วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 60: ผู้เช่าบ้านทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเช่า หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองบ้านเช่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าบ้านได้หรือไม่?



(ตอนที่สอง)
เมื่อบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้เช่ากับบุตรเป็นจำเลย โทษฐานร่วมกันกระทำละเมิดทำให้เกิดไฟไหม้แก่บ้านเช่า ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ชนะคดี
ฝ่ายจำเลยจึงนำเรื่องสู่ชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ฝ่ายจำเลยชนะคดี ด้วยเหตุผลที่ว่า ศาลได้พินิจพิเคราะห์จากพยานหลักฐานและข้อความจริงต่าง ๆ แล้ว มองว่า ผู้เช่านั้นเปรียบเสมือนเป็นผู้เอาประกันภัยร่วม (implied co-insured) ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคีภัยของผู้ให้เช่าเอง เพราะทั้งผู้ให้เช่ากับผู้เช่าต่างก็มีส่วนได้เสียอยู่ในบ้านหลังเดียวกันนั้น กล่าวคือ ผู้ให้เช่ามีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนผู้เช่าก็มีส่วนได้เสียในฐานะผู้ครอบครอง เมื่อผู้ให้เช่าได้จัดทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านหลังนั้น ได้นำเอาเบี้ยประกันภัยมาคิดคำนวณรวมอยู่ในค่าเช่าบ้านด้วย ส่งผลทำให้ผู้เช่าเป็นผู้มีส่วนชำระค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยดังกล่าวด้วย ถึงแม้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น จะระบุเพียงชื่อผู้ให้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงรายเดียวเท่านั้น เพราะผู้เช่าโดยทั่วไปก็คาดหวังว่า ผู้ให้เช่าคงจัดทำประกันภัยคุ้มครองสถานที่เช่าเองอยู่แล้ว นอกเสียจากในสัญญาเช่าจะระบุเอาไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง ให้ผู้เช่าเป็นผู้จัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยนั้นคุ้มครองแทน หรือต่างฝ่ายต่างซื้อ ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยซ้ำซ้อนกัน เทียบเคียงได้กับผู้ให้เช่ากับผู้เช่ารถยนต์ แม้ผู้เช่าจะเป็นคนทำให้รถยนต์เสียหายโดยประมาทเลินเล่อ บริษัทประกันภัยรถยนต์ของผู้ให้เช่า ภายหลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าไปแล้ว ก็มิได้มาสวมสิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าแต่อย่างใด
ทั้งอาจยังก่อให้เกิดคดีฟ้องร้องไล่เบี้ยกันไปมาระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า ซึ่งต่างฝ่ายอาจเป็นฝ่ายกระทำละเมิดระหว่างกันขึ้นมาได้ อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นมาก็ได้เช่นกัน
ตราบเท่าที่สัญญาเช่าบ้านในคดีนี้ มิได้ข้อกำหนดอย่างชัดแจ้งเป็นอย่างอื่นดังกล่าว จึงพิจารณาผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับนี้ ดังนั้น ผู้เช่ามิใช่เป็นบุคคลภายนอก อันจะทำให้บริษัทประกันภัยรายนี้สามารถรับช่วงสิทธมาไล่เบี้ยได้ตามกฎหมายดังกล่าว (อ้างอิงจากคดี Sutton v. Jondahl, 532 P.2d 478, 482 (Ct. App. Okla. 1975))
ถึงคดีนี้จะยุติลงเพียงชั้นศาลอุทธรณ์ แต่ก็ก่อให้เกิดเป็นแนวทางที่ถูกใช้อ้างอิงที่เรียกว่า “ทฤษฏีซัตตัน (Sutton Rule)” แก่ศาลต่าง ๆ รวมถึงศาลสูง (ที่ขอเรียกว่า “ศาลฎีกา”) ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดาอย่างกว้างขวาง แต่มิใช่ทุกศาลในแต่ละรัฐจะเห็นด้วยกับทฤษฏีนี้ทั้งหมด บางศาลเห็นว่า ควรใช้กับสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเท่านั้น มิควรนำไปใช้กับสัญญาเช่าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งจะมีข้อกำหนดเงื่อนไขการเช่าที่ซับซ้อนกว่า บางศาลก็เห็นต่างออกไปว่า การตีความเช่นนี้ น่าจะเอื้อประโยชน์แก่ผู้เช่าที่มิได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างสัญญาเช่านั้นมากไปหรือเปล่า? เพราะจะทำให้คนกระทำผิดสามารถลอยนวลได้ อันผิดจากเจตนารมณ์ของหลักการรับช่วงสิทธิ บางศาลบอกว่า คงต้องพิจารณาตามข้อความจริงในแต่ละคดีไป
ตอนต่อไป เราจะข้ามไปพิจารณาผลทางคดีลักษณะนี้ทางฝั่งประเทศอังกฤษกันบ้างนะครับว่า ศาลท่านมีความเห็นแตกต่างกันบ้างหรือเปล่า? แล้วค่อยสรุปเรื่องราวนี้กันท้ายที่สุดอีกครั้ง    

วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 60: ผู้เช่าบ้านทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเช่า หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองบ้านเช่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนไปแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าบ้านได้หรือไม่?



(ตอนที่หนึ่ง)
โดยหลักการของการประกันวินาศภัย ซึ่งมิได้บังคับใช้กับการประกันภัยต่อชีวิต หรือร่างกาย เมื่อมีบุคคลอื่นมากระทำผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยนั้นมีทางเลือกสองทาง คือ ไปเรียกร้องค่าเสียหายเอากับบุคคลอื่นผู้กระทำผิดโดยตรง หรือไม่ก็ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนแทน ครั้นเมื่อบริษัทประกันภัยนั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยของตนตามภาระผูกพันในสัญญาประกันภัยแล้ว บริษัทประกันภัยนั้นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะสวมสิทธิของผู้เอาประกันภัยนั้น ไปเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลอื่นได้ตามจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยนั้นไปคืน ทั้งนี้ โดยเจตนารมณ์ของหลักการนี้ เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดต้องลอยนวล ยังคงต้องรับผิดกับการกระทำของตนเองอยู่ดี ไม่ในทางตรงต่อผู้เอาประกันภัยนั้น หรือก็ต่อบริษัทประกันภัยนั้นที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยนั้นไปก่อนในทางอ้อม
นี่เป็นหลักการสากล และมีกฎหมายรองรับให้มีผลบังคับใช้ในแต่ละประเทศ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น โดยกฎหมายไทยได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ดังนี้
       ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
        ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

ประเด็นคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ว่า “บุคคลภายนอก” ตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้ หรือบางครั้งเรียกว่า “บุคคลอื่น” ควรหมายถึงใครบ้าง? ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก้อหมายถึง ใครก็ได้ที่มิได้ระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในกรมธรรม์ประกันภัย

งั้นเราลองมาพิจารณาคดีนี้กัน ครอบครัวของนายจอห์น จอนดาห์ล เช่าบ้านหลังหนึ่งจากผู้ให้เช่า ชื่อ นายเอิร์ล ซัตตัน ช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีก่อน นายจอห์นได้ซื้อของขวัญซึ่งเป็นเครื่องเล่นทางวิทยาศาสตร์ให้แก่บุตรชายวัยสิบขวบของตน เด็กคนนี้ได้เล่นทดลองผสมสารเคมีทดลองทางวิทยาศาตร์ง่าย ๆ นั้นด้วยความสนใจเป็นพิเศษมาได้ร่วมหนึ่งปีแล้ว โดยมิได้มีเหตุการณ์ที่เลวร้ายอะไรเกิดขึ้นมาเลย

ต้นปีใหม่ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์รายนี้ได้ทำการเล่นทดลองเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เช่นเคย แต่ครั้งนี้ ได้เกิดเปลวไฟลามไปติดผ้าม่านภายในห้องนอน และลุกลามไปทำความเสียหายแก่โครงสร้างส่วนอื่นภายในห้องนอนนั้นด้วย โชคดีที่นายจอห์นมาดับไฟได้ทันก่อนที่จะสร้างไปสร้างความเสียหายมากกว่านี้

เมื่อนายเอิร์ล ผู้ให้เช่าทราบเรื่อง ก็ได้แจ้งให้บริษัทประกันภัยของตนที่ให้ความคุ้มครองแก่บ้านเช่าหลังนี้อยู่ ในชื่อของผู้ให้เช่าเท่านั้น เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ภายหลังจากที่บริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยของตนแล้ว ก็ได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายมาเรียกร้องค่าเสียหายคืนจากนายจอห์นกับลูก ในฐานะผู้ปกครอง และผู้กระทำผิดตามลำดับ

นายจอห์นกับลูกปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่า ตนมิได้เป็น “บุคคลภายนอก” ตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องการรับช่วงสิทธินี้แต่ประการใด

บริษัทประกันภัยรายนี้จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล

คุณจะเดาว่า ผลทางคดีนี้จะออกมาอย่างไรบ้างครับ? สัปดาห์หน้าคุยกัน
 

วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 59: ตั้งใจจับเพื่อนโยนลงสระว่ายน้ำ แต่พลาดลงพื้นแทน ถือเป็นอุบัติเหตุตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนบุคคล (Personal Liability Insurance Policy) หรือไม่?



(ตอนที่สอง)

คดีนี้ในศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์นายตัวเล็ก ซึ่งฟ้องนายตัวใหญ่จำเลยโทษฐานกระทำละเมิดด้วยความประมาทเลินเล่อจนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ระบุว่า ถ้าตนตั้งใจจะทำร้ายโจทก์จริงแล้ว ตนก็แค่ทุบ ตบ ตี ต่อย เตะไปเลยจะไม่ง่ายกว่าเหรอ แต่นี่ตนมิได้เจตนาเช่นนั้น เพียงแค่ตั้งใจจะจับโจทก์โยนลงสระว่ายน้ำ เพื่อแกล้งให้ได้รับความอับอายมากกว่า บังเอิญอาจจะกะระยะพลาดไปหน่อย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของความประมาทเลินเล่อ โดยมิได้เจตนาจะทำร้าย หรือคาดหวังให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บเช่นนั้นเลย 

ศาลชั้นต้นรับฟังและเชื่อว่า จำเลยมิได้มีเจตนาจะทำร้าย หรือมุ่งหวังให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บดังกล่าวจริง เพียงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น ถือเป็นอุบัติเหตุที่บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยร่วมจะต้องรับผิดในนามของนายตัวใหญ่จำเลยนั่นเอง

บริษัทประกันภัยอุทธรณ์ โดยโต้แย้งว่า การกระทำของจำเลยนั้นเป็นการจงใจ อันเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนบุคคล

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า เนื่องด้วยในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว มิได้กำหนดคำนิยาม “อุบัติเหตุ” เอาไว้ จำต้องอาศัยการตีความถ้อยคำตามความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นเกณฑ์ ถ้าถ้อยคำยังมีข้อสงสัย และไม่ชัดเจน ให้ยกประโยชน์แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย ซึ่งมิได้เป็นผู้ร่างถ้อยคำนั้น

เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ของบริษัทประกันภัย ซึ่งกล่าวอ้างว่า การกระทำด้วยความตั้งใจ หรือโดยเจตนา ไม่ถือเป็น “อุบัติเหตุ” ตามจุดประสงค์ของหลักการประกันภัยกับหลักกฎหมายอยู่แล้ว ประกอบกับพจนานุกรมเอง ก็ให้ความหมายเอาไว้ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “อุบัติเหตุ” หมายถึง เหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันคิด ความบังเอิญเป็น) เมื่อนำคำว่า อุบัติเหตุมาอ้างถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความบาดเจ็บแล้ว ต้องหมายความถึงผู้เอาประกันภัยจะต้องมิได้เจตนาที่จะทำให้เกิดความบาดเจ็บตามมาด้วย โดยไม่คำนึงว่า ผู้เอาประกันภัยตั้งใจจะให้เกิดความบาดเจ็บตามมาหรือเปล่า ดังนั้น เมื่อนายตัวใหญ่จำเลยตั้งใจจับโจทก์โยนลงไปในสระแล้ว จึงมิใช่อุบัติเหตุแต่ประการใด โดยไม่จำต้องใส่ใจว่า จะตั้งใจที่จะก่อให้เกิดผลความบาดเจ็บด้วยหรือเปล่า   

แต่ศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่า แนวทางการตีความของศาล สำหรับความหมายของ อุบัติเหตุ ก็ยังไม่มีข้อยุติเป็นแนวทางเดียวกัน บางศาลตีความว่า อุบัติเหตุ” ยังหมายความถึง ผลที่มิได้ตั้งใจ หรือที่มิได้คาดหวังจากการกระทำโดยจงใจ หรือโดยมุ่งหวังนั้นด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่าง ถ้าผู้รับเหมาตั้งใจตอกเสาเข็ม แล้วส่งผลไปทำให้บ้านที่อยู่ข้างเคียงได้รับความเสียหาย หรือคนร้ายตั้งใจจะทำร้ายร่างกายผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือขับรถเร็วเกินกำหนด จนส่งผลทำให้ชนบุคคลอื่น หรือในการตีกอล์ฟ ผู้เล่นกอล์ฟต้องตั้งใจจะตีลูกอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกกอล์ฟเกิดออกนอกทิศทางไปทำความเสียหายให้แก่บุคคลอื่น แล้วทั้งหมดนี้ ล้วนสรุปไม่ถือเป็น “อุบัติเหตุ” ในอันที่จะทำให้กรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ สามารถให้ความคุ้มครองได้ คงไม่น่าจะตีความเช่นนั้นได้

สำหรับคดีนี้ เมื่อพิจารณาถึงพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ถึงแม้นายตัวใหญ่จำเลยตั้งใจจับตัวโจทก์ขึ้นมา และทุ่มโยนไปทางสระว่ายน้ำ แต่เชื่อว่า ก็คงมิได้เจตนา หรือมุ่งหวังให้โจทก์ต้องตกลงไปยังพื้นคอนกรีตจริง น่าเชื่อว่า นายตัวใหญ่จำเลยคงกะระยะพลาด หรือคำนวณแรงเหวี่ยงผิดไป ดังนั้น จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ อันก่อให้เกิดผลโดยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวังดังกล่าวขึ้นมา จึงถือเป็น “อุบัติเหตุ” ซึ่งบริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ (อ้างอิง State Farm Fire & Casualty Co. v. Superior Court, 164 Cal. App. 4th 317 (Cal. Ct. App. 2008))

สรุปความเห็นเพิ่มเติมปิดท้ายเรื่องนี้นะครับว่า ดังที่เคยกล่าวในบทความความหมายของ “อุบัติเหตุ” ในหลายเรื่องที่ผ่านมา หากมิได้มีคำนิยามเฉพาะเอาไว้ จำต้องตีความตามความหมาย และความเข้าใจของคนทั่วไป หรือบางครั้ง อาจมีคำนิยาม แต่ไม่ชัดเจน ก็คงตีความเช่นเดียวกัน โดยทั่วไป แนวทางการตีความของศาลต่างประเทศจะมีอยู่สามทฤษฏี ขอกล่าวย้ำอีกที คือ ทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) เช่น คดีมีเพศสัมพันธ์จนติดโรคร้าย หรือทฤษฏีของผล (Effect Theory) เช่น คดีถูกยุงกัดจนได้รับเชื้อโรคร้าย หรือทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate Events Theory) เช่น คดีกระบะรถดัมพ์เกี่ยวสะพานตกลงมาทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อเนื่อง การจะใช้ทฤษฏีใด คงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลท่านล่ะครับ

บางคราว ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยอาจเขียนค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ดังเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนบุคคลฉบับนี้ที่ระบุว่า “คุ้มครองความเสียหายต่าง ๆ สำหรับความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก .... อันมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) มีคำนิยามว่า หมายความถึงอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก” ประกอบกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ไม่คุ้มครองถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก ... (1) ซึ่งผู้เอาประกันภัยเจตนา หรือมุ่งหวังได้ หรือ (2) ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำโดยจงใจ หรือด้วยเจตนาร้ายของผู้เอาประกันภัยนั้นเอง 

เมื่อสังเกตคำที่ขีดเส้นใต้เอาไว้ “ผล” น่าจะมุ่งเน้นไปที่ผลที่เป็นอุบัติเหตุมากกว่าที่มุ่งเน้นไปที่สาเหตุหรือเหตุที่เป็นอุบัติเหตุ ส่วนผลคำที่สองนั้น หากกระทำโดยจงใจที่จะทำร้าย จะตกอยู่ในข้อยกเว้น แต่สำหรับคดีนี้ ศาลเชื่อว่า จำเลยมิได้จงใจที่จะทำร้าย ผลที่ได้รับบาดเจ็บ จึงมิได้เกิดขึ้นจากเจตนา แต่เป็นประมาทเลินเล่อต่างหาก

อนึ่ง แนวทางคำวินิจฉัยของศาล โดยเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายในคดีละเมิด ซึ่งผู้กระทำผิดอาจกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย แม้อาจเกิดจากความตั้งใจ แต่ถ้าเกิดพิจารณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายจะไม่คุ้มครองให้ เพียงจะให้ความคุ้มครองเฉพาะการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างเดียวเท่านั้น น่าจะตีความเช่นนั้นมิได้ทั้งหมด มิฉะนั้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยที่กระทำผิดไป แทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองดังกล่าวเท่าที่คาดหวังเลย คงต้องพิจารณาถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป เอาไว้จะนำเรื่องอื่นลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาเล่าให้ฟังในคราวต่อไปเปรียบเทียบให้เห็นอีกทีนะครับ

ขอย้อนกลับไปเรื่องที่ 57 ที่ทิ้งท้ายไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งศาลในคดีนั้นวินิจฉัยว่า ผู้โดยสารเครื่องบินลื่นหกล้มระหว่างเดินไปยังที่นั่งของตน ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบ เพราะศาลตีความมุ่งเน้นไปที่สาเหตุที่เกิดเป็นสำคัญ อันเป็นการตีความโดยอาศัยทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) เป็นเกณฑ์นั่นเอง

ส่วนคำถามแล้วคุณคิดว่า สมมุติเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นกับผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง ฉบับมาตรฐานของไทย ซึ่งให้คำนิยามไว้ว่า อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง” เหตุการณ์ดังคดีนั้นจะเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้หรือไม่? และผู้เอาประกันภัยรายนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ครับ?

คุณพอสังเกตเห็นได้นะครับว่า คำนิยามนี้ให้แนวทางเอาไว้แล้วตรงที่ขีดเส้นใต้ อันเป็นการมุ่งเน้นถึงผลที่เกิดขึ้นมากกว่าจะมองที่สาเหตุเป็นหลัก เช่นนั้น จึงพิจารณาได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้โดยสารเครื่องบินรายนี้ถือเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง ฉบับมาตรฐานของไทยดังกล่าวครับ

ท่านใดที่แสดงความคิดเห็นมา ก็ขอบคุณมากครับ ถูก หรือผิด อย่าไปซีเรียส ถือว่า เรามาค่อย ๆ เรียนรู้พร้อมกันครับ

เรื่องต่อไป ผู้เช่าบ้านทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเช่า หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองบ้านเช่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนไปแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าบ้านได้หรือไม่?

ลองเดาดูล่วงหน้าได้เลยครับ

วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 59: ตั้งใจจับเพื่อนโยนลงสระว่ายน้ำ แต่พลาดลงพื้นแทน ถือเป็นอุบัติเหตุตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดส่วนบุคคล (Personal Liability Insurance Policy) หรือไม่?



(ตอนที่หนึ่ง)

คำว่า “อุบัติเหตุ” นั้น ถ้าพูดลอย ๆ มันดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อนอะไร? แต่พอเราลองมานึกยกตัวอย่างกันแล้ว มันดูไม่ง่ายเลยนะครับ ยิ่งเรื่องราวของประกันภัยเป็นเรื่องที่ให้ความคุ้มครองถึงกรณีของอุบัติเหตุเท่านั้น ถึงแม้จะได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้โดยเฉพาะในกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม ยังจำต้องตีความกันอยู่ดี อันที่จริง ได้หยิบยกตัวอย่างคำพิพากษาหลายคดีมาให้พิจารณาเป็นแนวทางบ้างแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคดีที่อ่านแล้วน่าสนใจ เอาไว้จะค่อย ๆ นำมาเล่าสู่กันฟังเป็นระยะต่อไป

เหมือนอย่างเรื่องที่ 57 ที่ทิ้งท้ายไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ขอให้ท่านผู้อ่านลองแสดงความคิดเห็นเข้ามา เอาไว้ผมจะสรุปความเห็นตอนท้ายบทความเรื่องนี้ ก็แล้วกัน เพราะมีประเด็นที่โยงถึงกันอยู่

เรื่องนี้เกิดเป็นคดีฟ้องร้องกันถึงความหมายของอุบัติเหตุว่า เหตุการณ์เช่นนี้เป็นอุบัติเหตุหรือไม่?

วัยรุ่นสองคน ไม่สู้ชอบขี้หน้ากันนัก วันหนึ่งไปพบเจอกันโดยบังเอิญในงานปาร์ตี้ที่คฤหาสน์หรูของเพื่อน ตามประสาวัยรุ่นเลือดร้อน เมื่อเจอกัน ก็มีการพูดจาโต้ตอบกันไปมา ฝ่ายหนึ่งตัวเล็กกว่าที่ขอเรียกว่า “นายตัวเล็ก” พยายามเดินหลบมาที่บริเวณสระว่ายน้ำ อีกฝ่ายที่ตัวใหญ่กว่าที่ขอเรียกว่า “นายตัวใหญ่” ไม่ยอมลดละตามมาจะเอาเรื่องให้ได้ แม้เพื่อน ๆ จะคอยห้ามปรามก็ตาม สุดท้าย นายตัวใหญ่ก็คว้าจับตัวนายตัวเล็กยกขึ้น โดยตั้งใจเพื่อจะโยนลงสระว่ายน้ำ แต่พลาด ร่างของนายตัวเล็กกลับลงไปนอนกองที่พื้นคอนกรีตริมสระแทน ผลคือนายตัวเล็กได้รับบาดเจ็บถึงขนาดกระดูกไหปลาร้าหัก ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสี่วัน

นายตัวเล็กจึงฟ้องเรียกร้องให้นายตัวใหญ่ และบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดส่วนบุคคล (Personal Liability Insurance Policy) ของนายตัวใหญ่รับผิดร่วมกัน สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

บริษัทประกันภัยนั้นปฏิเสธ โดยอ้างเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า “คุ้มครองความเสียหายต่าง ๆ สำหรับความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก .... อันมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) มีคำนิยามว่า “หมายความถึงอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก” ประกอบกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ไม่คุ้มครองถึง “ความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก ... (1) ซึ่งผู้เอาประกันภัยเจตนา หรือมุ่งหวังได้ หรือ (2) ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำโดยจงใจ หรือด้วยเจตนาร้ายของผู้เอาประกันภัยนั้นเอง” ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ของนายตัวใหญ่ผู้เอาประกันภัยจึงมิใช่อุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ และยังตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัยนี้อีกด้วย   

ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทหลักของคดีนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอุบัติเหตุ อันกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะต้องให้ความคุ้มครองหรือไม่?

ก่อนรับฟังผลคำพิพากษาคดีนี้ในสัปดาห์หน้า คุณคิดเห็นว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นอุบัติเหตุซึ่งบริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดบ้างไหมครับ?