ข้อยกเว้นที่ 14 ของกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ในระหว่างการสัมมนาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
มีประเด็นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความหมายของข้อยกเว้นที่ 14 ในหมวดข้อยกเว้น ข. ของกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินที่ระบุว่า
“ข.
การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
14. ทรัพย์สินที่ได้จัดทำประกันภัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว (property more specifically insured)”
มีเจตนารมณ์อย่างไรกันแน่
เนื่องด้วยเราแปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของประเทศอังกฤษ และไม่แน่ใจว่า
คนร่างกรมธรรม์ประกันภัยต้นฉบับ เขามีเจตนารมณ์อย่างไร แต่จากการตีความในทางปฎิบัติของเรา
มักจะตีความกันว่า ถ้าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้มีการทำประกันภัยเฉพาะโดยซ้ำซ้อนกับกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินแล้ว
กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินนี้ ก็จะไม่คุ้มครอง แต่ไม่มั่นใจคำว่า
“เป็นการเฉพาะแล้ว” จะมีความหมายกว้างหรือแคบขนาดไหน
ถ้าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินไปซ้ำซ้อนกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
จะถือว่าตกอยู่ในข้อยกเว้นนี้หรือไม่
เพราะต่างเป็นประเภทการประกันภัยทรัพย์สินเหมือนกัน
ครั้นพอมาพิจารณาถึงเงื่อนไขทั่วไปข้อที่
7 ว่าด้วยการเฉลี่ยความเสียหายที่ระบุว่า “ถ้าในขณะที่เกิดความเสียหายขึ้นและปรากฏว่าทรัพย์สินรายเดียวกันได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยอื่น
ไม่ว่าโดยผู้เอาประกันภัยเอง หรือบุคคลอื่นใดก็ตาม
บริษัทจะร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ไม่เกินกว่าส่วนเฉลี่ยตามจำนวนเงินที่บริษัทได้รับประกันภัยต่อจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น
และไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ด้วย”
จะขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร
จากการค้นคว้าประเด็นเรื่องนี้
สามารถสรุปให้เข้าใจได้ดังนี้
ตามหลักการประกันภัยในเรื่องการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
(Principle of Contribution) ซึ่งบางครั้งอาจเรียกว่า “การเฉลี่ย”
แต่ปัจจุบัน มักไม่นิยมเรียกกันแล้ว เพราะจะไปซ้ำซ้อนกับเกณฑ์การเฉลี่ย (Average
Clause) ในเรื่องการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Under Insured) ในหลักการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เป็นสิ่งที่เรารับรู้โดยทั่วไปว่า ถ้าในเวลาเมื่อเกิดความเสียหาย
ปรากฎมีการประกันภัยหลายราย หรือกรมธรรม์ประกันภัยหลายฉบับ ซึ่งในที่นี้เรียกว่า “Multiple
Insurances หรือ Multiple Policies” โดยประกอบด้วยคำเรียกที่แตกต่างสองคำ
ดังนี้
ก)
การประกันภัยซ้ำซ้อน (Double
Insurance หรือ Dual Insurance) ในที่นี้ หมายความถึง เป็นการประกันภัยหลายราย
หรือกรมธรรม์ประกันภัยหลายฉบับ ซึ่งเป็นประเภทเดียวกัน หรือแบบเดียวกันมาซ้ำซ้อนกัน
เป็นต้นว่า กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไปกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย
กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินด้วยกันเอง
ข)
การประกันภัยอื่น (Other
Insurance) ในที่นี้ หมายความถึง เป็นการประกันภัยหลายราย หรือกรมธรรม์ประกันภัยหลายฉบับ
ซึ่งเป็นต่างประเภทกัน หรือเป็นประเภทเดียวกัน แต่ต่างแบบกัน
มาซ้อนกัน เป็นต้นว่า
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไปกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยกับกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
ล้วนต่างให้ความคุ้มครองในวัตถุประกันภัย
หรือส่วนได้เสียเดียวกัน และในภัยเดียวกัน การประกันภัยทุกราย
หรือทุกฉบับนั้นจะต้องเข้ามาร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยวิธีการอาจเป็นลำดับกัน
หรือพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ผู้เอาประกันภัยได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าความเสียหายที่แท้จริง
อันเป็นไปตามหลักการประกันภัยในเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง (Principle
of Indemnity) แต่ในทางปฎิบัติแล้ว วิธีการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น
อาจมีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าที่คิด ด้วยเหตุนี้ ในประเทศอังกฤษและประเทศต่าง ๆ จึงได้เปิดโอกาสให้สามารถมีการกำหนดเงื่อนไขเป็นพิเศษเรื่องการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
(Contribution Conditions)[1] ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
ให้มีความแตกต่างจากหลักการประกันภัยปกติทั่วไปดังกล่าว ซึ่งสามารถจำแนกเงื่อนไขออกได้ดังนี้
1) เงื่อนไขข้อห้าม (Escape
Clauses)
เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรก
โดยห้ามมิให้ผู้เอาประกันภัยไปทำประกันภัยฉบับอื่นมาซ้ำซ้อนกัน
โดยปราศจากความเห็นชอบจากผู้รับประกันภัยรายแรกเสียก่อน
2) เงื่อนไขการไม่ร่วมชดใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยอื่น
(Other Non-contribution Clauses)
เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะไม่คุ้มครอง
หากผู้เอาประกันภัยมีกรมธรรม์ประกันภัยฉบับอื่นที่ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายเดียวกัน
3) เงื่อนไขการประกันภัยอื่นโดยเฉพาะเจาะจง
(More Specific Insurance Clauses)
เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะให้คุ้มครองเป็นส่วนเกินจากกรมธรรม์ประกันภัยโดยเฉพาะเจาะจงฉบับอื่น
4) เงื่อนไขการร่วมชดใช้ตามส่วน
(Rateable Proportion Clauses)
เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า
จะร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามส่วนกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับอื่น
เมื่อเราทำความเข้าใจหลักการประกันภัยในเรื่องการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกับเงื่อนไขการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ประกอบกับความหมายของคำว่า “การประกันภัยซ้ำซ้อน” กับ “การประกันภัยอื่น”
ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในประเด็นข้อยกเว้นที่ 14 ข้างต้นได้ว่า เจตนารมณ์ของข้อยกเว้นดังกล่าวเป็นการยกเว้นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ไปมีความซ้ำซ้อนกับการประกันภัยอื่น
(ต่างประเภท หรือต่างแบบกัน) โดยเป็นการไปเขียนไว้ในข้อยกเว้น
มิใช่การเขียนเป็นเงื่อนไขเรื่องการประกันภัยอื่นโดยเฉพาะเจาะจงเช่นเดียวกับในข้อ 3)
ข้างต้น จึงทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองเลย โดยไม่สามารถทำให้กลายเป็นความคุ้มครองส่วนเกินไปได้
แต่หากเป็นการประกันภัยซ้ำซ้อนกันระหว่างกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินด้วยกันเองแล้ว
ถึงจะต้องมาร่วมชดใช้กันตามหลักการปกติดังระบุไว้ในเงื่อนไขทั่วไปข้อที่ 7 ว่าด้วยการเฉลี่ยความเสียหายดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม
สำหรับความหมายของคำว่า “การประกันภัยซ้ำซ้อน” กับ “การประกันภัยอื่น” นั้น
ในทางปฎิบัติทั่วไป มิได้แยกแยะชัดเจนดังที่กล่าวไว้ในที่นี้
โดยมีการเรียกสลับปนเปกันไปทั้งสองคำ จึงทำให้อาจทำความเข้าใจได้ยากขึ้นไปอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น