วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 36 : กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่?



(ตอนที่สาม)



โจทย์ที่นำมายกเป็นตัวอย่างไว้ในตอนที่แล้วว่า “บ้านหลังหนึ่งราคาหนึ่งล้านบาท ซึ่งเป็นสินสมรสของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ถ้าสามีมาขอทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านหลังนั้น โดยขอให้ระบุชื่อสามีเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียว จะทำได้หรือไม่? ถ้าได้ จะส่งผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง?” 



ผมเคยเขียนประเด็นเรื่องนี้ไว้ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ผู้เอาประกันภัยมิใช่ผู้เอาประกันภัย” เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ลองติดตามกันดูนะครับ



ในแง่ของกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินที่ถือเป็นสินสมรสนั้น ทั้งสามีและภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นกันคนละครึ่ง ตามตัวอย่าง บ้านที่เป็นสินสมรสซึ่งมีมูลค่าหนึ่งล้านบาท สามีกับภรรยาคู่นี้ ก็มีส่วนกันละห้าแสนบาท     



ในทางปฎิบัติ บ้านที่เป็นของคู่สมรสนั้น มักจะระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเพียงคนเดียว ในกรณีนี้ คือ สามีถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยไว้เท่านั้น ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย โดยกำหนดทุนประกันภัยเต็มมูลค่าบ้านหลังนั้น ซึ่งสามารถทำได้ เพราะตราบใดที่ยังมิได้ตกลงแบ่งทรัพย์สมบัติกัน ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ส่วนครึ่งหนึ่งของตนเองจะอยู่ตรงไหนบ้างในตัวบ้านหลังนั้น ฉะนั้น คำตอบแรก คือ สามีซึ่งมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยอยู่คนเดียวสามารถนำบ้านทั้งหลังมาทำประกันภัยได้



สมมุติว่า เกิดไฟไหม้ขึ้นมา ทำให้บ้านหลังนั้นเสียหายบางส่วน คิดเป็นเงินค่าซ่อมแซม 20,000 บาท บริษัทประกันภัยคงพิจารณาชดใช้ให้อย่างไม่มีปัญหา



แต่ถ้าสมมุติว่า ไฟไหม้บ้านหลังนั้นจนเสียหายหมดทั้งหลัง เมื่อผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท คุณคิดว่าจะมีปัญหาหรือเปล่าครับ?



ถ้าบริษัทประกันภัยชดใช้ให้ตามนั้น ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ แต่ถ้าเขาเกิดอ้างว่า ส่วนได้เสียที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยในกรณีนี้ มีมูลค่าเพียงห้าแสนบาท จึงขอชดใช้ให้เพียงเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกห้าแสนบาท ภรรยาของผู้เอาประกันภัยจะมาขอรับ ก็ไม่ได้ เพราะมิได้มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมอยู่ด้วย อันจะทำให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้แต่ประการใด หากต้องการจะเอาให้ได้ ดูแล้วคงต้องอาศัยช่องทางกฎหมายในเรื่องตัวการตัวแทนไปโน่น ซึ่งต้องลุ้นอีกพอสมควรล่ะครับ อาจทำให้เสียทั้งเงิน ทั้งเวลาไปอีกไม่น้อย



ทางออกในเรื่องนี้ที่ดีที่สุด คือ จะต้องวางแผนตั้งแต่ต้นในเวลาเริ่มทำประกันภัย โดยมีทางเลือกให้พิจารณาด้วยกันสามทาง ดังนี้



(1) ระบุชื่อภรรยาให้เป็นผู้รับประโยชน์ ในกรมธรรม์ประกันภัย 
     ฉบับนี้ ควรระบุให้ชัดเจนไปด้วยว่า ตามส่วนได้เสียที่มีอยู่ 
     มิฉะนั้น เดี๋ยวอาจเกิดความสับสน หากใส่เพียงชื่อภรรยาลอย ๆ 
     ลงไป ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดหนึ่งล้านบาทยกให้เป็นของ
     ภรรยาคนเดียวเท่านั้น  



     ข้อพึงระวัง เนื่องจากกรณีนี้จะถือเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่
     บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  
     374 และ 375 ที่บัญญัติว่า 


         “มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระ
     หนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียก
     ชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

          ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอก
     ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอา 
     ประโยชน์จากสัญญานั้น



         “มาตรา 375 เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบท
     บัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือ
     ระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่



      ฉะนั้น ภรรยาผู้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาประกัน
      ภัยฉบับนี้ จำต้องไปแสดงเจตนาต่อบริษัทประกันภัยเสียก่อนว่า 
      ตนจะถือเอาประโยชน์ (คือ ขอรับค่าสินไหมทดแทน) ตาม
      กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ถึงจะมีผลบังคับตามกฎหมายได้ การ
      ที่เพียงมีชื่อระบุเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ยัง
      ไม่เพียงพอ (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2558)



      อนึ่ง หลังจากที่ผู้รับประโยชน์บุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาดัง
      กล่าวแล้ว มาตรา 375 ห้ามมิให้ผู้เอาประกันภัยแก้ไขเปลี่ยน
      แปลงผู้รับประโยชน์ในภายหลัง



(2) ขยายเงื่อนไขพิเศษ แบบ อค./ทส. 1.54 ว่าด้วยส่วนได้เสีย
     ของบุคคลอื่น

     ทางเลือกนี้ ค่อนข้างยากลำบากแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งไม่ทราบว่า 
     ยังมีเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ อีกมากมายที่สามารถขอแนบเพิ่มเติมไว้
     กับกรมธรรม์ประกันภัยได้

    

     เงื่อนไขพิเศษนี้ ระบุรับรองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียของบุคคลอื่น
     เอาไว้ว่า



         “ส่วนได้เสียของบุคคลอื่นนอกเหนือจากของผู้เอาประกันภัย
     ในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ 
     โดยผู้เอาประกันภัยไม่ต้องแจ้งหรือระบุให้บริษัทประกันภัยทราบ 
     และจะได้รับความคุ้มครองตามจำนวนจำกัดความรับผิดภายใต้
     กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ตามส่วนได้เสียของบุคคลนั้น



    วิธีการนี้ต่างจากวิธีแรกตรงที่ไม่จำต้องระบุชื่อ และวงเงินลงไป 
    เพียงแค่แนบเงื่อนไขพิเศษนี้ไว้ ก็ถือเป็นการรับรู้ถึงสิทธิของผู้มี
    ส่วนได้เสียของบุคคลอื่นแล้ว (Noting of Interests)   



จุดอ่อนของทั้งสองทางเลือก คือ มิได้เป็นคู่สัญญาประกันภัยโดยตรง ดังนั้น หากผู้เอาประกันภัยทำผิดเงื่อนไข อาจส่งผลทำให้ถึงขนาดสัญญาประกันภัยสิ้นผลบังคับ เป็นต้นว่า ตามเงื่อนไขทั่วไป



ข้อที่ 6.11 ความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการฉ้อฉลของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ หรือ



ข้อที่ 6.13.3 ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยภายในกำหนด 60 วัน หรือ



ข้อที่ 6.14 การบอกเลิกความคุ้มครอง



ทั้งหมดนี้ อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการรับรู้ หรือการโต้แย้งของผู้มีส่วนได้เสียอื่น ในที่นี้คือ ภรรยาเลยก็ได้


ฉะนั้น คงต้องอาศัยทางเลือกที่สามน่าจะดีกว่า แล้วทางเลือกนั้น คือ อะไรล่ะ? เราอดใจไปคุยกันต่อยาว ๆ ในตอนต่อไปดีกว่านะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น