วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?


(ตอนที่สอง)

ถึงแม้มีคำพิพากษาของต่างประเทศส่วนใหญ่จะวางแนวทางไว้ว่า การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง สำหรับความเสียหายบางส่วน จะคำนวณจากมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) โดยไม่หักค่าเสื่อมราคา ณ วันที่เกิดความเสียหาย เนื่องจากศาลตีความหมายของการทำให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมด้วยการใช้วัสดุที่เหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันนั้น เป็นเพียงมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมราคาค่าซ่อมแซมเท่านั้น มิใช่หมายความถึงต้องใช้วัสดุที่มีอายุการใช้งาน และสภาพเก่าเท่ากัน ซึ่งในทางปฏิบัติ อาจจะสร้างปัญหาเพิ่มเติมขึ้นมาอีกแก่ทั้งฝ่ายผู้เอาประกันภัย หรือฝ่ายบริษัทประกันภัยก็ได้

อย่างไรก็ดี ฝ่ายบริษัทประกันภัยที่ยังยืนยันแนวความคิดของตนเองที่จะต้องให้มีการหักค่าเสื่อมราคาก็โต้แย้งว่า จะมีผลทำให้ไม่มีความแตกต่างอะไรกับกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเลือกกำหนดทุนประกันภัยเป็นแบบมูลค่าทดแทนเลย

ฝั่งศาลก็กล่าวเพิ่มเติมว่า หากฝ่ายบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นมาเองฝ่ายเดียวยึดถือหลักการเช่นนั้นจริง ทำไมถึงมิได้ระบุลงไปไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยเสียเล่า? ศาลจะได้สามารถพิจารณาไปตามถ้อยคำเช่นว่านั้นได้ ทั้งศาลยังแปลกใจอีกว่า ทำไมบริษัทประกันภัยวางสูตรการคำนวณการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงไว้เพียงเป็นมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) โดย (ไม่) หักค่าเสื่อมราคา ณ วันที่เกิดความเสียหายวิธีการเดียวเท่านั้น? ซึ่งไม่น่าจะใช้ปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงต่อไปนี้

ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่งซื้ออาคารขนาดใหญ่เก่าทรุดโทรมหลายหลังอายุร่วมกว่าห้าสิบปีในเขตใกล้ชุมชนแออัดด้วยราคาเพียง 7,000 เหรียญสหรัฐจากผู้รับจำนอง ได้นำไปทำประกันภัยด้วยทุนประกันภัย 50,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหากคำนวณตามมูลค่าที่แท้จริงโดยใช้สูตรมูลค่าสร้างใหม่ ณ วันที่ทำประกันภัย หักด้วยค่าเสื่อมราคา (Depreciation) ตามจำนวนปีที่ใช้งาน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 60,500 เหรียญสหรัฐ (มูลค่าสร้างใหม่ 119,500 – 45% ค่าเสื่อมราคา)

ต่อมาเกิดไฟไหม้อาคารหลังนั้นเสียหายบางส่วน ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยจำนวนเงิน 18,500 เหรียญสหรัฐ ทั้งที่ผู้เอาประกันภัยใช้เงินซื้ออาคารทั้งหลังเพียง 7,000 เหรียญสหรัฐเท่านั้น และผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้บอกขายต่ออาคารตามสภาพที่ยังไม่ได้ซ่อมแซมให้แก่ผู้ซื้อรายใหม่ไปด้วยราคา 4,400 เหรียญสหรัฐ พร้อมแจ้งบริษัทประกันภัยขอเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เอาประกันภัยใหม่ ระหว่างนั้นได้เกิดไฟไหม้อาคารหลังนี้ขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่สอง ผู้ซื้อรายใหม่นี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทประกันภัยขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงเป็นเงินประมาณ 43,000 เหรียญสหรัฐ   

คุณเห็นว่า บริษัทประกันภัยควรถือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไหมครับ?

สัปดาห์หน้าค่อยมาเรื่องนี้คุยกันต่อนะครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น