ปี
หรือกระทั่งจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้ชำระมา ทั้งนี้ จะไม่มีวงเงินความคุ้มครองสะสมในแต่ละปี
หรือแต่ละช่วงระยะเวลาแต่ประการใด
ส่วนกลวิธีฉ้อฉลที่หลากหลายนั้นไม่ส่งผลทำให้แยกออกเป็นหลายเหตุการณ์ได้
เนื่องจากทุกกลวิธีล้วนมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ
การนำเงินของนายจ้างไปโดยทุจริตของลูกจ้างรายเดียวกันนั่นเอง ศาลจึงพิพากษาให้บริษัทประกันภัยรับผิดชดใช้เพียงหนึ่งเหตุการณ์เป็นจำนวนเงิน
100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
(อ้างอิงจากคดี Wausau Business Ins. Co. v. US Motels Management, Inc., 341 F. Supp. 2d 1180 (D. Colo. 2004))
คดีศึกษาที่สาม
ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งได้ทำประกันภัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้างรายปีสองฉบับเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันในช่วงระหว่างเดือนเมษายน
ค.ศ. 1996 ถึง ค.ศ.
1998 โดยมีวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 25,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
ต่อเหตุการณ์ (Occurrence) แต่ละครั้ง
ช่วงปลายปี
ค.ศ. 1997 นายจ้างรายนี้สามารถตรวจเจอการทุจริตของลูกจ้างสองรายซึ่งต่างได้แยกกันกระทำโดยมิได้นัดหมาย
หรือรับรู้ซึ่งกันและกันได้ โดยเป็นช่วงระยะเวลาคาบเกี่ยวทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย
ลูกจ้างคนแรกได้เงินไปประมาณ 32,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
และลูกจ้างคนที่สอง 31,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
คดีนี้
บริษัทประกันภัยตกลงจะรับผิดเฉพาะช่วงระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่สอง ในวงเงินสูงสุด
25,000 ดอลล่าร์สหรัฐเพียงหนึ่งเหตุการณ์เท่านั้น
ศาลชั้นต้นไม่เห็นด้วย
และวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรับผิดช่วงระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรกด้วย
เพราะจากพยานหลักฐานที่ปรากฏ การกระทำความผิดส่วนใหญ่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
คดีได้ขึ้นสู่ชั้นศาลอุทธรณ์
ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับการตีความหมายของคำจำกัดความ “เหตุการณ์ (occurrence)”
ของบริษัทประกันภัยที่อ้างข้อความ “เกี่ยวข้องกับลูกจ้างหนึ่งราย
หรือหลายรายซึ่งก่อให้เกิดผลจากการกระทำเพียงครั้งเดียว หรือหลายครั้งต่อเนื่องกัน
(series of acts)” นั้น หมายความถึง ลูกจ้างทำคนเดียว หรือทำหลายคนร่วมกัน หรือต่างคนต่างทำ
ล้วนถือเป็นเหตุการณ์เดียวกันทั้งหมด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า น่าจะหมายความถึง
เพียงการกระทำของลูกจ้างหลายรายที่เกี่ยวข้องสมรู้ร่วมคิดกันเท่านั้น
มิใช่หมายความรวมไปถึงลูกจ้างที่ต่างกระทำโดยไม่ได้สมคบกันด้วย
จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้บริษัทประกันภัยรับผิดทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว
(อ้างอิงจากคดี Ran-Nan, Inc. v.
General Accident Insurance Company of American, 252 F. 3d 738 (5th Cir. 2001))
ข้อสรุป
จากคดีศึกษาทั้งสามคดีประกอบกับข้อกำหนดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเอง
แสดงถึงจุดประสงค์ของผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยที่ต้องการจำกัดความรับผิดของตนเองอยู่เพียงหนึ่งเหตุการณ์
และวงเงินความคุ้มครองสูงสุดเดียวเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงจำนวนระยะเวลาประกันภัยที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวกัน
ซึ่งแนวคำพิพากษาของศาลต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ตีความหมายสอดคล้องกัน อาจมีศาลต่างประเทศส่วนน้อยที่ตีความให้วงเงินความคุ้มครองสามารถสะสมเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาประกันภัย
อย่างไรก็ดี
จำต้องพิจารณาข้อความจริงแต่ละคดีประกอบกับถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับด้วย
ซึ่งยังมิได้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
ในคำถามของบทความเรื่องนี้ตอนที่หนึ่ง
คำตอบข้อ 2) 50,000 บาท น่าจะถูกต้องที่สุดแล้ว
เรื่องต่อไป
ผู้ขับขี่ขับรถไป รถเกิดน้ำมันหมดกลางทาง จึงจอดรถและวิ่งข้ามถนนไปขอความช่วยเหลือ
แล้วถูกรถคันอื่นชน ถือเป็นอุบัติเหตุเนื่องจากการใช้รถของตนเองหรือไม่?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook
Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างห...
..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างห...: เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างหลายครั้ง กินเวลาหลายปี จะถือเป็นเหตุการณ์ (Occurrence) เดียว หรือหลายเหตุการณ์ และจะเรีย...
เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างหลายครั้ง กินเวลาหลายปี
จะถือเป็นเหตุการณ์ (Occurrence) เดียว หรือหลายเหตุการณ์ และจะเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้าง
(Employee Dishonesty Insurance) ซึ่งต่ออายุมาตลอดได้กี่ฉบับ?
(ตอนที่สอง)
เพื่อหาคำเฉลยจากคำถามที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้ว
เราลองพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันสักสามคดีนะครับ
คดีศึกษาที่หนึ่ง
ผู้เอาประกันภัยได้ทำประกันภัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้าง
(Employee Dishonesty Insurance) ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุจะชดใช้ความสูญเสียที่ผู้เอาประกันภัยได้รับเนื่องจากการกระทำ
หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ อันทุจริตของลูกจ้างที่เกิดขึ้นในเวลาใด ๆ และผู้เอาประกันภัยได้ค้นพบระหว่างระยะเวลาประกันภัย
ในวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง (any one occurrence) และมีจำนวนเงินความเสียหายส่วนแรก
(deductible) ที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองอยู่ 250
ดอลล่าร์สหรัฐ
ทั้งนี้ โดยกำหนดคำจำกัดความ “เหตุการณ์ (occurrence)” ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ว่า หมายความถึง “ความสูญเสียทั้งหมดอันมีสาเหตุมาจาก
หรือเกี่ยวข้องกับลูกจ้างหนึ่งราย หรือหลายรายซึ่งก่อให้เกิดผลจากการกระทำเพียงครั้งเดียว
หรือหลายครั้งต่อเนื่องกัน (series
of acts)” ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ซื้อความคุ้มครองเอาไว้ตั้งแต่ปี
ค.ศ. 2000 และได้ต่ออายุเรื่อยมา
ในปี ค.ศ. 2002 ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้พบว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานบัญชีรายหนึ่งได้กระทำการทุจริตด้วยการปลอมแปลงเช็คของบริษัทเพื่อให้ได้เงินเข้ากระเป๋าของตนเองเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นมากกว่า
500,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ในช่วงระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา
เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งห้าปีต่อบริษัทประกันภัย
กลับได้รับคำตอบว่า บริษัทประกันภัยจะยินดีชดใช้ให้เพียงแค่ 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงจำต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล
ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้
คือ การทุจริตของลูกจ้างรายเดียวดังกล่าว
ซึ่งได้กระทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาติดต่อกันห้าปี โดยที่การกระทำทุจริตแต่ละครั้งถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ดังที่ผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องมา
หรือการทุจริตรวมทั้งหมดแล้วเป็นเพียงแค่หนึ่งเหตุการณ์ตามที่บริษัทประกันภัยโต้แย้งกันแน่?
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วตัดสินให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นฝ่ายชนะคดี
เมื่อบริษัทประกันภัยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้บริษัทประกันภัยชนะคดี
ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงยื่นฎีกา
โดยที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้อ้างว่า
ข้อกำหนดเรื่องเหตุการณ์ (occurrence) ของกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีความชัดเจน
อ่านแล้วอาจตีความได้หลากหลาย อาจหมายความถึง กล่าวคือ
(1) การกระทำทุจริตแต่ละครั้งถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์
หรือ
(2) การกระทำทุจริตรวมกันในแต่ละระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปีถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์
หรือ
(3) การกระทำทุจริตของลูกจ้างหลายคนที่ไม่เกี่ยวข้องกันถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์
ซึ่งกรณีนี้ ดูไม่น่าเป็นธรรม
เมื่อเป็นเช่นนี้
จึงควรตีความเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายที่มิได้เป็นผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยจะดีกว่า
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว
ไม่เห็นว่า ข้อความดังกล่าวปราศจากความไม่ชัดเจนตรงใด คนทั่วไปอ่านแล้ว
น่าจะสามารถเข้าใจได้ ศาลฎีกากลับมองว่า การตีความให้เป็นหลายเหตุการณ์ดังที่ผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้างนั้น
อาจจะส่งผลเสียให้เกิดขึ้นได้ในกรณีการทุจริตด้วยวงเงินทีละเล็กละน้อยในแต่ละครั้ง
แต่ละเหตุการณ์ ก็จะไม่สามารถได้รับความคุ้มครองเลยก็ได้ เนื่องจากมีจำนวนเงินต่ำกว่าจำนวนเงินความเสียหายส่วนแรก (deductible)
ที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองตามกรมธรรม์ประกันภัย ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า
การตีความกรณีนี้ให้เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์สมเหตุผลแล้ว ให้บริษัทประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียง
50,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี
Employers
Mutual Casualty Company v. DGG & CAR, Inc., 183 P.3d 513 (Ariz. 2008))
พบกับตัวอย่างคดีศึกษาที่สองกับที่สามพร้อมบทสรุปในตอนต่อไปนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook
Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)