เหตุการณ์กับภัยแผ่นดินไหว
และภัยธรรมชาติอื่น
ขณะที่ข่าวเรื่องแผ่นดินไหวเป็นประเด็นที่หลายคนเริ่มเป็นห่วง
เพราะเริ่มมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นระยะในบ้านเราเมื่อเร็ววันนี้ด้วย
ส่วนตัวของผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองในแง่ของการประกันภัยว่า
เมื่อลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวประกอบด้วยแผ่นดินไหวนำ
(Fore
Shock) แผ่นดินไหวหลัก (Main Shock) และแผ่นดินไหวตาม
(After Shock) ตามระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว หากทั้งสามลักษณะเกิดเป็นลำดับกันดังกล่าว
โดยทิ้งช่วงกันเป็นระยะ เช่นนี้ จะถือว่า เป็นเหตุการณ์ (Occurrence) ต่างกัน หรือเป็นเหตุการณ์เดียวรวมกันทั้งหมด
เนื่องด้วยกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยกับกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินมิได้กำหนดคำนิยามเฉพาะของคำว่า
“เหตุการณ์” และการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวก็เป็นช่วงระยะเวลาแยกกัน
จึงต้องถือเป็นคนละเหตุการณ์ ทั้งยังมิได้มีคำนิยามเฉพาะของ “แผ่นดินไหว” ให้มีความหมายเพียงแผ่นดินไหวหลักเท่านั้น
ทุกลักษณะของแผ่นดินไหวจึงล้วนตกอยู่ในความหมายของภัยแผ่นดินไหวที่กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองทั้งสิ้น
เว้นแต่ในกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่ได้กำหนดระดับความรุนแรงไว้ตั้งแต่เจ็ดริกเตอร์ขึ้นไปเท่านั้น
หากช่วงการเกิดแผ่นดินไหวแต่ละลักษณะทิ้งช่วงห่างกันครั้งละหนึ่งวัน
ก็จะถือเป็นสามเหตุการณ์ ถ้ามีข้อกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกรวมสามครั้ง
นอกเสียจากจะได้มีการแนบเงื่อนไขพิเศษที่เรียกว่า
แบบ อค./ทส. 1.63 เอกสารแนบท้ายว่าด้วยเหตุแห่งความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ
ไต้ฝุ่นและมรสุมภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง (72
Hours : Earthquake, Flood, Windstorm, Typhoon and Monsoon) โดยเอกสารแนบท้ายนี้
จะจัดแบ่งเหตุแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นออกเป็นช่วงเหตุการณ์ โดยใช้ระยะเวลา 72 ชั่วโมง หรือสามวันติดต่อกัน เป็นเกณฑ์แบ่งต่อหนึ่งเหตุการณ์ กล่าวคือ
ทุกความเสียหาย ทุกอุบัติเหตุ หรือทุกภัยที่เกิดขึ้นภายในเวลา 72 ชั่วโมงติดต่อกัน จะถือรวมเป็นหนึ่งเหตุการณ์ ถ้ายังมีความเสียหาย
อุบัติเหตุ หรือภัยเกิดขึ้นมาอีก ใน 72 ชั่วโมงติดต่อกันถัดมา
ก็นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ แต่มิได้หมายความเหตุน้ำท่วมแช่อยู่นานประมาณสามเดือน
น้ำจึงลด ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของมหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 จะตีความว่า จำแนกเหตุการณ์ออกได้เป็นประมาณสามสิบเหตุการณ์
เอกสารแนบท้ายนี้ มิได้มีเจตนารมณ์เช่นนั้น ดังนั้น หากกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible)
เป็นต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง ภาระของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องรับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกเองจะลดน้อยลงไปมากกว่าที่มิได้แนบเอกสารแนบท้ายฉบับนี้เอาไว้
การเริ่มนับเหตุการณ์ว่า จะมีช่วงเวลา 72
ชั่วโมงติดต่อกัน เริ่มต้น และสิ้นสุดเมื่อไหร่นั้น ให้เป็นสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการกำหนดเวลาเริ่มต้นตามที่เห็นสมควร
แต่ช่วงเวลาดังกล่าวของแต่ละเหตุการณ์จะต้องไม่ทับซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยจะไม่รับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นมาก่อนวันเริ่มต้นความคุ้มครอง
และที่เกิดขึ้นหลังจากวันสิ้นอายุความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว โดยที่ช่วงเวลา
72 ชั่วโมงจะจำกัดให้อยู่เพียงภายในระยะเวลาเอาประกันภัยเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวนำกับแผ่นดินไหวหลักเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเอาประกันภัย
แต่แผ่นดินไหวตามมาเกิดขึ้นภายหลังกรมธรรม์ประกันภัยได้สิ้นอายุไปแล้ว เฉพาะส่วนของความเสียหายจากแผ่นดินไหวตามเท่านั้น
ถึงจะมิได้รับความคุ้มครอง
ฉะนั้น ในการให้ความคุ้มครองถึงภัยแผ่นดินไหว
หรือภัยธรรมชาติอื่น จึงแนะนำให้แนบเอกสารแนบท้าย แบบ อค./ทส. 1.63 ดังกล่าวเอาไว้จะเป็นประโยชน์มากกว่า
หรือไม่ก็เสนอให้กำหนดคำนิยามคำว่า “เหตุการณ์” หรือ คำว่า “เหตุการณ์วินาศภัย (Loss
Event)” ซึ่งในพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความถึง
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่ผู้รับประกันภัย
หรือผู้รับประกันภัยต่อจะต้องจ่าย อันเกิดจากเหตุการณ์วินาศภัยเพียงเหตุการณ์เดียว
เช่น แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งเดียว หรือหลายครั้งภายในเวลา 72 ชั่วโมง ถือว่า เป็นเหตุการณ์วินาศภัยเพียงเหตุการณ์เดียว”
ลงไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเลย เหมือนดังเช่นกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองแผ่นดินไหวของประเทศญี่ปุ่น
และหากช่วงเวลา 72 ชั่วโมงต่อหนึ่งเหตุการณ์น้อยเกินไป
จะกำหนดขยายเป็นช่วงเวลา 168 ชั่วโมง
หรือเจ็ดวันเหมือนอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็แล้วแต่จะได้พิจารณา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น