วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างหลายครั้ง กินเวลาหลายปี จะถือเป็นเหตุการณ์ (Occurrence) เดียว หรือหลายเหตุการณ์ และจะเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้าง (Employee Dishonesty Insurance) ซึ่งต่ออายุมาตลอดได้กี่ฉบับ? 


(ตอนที่สอง)

เพื่อหาคำเฉลยจากคำถามที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้ว เราลองพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันสักสามคดีนะครับ

คดีศึกษาที่หนึ่ง

ผู้เอาประกันภัยได้ทำประกันภัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้าง (Employee Dishonesty Insurance) ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุจะชดใช้ความสูญเสียที่ผู้เอาประกันภัยได้รับเนื่องจากการกระทำ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ อันทุจริตของลูกจ้างที่เกิดขึ้นในเวลาใด ๆ และผู้เอาประกันภัยได้ค้นพบระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง (any one occurrence) และมีจำนวนเงินความเสียหายส่วนแรก (deductible) ที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองอยู่ 250 ดอลล่าร์สหรัฐ

ทั้งนี้ โดยกำหนดคำจำกัดความ “เหตุการณ์ (occurrence)” ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ว่า หมายความถึง “ความสูญเสียทั้งหมดอันมีสาเหตุมาจาก หรือเกี่ยวข้องกับลูกจ้างหนึ่งราย หรือหลายรายซึ่งก่อให้เกิดผลจากการกระทำเพียงครั้งเดียว หรือหลายครั้งต่อเนื่องกัน (series of acts)ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ซื้อความคุ้มครองเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และได้ต่ออายุเรื่อยมา

ในปี ค.ศ. 2002 ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้พบว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานบัญชีรายหนึ่งได้กระทำการทุจริตด้วยการปลอมแปลงเช็คของบริษัทเพื่อให้ได้เงินเข้ากระเป๋าของตนเองเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นมากกว่า 500,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ในช่วงระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา

เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งห้าปีต่อบริษัทประกันภัย กลับได้รับคำตอบว่า บริษัทประกันภัยจะยินดีชดใช้ให้เพียงแค่ 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงจำต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล

ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ คือ การทุจริตของลูกจ้างรายเดียวดังกล่าว ซึ่งได้กระทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาติดต่อกันห้าปี โดยที่การกระทำทุจริตแต่ละครั้งถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ดังที่ผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องมา หรือการทุจริตรวมทั้งหมดแล้วเป็นเพียงแค่หนึ่งเหตุการณ์ตามที่บริษัทประกันภัยโต้แย้งกันแน่?

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วตัดสินให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นฝ่ายชนะคดี เมื่อบริษัทประกันภัยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้บริษัทประกันภัยชนะคดี ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงยื่นฎีกา

โดยที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้อ้างว่า ข้อกำหนดเรื่องเหตุการณ์ (occurrence) ของกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีความชัดเจน อ่านแล้วอาจตีความได้หลากหลาย อาจหมายความถึง กล่าวคือ

(1) การกระทำทุจริตแต่ละครั้งถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ หรือ
(2) การกระทำทุจริตรวมกันในแต่ละระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปีถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ หรือ
(3) การกระทำทุจริตของลูกจ้างหลายคนที่ไม่เกี่ยวข้องกันถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ ซึ่งกรณีนี้ ดูไม่น่าเป็นธรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรตีความเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายที่มิได้เป็นผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยจะดีกว่า

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ไม่เห็นว่า ข้อความดังกล่าวปราศจากความไม่ชัดเจนตรงใด คนทั่วไปอ่านแล้ว น่าจะสามารถเข้าใจได้ ศาลฎีกากลับมองว่า การตีความให้เป็นหลายเหตุการณ์ดังที่ผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้างนั้น อาจจะส่งผลเสียให้เกิดขึ้นได้ในกรณีการทุจริตด้วยวงเงินทีละเล็กละน้อยในแต่ละครั้ง แต่ละเหตุการณ์ ก็จะไม่สามารถได้รับความคุ้มครองเลยก็ได้ เนื่องจากมีจำนวนเงินต่ำกว่าจำนวนเงินความเสียหายส่วนแรก (deductible) ที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองตามกรมธรรม์ประกันภัย ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า การตีความกรณีนี้ให้เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์สมเหตุผลแล้ว ให้บริษัทประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียง 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐ

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Employers Mutual Casualty Company v. DGG & CAR, Inc., 183 P.3d 513 (Ariz. 2008))

พบกับตัวอย่างคดีศึกษาที่สองกับที่สามพร้อมบทสรุปในตอนต่อไปนะครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น