เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง
(Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?
(ตอนที่สี่)
ตอนที่ผ่านมา
เป็นคดีศึกษาจากฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนนี้จะมาดูฝั่งประเทศอังกฤษกันบ้าง
ผู้เอาประกันภัยทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองตัวโรงสีข้าวแห่งหนึ่งซึ่งซื้อต่อมาด้วยราคา
16,000 ปอนด์สเตอร์ริง โดยได้กำหนดประกันภัยซึ่งคำนวณจากราคาค่าก่อสร้างใหม่ (Replacement Value) ณ วันที่ทำประกันภัยไว้ที่ 550,000 ปอนด์สเตอร์ริง ก่อนหักค่าเสื่อมราคา
ครั้นเกิดไฟไหม้สร้างความเสียหายไปประมาณ
70% ของตัวอาคาร
ทั้งผู้ประเมินวินาศภัยของฝ่ายบริษัทประกันภัยกับของฝ่ายผู้เอาประกันภัยต่างเห็นชอบร่วมกันว่า
ราคาค่าก่อสร้างใหม่ ณ วันที่เกิดความเสียหาย หักด้วยค่าเสื่อมราคา
อันเป็นมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ 243,320 ปอนด์สเตอร์ริง
เมื่อผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้
บริษัทประกันภัยกลับปฏิเสธโดยยกเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ขึ้นต่อสู้
ซึ่งมีข้อความระบุว่า
“... หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ...
หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินดังกล่าวได้ถูกทำลาย หรือถูกทำให้เสียหายจากอัคคีภัย
ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินนั้น
ณ วันที่เกิดความเสียหายดังกล่าว หรือผู้รับประกันภัยอาจเลือกที่จะทำให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิม
หรือทำการเปลี่ยนทดแทนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินนั้นก็ได้”
บริษัทประกันภัยตีความว่า มูลค่าความเสียหาย
ณ วันที่เกิดความเสียหายอันจะต้องรับผิดชอบนั้น บริษัทประกันภัยมีสิทธิเลือกชดใช้เป็น
1) มูลค่าราคาตลาด (Market
Value) ซึ่งคำนวณมาจากผลต่างระหว่างราคาซื้อขายทั่วไปก่อนกับหลังจากความเสียหาย จะได้มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงอยู่เพียง 5,000 ปอนด์สเตอร์ริง หรือ
2) ราคาเปลี่ยนทดแทนในสภาพร่วมสมัย (Modern Replacement) ซึ่งประเมินแล้ว จะมีราคาเพียง 55,000 ปอนด์สเตอร์ริงเท่านั้นก็ได้ มิใช่จำต้องเป็นราคาค่าก่อสร้างใหม่ให้อยู่ในสภาพล้าสมัยดังเดิม
ซึ่งสูงถึง 250,000 ปอนด์สเตอร์ริง และคงไม่มีใครประสงค์จะทำเช่นนั้น
ผู้เอาประกันภัยจึงนำคดีขึ้นสู่ศาล
ศาลพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า
เนื่องจากเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้กำหนดวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง
ฉะนั้น การคำนวณค่าสินไหมทดแทนสามารถเลือกกำหนดได้เป็นสามวิธี ดังนี้
(1) มูลค่าราคาตลาด (Market
Value) ซึ่งมีความเหมาะสมกับสิ่งปลูกสร้างลักษณะทั่วไปมากกว่า
หรือ
(2) ราคาเปลี่ยนทดแทน (สร้างใหม่) ในสภาพร่วมสมัย
(Modern Replacement) ซึ่งเทียบเท่ากับของเดิม หรือ
(3) ราคาสร้างใหม่ให้กลับคืนสภาพดังเดิม (Reinstatement Cost)
ในการพิจารณาวิธีการใดจะเหมาะสมที่สุดนั้น
จำต้องวิเคราะห์จากหลายปัจจัย
โดยเฉพาะปัจจัยด้านความประสงค์ของผู้เอาประกันภัยที่มีความสำคัญมากว่า
ผู้เอาประกันภัยตั้งใจจะนำเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับไปทำอะไร? ประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อไปดังเดิมหรือไม่?
สำหรับวิธีการแรก
อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม หากผู้เอาประกันภัยไม่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจอีกต่อไปแล้ว
วิธีการที่สอง
ตัวเงินที่จะได้รับดูน้อยไปมาก
วิธีการที่สาม
จำต้องวิเคราะห์จากพยานหลักฐานถึงเจตนาที่แท้จริงว่า
ถ้าผู้เอาประกันภัยจำต้องควักเงินตัวเอง เขาจะนำไปทำอย่างไรต่อ? สร้างใหม่ให้มีความทันสมัยเทียบเท่ากับของเดิม
หรือสร้างใหม่ให้เหมือนเดิม
ศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่า
ผู้เอาประกันภัยประสงค์จะทำให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมจริง
จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยชดใช้ตามราคาสร้างใหม่ให้กลับคืนสภาพดังเดิม
หักค่าเสื่อมราคาแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น
243,320 ปอนด์สเตอร์ริง ให้แก่ผู้เอาประกันภัย
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี
Reynolds v Phoenix Assurance Co 10 Ltd [1978] 2 Lloyd’s
Rep 440)
ในตอนที่ห้าคราวต่อไป
เราจะมาสรุป และพิจารณาตัวอย่างเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินของบ้านเรากันนะครับ
ขอให้มีความสุข
และปลอดภัยในเทศกาลวันสงกรานต์ครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook
Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น