วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 37 : การทะเลาะวิวาท กับการถูกฆาตกรรม หรือถูกทำร้ายร่างกายต่างกันอย่างไร?



ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance Policy) ซึ่งให้ความคุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหาย จนทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายแก่ผู้เอาประกันภัยโดยอุบัติเหตุ ได้มองเรื่องการถูกฆาตกรรม หรือถูกทำร้ายร่างกาย เป็นอุบัติเหตุ อันจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว เนื่องจากเข้าองค์ประกอบคำนิยามเฉพาะของอุบัติเหตุ ซึ่งระบุว่า 

1.5 อุบัติเหตุ หมายความถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือมุ่งหวัง” 

เพราะผู้เอาประกันภัยมิได้มีเจตนา หรือมุ่งหวังให้ตนเองต้องถูกฆ่าตาย (ฆาตกรรม ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายความถึงการฆ่าคน) หรือถูกทำร้ายร่างกายโดยบุคคลอื่น เพียงแต่ถ้าบริษัทประกันภัยไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองเต็มวงเงินความคุ้มครองโดยปกติ ก็สามารถตกลงลดวงเงินความคุ้มครองในส่วนของการถูกฆาตกรรม หรือถูกทำร้ายร่างกายลดน้อยลงไปได้ แต่ไม่อาจลดจนไม่เหลือวงเงินความคุ้มครองส่วนนี้ได้ โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยในส่วนนี้ลงไปตามส่วนเป็นการตอบแทน

สำหรับการทะเลาะวิวาท ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมาย “ทะเลาะ หมายความถึง ทุ่มเถียงกันด้วยความโกรธโต้เถียงกัน เป็นปากเป็นเสียงกัน” และ “วิวาท หมายความถึง ทะเลาะ เช่น เด็กวิวาทกัน มักใช้เข้าคู่กับคำทะเลาะ เป็นทะเลาะวิวาทกัน” กล่าวโดยสรุปคือ เป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทลงไม้ลงมือต่อกัน จึงไม่เข้าองค์ประกอบคำนิยามเฉพาะของอุบัติเหตุดังกล่าว เพราะผู้เอาประกันภัยมีเจตนา หรือมุ่งหวังได้ว่า จะบังเกิดผลอะไรแก่ตนเองขึ้นมาได้บ้าง ถ้าสมัครใจต่อสู้กันกับบุคคลอื่น และได้ถูกระบุเป็นข้อยกเว้นเอาไว้อย่างชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนี้

การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง
...................................
2. ความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้
ก. ..................................
จ. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท

ทั้งในแง่ของกฎหมายเอง ผู้ที่สมัครใจต่อสู้กันนั้น ไม่ถือเป็นผู้เสียหายที่จะไปเรียกร้องจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10294/2546 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์คดีนี้กับจำเลยที่ 1 และพวกต่างมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และได้มีการด่าว่าโต้เถียงกัน จนในที่สุดได้มีการทำร้ายร่างกายกัน จึงเป็นเรื่องสมัครใจวิวาทกัน ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว เมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาท และทำร้ายร่างกายกัน เป็นกรณีที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตนจากการทะเลาะวิวาทนั้น แม้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์

แต่กรณีใดจะถือเป็นการเข้าร่วมทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาทนั้น เป็นปัญหาในเรื่องข้อความจริงแล้วแต่กรณี มิได้หมายความว่า เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทต่อสู้กันขึ้นมาแล้ว ล้วนจะต้องตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวทั้งสิ้น เพราะอาจเป็นการป้องกันตัว หรือการทำร้ายร่างกายโดยบันดาลโทสะก็ได้ หรือกระทั่งเหตุทะเลาะวิวาทจบไปแล้วก็ได้ 

เทียบเคียงได้กับตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2541

จำเลยที่ 1 กับพวกเพียง 5 คน นั่งมาด้วยกันบนรถโดยสารประจำทาง ส่วนผู้ตายกับพวกมีจำนวนประมาณ 30 คนที่ยืนคอยรถโดยสารประจำทางอยู่ การที่ฝ่ายผู้ตายกับพวกอาศัยพวกมาก ขึ้นไปทำร้ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นการ ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิของตนเอง หาใช่เป็นการสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ถอดเข็มขัด และใช้หัวเข็มขัดป้องกันขัดขวาง มิให้ฝ่ายผู้ตายขึ้นมาบนรถทางประตูหน้าและประตูหลัง แสดงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และไม่ได้ความว่า การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงไม่ต้องรับโทษฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2535

จำเลยและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนคดีอื่นเข้าไปกลุ้มรุมทำร้าย ส.ฝ่ายเดียวโดยจำเลยเข้าไปรัดคอ ส. จำเลยที่ 2 ที่ 1 เข้าไปใช้ขวดน้ำอัดลมตีศีรษะ และต่อย ส. ส.ซึ่งอยู่ในสภาพที่ถูกรัดคอและถูกทำร้ายเช่นนี้ ย่อมไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงจากถูกทำร้ายได้ ดังนั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนที่ติดตัวมายิงถูกจำเลย และพลาดไปถูกบุคคลซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นเรื่องที่ ส. กระทำไปเพื่อให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของจำเลยกับพวก โดย ส. ไม่มีเจตนาหรือสมัครใจที่จะเข้าต่อสู้ทำร้ายร่างกายจำเลยกับพวก
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3655/2530

ผู้ตายถือขวดแตกจะแทงจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 วิ่งหนีผู้ตายไล่ตาม จำเลยที่ 1 คว้าไม้ท่อนจะตีผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนีไป จึงถือได้ว่าสิทธิในการป้องกันตนของจำเลยที่ 1 ขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 โมโหวิ่งไล่ตามไปตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา

คำพิพากษาฎีกาที่ 1333/2510
 
จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธจะไปทำร้ายเพื่อนผู้ตาย เมื่อพบผู้ตายกับเพื่อน พวกของจำเลยได้ใช้ปืนยิง ผู้ตายกับเพื่อนวิ่งหนี โดยไม่ได้ต่อสู้อย่างใด จำเลยตามไปตีผู้ตาย และพวกของจำเลยใช้ปีนยิงจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้กัน แต่เป็นเรื่องจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้ตาย แม้จำเลยจะไม่ใช้ปืนยิงผู้ตาย ก็ถือว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกของจำเลยฆ่าผู้ตาย จึงมีความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนา

คำพิพากษาฎีกาที่ 2508/2529
 
ต. กับพวกเข้าชกต่อยทำร้ายจำเลยกับเพื่อน แล้ววิ่งหนีไป จำเลยกับเพื่อนวิ่งไล่ตาม โดยจำเลยถือปืนไปด้วย แต่เมื่อไล่ไม่ทัน จำเลยก็วิ่งกลับนำเพื่อนขึ้นนั่งบนรถยนต์สองแถว เพื่อจะกลับบ้าน แสดงว่าจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาททำร้ายกับ ต. และพวกต่อไปแล้ว เมื่อ ต. ไปตามผู้เสียหายกับพวก 7-8 คน ซึ่งมีมีดเป็นอาวุธติดตัว ทุกคนวิ่งกรูกันกลับมายังจำเลยซึ่งกำลังอยู่บนรถสองแถว จำเลยพูดห้ามไม่ให้เข้ามา แต่ผู้เสียหายกับพวกไม่ฟังเสียงกลับถือมีดเข้ามาจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้ปืนยิงผู้เสียหายกับพวก ในขณะที่จำเลยอยู่ห่างผู้เสียหายประมาณ 10 เมตร และอยู่ห่าง ต. ประมาณ 5 เมตรเท่านั้น หากผู้เสียหายกับพวกวิ่งเข้ามาถึงตัว อาจทำร้ายจำเลยถึงตายได้ นับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

อนึ่ง หากท่านใดมีโอกาสได้เห็นคำพิพากษาศาลฎีกาสองฉบับที่ได้ถูกตัดสินออกมาในแนวทางเดียวกันในเรื่องของข้อยกเว้นการทะเลาะวิวาท ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5085/2558

แม้ตามกรมธรรม์จะมีข้อยกเว้นระบุว่า "การประกันภัยตามกรมธรรม์ฉบับนี้ไม่คุ้มครอง... 2. ความสูญเสียหรือความเสียหาย อันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้... ง. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท" มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงกรณีเสียชีวิตหรือถูกฆาตกรรม ดังนั้น ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดดังกล่าวต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า ย่อมหมายถึง เฉพาะความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บทางร่างกายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เสียชีวิต การที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เพราะถูกฆาตกรรม จึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามตารางกรมธรรม์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5923/2541

ตามกรมธรรม์ประกันภัย ระบุข้อยกเว้นที่การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองว่า "2. ความสูญเสียหรือความเสียหาย อันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้ ง. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท" ดังนี้ ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดดังกล่าวต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า ย่อมหมายถึงเฉพาะความสูญเสียหรือความเสียหาย อันเกิดจากความบาดเจ็บทางกายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เสียชีวิต เพราะตามกรมธรรม์มีข้อตกลงคุ้มครอง 6 ข้อ ข้อ 1. เสียชีวิต ข้อ 2. สูญเสียอวัยวะและสายตา ข้อ 3. ทุพพลภาพถาวรข้อ 4. และข้อ 5. ทุพพลภาพชั่วคราว ข้อ 6. ค่ารักษาพยาบาล และกรณีผู้เอาประกันภัยถูกฆาตกรรม หรือถูกลอบทำร้ายร่างกาย จำนวนเงินเอาประกันภัยข้อ 1 และข้อ 2 จะเป็น 250,000 บาท ข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงกรณีเสียชีวิต หรือถูกฆาตกรรม กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นการประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง

ต้องขอเสริมว่า เมื่อดูจากถ้อยคำของข้อยกเว้นที่อ้างอิงของทั้งสองคดีนั้นแล้ว น่าจะเป็นถ้อยคำเก่า จนทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า ข้อยกเว้นเรื่องการทะเลาะวิวาทนั้นยกเว้นความคุ้มครองเฉพาะที่เกิดความบาดเจ็บต่อร่างกายของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ส่วนถ้าทำให้เกิดการเสียชีวิตแล้วจะไม่อยู่ในข้อยกเว้น เพราะปัจจุบัน ข้อยกเว้นนี้ได้ถูกปรับปรุงให้มีความชัดเจนขึ้นมา โดยใช้ถ้อยคำเพียง 

2. ความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้” 

ไม่มีคำว่า “อันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้” อีกต่อไปอีก 

ทั้งในคำนิยามเฉพาะยังระบุด้วยว่า 

1.12 ความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ  หมายความถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายของผู้เอาประกันภัยโดยอุบัติเหตุ และทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา ทุพพลภาพ หรือต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล

ดังนั้น ข้อยกเว้นการทะเลาะวิวาทดังกล่าว จึงล้วนไม่คุ้มครองทั้งความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยทั้งสิ้น

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 36 : กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่?



(ตอนที่ห้า)

ทิ้งช่วงห่างจนข้ามปีเลย ต้องขออภัยด้วยครับ คงจะกลับมาเขียนต่ออย่างสม่ำเสมอได้แล้ว

เราพูดกันค้างไว้ถึง กรณีแรกที่มีผู้มีส่วนได้เสียอย่างเดียวกันหลายคนอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน ดังในตัวอย่าง คือ สามีกับภรรยาตามกฎหมาย ต่างมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านที่เป็นสินสมรสของทั้งคู่ ในแง่ของการประกันภัยจะเรียกว่า เป็น “กรมธรรม์ประกันภัยแบบควบ (Joint Policy)” ซึ่งโดยหลักการแล้ว จะถือว่า ผู้เอาประกันภัยทุกรายรวมกันเป็นหนึ่ง หากผู้เอาประกันภัยรายใด กระทำผิดเงื่อนไข ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยรายอื่นด้วยทั้งหมด เปรียบเสมือนกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นเป็นเรือลำเดียวกัน เมื่อผู้เอาประกันภัยทุกรายลงไปอยู่ในเรือลำเดียวกัน แล้วสมมุติว่า ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่งไปเจาะเรือ ทำให้เรือรั่ว และจมลงไปในที่สุด ผู้เอาประกันภัยทุกรายก็จำต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน โดยจมลงไปด้วยกัน ยิ่งถ้าการกระทำของผู้เอาประกันภัยควบรายหนึ่งนั้นเป็นความผิดอันร้ายแรง เช่น การวางเพลิง ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ซึ่งไม่เพียงสร้างความเสียหายแก่ตนเอง อาจสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนคนอื่นได้อีก จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้น ไม่ว่าจะได้กระทำโดยสามี หรือภรรยา ซึ่งต่างเป็นผู้เอาประกันภัยควบคู่กันอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน แม้ผู้เอาประกันภัยควบอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยก็ตาม ก็ต้องรับเคราะห์กรรมไปด้วย
ดังใน

คดี Short v. Oklahoma Farmers Union Ins. Co., 619 P.2d 588 (Okla. 1980) ซึ่งสามีได้เผาบ้านซึ่งตนเองมีกรรมสิทธ์ร่วม ในวันที่ภรรยาร้องขอหย่า หรือ

คดี MMI General Insurance Limited v Baktoo & Anor (2000) 48 NSWLR 605; [2000] NSWCA 70 ที่คู่สามีภรรยาร่วมกันทำธุรกิจ แล้วต่อมาสามีจุดไฟเผาธุรกิจแห่งนั้น

นอกจากนี้ ศาลยังเห็นอีกว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งได้รับความเสียหายนั้น ยังมิได้แบ่งแยก จึงถือเป็นทรัพย์สินร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต้องได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้จะโดยทางอ้อมก็ตาม ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันภัยจึงมีสิทธิปฎิเสธไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ทั้งหมดได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ศาลหลายประเทศเริ่มอาศัย “ทฤษฏีผู้เอาประกันภัยที่บริสุทธิ์ (Innocent Insured Doctrine) มาใช้ประกอบในการตีความแก่ผู้เอาประกันภัยควบที่มิได้รู้อิโหน่อิเหน่ ซึ่งต้องมาร่วมรับเคราะห์กรรมด้วย ทั้งทรัพย์สินของตนเองต้องสูญเสีย หรือเสียหายไป ก็คาดหวังว่า จะได้รับค่าสินไหมทดแทน แม้เพียงบางส่วนก็ยังดี พอมาอาศัยประทังความสูญเสีย หรือความเสียหายของตนเองได้บ้าง ซึ่งในอดีต กลับไม่ได้อะไรเลย แต่เมื่อศาลได้นำทฤษฏีดังกล่าวมาประกอบในการตีความ ส่งผลทำให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกลับมาในส่วนของตนกึ่งหนึ่ง (อ้างอิงคดี Commercial Union Ins. Co. v. State Farm Fire & Cas. Co., 546 F. Supp. 543, 547 (D. Colo. 1982)) หรือกระทั่งมีโอกาสได้รับค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด หากปรากฏว่า สามีผู้เอาประกันภัยควบที่กระทำความผิดจุดไฟเผา ได้ฆ่าตัวตายลงไปในเหตุการณ์นั้นด้วย จึงเป็นที่มั่นใจว่า ผู้กระทำความผิดจะมิได้รับผลประโยชน์จากการกระทำเช่นนั้น (อ้างอิงคดี Felder v. North River Insurance Co., 435 N.W.2d 263 (Wis. Ct. App. 1988))

แม้จะพอทำให้ผู้เอาประกันภัยควบที่บริสุทธิ์มีความหวังขึ้นมาได้บ้าง แต่พึงระวังถึงถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยด้วย เนื่องจากการระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเป็น “... และ/หรือ ...” ซึ่งอาจหมายความถึง รายใดรายหนึ่งก็ได้ หรือแม้จะใช้คำว่า “... และ ....” ก็เช่นกัน เพราะถ้อยคำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ในกรมธรรม์ประกันภัยมิได้แยกแยะออกมาอย่างชัดเจน มักเป็นคำเรียกรวมมากกว่า ไม่เหมือนคำภาษาอังกฤษที่พอจะแยกแยะออกได้จากการพิจารณาถึงคำนำหน้านาม เป็นต้นว่า “the, a, an, any” เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อาจต้องพึ่งพาการตีความวินิจฉัยของศาลเป็นสำคัญ

นั่นเป็นเรื่องของกรณีผู้มีส่วนได้เสียเดียวกันมาร่วมกันเป็นผู้เอาประกันภัย ต่อไปจะกล่าวถึงข้อ 2. กรณีผู้มีส่วนได้เสียอื่นตามกฎหมายเข้ามาเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมกับเจ้าของกรรมสิทธิ์

2.  ผู้มีส่วนได้เสียอื่นตามกฎหมาย
     สามารถเอาประกันภัยในวัตถุที่เอาประกันภัย ซึ่งตนเองมีส่วนได้
     เสียตามกฎหมายอยู่ด้วยได้เช่นกัน อันได้แก่ เจ้าหนี้ ผู้รับจำนอง 
     ผู้รับจำนำ ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้เช่า ผู้รับฝากทรัพย์ ผู้รับจ้าง โดยมีทาง
     เลือกคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ

     2.1 เป็นผู้เอาประกันภัยเองโดยลำพัง
          ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารผู้รับจำนองบ้าน มีสิทธิที่จะนำบ้าน
          หลังนั้นไปทำประกันอัคคีภัยในนามของธนาคารเป็นผู้เอา
          ประกันภัยเองก็ได้ แต่ถ้าเจ้าของบ้านหลังนั้น ซึ่งเป็นผู้จำนอง
          ก็ทำประกันอัคคีภัยของตนเองขึ้นมา จะกลายเป็นการประกัน
          ภัยซ้ำซ้อนไป โดยเฉพาะหากรวมกันแล้ว ปรากฏมี
          จำนวนเงินเอาประกันภัยสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงของ
          ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ยิ่งสร้างความปวดหัวเพิ่มเติมขึ้นมา
          อีก

     2.2 เป็นผู้รับประโยชน์
          ทางเลือกนี้นิยมทำกันมากกว่าข้อแรก แต่ให้ระวังดังที่กล่าว
          ไว้ในตอนที่สาม เพราะการที่เพียงมีชื่อระบุเป็นผู้รับประโยชน์
          ตามกรมธรรม์ประกันภัย มิได้เป็นสิ่งที่รับรองว่า จะต้องได้รับ
          การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเสมอไป ดังในคำพิพากษาศาล
          ฎีกาที่ 6612/2558 ที่วินิจฉัยว่า การที่ธนาคารผู้รับจำนอง
          เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย แล้วจะ
          ทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยโดยทันทีหา
          ได้ไม่ ตราบใดที่ผู้รับประโยชน์นั้นยังมิได้แสดงเจตนาเข้ารับ 
          หรือถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. 
          มาตรา 374 ที่ว่าด้วยสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก
          แล้ว คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่าย (ผู้เอาประกันภัยกับ
          ผู้รับประกันภัย) ยังคงผูกพันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อกันตาม
          สัญญาประกันภัยตามปกติทั่วไป เมื่อธนาคารผู้รับประโยชน์
          ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้มาแสดงเจตนาเพื่อรับประโยชน์ตาม
          กรมธรรม์ประกันภัยครั้งแรก โดยการทวงถามให้ผู้รับประกัน
          ภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนภายหลังจากเกิดเหตุ
          เพลิงไหม้ทรัพย์จำนอง อันเป็นวันเริ่มสิทธิของธนาคารใน
          ฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะเรียกให้ผู้รับประกันภัยให้ชำระค่าสิน
          ไหมทดแทนแก่ตนได้ แต่เป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้เอา
          ประกันภัย และผู้รับประกันภัยได้ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทด
          แทนโดยการซ่อมแซม และหาทรัพย์สินมาทดแทน
          ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งการตกลงของผู้เอาประกันภัย
          กับผู้รับประกันภัยเป็นการกระทำไปตามสัญญาประกันภัยที่
          ระบุว่า ให้ผู้รับประกันภัยเลือกทำการสร้างใหม่ หรือจัดหา
          ทรัพย์สินมาแทนทรัพย์สินที่เสียหายทั้งหมด หรือส่วนหนึ่ง
          ส่วนใดแทนการจ่ายเงินชดใช้ก็สามารถทำได้ ซึ่งในขณะที่
          ตกลงกันดังกล่าว ธนาคารยังไม่ได้เข้าถือเอาประโยชน์จาก
          สัญญาประกันภัย จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้รับประกันภัยชด
          ใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งในส่วนโกดังทรัพย์จำนองตาม 
          สัญญาจำนอง ซึ่งผู้รับประกันภัยจัดการซ่อมแซมให้นั้น ก็ไม่
          ใช่กรณีที่ผู้รับประกันภัยใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยตาม 
          ป.พ.พ. มาตรา 231 จึงไม่จำต้องมีการบอกกล่าวหรือได้รับ
          อนุญาตจากธนาคารผู้รับจำนองก่อน
         
          กระนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยไปกระทำสิ่งใดที่ส่งผลกระทบต่อ
          สัญญาประกันภัย ก็พลอยทำให้สิทธิของผู้รับประโยชน์ได้รับ
          ผลกระทบไปด้วยเช่นกัน   

     2.3 ขยายเงื่อนไขพิเศษ         
           ถ้าเลือกขยายเงื่อนไขพิเศษ แบบ อค./ทส. 1.54 ว่าด้วย
           ส่วนได้เสียของบุคคลอื่น เหมือนดังเช่นในตอนที่สาม ยังไม่
           ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการกระทำผิดเงื่อนไขของผู้เอา
           ประกันภัยได้ เว้นแต่กรณีของผู้มีส่วนได้เสียอื่นตามกฎหมาย
           ที่เป็นผู้รับจำนอง ให้ไปเลือกขยายเงื่อนไขพิเศษ แบบ
           อค./ทส. 1.88 ว่าด้วยผู้รับจำนอง (Mortgagees Clause)  
           แทนจะดีกว่า แต่ก็ยังไม่อาจห้ามมิให้ผู้เอาประกันภัยทำการ
           แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกสัญญาประกันภัยได้เองอยู่ดี 
  
     2.4 เป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย
           เนื่องด้วยเป็นส่วนได้เสียตามกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่าง
          เจ้าของกรรมสิทธิ์กับผู้รับจำนองดังเช่นในตัวอย่างนี้ โดย
          หลักการจะเรียกว่า “การประกันภัยรวม (Composite 
          Insurance)” หรือ “กรมธรรม์ประกันภัยรวม (Composite 
          Policy)” ในการพิจารณาจึงจำต้องพิเคราะห์ไปตามความ
          แตกต่างของส่วนได้เสียนั้นด้วย

          อ้างอิงคดีในประเทศอังกฤษ General Accident Fire and 
          Life Assurance Corporation Limited v Midland Bank 
          Limited [1940] 2 KB388 ซึ่งระบุว่า “ไม่มีข้อห้ามมิให้ผู้มี
          ส่วนได้เสียที่แตกต่างกันต่อวัตถุที่เอาประกันภัยอันเดียวกัน
          มาร่วมกันทำประกันภัยอยู่ในฉบับเดียวกัน จึงไม่อาจเรียกเป็น
          การประกันภัยควบ (Joint Insurance) ได้ ดังนั้น สิทธิและ
          ข้อผูกพันตามสัญญาประกันภัยจะแยก และแตกต่างกันไป    
           ยกตัวอย่างเช่น

           -  การบอกเลิกสัญญาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยร่วม
              คนหนึ่ง ไม่มีผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง 
              ซึ่งมิได้เห็นชอบด้วย
   -  การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยร่วม
              คนหนึ่ง ไม่มีผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง 
              ซึ่งมิได้เห็นชอบด้วย
   -  การทุจริตของผู้เอาประกันภัยร่วมคนหนึ่ง ไม่มีผลกระทบ
      ต่อผู้เอาประกันภัยร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมิได้สมรู้ร่วมคิด
      ด้วย
 
           อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างข้างต้นเหล่านี้เป็นแนววินิจฉัยของ
           ศาลต่างประเทศ ซึ่งอาจมีหลักกฎหมายที่แตกต่าง และมี
           เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่แตกต่างไปจากประเทศไทย 
           จึงขอให้ใช้วิจารณญาณประกอบด้วย แต่อย่างน้อยก็เชื่อว่า 
           น่าจะจุดประกายความคิดบางอย่างให้แก่ท่านที่มีโอกาส      
           ได้อ่านบทความนี้ไม่มากก็น้อย

ข้อสรุป

ฉะนั้น คำถามของหัวข้อที่ว่า "กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่?" เมืออ่านมาถึงตอนท้ายนี้ เชื่อว่า ทุกท่านคงได้คำตอบบ้างแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยเป็นสำคัญว่าเป็น

1) กรมธรรม์ประกันภัยแบบควบ (Joint Policy) ซึ่งเป็นผู้มีส่วน
    ได้เสียตามกฎหมายอย่างเดียวกันหลายคนต่อวัตถุที่เอาประกัน
    ภัยเดียวกัน ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน โดยทุกอย่างถือ
    รวมกันเป็นหนึ่งเดียว หรือ
2) กรมธรรม์ประกันภัยแบบรวม (Composite Policy) ซึ่งเป็น
    ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายที่แตกต่างกันหลายคนต่อวัตถุที่เอา
    ประกันภัยเดียวกัน ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน โดยมีความ
    แตกต่างกันทั้งแง่ของสิทธิ และข้อผูกพัน

นอกเหนือจากหลักการทั้งสองข้อนี้แล้ว ผมมองเป็นเพียงลักษณะการรวมชุดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเรียกว่า “Bundle Insurance Policy” หรือ “Package Policy เท่านั้น ซึ่งมิได้มีหลักการพิเศษอะไร

ความจริง ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น เอาไว้ค่อยทยอยมาเล่าสู่กันฟังอีกที เมื่อมีโอกาสนะครับ