วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 36 : กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่?



(ตอนที่สี่)

เรามาคุยกันต่อถึงทางเลือกที่สาม ซึ่งเชื่อว่า หลายท่านคงพอเดาออกว่า คืออะไร? ลองมาดูกันครับ

(3) เป็นผู้เอาประกันภัยเสียเอง การเลือกเป็นผู้เอาประกันภัยของ
     ภรรยาในที่นี้ สามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีก ดังนี้

      (ก) เป็นผู้เอาประกันภัยโดด ๆ คนละกรมธรรม์ประกันภัย
          ทางเลือกย่อยนี้ จะเป็นผลต่อเมื่อถ้าสามีภรรยาคู่นี้ได้วางแผน
          กันไว้ตั้งแต่ต้นแล้วเท่านั้น โดยต่างคนต่างก็เอาประกัน
          อัคคีภัย เพื่อคุ้มครองบ้านหลังเดียวกันคนละกรมธรรม์ประกัน
          ภัยไปเลย โดยกำหนดทุนประกันภัยไว้ฉบับละห้าแสนบาท 
          ในแง่ของการประกันภัยถือเป็นการประกันภัยซ้ำซ้อน
          (Double Insurance) เนื่องจาก
  -  มีส่วนได้เสียอย่างเดียวกัน คือ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งคู่
  -  วัตถุที่เอาประกันภัยอันเดียวกัน คือ บ้านที่เป็นสินสมรส
     หนึ่งหลัง
  -  ภัยที่คุ้มครองชุดเดียวกัน คือ เป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย 
     สำหรับบ้านอยู่อาศัยเหมือนกัน
  -  มีผลคุ้มครองในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาจากภัยที่คุ้มครอง ทั้งสอง กรมธรรม์ประกันภัยต่างจะมาร่วมเฉลี่ยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกันตามส่วน ในที่นี้ คือ คนละครึ่ง

สมมุติว่า เกิดไฟไหม้ขึ้นมา ทำให้บ้านหลังนั้นเสียหายบางส่วน คิดเป็นเงินค่าซ่อมแซม 20,000 บาท แต่ละกรมธรรม์ประกันภัยก็จะมาชดใช้ให้ฉบับละ 10,000 บาท ถ้าไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ก็เป็นฉบับละห้าแสนบาท

แต่ถ้ามิได้วางแผนกันไว้ล่วงหน้าแต่แรก ก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะสามีได้ทำประกันภัยไว้เต็มมูลค่าหนึ่งล้านบาทเอาไว้แล้ว

   (ข) เป็นผู้เอาประกันภัยควบในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับของ
         สามี
        โดยหลักการ กรณีที่มีผู้มีส่วนได้เสียเดียวกันในวัตถุที่เอา
        ประกันภัยเดียวกัน มากกว่าหนึ่งคนรวมอยู่ในกรมธรรม์ประกัน
        ภัยฉบับเดียวกัน จะเรียกเป็นการประกันภัยควบ (Joint 
        Insurance) ผู้เอาประกันภัยลักษณะนี้ ก็จะเรียกว่า ผู้เอา
        ประกันภัยควบ (Joint Insured) เสมือนรวมกันเป็นหนึ่ง
        เดียว โดยผู้เอาประกันภัยแต่ละรายต่างก็มีสิทธิ และหน้าที่ตาม
        สัญญาประกันภัยเท่าเทียมกัน บริษัทประกันภัยก็จะต้อง
        ปฎิบัติต่อผู้เอาประกันภัยทุกรายเสมอภาคกันด้วย
         
        อ้างอิงคดีในประเทศอังกฤษ General Accident Fire and Life
        Assurance Corporation Limited v Midland Bank Limited 
        [1940] 2 KB388 ซึ่งระบุว่า “อาจมีการทำประกันภัยควบ  
        (Joint Insurance) ขึ้นมาโดยผู้ที่มีส่วนได้เสียร่วมกันได้  
        (Joint Interest) ถ้า A กับ B เป็นเจ้าของร่วมอยู่ในทรัพย์สิน
        เดียวกัน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองร่วมกัน ก็ถือเป็น
        สัญญาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง (a true 
        contract of indemnity) สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นร่วม
        กัน (joint loss) ซึ่งทั้งสองต่างร่วมกันได้รับ (jointly 
        suffered)    

ด้วยเหตุนี้ การกระทำของผู้เอาประกันภัยควบรายใด ก็จะส่งผลต่อผู้เอาประกันภัยควบอีกรายด้วย เปรียบเสมือนได้กับร่วมลงเรือลำเดียวกันนั่นเอง

ฉะนั้น การที่ผู้เอาประกันภัยควบรายหนึ่งปกปิดข้อความจริง อันเป็นสาระสำคัญ หรือด้วยการแถลงข้อความเท็จ ซึ่งส่งผลทำให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะ ผู้เอาประกันภัยควบรายอื่นจะปฎิเสธไม่รับรู้มิได้
(อ้างอิงคดีในประเทศออสเตรเลีย Advance (NSW) Insurance Agencies Pty Limited v Matthews (1989) 166 CLR 606: 63 ALJR 365)

สามีภรรยาคู่หนึ่งเช่าบ้านหลังหนึ่งอยู่ โดยได้นำบ้านหลังนั้น พร้อมกับทรัพย์สินในบ้านมาทำประกันภัยทรัพย์สิน ภายใต้ชื่อผู้เอาประกันภัยควบคู่กันทั้งสองคน ต่อมาเกิดไฟไหม้บ้านเช่าหลังนั้น บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองอยู่ตกลงจะมาซ่อมแซมความเสียหายให้ สามีจึงไปหาบ้านเช่าแห่งอื่นอยู่ชั่วคราว โดยแจ้งบริษัทประกันภัยนั้นว่า ตนได้ทำสัญญาเช่า และได้จ่ายเงินมัดจำกับค่าเช่าบ้านหลังใหม่ไปแล้ว ขอเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้เงินดังกล่าวคืนมาให้ตามเงื่อนไขขยายความคุ้มครองค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวด้วย แต่บริษัทประกันภัยสืบพบว่า สามีที่เป็นผู้เอาประกันภัยควบกระทำทุจริต เพราะในความเป็นจริงแล้ว บ้านเช่าหลังใหม่นั้นกลายเป็นบ้านของผู้เอาประกันภัยควบรายนี้เอง ทั้งใบเสร็จค่าเช่าที่นำมาแสดง ก็เป็นเอกสารเท็จ ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงปฎิเสธไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด (ทั้งค่าซ่อมแซมความเสียหายจากไฟไหม้กับค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว)

ภรรยาซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยควบอีกรายหนึ่ง และมิได้สมคบกระทำการฉ้อฉลร่วมกับสามีของตน จึงฟ้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยได้ต่อสู้คดีถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า เนื่องจากเป็นการประกันภัยควบ ฉะนั้น การกระทำของผู้เอาประกันภัยควบรายหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยควบรายอื่นด้วย ถึงแม้จะมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น (Innocent Insured) ก็ตาม บริษัทประกันภัยจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้แต่ประการใด (อ้างอิงคดีในประเทศอังกฤษ Direct Line v Khan [2001] EWCA Civ 1794)

ถึงตอนนี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?

ผมขอนำไปคุยกันต่อในตอนต่อไปนะครับ

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 36 : กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่?



(ตอนที่สาม)



โจทย์ที่นำมายกเป็นตัวอย่างไว้ในตอนที่แล้วว่า “บ้านหลังหนึ่งราคาหนึ่งล้านบาท ซึ่งเป็นสินสมรสของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ถ้าสามีมาขอทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านหลังนั้น โดยขอให้ระบุชื่อสามีเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียว จะทำได้หรือไม่? ถ้าได้ จะส่งผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง?” 



ผมเคยเขียนประเด็นเรื่องนี้ไว้ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ผู้เอาประกันภัยมิใช่ผู้เอาประกันภัย” เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ลองติดตามกันดูนะครับ



ในแง่ของกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินที่ถือเป็นสินสมรสนั้น ทั้งสามีและภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นกันคนละครึ่ง ตามตัวอย่าง บ้านที่เป็นสินสมรสซึ่งมีมูลค่าหนึ่งล้านบาท สามีกับภรรยาคู่นี้ ก็มีส่วนกันละห้าแสนบาท     



ในทางปฎิบัติ บ้านที่เป็นของคู่สมรสนั้น มักจะระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเพียงคนเดียว ในกรณีนี้ คือ สามีถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยไว้เท่านั้น ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย โดยกำหนดทุนประกันภัยเต็มมูลค่าบ้านหลังนั้น ซึ่งสามารถทำได้ เพราะตราบใดที่ยังมิได้ตกลงแบ่งทรัพย์สมบัติกัน ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ส่วนครึ่งหนึ่งของตนเองจะอยู่ตรงไหนบ้างในตัวบ้านหลังนั้น ฉะนั้น คำตอบแรก คือ สามีซึ่งมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยอยู่คนเดียวสามารถนำบ้านทั้งหลังมาทำประกันภัยได้



สมมุติว่า เกิดไฟไหม้ขึ้นมา ทำให้บ้านหลังนั้นเสียหายบางส่วน คิดเป็นเงินค่าซ่อมแซม 20,000 บาท บริษัทประกันภัยคงพิจารณาชดใช้ให้อย่างไม่มีปัญหา



แต่ถ้าสมมุติว่า ไฟไหม้บ้านหลังนั้นจนเสียหายหมดทั้งหลัง เมื่อผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท คุณคิดว่าจะมีปัญหาหรือเปล่าครับ?



ถ้าบริษัทประกันภัยชดใช้ให้ตามนั้น ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ แต่ถ้าเขาเกิดอ้างว่า ส่วนได้เสียที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยในกรณีนี้ มีมูลค่าเพียงห้าแสนบาท จึงขอชดใช้ให้เพียงเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกห้าแสนบาท ภรรยาของผู้เอาประกันภัยจะมาขอรับ ก็ไม่ได้ เพราะมิได้มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมอยู่ด้วย อันจะทำให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้แต่ประการใด หากต้องการจะเอาให้ได้ ดูแล้วคงต้องอาศัยช่องทางกฎหมายในเรื่องตัวการตัวแทนไปโน่น ซึ่งต้องลุ้นอีกพอสมควรล่ะครับ อาจทำให้เสียทั้งเงิน ทั้งเวลาไปอีกไม่น้อย



ทางออกในเรื่องนี้ที่ดีที่สุด คือ จะต้องวางแผนตั้งแต่ต้นในเวลาเริ่มทำประกันภัย โดยมีทางเลือกให้พิจารณาด้วยกันสามทาง ดังนี้



(1) ระบุชื่อภรรยาให้เป็นผู้รับประโยชน์ ในกรมธรรม์ประกันภัย 
     ฉบับนี้ ควรระบุให้ชัดเจนไปด้วยว่า ตามส่วนได้เสียที่มีอยู่ 
     มิฉะนั้น เดี๋ยวอาจเกิดความสับสน หากใส่เพียงชื่อภรรยาลอย ๆ 
     ลงไป ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดหนึ่งล้านบาทยกให้เป็นของ
     ภรรยาคนเดียวเท่านั้น  



     ข้อพึงระวัง เนื่องจากกรณีนี้จะถือเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่
     บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  
     374 และ 375 ที่บัญญัติว่า 


         “มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระ
     หนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียก
     ชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

          ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอก
     ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอา 
     ประโยชน์จากสัญญานั้น



         “มาตรา 375 เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบท
     บัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือ
     ระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่



      ฉะนั้น ภรรยาผู้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาประกัน
      ภัยฉบับนี้ จำต้องไปแสดงเจตนาต่อบริษัทประกันภัยเสียก่อนว่า 
      ตนจะถือเอาประโยชน์ (คือ ขอรับค่าสินไหมทดแทน) ตาม
      กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ถึงจะมีผลบังคับตามกฎหมายได้ การ
      ที่เพียงมีชื่อระบุเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ยัง
      ไม่เพียงพอ (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2558)



      อนึ่ง หลังจากที่ผู้รับประโยชน์บุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาดัง
      กล่าวแล้ว มาตรา 375 ห้ามมิให้ผู้เอาประกันภัยแก้ไขเปลี่ยน
      แปลงผู้รับประโยชน์ในภายหลัง



(2) ขยายเงื่อนไขพิเศษ แบบ อค./ทส. 1.54 ว่าด้วยส่วนได้เสีย
     ของบุคคลอื่น

     ทางเลือกนี้ ค่อนข้างยากลำบากแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งไม่ทราบว่า 
     ยังมีเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ อีกมากมายที่สามารถขอแนบเพิ่มเติมไว้
     กับกรมธรรม์ประกันภัยได้

    

     เงื่อนไขพิเศษนี้ ระบุรับรองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียของบุคคลอื่น
     เอาไว้ว่า



         “ส่วนได้เสียของบุคคลอื่นนอกเหนือจากของผู้เอาประกันภัย
     ในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ 
     โดยผู้เอาประกันภัยไม่ต้องแจ้งหรือระบุให้บริษัทประกันภัยทราบ 
     และจะได้รับความคุ้มครองตามจำนวนจำกัดความรับผิดภายใต้
     กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ตามส่วนได้เสียของบุคคลนั้น



    วิธีการนี้ต่างจากวิธีแรกตรงที่ไม่จำต้องระบุชื่อ และวงเงินลงไป 
    เพียงแค่แนบเงื่อนไขพิเศษนี้ไว้ ก็ถือเป็นการรับรู้ถึงสิทธิของผู้มี
    ส่วนได้เสียของบุคคลอื่นแล้ว (Noting of Interests)   



จุดอ่อนของทั้งสองทางเลือก คือ มิได้เป็นคู่สัญญาประกันภัยโดยตรง ดังนั้น หากผู้เอาประกันภัยทำผิดเงื่อนไข อาจส่งผลทำให้ถึงขนาดสัญญาประกันภัยสิ้นผลบังคับ เป็นต้นว่า ตามเงื่อนไขทั่วไป



ข้อที่ 6.11 ความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการฉ้อฉลของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ หรือ



ข้อที่ 6.13.3 ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยภายในกำหนด 60 วัน หรือ



ข้อที่ 6.14 การบอกเลิกความคุ้มครอง



ทั้งหมดนี้ อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการรับรู้ หรือการโต้แย้งของผู้มีส่วนได้เสียอื่น ในที่นี้คือ ภรรยาเลยก็ได้


ฉะนั้น คงต้องอาศัยทางเลือกที่สามน่าจะดีกว่า แล้วทางเลือกนั้น คือ อะไรล่ะ? เราอดใจไปคุยกันต่อยาว ๆ ในตอนต่อไปดีกว่านะครับ

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 36 : กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่?



(ตอนที่สอง)

ฉะนั้น ผู้มีส่วนได้เสียที่จะสามารถเอาประกันภัยได้จึงแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม โดยเรียงลำดับตามความสำคัญ ดังนี้

1. เจ้าของกรรมสิทธิ์ หากวัตถุที่เอาประกันภัยเป็นทรัพย์สิน คือ เจ้า
    ของทรัพย์สินนั้นเอง ถ้าวัตถุที่เอาประกันภัยเป็นบุคคล ก็คือ 
    บุคคลที่เป็นเจ้าของชีวิตของตน หรือกรณีเป็นความรับผิดตาม
    กฎหมาย ก็คือ ผู้จำต้องรับผิดตามกฎหมาย โดยการกระทำของ
    ตนเอง หรือของบุคคลอื่นที่ตนจำต้องรับผิดแทนนั่นเอง ซึ่งบุคคล
    เช่นนี้จะมีส่วนได้เสียอย่างเต็มที่ในวัตถุที่ระบุเอาประกันภัยนั้น
    ทำให้เวลาเอาประกันภัยทรัพย์สินของตนเอง บางครั้งจะเรียกว่า 
    “การประกันภัยทรัพย์สินของบุคคลที่หนึ่ง (First Party 
    Insurance)” เพราะในแง่ของการประกันภัยจะพิจารณาให้ผู้เอา
    ประกันภัยเป็นบุคคลที่หนึ่ง โดยมีบริษัทประกันภัยเป็นบุคคลที่
    สอง ส่วนบุคคลอื่น ๆ นอกจากนั้น จะถือเป็นบุคคลที่สาม 

    ดังนั้น โดยหลักการปกติแล้ว ทรัพย์สินของใคร ชีวิตของใคร ใคร
    เป็นเจ้าของ ก็ควรทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สิน หรือชีวิตของตน
    เอง จะไปคุ้มครองทรัพย์สิน หรือชีวิตของบุคคลอื่นไม่ได้ 

2.  ผู้มีส่วนได้เสียอื่นตามกฎหมาย หากกำหนดให้ผู้มีสิทธิที่จะเอา
     ประกันภัยได้ คือ เพียงเจ้าของดังในข้อแรกเท่านั้น อาจเป็นการ
     จำกัดสิทธิมากเกินไป กฎหมายจึงอนุญาตให้บุคคลที่มีส่วนได้
     เสียอื่น สามารถเอาประกันภัยได้ด้วย 

     เป็นต้นว่า เจ้าหนี้ ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้เช่า ผู้รับ
     ฝากทรัพย์ ผู้รับจ้าง 

     โดยผู้มีส่วนได้เสียอื่นตามที่กฎหมายรับรองสถานะให้นั้น จะมี
     ส่วนได้เสียที่จำกัด ไม่เต็มที่เหมือนอย่างเป็นเจ้าของทำเอง

ถ้าวัตถุที่เอาประกันภัยเดียว มี
- หนึ่งเจ้าของ หรือ
- หนึ่งผู้มีส่วนได้เสีย 
- หนึ่งผู้เอาประกันภัย และ
- หนึ่งกรมธรรม์ประกันภัย 
คงไม่มีปัญหาอะไร

แต่ถ้าวัตถุที่เอาประกันภัยเดียว มี
- หลายเจ้าของ หรือ
- ผู้มีส่วนได้เสียมากกว่าหนึ่งล่ะ 
ควรทำอย่างไรดี?

นั่นคือประเด็นของหัวข้อในบทความเรื่องนี้

ส่วนตัวของผมมองว่า การจัดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยให้เหมาะสม ถือเป็นศิลปอย่างหนึ่ง เพราะอาจมีทางเลือกได้หลากหลาย อยู่ที่เราจะพิจารณาเลือกทางไหนให้เหมาะสมที่สุด

เราจะมาพิจารณากันไปตามลำดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียนะครับ โดยเริ่มต้นที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ก่อน ซึ่งจะขออนุญาตนำไปวิเคราะห์ในตอนต่อไป แต่ฝากเป็นการบ้านให้ลองพิจารณาก่อน ดังนี้

บ้านหลังหนึ่งราคาหนึ่งล้านบาท ซึ่งเป็นสินสมรสของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ถ้าสามีมาขอทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านหลังนั้น โดยขอให้ระบุชื่อสามีเป็นผู้เอาประกันภัยรายเดียว จะทำได้หรือไม่? ถ้าได้ จะส่งผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง?