เรื่องที่ 112: คุณเข้าใจเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมาย
(Increased Costs of Repair Due to Laws or
By –
Laws) ว่าอย่างไร?
(ตอนที่สอง)
ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของอะพาร์ตเมนต์ไม้เก่าสูงสี่ชั้นจำนวนเก้าหลังได้จัดทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยห้าฉบับคุ้มครองตัวอาคารทั้งหมดไว้
ด้วยจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมทั้งสิ้น 26,800
ดอลล่าร์สหรัฐกับบริษัทประกันภัยสามราย
ครั้นวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1951 ได้เกิดไฟไหม้ลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่อาคารหลายหลัง คิดคำนวณค่าซ่อมแซมเป็นจำนวนเงินรวม
8,745.24 ดอลล่าร์สหรัฐ
เนื่องด้วยวันที่เกิดความเสียหายขึ้นมานั้นได้ปรากฏมีกฎหมายผังเมืองออกมาใช้บังคับอยู่
โดยกำหนดข้อห้ามมิให้พื้นที่ตั้งเดิมของอะพาร์ตเมนต์เหล่านั้นถูกใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นอะพาร์ตเมนต์ได้อีกต่อไป
แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงอะพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่ดั้งเดิมก่อนหน้านั้น
บ้านเราอาจรู้จักบทบัญญัติเช่นนี้ว่า “บทเฉพาะกาล” หมายความถึง บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้บังคับกฎหมายใหม่ที่มีต่อกรณีที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายใหม่ใช้บังคับ
หรือวิธีดำเนินการกับกรณีข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหรือในวันใช้บังคับกฎหมายใหม่
หรือที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่กำหนดภายหลังจากที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554) แต่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเรียกว่า
“Grandfather Clause”
ทำให้เวลาผู้เอาประกันภัยไปยื่นขออนุญาตเพื่อทำการซ่อมแซมความเสียหายของอาคารเหล่านั้น
จึงถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยเหตุผลข้อห้ามดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยพิจารณาดูแล้วไม่มีทางเลือกอื่น
นอกจากจะต้องรื้ออาคารทั้งหมดลง และไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายทั้งหมดจากบริษัทประกันภัยสามรายแทน
เมื่อความเสียหายบางส่วนที่แท้จริงจากสาเหตุไฟไหม้มีอยู่เพียง
8,745.24 ดอลล่าร์สหรัฐ
แต่จะให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 26,800
ดอลล่าร์สหรัฐแทน เชื่อว่า ทุกท่านคงนึกออกว่า คำตอบจากบริษัทประกันภัยจะเป็นเช่นใด?
เรื่องนี้จึงเป็นคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น
ซึ่งได้วินิจฉัยออกมาว่า ข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับอ้างอิงได้ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า
ให้ทำการซ่อมแซมหรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายด้วยวัสดุที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดหรือชดใช้ให้เป็นเงินสดก็ได้
ในที่นี้ คือ จำนวนเงิน 8,745.24 ดอลล่าร์สหรัฐ อันเป็นจำนวนเงินที่บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดนั่นเอง
ผู้เอาประกันภัยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ได้ความว่า
หลังจากเหตุไฟไหม้ ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นเรื่องต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบอาคารท้องถิ่นเพื่อขออนุญาตซ่อมแซมกลับมาเป็นอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าดังเดิม
แต่ถูกปฏิเสธ และได้นำเรื่องร้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการผังเมืองด้วย ซึ่งถูกปฏิเสธอีกด้วยเหตุผลที่มีโอกาสภาวะความเสี่ยงภัยสูงจากเพลิงไหม้ อันจะส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้พักอาศัย ตลอดจนถึงผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงขึ้นมาได้
แม้จะได้มีการนำเรื่องฟ้องสู่ศาลให้พิจารณา ก็ไม่เป็นผลเช่นกัน
ที่ตั้งของอาคารอะพาร์ตเมนต์กลุ่มนี้อยู่ในเขตจำกัดให้เป็นพื้นที่พักอาศัยเกรด
A เท่านั้น หากสามารถยกระดับการให้เช่าขึ้นมาได้
ก็น่าจะมีโอกาสได้รับอนุญาตได้มากขึ้น ซึ่งผู้เอาประกันภัยเห็นว่า
ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมให้เป็นอย่างอื่น นอกจากอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าเช่นเดิม
ผู้เอาประกันภัยมิได้แสดงหลักฐานอื่นใดให้ศาลรับฟังได้ว่า
ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกินกว่าที่จะซ่อมแซมได้ เพียงแสดงถึงค่าซ่อมแซม 8,745.24 ดอลล่าร์สหรัฐนั้นเหมาะสมดีแล้ว
ทั้งประกอบกับข้อกำหนดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยดังอ้างอิงมีความชัดเจนอยู่แล้วว่า
จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ณ เวลาที่เกิดความเสียหายนั้น ทั้งนี้
โดยไม่เกินกว่าจำนวนเงินในการซ่อมแซมหรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนด้วยวัสดุที่คล้ายคลึงกันนั้นเอง
ภายในระยะเวลาอันสมควร แต่ไม่ได้รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือข้อบังคับท้องถิ่นใด
ๆ
ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี
Weinstein v.
Commerce.
Ins.
Co.,
196 Va.
106,
82 S.E. 2 d 477 (Sup. Ct. App. 1954))
อาจดูเป็นคดีเก่าไปบ้าง
แต่ยังเห็นมีการอ้างอิงกันอยู่
คราวหน้าจะเป็นคดีใหม่มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพเพิ่มเติมนะครับ
โปรดติดตามต่อ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น